ภิกษุบวชใหม่ยังไม่รู้พระวินัย หากล่วงละเมิดพระบัญญัติ จะเป็นอาบัติไหม?

 
ภานุวัฒน์
วันที่  26 ส.ค. 2559
หมายเลข  28132
อ่าน  4,045

หากภิกษุบวชใหม่ได้เพียงหนึ่งวัน ยังไม่รู้ว่าทรงห้ามอะไรบ้าง หากได้ล่วงละเมิดพระบัญญัติจะต้องอาบัติหรือไม่?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ส.ค. 2559

นับจากบวชแล้ว ณ ขณะบวชสำเร็จหลังจากนั้น หากล่วงพระวินัยบัญญัติก็ต้องอาบัติตามข้อที่ล่วงครับ

คำว่า อาบัติ (หรือ อาปตฺติ ในภาษาบาลี เขียนเป็นไทยได้ว่า อาบัติ) หมายถึง การที่พระภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีโทษสำหรับผู้นั้น โดยศัพท์หมายถึง การต้อง ซึ่งก็คือการล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นพระวินัยบัญญัติในข้อต่างๆ นั่นเอง เรียกรวมว่า "ต้องอาบัติ"

อาบัติ มีโทษ ๓ สถาน คือ

อาบัติมีโทษอย่างหนัก เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที ที่เรียกว่าปาราชิก ได้แก่เสพเมถุน (มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางทวารหนัก ทางทวารเบา และทางปาก หรือแม้กระทั่งกับสัตว์ดิรัจฉาน ก็เป็นอาบัติปาราชิก) ลักขโมยของของผู้อื่นอันมีราคาได้ ๕ มาสกขึ้นไป (ราคา ๕ มาสก พิจารณาด้วยการเทียบน้ำหนักทองคำกับข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด คือเอาข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ดมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ น้ำหนักทองคำเท่านั้นตีเป็นเงินออกมา) ฆ่ามนุษย์ และ อวดอุตตริมนุสสธรรมซึ่งเป็นคุณวิเศษ ที่ไม่มีในตน

อาบัติมีโทษอย่างกลาง คือ สังฆาทิเสส เมื่อต้องเข้าแล้ว ต้องประพฤติวัตรตามพระวินัยที่เรียกว่า วุฏฐานวิธี ต้องอาศัยคณะสงฆ์ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ได้ ตัวอย่างอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุมีจิตกำหนัด (ความใคร่) จับต้องกายหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดเกี้ยวหญิง (พาดพิงการเสพเมถุน) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เป็นต้น

อาบัติมีโทษเบา ต้องแสดงความผิดของตนต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า แสดงอาบัติ อันเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการที่จะสำรวมระวังต่อไป จึงจะพ้นจากอาบัตินั้นได้ ตัวอย่างอาบัติเบาที่พอจะแก้ไขได้ด้วยการแสดงอาบัติ เช่น ภิกษุบริโภคอาหารในเวลาวิกาล (หลังเที่ยง) ภิกษุฉันอาหารโดยที่ไม่ได้รับประเคน เป็นต้น

กล่าวได้ว่า อาบัติที่มีโทษหนักสุดคือปาราชิก นั้น เป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุทันที แต่อาบัติที่เหลือนอกจากนี้เป็นอาบัติที่แก้ไขได้ กล่าวคือ สามารถกระทำคืนให้เป็นผู้พ้นจากอาบัตินั้นๆ ได้ตามพระวินัย ความเป็นพระภิกษุยังคงอยู่ ไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์และไม่เป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรมเมื่อได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว

สิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีมาก การล่วงละเมิดสิกขาบทแต่ละข้อ มีโทษทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่โทษหนักจนกระทั่งถึงโทษเบา ซึ่งไม่ว่าจะหนักหรือเบา ก็เป็นโทษด้วยกันทั้งนั้น เพราะเหตุว่า สิกขาบท ทุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุในการสำรวมระวัง งดเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม และ น้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง ถ้าย่อหย่อน ไม่สำรวมตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ มีการต้องอาบัติประการต่างๆ ย่อมทำให้ตกไปจากคุณความดี ตกไปจากการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และ ตกจากสุคติภูมิไปสู่อบายภูมิ ด้วย ถ้าต้องอาบัติแล้ว ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระวินัย หากมรณภาพลงในขณะที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุอยู่ เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ ชาติถัดจากชาตินี้ไป ต้องเกิดในอบายภูมิเท่านั้น พระภิกษุก็เกิดในอบายภูมิได้

แต่ถ้าได้มีการศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกุลให้รักษาพระวินัยได้ดียิ่งขึ้น ไม่มีโทษเลยกับการได้เข้าใจและน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะทำให้ได้รู้ว่าสิ่งใด ผิด สิ่งใด ถูก แล้วละเว้นในสิ่งที่ผิด กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ไม่ได้ศึกษา ไม่มีความเข้าใจอย่างสิ้นเชิง

ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาเป็นอย่างดี ไม่ล่วงละเมิดสิกขาบท พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง คุณประโยชน์ก็จะเกิดมีกับผู้นั้น เป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการบวชเป็นบรรพชิต แต่ถ้ารักษาไม่ดี ย่อหย่อนในพระธรรมวินัยเที่ยวย่ำยีสิกขาบท เป็นผู้ประมาท ไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่เห็นคุณของความเป็นบรรพชิตจริงๆ คือ ความเป็นผู้เว้นทั่ว เว้นจากบาปธรรม เว้นจากเครื่องติดข้องอย่างที่คฤหัสถ์มี โทษก็ย่อมเกิดแก่ผู้นั้น สามารถทำให้เกิดในอบายภูมิได้ จากเพศที่สูงยิ่งกลับนำดิ่งให้ตัวเองตกลงไปสู่ที่ต่ำ คือ อบายภูมิ น่ากลัวเป็นอย่างมาก ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 ส.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุทุกรูป ทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนถึงสมัยนี้ ต้องศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ถ้าหากมีการล่วงละเมิดพระวินัยแม้จะเป็นเพียงอาบัติเล็กน้อย แม้ว่าจะพึ่งบวช ก็ต้องอาบัติ มีโทษตามพระวินัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง สำหรับเพศที่สูงยิ่งคือเพศบรรพชิต ถ้าทำอะไรผิดในเพศที่สูงยิ่ง มีโทษมาก จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย จะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เห็นว่าการอยู่ครองเรือน เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศล ธรรมทั้งหลาย เห็นว่าเพศที่ปลอดโปร่งคือเพศบรรพชิต จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สมบัติ อาคารบ้านเรือน วงศาคณาญาติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งเพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง แต่การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความดี ไม่ได้จำกัดที่เพศบรรพชิต แม้คฤหัสถ์ก็สามารถศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีได้ เพราะไม่ได้มีอัธยาศัยเหมือนผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน ซึ่งก็ต้องไม่ลืมจริงๆ ว่า การเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ยังยาก ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thilda
วันที่ 27 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 28 ส.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kukeart
วันที่ 4 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
vilaiporn
วันที่ 10 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ