ฌาปนสถานตามหลักพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และความหมายของคำว่านิตยภัต
ขอเรียนรบกวนถามเพื่อความเข้าใจ 2 ข้อค่ะ
1.ฌาปนสถานในวัด เคยฟังมาว่าไม่เหมาะควรที่จะตั้งในวัดเพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์ แล้วการสวดต่าง กิจกรรมต่างๆ ในงานศพที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาและเหมาะควรสำหรับคนสมัยนี้ที่จะทำได้ เป็นอย่างไรคะ
2.เรื่องเงินนิตยภัตตามกฎหมายขององค์กรทางศาสนากำหนดให้มีได้ จึงอยากเรียนถามความหมายตามพระไตรปิฎกของคำว่า นิตยภัต ค่ะ
หากคำถามใดไม่เหมาะสม ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-ฌาปนสถาน ก็คือ ที่เผาศพ ในสมัยก่อนก็ใช้เชิงตะกอน นำฟืนมากองรวมกัน แล้วเอาศพวางไว้ข้างบน แล้วก็ทำการเผา สมัยนี้บางพื้นที่ก็ยังมีการกระทำอย่างนั้นบ้าง (สมัยนี้จะเป็น เมรุ เสียเป็นส่วนใหญ่) สถานที่เผาศพไม่ควรอยู่ในวัด จะเห็นได้ว่าในพระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน ไม่มีที่เผาศพ ก็มีสถานที่ที่เหมาะควรในการเผา แม้ในชาดก อย่างเช่นใน อุรคชาดก ที่พระโพธิสัตว์เผาลูกชายที่ถูกงูกัด ก็เผาในที่นาตรงนั้นเลย, การเผาศพควรจะเป็นกิจของคฤหัสถ์ ไม่ใช่กิจของพระภิกษุเพราะเป็นไปกับความไม่สงบ และ ยังมีส่วนที่เกี่ยวกับเงินทองด้วย เป็นเหตุให้ต้องอาบัติ หลายอย่าง และที่น่าพิจารณา คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ใช่การสวดพระอภิธรรม เพราะไม่ได้เป็นไปกับความเข้าใจอะไรเลย ฟังไม่รู้เรื่อง ดังนั้น การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ด้วยความดีทั้งหลาย ทั้งในเรื่องของการให้ทาน หรือแม้กระทั่งการฟังพระธรรม ก็สามารถอุทิศส่วนกุศล ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของผู้ที่เข้าใจธรรม ที่จะตั้งต้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้ไม่มีการสวดพระอภิธรรม ก็ทำความดีอย่างอื่น อุทิศส่วนกุศล ได้ ครับ
-นิตยภัต หมายถึง ภัตตาหาร ที่ตั้งไว้ประจำ เป็นความประสงค์ของผู้ถวายว่าจะถวายอาหารเป็นประจำ แก่สงฆ์ หรือ แก่พระภิกษุทั้งหลายตามจำนวนที่ผู้ถวายจะระบุไว้จะเป็นกี่รูปก็ตาม แต่ถ้าเป็นนิตยภัตที่ถวายแก่สงฆ์ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสงฆ์จะมอบหมายให้ภิกษุใดเป็นตัวแทนสงฆ์ไปรับซึ่งเป็นการถวายโดยไม่เจาะจง นิตยภัต ไม่ใช่เงิน ถ้ามีการถวายเงิน นั่นไม่ใช่ นิตยภัต ตามพระธรรมคำสอน ผู้ให้ก็ทำในสิ่งที่ผิด ผู้รับ ก็ต้องอาบัติเพราะพระภิกษุรับเงินและทอง ไม่ได้ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...