การตัดสินถูกผิด

 
apiwit
วันที่  13 ก.ย. 2559
หมายเลข  28189
อ่าน  2,185

เนื่องจากปัจจุบันผมกำลังเรียนวิชาจริยธรรม ซึ่งเมื่อกล่าวถึงคำว่าจริยธรรมก็คือ สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล เป็นการกระทำในสิ่งที่ถูกที่ควร แต่ปัญหาคือ แต่ละคนมีมาตรฐานหรือกฏเกณฑ์ของจริยธรรมต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาว่า จะตัดสินได้อย่างไรว่าอะไรคือ การประพฤติที่ถูก มีจริยธรรม อะไรคือการประพฤติที่ผิด ไม่มีจริยธรรม

จากกรณีศึกษาอย่างเช่น ตำรวจยิงคนร้ายเพื่อปกป้องคนบริสุทธิ์ อย่างนี้จะถือว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด หากตัดสินว่าถูก เพราะตำรวจทำตามหน้าที่ แต่ก็ผิดตรงที่ฆ่าคน แต่ถ้าไม่ฆ่าก็ผิดตรงที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่

จะเห็นได้ว่าเพียงประเด็นตื้นๆ ก็ยากที่จะตัดสินถูกผิดแล้ว พระธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ผมจึงอยากให้ท่านอาจารย์ช่วยให้ความกระจ่าง เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อวิชาที่ผมกำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัจจะความจริง ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หรือ สังคม วัฒนธรรม จึงเป็นที่มา ของคำว่า ธรรม ธาตุ คือ สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะ คือ สภาพธรรมใดก็ไม่เปลี่ยนเป็นลักษณะอื่น ไม่ว่าจะเกิดกับใคร เวลาใด หรือ ในสังคม ประเพณีแบบไหน

บางวัฒนธรรม ชาวเอสกิโม กล่าวว่า การฆ่าบิดา มารดา เป็นสิ่งที่ดี เพราะ เป็นการลดภาระการเลี้ยงดู ที่ยากลำบาก ในชีวิตของเมืองที่เหน็บหนาว บางวัฒนธรรม ก็กล่าวว่า การฆ่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัจจะ ความจริง ไม่เปลี่ยนลักษณะ ที่เป็น ธาตุ ธรรม คือ กุศลธรรม ย่อมเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่เปลี่ยนลักษณะ ไม่เปลี่ยนไปตามความคิดของใคร เพราะ ลักษณะเป็นอย่างนั้น จะเปลี่ยนเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่ได้ ครับ

อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่เปลี่ยนลักษณะ จะเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ดีไม่ได้ การฆ่า ขณะนั้นสิ่งที่มีจริง คือ ธรรม คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้น มีโทสเจตสิก เป็นต้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่ว่าจะเกิดกับใคร สังคมแบบไหน เวลาใด แม้จะบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ ลักษณะสภาพธรรมไม่เปลี่ยนลักษณะ คือ ไม่ดี เป็นต้น เมตตา ไม่เปลี่ยนลักษณะ เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ครับ

นี่ก็แสดงให้เห็นถึงพระปัญญาคุณ ที่ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ดังนั้น ปุถุชนผู้ไม่รู้ เพราะไม่ได้ประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังเกิด ก็ย่อมสำคัญคิดเองว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ด้วยอำนาจอวิชชา ความไม่รู้ ต่อเมื่อได้ศึกษาพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้น รู้ลักษณะของสภาพธรรม ย่อมรู้ความจริงของธรรม ที่ไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา มีแต่ธรรมเป็นไป และ ไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะได้ ปัญญา ความเข้าใจถูกเท่านั้นที่จะเป็นตัวตัดสินอันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรมจากที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่ตัดสินจากความไม่รู้ อวิชชา ของแต่ละคน ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
panasda
วันที่ 13 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
apiwit
วันที่ 13 ก.ย. 2559

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนก็สะสมมาทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทันที จะเห็นได้ว่าเมื่อจิตเศร้าหมองด้วยอำนาจของอกุศล สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะอกุศล ความชั่วทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง ไม่ร้าย ไม่ถูกอกุศลครอบงำ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล, 
ดี เพราะจิตเป็นกุศล กุศลจิตเป็นจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะใดขณะนั้นเป็นกุศล, ส่วน ไม่ดี ก็เพราะจิตเป็นอกุศล อกุศลจิตเป็นจิตใจที่ไม่ดี จิตใจที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งมีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้น ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ป้องกันไม่ให้ตกไปในฝ่ายผิด ไม่หลงผิดว่าอกุศลเป็นกุศล ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 14 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ย. 2559

ผิดหรือถูกอยู่ที่เจตนาขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล และอะไรจะเกิดก็เป็นไปตามกรรมของคนนั้น ถึงไม่มีคนยิง คนนั้นก็ตายได้ถ้ากรรมให้ผลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 16 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kullawat
วันที่ 18 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ