กรรมที่เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ

 
tmangkon
วันที่  22 ก.ย. 2559
หมายเลข  28212
อ่าน  5,341

ขอเรียนถามว่า การกระทำบางอย่าง ไม่มีเจตนาทำร้ายผู้อื่น แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นนั้นมากมาย เช่น เมาแล้วขับ อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สิน แบบนี้ กรรมของผู้กระทำจะเป็นอย่างไรคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรามาเข้าใจก่อนครับว่า กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล อยู่ที่เจตนา เป็นสำคัญ องค์ของการฆ่าสัตว์ ที่จะเป็นปาณาติบาต ต้องครบ 5 ข้อ คือ

องค์ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต

๒. ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดฆ่า

๔. อุปักกโม มีความพยายาม

๕. เตนมรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ดังนั้น จะเป็นบาปหรือไม่ คือ จะเป็นการฆ่าสัตว์ที่เป็น ปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญว่ามีเจตนาฆ่าหรือไม่ในขณะนั้นหรือเปล่า ครับ เช่น เดินเหยียบมด ขณะนั้น ไมได้มีเจตนาฆ่า แม้สัตว์นั้นจะตาย แต่ก็ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะไม่มีเจตนาฆ่า ครับ

ดังนั้น การเมาแล้วขับ และทำให้ชนผู้อื่นเสียชีวิต ก็ต้องพิจารณาว่า มีเจตนาฆ่าในขณะนั้นหรือไม่ ถ้ามีเจตนาฆ่า ก็เป้นกรรม เป็นบาป ที่ครบองค์กรรมบถ ก็ทำให้เกิดผล วิบาก แค่ หากไม่มีเจตนาฆ่า ก็ไม่เป็นบาป ไม่มีผลของกรรม ครับ

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 103

[พระโมคคลีบุตรติสสเถระอ้างพระพุทธพจน์เล่าอดีตนิทาน]

ลำดับนั้น พระเถระ (ถวายวิสัชนา) ให้พระราชาทรงเข้าพระทัยเนื้อความนี้ด้วยพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ ๑ ดังนี้. เพื่อแสดงเนื้อความนั้นนั่นแล พระเถระจึงนำติดติรชาดกมา (เป็นอุทาหรณ์) ดังต่อไปนี้. (อ่านต่อข้างล่างครับ)
ขอถวายพระพร มหาบพิตร ! ในอดีตกาล นกกระทาชื่อ ทีปกะเรียนถามพระดาบสว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! นกเป็นอันมาก
เข้าใจว่า ญาติของพวกเราถูกจับอยู่แล้ว จึงพากันมา นายพรานอาศัยข้าพเจ้า (นกต่อ) ย่อมถูกต้องกรรม เมื่อนายพรานอาศัยข้าพเจ้าทำบาปนั้น ใจข้าพเจ้า ย่อมสงสัย ว่า (บาปนั้นจะมีแก่ข้าพเจ้า หรือหนอ?) .
พระดาบส ตอบว่า ก็ท่านมีความคิด (อย่างนี้) หรือว่า ขอนกทั้งหลายเหล่านี้มา เพราะเสียง และเพราะเห็นรูปของเราแล้วจงถูกแร้ว หรือ จงถูกฆ่า
นกกระทา เรียนว่า ไม่มี ท่านผู้เจริญ (อ่านต่อนะ) ลำดับนั้น ดาบสจึงให้นกกระทานั้นเข้าใจยินยอมว่า ถ้าท่านไม่มีความ คิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริง กรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หาถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่

ถ้าใจของท่าน ไม่ประทุษร้าย (ในการทำความชั่ว) ไซร้ กรรมที่นายพรานอาศัยท่านกระทำ ก็ไม่ถูกต้องท่าน บาปก็ไม่ติดเปื้อนท่าน ผู้มีความขวนขวายน้อย ผู้เจริญ (คือบริสุทธิ์) .

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 272

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ (และคำว่า) ดูก่อนอานนท์ จริงอยู่เมื่อกายมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะกายสัญเจตนาเป็นเหตุ (เพราะความจงใจทางกายเป็นเหตุ) ดูก่อนอานนท์ หรือเมื่อวาจามีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะวจีสัญเจตนาเป็นเหตุ ดูก่อน อานนท์ หรือว่าเมื่อใจมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ (และคำว่า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก วจีสัญเจตนา ๔ อย่าง เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ฯลฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มโนสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก (และคำว่า) ดูก่อนอานนท์ ถ้าโมฆบุรุษ ชื่อว่า สมิทธิ นี้ถูกปาฏลิบุตรปริพาชกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านปาฏลิบุตร ท่านกระทำกรรมเนื่องด้วยสัญเจตนา ย่อมเสวยสุขเนื่องด้วยสุขเวทนา ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ฯลฯ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การดื่มสุรา เกิดโทษ อาจนำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เมาสุราไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะ แม้ว่าจะไม่มีเจตนาที่จะประทุษร้ายผู้อื่น ก็ตาม แต่ก็ไม่ควรอย่างยิ่ง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tmangkon
วันที่ 22 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณสำหรับทุกคำตอบค่ะ คือดิฉันเข้าใจเรื่องเจตนาค่ะ ที่เรียนถามคือสงสัยว่าคนที่ไม่มีความรับผิดชอบนี่ ไม่ต้องรับกรรมหรือคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สุณี
วันที่ 23 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ