ปัญญาเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ [ปัญญาสูตร]

 
webdh
วันที่  13 ก.พ. 2550
หมายเลข  2823
อ่าน  2,795

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต

๒. ปัญญาสูตร

[๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้วแล้ว ๘ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาได้แล้ว. เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรักและความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหาแล้วไต่ถามสอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านเจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการแก่เธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. เธอฟังธรรมนี้แล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิต ให้ถึงพร้อม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมากทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้... สัญญาเป็นดังนี้... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว. ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
devout
วันที่ 13 ก.พ. 2550

อนุโมทนาค่ะ

ถ้าไม่มีปัญญา ความบริสุทธิ์ของทาน ของศีลก็มีไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 14 ก.พ. 2550

กุศลทุกอย่าง (บุญญกิริยาวัตถุ 10) เป็นพรหมจรรย์

พรหมจรรย์ หมายถึง สิ่งที่ประเสริฐ ตราบใดที่เรายังไม่ใช่พระโสดาบัน ความบริสุทธิ์ของศีลก็ยังไม่สมบูรณ์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
TSP
วันที่ 16 ก.พ. 2550

การที่บุคคลใดจะมีปัญญานั้น จำเป็นที่จะต้องฟังพระธรรมให้เข้าใจ พิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นเหตุ เป็นผลถูกต้อง ตามพระไตรปิดกหรือไม่ และสามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่า การศึกษาธรรมต้องมีความอดทนในการฟังพระธรรม พิจารณาด้วยเหตุและผลจริงๆ ด้วยความละเอียด รอบคอบแยบคาย ที่จะเข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เหตุที่จะทำให้มีปัญญาเพิ่มขึ้นนั้น จำเป็นต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นการทำอย่างอื่นเลย เรื่องปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำ แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจพระธรรมโดยถูกต้องเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการสะสมเหตุที่ถูก ผลก็ย่อมต้องถูกเช่นกัน

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ