จาคธรรม องค์ธรรมคืออะไร ?

 
จิตและเจตสิก
วันที่  29 ก.ย. 2559
หมายเลข  28239
อ่าน  2,606

กล่าวได้ไหมว่า จาคธรรม คือ อโลภเจตสิก, หรือเป็นมหากุศลจิต ที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุทั้งหลายโดยตั้งอยู่ด้วยความสละ หรืออย่างไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า จาคะ ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งดังนี้ ครับ จาคะ หมายถึง การสละ ซึ่ง จาคะ ก็อาจเคยได้ยินคำว่า บริจาค ก็มีคำว่า จาคะ ต่อท้าย หมายถึงการสละ แต่ถ้าเป็นจาคะ ในทางธรรม ไม่ใช่เพียงการให้สิ่งของ แต่การสละสิ่งที่ไม่ดี คือ สละกิเลส สละความตระหนี่ จึงมีการให้ เป็นต้น จาคะ จึงเป็นการสละสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นกิเลส ออกจากจิตใจ ทั้งสละความไม่รู้ และสละความติดข้อง สละความโกรธ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็สละกิเลส สละสิ่งที่ไม่ดี เป็นจาคะในขณะนั้นครับ และขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจ ขณะนั้นสละกิเลส คือ ความไม่รู้ เป็นจาคะ ในขณะนั้น ประเสริฐกว่า จาคะ การสละวัตถุให้ เช่น ให้สิ่งของกับบุคคลต่างๆ ครับ

จาคะ ยังมีความหมายลึกซึ้งลงไปอีกครับ จาคะ โดยความหมาย คือ การสละ แต่ไม่ใช่เพียงสละวัตถุ สิ่งของให้ผู้อื่น ไม่ใช่เพียงสละกิเลส สิ่งที่ไม่ดี แต่ยังหมายถึงการสละขันธ์ คือ สภาพธรรมที่ประชุมรวมกันที่สมมติว่าเป็นเรา จาคะ ที่สูงสุดและประเสริฐสูงสุดจึงเป็น จาคะ ที่เป็นการสละซึ่งสภาพธรรมทั้งปวง ที่เรียกว่า จาคะ ที่เป็นไปในการสละซึ่งขันธ์ ซึ่ง จาคะ โดยนัยนี้ จะต้องอบรมปัญญาจนถึงการดับกิเลส และเมื่อพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าสิ้นอายุ ก็จะไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นบุคคลใด เป็น จาคะ ที่สละซึ่งขันธ์ สภาพธรรมทั้งปวง อันเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องมีทุกข์อีกต่อไป ครับ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากการฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วย ทั้งจาคะที่เป็นไปในการให้ทาน จาคะที่สละความตระหนี่ สละวัตถุ ก็มากขึ้น เพราะมีปัญญาที่เห็นคุณของกุศลและการสละเพื่อประโยชน์ผู้อื่น มีจาคะที่สละความโกรธโดยการให้อภัย เพราะมีปัญญาที่เห็นถูกจากการฟัง ศึกษาพระธรรม แม้ศึกษาอภิธรรม ก็เข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ดังนั้น จะโกรธใคร ในเมื่อไม่มีใครให้โกรธ จึงสละความโกรธเป็นจาคะที่เป็นการให้อภัย ครับ

และสำคัญที่สุด สละกิเลสด้วยปัญญา คือ เพราะเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรม ที่เป็นเรื่องสภาพธรรม แม้ไม่กล่าวเลยว่าศึกษาอภิธรรม แต่เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาอภิธรรมที่จำชื่อ ที่ศึกษาเข้าใจว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ขณะนั้น ก็ค่อยๆ สละความไม่รู้ สละอวิชชา ที่เป็นจาคะที่ค่อยๆ สละกิเลส จนสละความยึดถือว่ามีเราทีละน้อย จนถึงการสละดับกิเลสได้หมดสิ้น และถึงจาคะสูงสุด คือ สละขันธ์ ที่ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม ปรินิพพาน ครับ

ดังนั้น จาคะ องค์ธรรมจึงเป็นได้ทั้ง อโลภเจตสิกและปัญญาเจตสิก ครับ

นี่คือความละเอียดของจาคะ และเมื่อได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง จาคะในส่วนต่างๆ นัยต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วยในชีวิตประจำวันตามที่กล่าวมา ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 30 ก.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อขัดเกลา สละ ละคลายกิเลส จนกว่าจะถึงกาลที่สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย ดังนั้น คำว่า จาคะ ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายกว้างขวางมาก ตั้งแต่ ได้แก่การสละสิ่งของสละความตระหนี่ การสละความเห็นแก่ตัว การสละกิเลส สละอกุศลธรรมทั้งหลาย จนถึงการดับได้หมดสิ้น เป็นเรื่องของกุศลธรรม และ ปัญญาโดยตลอด นี้คือ ความบริสุทธิ์ของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการสละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดอกุศล ให้เกิดความติดข้องแม้เพียงเล็กน้อย ดังนั้น ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง ที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิด และกิเลสทั้งหลาย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 1 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 1 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ