กิเลสเกิดเพราะความไม่รู้

 
nattawan
วันที่  4 ต.ค. 2559
หมายเลข  28254
อ่าน  1,630

กรุณาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรม หมายถึง เพราะมี อวิชชา (ความไม่รู้) ย่อมทำให้อกุศลประการต่างๆ เจริญด้วย ซึ่งขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าประเภทใด จะต้องมีโมหเจตสิก หรือ อวิชชา ความไม่รู้เกิดร่วมด้วยเสมอ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย และ เพราะมีอวิชชา ตามนัยปฏิจจสมุปบาท ย่อมเป็นปัจจัย ให้มีการทำกรรม ที่เรียกว่า สังขาร เมื่อทำกรรม ก็ทำให้มีการเกิด (วิญญาณ) และ ก็มีนามรูป คือ มีรูปร่างกาย จิตใจ และก็ทำให้ได้รับทุกข์ประการต่างๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ความโศกเศร้า) เป็นต้น เพราะฉะนั้นอวิชชา ความไม่รู้ จึงนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย คือ ทุกข์ เพราะ มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป ทุกข์ คือการเกิด และ ทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือความเศร้าโศกเสียใจ ครับ ซึ่ง เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย

อกุศลเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ อุทธัจจะ ๑ ซึ่งอกุศลเจตสิกเหล่านี้ ต้องเกิดทั่วไป (สาธารณะ) กับอกุศลจิตทุกประเภท ทุกดวง แสดงถึงกำลังของกิเลส คือ อวิชชา ที่เป็น โมหะ ความไม่รู้ และ ความหลง ที่น่ากลัว เกิดกับอกุศลทุกดวง เพราะ โมหะ หรือ อวิชชา เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรม จึงเป็นปัจจัยเมื่ออกุศลประเภทใดเกิด ย่อมมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ครับ

อวิชชา ความไม่รู้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรม หมายถึง เพราะมีอวิชชา ความไม่รู้ ย่อมทำให้อกุศลประการต่างๆ เจริญด้วย ซึ่งขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าประเภทใด จะต้องมีโมหเจตสิก หรือ อวิชชา ความไม่รู้ เกิดร่วมด้วยเสมอ จึงเป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย และเพราะมีอวิชชา ตามนัยปฏิจจสมุปบาท ย่อมเป็นปัจจัยให้มีการทำกรรม ที่เรียกว่า สังขาร เมื่อทำกรรม ก็ทำให้มีการเกิด (วิญญาณ) และก็มีนามรูป คือ มีรูปร่างกาย จิตใจ และก็ทำให้ได้รับทุกข์ประการต่างๆ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ (ความโศกเศร้า) เป็นต้น เพราะฉะนั้น อวิชชา ความไม่รู้ จึงนำมาซึ่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย คือ ทุกข์เพราะมีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ทุกข์คือการเกิด และ ทุกข์ คือ โทมนัสเวทนา คือความเศร้าโศกเสียใจ ครับ ซึ่ง เพราะอวิชชา ความไม่รู้มี กิเลสต่างๆ จึงมีด้วย ครับ

๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นหัวหน้าในการยังอกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เกิดร่วมกับความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวบาป ความเห็นผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้ไม่รู้แจ้ง ประกอบด้วยอวิชชา ความดำริผิดย่อมเกิด มีแก่ผู้มีความเห็นผิด เจรจาผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้มีความดำริผิด การงานผิด ย่อมเกิดมีแก่ผู้เจรจาผิด การเลี้ยงชีพผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ทำการงานผิด พยายามผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้เลี้ยงชีพผิด ระลึกผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้พยายามผิด ตั้งใจผิดย่อมเกิดมีแก่ผู้ระลึกผิด.

เพราะไม่รู้ จึงอยู่มาในหล้าโลก
เพราะไม่รู้ คือ อวิชชาที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ย่อมไม่สามารถดับกิเลสได้ อันเป็นต้นเหตุของการเกิด จึงอยู่มาในโลก คือ คือ ภพภูมิต่างๆ เกิด ตายไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะไม่รู้ จึงเศร้าโศกในสงสาร
เพราะไม่รู้ คือ อวิชชา ที่เป็นหัวหน้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ เป็นเหตุให้เกิดโลภะ โทสะ เศร้าโศก เสียใจ ทุกข์ทางกายมากมาย เพราะ อวิชชา ความไม่รู้เป็นเหตุ ในสงสาร คือ ในการเกิดตายในสังสารวัฏฏ์

เพราะไม่รู้ จึงเป็นเราเขลามานาน
เพราะไม่รู้ อวิชชา จึงยึดถือว่าเป็นเรา ด้วยความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลขณะนั้นเขลา เพราะ ไม่เข้าใจ ความจริง เข้าใจผิด และ เขลามานาน เพราะ ตราบใดที่ไม่มีปัญญา ก็เขลาตลอดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน

เพราะไม่รู้ จึงคบพาลเผาผลาญตน
เพราะไม่รู้ มีอวิชชา จึงคบคนผิด เพราะ ไม่มีปัญญา ที่รู้ว่า คนพาล บัณฑิต คืออย่างไร ใจก็ย่อมไหลไปตามกระแสกิเลส ความไม่รู้ เป็นต้น ก็คบ เสพคุ้นกับ พาล เพราะ คบพาลทั้งภายใน คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ และ คบพาล คือ บุคคลที่สมมติว่าเป็นพาล เพราะ มากไปด้วยความไม่รู้ ความเห็นผิด ในจิตใจ เผาผลาญบุคคลที่คบกับบุคคลที่เห็นผิด ให้เห็นผิดตามไปด้วย เผาผลาญความดีของตนเองในขณะนั้น

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 5 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะมีความไม่รู้ คือ อวิชชา เป็นเหตุ จึงทำให้มีการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมายมีกายทุจริตเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรบำเพ็ญ ไม่สะสมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี ให้กับตนเอง และ เมื่อผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น เพราะอวิชชา จึงกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เป็นการตัดโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน จึงสรุปได้ว่า อวิชชาทำให้ได้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ และ ทำให้ไม่ได้ในสิ่งที่ควรได้

แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ตรงกันข้ามกับอวิชชาอย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุให้ความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้ เพราะกุศลธรรมเจริญ จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญาหรือวิชชา จึงเป็นธรรมที่นำไปสู่ความดีทั้งปวงอย่างแท้จริง ทำให้เว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ดังข้อความที่ว่า "มีหรือ ที่ปัญญาจะเลือกทำชั่ว?"

อวิชชา เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ความจริง เมื่อว่าโดยองค์ธรรม ได้แก่ โมหเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท จะเห็นได้ว่า อกุศลจิตทุกดวง ทุกประเภท เกิดเพราะโมหะ หรือ อวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลอะไรในชีวิต เป็นต้น, สาเหตุหลักที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็เพราะยังมีอวิชชาอยู่นั่นเอง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้, ในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว อวิชชา จึงเกิดกับขณะจิตมากมายอย่างนับไม่ถ้วน (เพราะอวิชชา เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง) ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ยืน เดิน นั่ง หรือ นอนก็ตาม

หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอวิชชาให้เบาบางลงได้ คือ การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ฟังแล้วต้องมีความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามด้วย และที่สำคัญ อวิชชา จะถูกดับได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไกลมาก แต่ทุกคนก็สามารถเริ่มอบรม สะสมปัญญาได้ตั้งแต่ในขณะนี้ กว่าจะถึงวันนั้นได้ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ นั่นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nattawan
วันที่ 5 ต.ค. 2559

ขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
worrasak
วันที่ 7 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Komsan
วันที่ 19 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kukeart
วันที่ 21 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ