ศึกษาลักษณะของสภาพธรรม

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  7 ต.ค. 2559
หมายเลข  28261
อ่าน  985

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การสังเกตหรือพิจารณาหรือศึกษาลักษณะของสภาพธรรม

1. หมายความว่าอย่างไร

2. อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร

3. อาการต่อๆ ไปเป็นอย่างไร (ค่อยๆ รู้ถูกเห็นถูกเข้าใจถูก)

4. ศึกษาด้วยความเป็นตัวตนเป็นอย่างไร

5. ศึกษาด้วยความไม่เป็นตัวตนเป็นอย่างไร

6. บางท่าน ย้ำเตือน ให้ "ศึกษา" ลักษณะของ สภาพธรรม ในขณะนี้ ในขณะที่กำลังปรากฏ (ทั้งๆ ที่ ยังไม่รู้เลย ถึง ความต่างของ ขณะหลงลืมสติ กับ ขณะสติเกิด) และ ไม่ควร พูดชื่อ พูดเรื่องราว เพราะไม่ใข่ ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ควร ติดชื่อ ติดเรื่องราว เพราะ ปิดกั้น การรู้ลักษณะของสภาพธรรม

เรียน ขอ ความเข้าใจ ศึกษา อย่างไร ธรรมะคือขณะนี้ ไม่มีชื่อ มีแต่ลักษณะของสภาพธรรม

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่

ลักษณะอาการของการติดในชื่อ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ดังนี้

รู้ลักษณะของสภาพธรรม ดีกว่าไปติดคำ

สุ. ก็อยากรู้ชื่อ เรื่องอยากรู้ชื่อนี่มีเยอะมากเลย แล้วชื่อก็มีชื่อในภาษาบาลี แล้วก็ชื่อในภาษาไทย ชื่อในภาษาบาลีซึ่งภาษาบาลีก็เป็นภาษามคธนั่นเอง แต่ว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษามคธๆ ก็เป็นภาษาที่รักษาพระธรรม ดำรงพระธรรมก็ใช้คำว่า “พระบาลี” หมายความถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๒ ภาษา เพราะฉะนั้นคำธรรมดาสามัญที่ชาวมคธใช้ในเรื่องการรับประทานอาหาร ในเรื่องการเห็นการได้ยินก็เป็นภาษาหนึ่ง แต่พอถึงภาษาไทยเรา พอได้ยินคำที่แปลกจากที่เราเคยได้ยิน เราก็สงสัยคำนั้น ติดใจในคำนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้วคำใดก็ตามที่สามารถที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เรายังต้องกังวลถึงชื่อไหม อย่างวันนี้หวังอะไรหรือเปล่า กลับไปบ้านหวังอะไรหรือเปล่า ประเดี๋ยวหวังอะไรหรือเปล่า ภาษาบาลี “หวัง” ก็คืออาสา และก็คือลักษณะของโลภะนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เราก็จะเห็นลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ ของโลภะได้ว่านั่นก็คือโลภะ นี่ก็คือโลภะ คือรู้จักตัวจริงๆ ของโลภะดีกว่าไปคิดว่าคำนี้คืออะไร คำนี้จะเป็นอาสา หรือคำนี้จะเป็นความหมายของนันทะ โลภะ หรือว่าอะไรอีกหลายคำ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเลิกคิดเรื่องชื่อมากมายที่จะไปรู้ชื่อได้ไหม เพราะเหตุว่าชื่อไม่ได้ทำให้เราเข้าใจธรรม แต่ว่าทำให้เกิดความสงสัยว่าชื่อนั้นหมายความถึงอะไร อย่างขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ จะเรียกชื่อภาษาอะไร แต่ว่าสภาพธรรมก็ยังคงเป็นสภาพธรรมอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะคิดถึงคำว่า “อดทน” ภาษาไทย “ขันติ” ภาษาบาลี แต่ว่าไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะรู้ความหมายของคำว่าขันติได้ไหมว่าอดทนเป็นอดทนในลักษณะอย่างไรบ้างในเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไรบ้าง ในภาษาไทยและก็ภาษาบาลี ขันติขณะไหนบ้าง โอกาสไหนบ้าง นี่ก็คือเราไปคิดเรื่องราวของธรรม แต่ว่าไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงๆ ให้เห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะที่เป็นธรรมเพื่อที่จะได้ไม่ใช่เรา และไม่มีเรา แต่เป็นธรรมทั้งหมดที่กำลังปรากฏ เราก็จะไม่สนใจใช่ไหมว่าชื่ออะไร ภาษาอะไรทั้งนั้น แต่ว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องนี้ หรือว่าสนใจเรื่องชื่อ ค้นคว้าเรื่องชื่อโดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าชื่อที่ปรากฏที่พูด เรารู้ลักษณะจริงๆ หรือเปล่า หรือว่ารู้ลักษณะจริงๆ หรือยัง แม้แต่คำธรรมดาอย่างจิต ทุกคนก็คล่อง เดี๋ยวนี้ทุกคนก็มีจิต ตอบได้ว่าจิตขณะนี้เป็นธาตุรู้ สภาพรู้กำลังทำกิจอะไร เห็นก็เป็นจิต ได้ยินก็เป็นจิต ตอบได้ แต่ว่ารู้ลักษณะของจิตหรือยัง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจริงๆ ก็ให้ผู้ที่ศึกษาเข้าใจถูกตามความเป็นจริง หรือว่ารู้จักตัวเองแม้ในเรื่องของการฟังพระธรรมว่าเมื่อฟังแล้วอาศัยภาษาทำให้มีความเข้าใจถูกในเหตุ ในผล ในสิ่งที่มีจริง แต่ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะนั้นซึ่งพระธรรมทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ให้เพียงเราจำชื่อ เพราะว่าจำชื่อนี่ต้องลืมแน่ แต่ไม่ลืมที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละอย่างๆ เวลาที่อกุศลจิตเกิด ใครจะรู้ลักษณะของโมหะ กำลังเห็นใครจะรู้ลักษณะของผัสสะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมทุกคำ แต่ละคำ เป็นคำจริง แสดงเพื่อให้เข้าใจความจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจไปทีละคำแล้ว จะมีความเข้าใจละเอียดลึกซึ้งได้อย่างไร ถ้าไม่ตั้งต้นที่ว่า คำนั้น คือ อะไร พูดไปทั้งวันก็ไม่รู้อะไร เพราะเต็มไปด้วยความไม่รู้ พูดในคำที่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น พระธรรม มีคุณค่ามาก ก็จะต้องมีความละเอียด รอบคอบในการศึกษา ไม่ประมาทในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น และที่สำคัญธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมดตั้งแต่ตื่นจนหลับตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เต็มด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง เป็นต้น ไม่ว่าจะใช้พยัญชนะใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ความเข้าใจสิ่งที่มีจริง อาศัยคำแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 16 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นายสุรพล กิจพิทักษ์
วันที่ 19 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ