ณ กาลครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กับ บุคลากรทางการศึกษา ๔ ตุลาคม ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  8 ต.ค. 2559
หมายเลข  28266
อ่าน  1,816

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคารที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา สนทนาธรรมกับคณะผู้อำนวยการ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 นำโดยท่านผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง ดร.วิณัฐธพัชร์ โพธิ์เพชร ซึ่งท่านเคยส่งนักเรียนในโรงเรียนมัธยมวัดดาวคนองมาฟังและสนทนาธรรมกับวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแล้วหลายครั้ง และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อำนวยการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท่านอื่นๆ ด้วย จึงได้ติดต่อประสานงานให้มีการสนทนาธรรมในครั้งนี้ขึ้น

คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้เดินทางมาร่วมฟังและสนทนาธรรมในวันนี้มีจำนวน ๔ โรงเรียนด้วยกัน คือ ๑) โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ จำนวน ๑๗ ท่าน ๒) โรงเรียนบางมดวิทยา จำนวน ๑ ท่าน ๓) โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม จำนวน ๔ ท่าน และ ๔) โรงเรียนมัธยมวัดดาวคนอง จำนวน ๓๓ ท่าน ซึ่งได้รับการต้อนรับจากทางมูลนิธิฯ อย่างดียิ่ง โดยท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ ได้จัดเตรียมอาหารกลางวันไว้บริการแก่คณะครูทุกๆ ท่าน โดยความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ที่อาสามาช่วยงานการต้อนรับในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง กราบอนุโมทนาทุกๆ ท่านด้วยครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอน ซึ่งเป็นช่วงแรกของการสนทนา ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงการที่จะศึกษาและเข้าใจพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องนั้น ต้องมีการ "ตั้งต้น" อย่างไร? ซึ่งตลอดการสนทนาในวันนี้ ท่านอาจารย์ได้แสดงพื้นฐานของการที่บุคคล จะ "เริ่ม" มีความเข้าใจความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ไว้โดยละเอียดยิ่ง เหมาะสำหรับทุกๆ ท่านที่สนใจ ที่จะได้พิจารณา ไตร่ตรอง เพื่อความมั่นคงขึ้นในหนทางของความเข้าใจที่ถูกต้อง ในความจริงที่ทรงตรัสรู้ และทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ซึ่งไม่สามารถที่จะถอดความลงไว้ได้ทั้งหมด แต่สำหรับท่านที่สนใจ สามารถชมและฟังการสนทนาโดยละเอียดจากลิงค์การถ่ายทอดสดที่แนบไว้ให้ในตอนท้าย นะครับ

อาจารย์คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ แน่นอนว่า ทุกคนต้องได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า ได้ยินคำว่า พระพุทธศาสนา ได้ยินคำว่า พระธรรม ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่ "ตั้งต้น" ที่ "การฟังพระธรรม" เลย ก็จะไม่มีทางเข้าใจถูก เห็นถูก ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ถึง ความเกี่ยวเนื่อง ความสอดคล้องกัน ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา หรือว่า พระธรรมคำสอน ครับ

ท่านอาจารย์ คงไม่มีใครคิดว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม พูดคำที่ไม่รู้จัก น่าตกใจไหม? ก่อนฟังพระธรรม ทุกคนในโลกนี้ พูดคำที่ไม่รู้จัก!! แต่เวลาที่ได้ฟังธรรมะแล้ว ถึงจะ "เริ่มเข้าใจ" ว่า ไม่รู้จักจริงๆ ในสิ่งที่มีอยู่ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนตาย นี่เป็นความน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า!! เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก็ต้องรู้ว่า ทำไมเราฟังพระธรรม? เกิดมาแล้ว ไม่ฟังพระธรรมได้ไหม? หลายคนก็บอกว่า ตั้งแต่เกิดจนตายก็ตายไป โดยไม่ได้ฟังพระธรรม เหมือนไม่มีอะไร แต่หารู้ไม่ว่า ถ้าได้ฟังพระธรรม แม้เพียงคำเดียว ทีละคำ "เริ่ม" ที่จะรู้จักผู้ที่ประเสริฐที่สุดในสากลจักรวาล เพราะว่า ทุกคนเกิดมาแล้วก็กราบไหว้บูชาพระ แต่ไม่ได้รู้เลยว่า กราบไหว้อะไร? ได้ยินแต่คำว่าพระ และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ผู้ที่เป็นแต่เพียงพระอรหันต์ แต่เป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!

เพราะฉะนั้น แม้เพียง "คำเดียว" ถ้าคนที่สะกิดใจ ก็จะระลึกได้ ว่าทำไมคนอื่นไม่มีชื่อนี้เลย ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตาม กี่พันปีก็ตามแต่ ที่ผ่านมาแล้วก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครชื่อนี้ และเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว คนอื่นก็ชื่อไม่ได้!! เทวดา พรหม ทั้งหลาย ไม่สามารถจะมีชื่อว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น คำนี้ต้องพิเศษ ไม่เหมือนใคร เหนือใครทั้งสิ้น!!!

เพราะฉะนั้น การที่ได้มีโอกาสเข้าใจแม้แต่คำว่า ก่อนฟังธรรมะ ไม่รู้จักคำที่พูด ใครคิดว่าไม่จริงบ้าง? แต่พอฟังธรรมะแล้ว เพียงแค่คำเดียว ฟังธรรมะ รู้จักคำไหน? ได้ยินคำว่า "ฟัง" คนไทยเข้าใจได้ เดี๋ยวนี้กำลังมี "เสียง" แล้วก็มี "ได้ยิน" นั่นคือ "ฟัง" แล้ว "ธรรมะ" คือ อะไร? ฟังธรรมะ?

เพราะฉะนั้น จากความที่ไม่รู้เลย!!! แล้วก็จะมีการที่สามารถค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นคุณค่าของการที่มีชีวิตที่เกิดมาแล้ว มีโอกาสได้เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ!!! อย่างละเอียด ลึกซึ้ง ถึงที่สุด!!! เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม "ไม่เผิน" ถ้าเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรมจริงๆ ก็คือว่า แม้แต่คำว่า "ธรรมะ" คือ อะไร? เผินไม่ได้เลย ใครจะตอบได้บ้างไหม ธรรมะ คือ อะไร? ไม่ทราบว่าคุณครูทั้งหลายฟังธรรมะมามากน้อยเท่าไหน หรือว่าอ่านหนังสือธรรมะมากน้อยเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะอ่านมาแล้วมาก แต่ต้องเป็นความรู้ของตนเองใน "แต่ละคำ" เช่น คำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริงถึงที่สุด โดยประการทั้งปวง ซึ่งใครก็ไม่สามารถจะรู้ได้ นี่คือบุคคลนี้ที่เรากำลังจะได้ฟัง "คำ" ของพระองค์ "แต่ละคำ"

ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย เพราะฉะนั้น การได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจก่อนว่า ธรรมะ คือ อะไร? เพราะว่า กำลังฟังธรรมะ ก็ต้องรู้ว่า ธรรมะคืออะไร? มิฉะนั้นแล้ว ฟังธรรมะ แต่ไม่รู้ ว่าธรรมะคืออะไร? ก็จะไม่ได้ประโยชน์เลย ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า เข้าใจแต่ละคำ เช่น คำว่า "ธรรมะ" ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ได้ไหม? ไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องตรัสรู้สิ่งที่มีจริง แต่ว่าชาวเมืองมคธ ไม่ได้พูดคำภาษาไทย พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงธรรมะคือแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ ทุกกาลสมัย ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันหรืออนาคต "ความจริง" เปลี่ยนแปลงไม่ได้!! ความจริงต้องเป็นความจริง!!

เพราะฉะนั้น คำว่า "ธรรมะ" ในภาษาบาลีซึ่งเป็น (ภาษาของ) ชาวมคธที่ใช้ภาษาบาลี พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดงธรรมะในภาษานั้น แต่คนไทยชินหูกับคำที่เราเอามาจากภาษาบาลี แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น แต่นี้ไป ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้มีไหม? ถ้าเดี๋ยวนี้มีจริง สิ่งนั้นแหละ ภาษาบาลีใช้คำว่าธรรมะ!!!

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ อะไรมีจริง ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมะ "เห็น" กำลังเห็น เป็นธรรมะแน่นอน เพราะมีจริงๆ "ได้ยิน" ขณะนี้ก็เป็นธรรมะแน่นอน เพราะเหตุว่ามี "เสียง" ที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ได้ยิน กำลัง "คิด" ก็เป็นธรรมะ แน่นอน เพราะฉะนั้น เริ่มฟังคำ แล้วก็เข้าใจความหมาย ในคำที่เราพูด เราใช้ มานาน แต่ว่าไม่ได้เข้าใจจริงๆ

ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมะ เป็นการสนทนาธรรมจะมีประโยชน์ที่สุด เพื่อที่จะได้ฟังว่า ความคิด ความเห็น ของผู้ที่กำลังฟัง มีความเข้าใจในสิ่งที่ฟังแค่ไหน? เพราะฉะนั้น ขอเชิญท่านที่ได้ฟัง ช่วยยกตัวอย่าง คำว่า สิ่งที่เป็นธรรมะที่ได้ทราบแล้ว ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรมะ ถ้าไม่มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ เมื่อทรงตรัสรู้ ก็คือทรงตรัสรู้ความจริงของธรรมะ ซึ่งมีทุกขณะตลอดกาล ไม่ว่าในอดีต อนาคต และปัจจุบันก็กำลังมี เพราะฉะนั้น อะไรบ้างเป็นธรรมะ? เดี๋ยวนี้มีไหมธรรมะ? เห็นไหม ฟังแล้วไม่ใช่ฟังเผิน แต่ฟังเพื่อเข้าใจจริงๆ จึงจะเป็นประโยชน์ของการฟัง เดี๋ยวนี้ มีธรรมะไหม?

คุณครู เรื่องแรกที่ถือว่าเป็นความจริงก็คือ เรื่องของหลักไตรลักษณ์ ซึ่งเราถือว่าเป็นความจริงอยู่แล้ว ทุกคนต้องตระหนักอยู่ในความรู้สึกของตัวเองว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณค่ะ คือ ธรรมะเป็นเรื่องที่ศึกษา "ทีละคำ" และ "แต่ละคำ" นะคะ เมื่อกี้ใช้คำว่า "ไตรลักษณ์" ไตรลักษณ์คืออะไรคะ?

คุณครู คือลักษณะทั้ง ๓ ที่คนเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะต้องเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไตรลักษณ์มี ๓ ลักษณะ ใช่ไหมคะ ลักษณะที่ ๑ คืออะไร?
คุณครู ทุกคนเกิดมามีความทุกข์ค่ะ เพียงแต่ว่าทุกข์แบบประเภทไหนเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ ค่ะ ลักษณะที่ ๒
คุณครู อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ไม่แน่ ไม่นอน ตั้งแต่เราเป็นเด็ก เป็นทารก แล้วก็ เกิดแก่เจ็บตาย
ท่านอาจารย์ ไตรลักษณ์ที่ ๓
คุณครู ไตรลักษณ์ที่ ๓ คือ ความไม่มีตัวตน

ท่านอาจารย์ "ไม่มีตัวตน" แสดงว่า คำนี้เป็นคำจริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง อนิจจัง ไม่เที่ยง ถูกต้องไหมคะ? ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เพราะเป็นธรรมะ เมื่อมีจริง เป็นธรรมะ สิ่งนั้นไม่เที่ยง จึงเป็นอนิจจัง นี่คือคำสอนของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เผินๆ เพียงว่าอะไรก็ตามที่เกิดมาแล้ว อย่างเราเกิดมาก็ต้องเกิด ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง คิดว่านั่นคืออนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นคำสอนเพียงผิวเผินเท่านี้ ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน!!!

เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคำสอนจากการที่ได้ทรงตรัสรู้ "ตรัสรู้" หมายความว่า รู้ความจริงถึงที่สุด!!! โดยประการทั้งปวง อย่างละเอียดและลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น อนิจจัง ไม่เที่ยง ใช่ไหม? เพราะขณะนี้ "เห็น" ต้องเกิด ถ้าไม่เกิด มี "เห็น" ไหม? คะ? ถ้าไม่เกิดจะมีเห็นไหม? ก็ไม่มี ขอเชิญสนทนาด้วยก็ได้นะคะ เป็นตัวแทนของท่านผู้อื่นค่ะ เพราะอยากฟัง "คำตอบ" เพราะว่า ถ้าไม่มีการไตร่ตรอง ไม่มีการคิดของผู้ฟัง จะไม่รู้เลยว่ามีความเข้าใจลึกซึ้งแค่ไหน เพราะฉะนั้น ขอเชิญใครก็ได้ท่านหนึ่งค่ะ

ขอทบทวนไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่งนะคะ ไตรคือ ๓ มาจากภาษาบาลีว่า "ติ" ลักษณะในภาษาไทยก็เอามาจากภาษาอื่นก็ใช้คำว่าลักษณะ แต่ภาษาบาลีเป็น "ลักขณะ" เพราะฉะนั้น ติลักขณะ ในภาษาบาลี ภาษาไทยก็ใช้ "ไตรลักษณ์" ได้ยินคำนี้ใช่ไหม? แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มีจริง สิ่งอะไรก็ตามที่ไม่มีจริง เสียเวลาที่จะต้องพูดถึง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกี้นี้ ขอทบทวนที่ว่า ลักษณะ ๓ ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมี ๓ อย่าง คือ ถ้าเป็นภาษาบาลี "อนิจจัง" คนไทยใช้บ่อย เคยพูดไหม? อนิจจัง บางคนก็ถึงกับอุทานออกมา อะไรๆ ก็ อนิจจัง หมายความว่า "ไม่เที่ยง" นิจแปลว่าเที่ยง อนิจจ อนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง หมายความว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่มี เกิดแล้วดับไป ดับไปคือหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย ไม่เที่ยง "เริ่ม" เข้าใจพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะนี้ทุกอย่างที่มีจริง แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่รวมๆ กัน อย่าง "เห็นคน" ถ้าไม่มี "เห็น" ไม่มี "ได้ยิน" ไม่มี "คิด" ไม่มี "จำ" จะมี "คน" ได้อย่างไร?

เพราะฉะนั้น ที่เราเข้าใจว่าเป็น "คน" เกิดมา แท้ที่จริง "ธรรมะ" เท่านั้น (ที่เกิด) ธรรมะทั้งหลาย สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น "เกิด" มีจริง ที่เกิดนั่นแหละจริง เป็นธรรมะ!! แต่หลงเข้าใจผิดว่าเที่ยง เพราะเหตุว่า ตั้งแต่เล็กจนโต ก็เกิดมาจนกระทั่งนั่งที่นี่เดี๋ยวนี้ ก็เข้าใจว่ายังคงเป็นเราที่นั่งอยู่ นั่นคือผู้ที่ยังไม่ได้รู้จัก "คำ" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริง จึงอยู่ในโลกของ "ความไม่รู้" และ พูดถึงสิ่งที่ไม่รู้โดยตลอด!!! จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้วมีความ "เข้าใจขึ้น"

ด้วยเหตุนี้ เรา "เริ่มต้น" ด้วยคำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงต้องเกิดจึงมี เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง-อนิจจัง ดีไหม? ดีไหม? เกิดแล้วก็ดับ ไม่เหลืออะไรเลยทั้งสิ้น!! "เห็น" เดี๋ยวนี้ เกิดขึ้นเห็นแล้วดับ เป็น "คิด" เป็น "ได้ยิน" ไม่ใช่เห็น เป็น "จำ" เป็น "ชอบ" เป็น "ไม่ชอบ" แต่ละหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งเพราะไม่รู้ จึงเข้าใจว่า เป็นเรา หรือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน เพราะไม่ประจักษ์การเกิดดับ หลงติด พอไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นทุกข์ ร้องไห้เสียใจ ร้องไห้เสียใจดีไหม?

คุณครู ไม่ดีค่ะ พลัดพรากจากสิ่งที่ตัวเองรักก็เป็นทุกข์
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นทุกข์ใช่ไหม? อะไรก็ตามที่ประสบกับสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุกข์ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น อนิจจัง-ความไม่เที่ยง เพียงเกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์แน่นอน เพราะเหมือนมี แต่ความจริง มีเพียงเมื่อเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็ปล่อยให้เข้าใจผิดๆ คิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หลงติด หลงชอบ หลงรัก หลงชัง ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกชาติ ดีไหม? ต้องไตร่ตรอง ต้องคิด เพราะว่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะไม่มีการเข้าใจโลก สิ่งที่มี คำว่า "โลก" หมายความถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย จะมีโลกไหม? จะมีใครนั่งอยู่ที่นี่ไหม? จะมีดอกไม้ จะมีอะไรไหม? ก็ไม่มี!! แต่เพราะเหตุว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดแล้วดับ แต่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ จนกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ทรงตรัสรู้ ด้วยพระบารมีที่ได้สะสมมานานกว่าใคร เพราะคนอื่นไม่สามารถที่จะเป็นอย่างพระองค์ได้ เพียงฟังตาม แค่ฟังตาม ก็ยาก!! ถ้าไม่มีอุปนิสัยที่สะสมมาที่เห็นประโยชน์ ไม่มีการเคยฟังมาแต่ชาติก่อน ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ฟังคำ จะไม่รู้คุณค่าเลย ว่าแต่ละคำ จากที่ไม่เคยฟังแล้วก็ได้ฟัง และเข้าใจ ทีละคำ จริงๆ แม้แต่ได้ฟังเท่านี้ก็ยังไม่พอ ยังไม่ถึงปัญญาทั้งหมดของพระองค์ ที่ทรงแสดงพระธรรมไว้ถึง ๔๕ พรรษา เพราะฉะนั้น นี่เป็นเพียงแต่ละคำ ซึ่งจะต้อง "ตั้งต้น" จริงๆ เข้าใจจริงๆ จึงจะสามารถ "รู้จัก" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

เพราะฉะนั้น มีใครบ้างที่คิดว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้น จากไม่มี แค่เกิดขึ้นมี แล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ยังเป็นสิ่งที่น่าพอใจ น่าจะให้เป็นอย่างนั้นไปตลอด เมื่อกี้นี้ไม่มีเสียง แล้วมีเสียง แล้วเสียงก็ดับ เป็นอย่างนี้ตลอด ทุกอย่าง ไม่ใช่แต่เฉพาะเสียง แม้ "เห็น" เดี๋ยวนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ใช้คำว่า "ตรัสรู้" ไม่ได้หมายความว่าเกิดจากการคิดไตร่ตรอง แต่ต้องเป็นการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมะเดี๋ยวนี้ที่เกิดแล้วดับ แล้วก็ทรงแสดงความจริงให้คนอื่น ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เป็น "สาวก" คือ "ผู้ฟังพระธรรม"

เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ไม่ใช่เรา แต่เป็น "ความเข้าใจ" สภาพธรรมะที่มีจริง เริ่มรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น อนิจจัง ดับไป เป็นทุกข์ และเป็น อนัตตา หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ขอเชิญคุณคำปั่นให้คำแปลของคำว่า "อนัตตา" ด้วยค่ะ

อ.คำปั่น คำว่า "อนัตตา" มาจากคำสองคำรวมกัน ก็คือคำว่า นะ ที่แปลว่า ไม่ใช่ และ อัตตา คือ ตัวตน รวมกันจึงเป็น อนัตตา แปลง นะ เป็น อะ ก็รวมกันเป็น "อนัตตา" ในพยัญชนะนี้ก็แสดงถึงความเป็นจริงว่า สภาพธรรมะทั้งหมด คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งความหมายของอนัตตา ในอรรถกถาทั้งหลายก็แสดงถึงความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทำให้เป็นไปตามใจชอบไม่ได้ และเป็นสภาพธรรมะที่ตรงกันข้ามกับ ตัวตน สัตว์ บุคคล อย่างแท้จริง ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ศึกษาธรรมะ ทีละคำ แม้ได้ฟังคำแปล แต่เดี๋ยวนี้ เข้าใจคำว่า อัตตา กับ อนัตตา หรือยัง? ต้องเป็นความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่เพียงแค่ "ได้ฟัง" แต่ต้อง "ไตร่ตรอง" ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงหนึ่ง เกิดแล้วดับไป จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ได้ไหม? แค่หนึ่งเกิดขึ้น แล้วหนึ่งดับ ไม่ยั่งยืนแล้ว ใช่ไหม? แต่ถ้าหลายๆ อย่าง รวมกัน ไม่เห็นการเกิดดับ จึงรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง

เพราะฉะนั้น คำว่า "อัตตา" หมายความว่า สภาพธรรมะที่เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่ปรากฏการเกิดดับ ทำให้ "หลงเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด" นั่นคือความหมายของ "อัตตา" แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง!! "เห็น" เกิดขึ้น และ "เห็น" ดับไป แค่เห็น ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่น ไม่ได้รวมอย่างอื่นเลย "เห็น" เกิดแล้วดับ เป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตา? เห็นไหม? ฟังแล้วต้องไตร่ตรอง ถ้าเกิดดับสืบต่อ ไม่ปรากฏการเกิดดับ ก็เหมือนกับเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ใช่ไหม? นี่แสดงความต่างกันแล้ว ของการที่ไม่ได้ฟังธรรมะ!! กับ การฟังธรรมะ!!!

เพราะฉะนั้น "อนัตตา" ต้องหมายความถึง สิ่งนั้นแหละที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น อีกความหมายหนึ่งของอนัตตา ก็คือว่า นอกจากไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแล้ว สิ่งนั้นยังไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น!! แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะดลบันดาลให้สิ่งใดเกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัย ไม่มีทางเลยที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดขึ้นได้ โดยปราศจากปัจจัย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องมีสิ่งที่อาศัยกันทำให้เกิดขึ้น โดยเราไม่รู้เลย แต่พอจะประมาณได้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เกิดแล้วใช่ไหม? ดับแล้ว!! แต่ไม่รู้เลย ถ้าไม่มีตา-รูปพิเศษที่ทุกคนมี อยู่ที่กลางตา เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่สามารถกระทบได้ แต่ว่าต้องมี "จิต" คือ "ธาตรู้" เกิดขึ้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แล้วก็ดับไป "เห็น" จะเห็นอย่างอื่นไม่ได้เลย เห็นได้เฉพาะแต่ "สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น" เท่านั้น

จริงหรือเปล่า? ทุกคำที่ได้ฟัง จริงหรือเปล่า?ม่ใช่ฟังเฉยๆ แต่ฟังเพื่อที่จะมีความเข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้น เราบอกว่า เราฟังธรรมะ แต่เราไม่รู้ว่า ธรรมะคืออะไร? ผิด!! ถ้าฟังธรรมะ แล้วรู้ว่าธรรมะคืออะไร แล้วก็เข้าใจธรรมะ เพราะได้ฟังธรรมะ นั่นคือถูกต้อง!!! เป็นประโยชน์ ในการที่จะได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ธรรมะยากไหม?

คุณครู ยากค่ะ ฟังดูแล้ว คือ ที่เราศึกษา บางที ฟังนี่ก็จะฟังเฉยๆ ฟังผ่านๆ ไป พระเทศน์หรืออะไรก็ฟัง แต่บางที เราไม่เข้าใจลึกซึ้ง เพราะคนสมัยนี้ มีความรู้สึกว่า ความอดทนในการรับฟังพระ จะค่อนข้างที่จะน้อย เพราะฉะนั้น เราจะไม่ค่อยเข้าใจอะไรลึกซึ้ง ฟังก็ ฟังๆ ไป เดี๋ยวก็จบแล้ว อะไรอย่างนี้ เวลาไปฟังธรรมที่วัดก็จะมีลักษณะอย่างนี้

ขอเรียนถามอาจารย์นิดหนึ่ง เมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึงเรื่องขันธ์ ๕ ใช่ไหมคะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในเมื่อเรายังติดอยู่ในสิ่งนี้ ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงคำว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เราจะมีวิธีอย่างไรคะ ที่สามารถควบคุมตัวนี้ได้?

ท่านอาจารย์ ตอนนี้ถูกต้องไหมที่พูดคำที่ไม่รู้จัก เช่น ขันธ์ ๕ บอกแล้วไง ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ทั้งหมดพูดคำที่ไม่รู้จัก!! แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว เริ่มรู้จักและเข้าใจ คำที่พูด เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดคือ ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าไม่ว่าอะไรทั้งหมด ใครไม่สามารถที่จะรู้ได้เท่ากับการที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงให้เราได้รู้ แต่ที่ควรทราบยิ่งกว่านั้นก็คือว่า พระธรรมที่ทรงแสดงให้เข้าใจ น้อยกว่าที่ได้ทรงตรัสรู้ น้อยกว่ามาก ทรงอุปมาว่าการตรัสรู้ความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว อุปมาเหมือนใบไม้ในป่า แต่ธรรมะที่ทรงแสดงเพียงใบสองใบในกำมือ นี่แสดงให้เห็นว่า การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ใครเพียงแต่พูดว่านับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และ พระมหากรุณาคุณ ที่จะให้ประโยชน์อย่างยิ่งแก่เรา ในชีวิตทั้งชีวิต และต่อไปทุกชาติด้วย!!! ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะเป็นประโยชน์ได้ถึงอย่างนั้นเลย

ด้วยเหตุนี้ พูดคำที่ไม่รู้จักแล้วใช่ไหม? กี่คำ? ลองนับดู จะได้พูดทีละคำให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เพียงเราคิดสั้นๆ ง่ายๆ ประเดี๋ยวก็เข้าใจ แต่ทุกคำต้องชัดเจน!! และมีจริง และละเอียด!! ที่สามารถจะเข้าใจได้ เมื่อกี้นี้พูดกี่คำ? ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด ถ้าไม่เกิด จะดับได้ไหม? ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วดับไป แล้วไม่เหลือเลย ดีไหม? ไม่ดีก็ต้องเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ บังคับบัญชาได้ไหม?

คุณครู ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ไม่ให้เห็นได้ไหม?
คุณครู ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ให้ได้ยินได้ไหม?
คุณครู ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ให้คิด ได้ไหม?
คุณครู ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์ ไม่ให้โกรธ ได้ไหม?
คุณครู บางครั้ง ควบคุมได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ใครควบคุม? ใคร?
คุณครู ใจเราค่ะ ควบคุมไม่ให้โกรธได้
ท่านอาจารย์ ใจของเราหรือ? ควบคุมได้!! ใจ แม้แต่ "ใจ" ก็ไม่รู้จัก!! ใครรู้จัก "ใจ"??? เห็นไหม? ทุกคำ ไม่รู้เลย!! พูดคำที่ไม่รู้จักตลอด ใครรู้จัก "ใจ" บ้าง? รู้แต่ว่ามี รู้แน่ว่ามี ไม่ใช่ดอกไม้ ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่พื้นดิน ไม่ใช่ภูเขา เพราะฉะนั้น "ใจ" เป็นอะไร? เห็นไหม? รู้แต่เพียงว่า ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่ภูเขา ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ฟ้า แต่ว่า "ใจ" ไม่ว่าใจของใคร "ใจ" เปลี่ยนไม่ได้ รูปร่างเปลี่ยนได้ ปลาเห็นไหม? คะ? ปลาเห็นไหม? แต่ละคำ เป็นความจริง ตรง ธรรมะต้อง "ตรง" ปลาเห็นไหม? ตามความเข้าใจจริงๆ "เห็น" มีแน่ๆ เพราะฉะนั้น ปลาเห็นไหม? แค่นี้ ต้องรู้จริงๆ ปลาเห็นไหม? เชิญค่ะ คิดแล้วตอบ

คุณครู กราบสวัสดีท่านอาจารย์ค่ะ อาจารย์บอกว่า ปลาเห็นไหม? อันนี้เป็นคำถามหมายถึงว่า ตัวเราเห็นปลา?
ท่านอาจารย์ แล้วปลาเห็นเราไหม?
คุณครู ปลาเป็นสัตว์ ไม่สามารถจะเห็นตัวเราได้ แต่เขาอยู่ในน้ำ เพราะเขามีสัญชาติญาณ
ท่านอาจารย์ แล้วเขาเห็นอาหารไหม?
คุณครู เห็นอาหาร ที่เวลาเราโยนไปในน้ำ เขาก็จะงับ
ท่านอาจารย์ นั่นสิคะ เขา "เห็น" ไหม?
คุณครู เขาต้องเห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เรากำลังพูดถึง "ใจ" ใช่ไหม? ว่าเราคนนี้มี "ใจ" ใช่ไหม? ปลามี "ใจ" ไหม?
คุณครู ปลาก็ต้องมีใจ

ท่านอาจารย์ นกมี "ใจ" ไหม?
คุณครู มีใจ
ท่านอาจารย์ งูมีใจไหม?
คุณครู มีใจ
ท่านอาจารย์ นก "เห็น" ไหม?
คุณครู นกเห็นเหยื่อ
ท่านอาจารย์ แล้วไม่เห็นเราหรือคะ? (ทุกคนหัวเราะกันสนุก) ธรรมะต้องเป็นเรื่องจริงค่ะกเห็นเราด้วยหรือเปล่า?
คุณครู ต้องเห็นค่ะ เวลาที่เราไปไล่เขา เขาต้องคิดว่าเราอาจจะไปทำอันตรายเขา ถ้ามีการ..เขาเรียกผัสสะ ระหว่างเรากับนก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นกเห็นไหม?
คุณครู เห็นค่ะเห็น

ท่านอาจารย์ แมวเห็นไหม?
คุณครู แมวเห็น
ท่านอาจารย์ มดเห็นไหม?
คุณครู มดไม่แน่ใจ เพราะว่า.. (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าตาของมด.. (หัวเราะกันครืน)
ท่านอาจารย์ มดไม่เห็น? มดเดินได้ไหม? มดกินได้ไหม? เพราะฉะนั้น มดเห็นไหม?
คุณครู มดเห็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้ามดตัวใหญ่ เห็นตามดใช่ไหม? แต่ถ้ามดตัวเล็กๆ (เรา) ไม่เห็น (ตาของมด) แล้ว แต่จักขุปสาทที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา มองไม่เห็นเลย เล็กที่สุด แล้วก็มองไม่เห็นด้วย จักษุแพทย์ก็ไม่เห็น ใครก็ไม่เห็น นักวิทยาศาสตร์จะทำอะไรสักเท่าไหร่ก็ไม่เห็น เพราะ "เห็น" เป็น "ใจ" หรือเป็น "จิต" ที่เกิดขึ้น "รู้" ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย สำหรับสภาพธรรมะซึ่งเป็นธาตุรู้ นี่คือพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เราได้เข้าใจถูกต้อง ว่าเราเกิดมาเพียงเกิดอยู่ในโลกนี้ไม่นาน แต่จะจากโลกไปด้วยความไม่รู้ กับการที่มีโอกาสได้รู้ มากหรือน้อย ไม่สำคัญ ขอเพียงให้เข้าใจจริงๆ ให้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ได้ประโยชน์จริงๆ เพื่อที่จะได้สะสม "ความเข้าใจถูก" ต่อไป เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด

ท่านอาจารย์ เห็นเป็นเห็น ใช่ไหม?
คุณครู ค่ะ
ท่านอาจารย์ "เห็น" เป็น "ได้ยิน" ได้ไหม?
คุณครู คือ บางครั้งเราเหมือนเห็น แต่ถ้าเรา มันผ่านๆ แต่ถ้าเราเอา..หมายถึงว่า เราตั้งใจจะดู เราต้องเอาจิตไป..จิตกับใจ ก็..เดี๋ยวอาจารย์อธิบายอีกรอบหนึ่ง จิตกับใจคือตัวเดียวกันไหม? เหมือนกับว่าที่หนูกำลังมองอาจารย์อยู่นี่ ถ้าหนูไม่ได้ตั้งใจมองอาจารย์จริงๆ หนูจะเห็นแต่ว่า สักแต่ว่าเห็นว่ามีคนนั่งอยู่
ท่านอาจารย์ ค่ะ ขอเชิญตั้งใจมองจริงๆ
คุณครู ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วได้ยินไหม?
คุณครู ได้ยินค่ะ
ท่านอาจารย์ เห็นไหม? ทั้งๆ ที่จะตั้งใจมองสักเท่าไหร่ ก็ยังได้ยิน แต่ "ได้ยิน" ไม่ใช่ "เห็น"
คุณครู คือคนละส่วนกัน?

ท่านอาจารย์ คนละขณะเลยค่ะ พร้อมกันไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏก็ต่างกัน ปัจจัยที่จะทำให้ทั้งสองอย่างเกิดก็ต่างกัน "เห็น" ต้องอาศัย "ตา-จักขุปสาทรูป" เป็นสิ่งที่มีจริง แต่มองไม่เห็น นี่เพียงแค่ "คำ-สองคำ" ที่ "เริ่มต้น" ที่จะได้เข้าใจธรรมะให้ถูกต้อง ว่า ธรรมะก็คือชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ธรรมะ แต่ถูกปกปิดไว้ด้วย "ความไม่รู้" ด้วยคำหลายๆ คำ ซึ่งทำให้เข้าใจผิดด้วย เพราะคำนั้นไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!!

เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่ "เริ่มฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เริ่มจะรู้ความต่าง ของความเป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ กับ คำที่ไม่ได้มาจากการตรัสรู้เลย เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ "ตรง" แล้วก็ "ชัดเจน" และไม่รีบร้อนที่จะไปฟังคำแปล ไปรีบร้อนที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมี แต่ว่า "ค่อยๆ เข้าใจ" รีบร้อนก็ไม่ได้ แต่รู้ว่า กิจที่ควรทำกว่ากิจอื่น ถ้ารู้จริงๆ คือ การเข้าใจพระธรรม การเข้าใจความจริง เพราะเราจะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าเย็นนี้มีใครตายจากไป เขาก็ยังมีโอกาสได้ฟังธรรมะก่อนที่จะจากไป (คือมีโอกาสที่ได้ฟังในขณะนี้) ประโยชน์ที่สุดของชีวิต ก็คือ "ความเข้าใจ" ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง แม้ร่างกายก็เอาไปไม่ได้ แต่ "ความเข้าใจ" จะติดตามไป แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เพื่อละความไม่รู้!!!

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ ดร.วิณัฐธพัชร์ โพธิ์เพชร คณาจารย์และบุคลากรทางศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1 ทุกท่าน
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

.........

อนึ่ง การสนทนาในครั้งนี้ เป็นครั้งหนึ่งที่ควรบันทึกไว้สำหรับผู้ที่สนใจในความละเอียดของการ "ตั้งต้น" ในการศึกษาพระธรรม จริงๆ ครับ สำหรับท่านที่สนใจ สามารถคลิกชมและฟังการสนทนาในครั้งนี้โดยครบถ้วนสมบูรณ์ได้จากลิงค์นี้ครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 ต.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 9 ต.ค. 2559

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

มี บางท่าน เป็น ผู้ที่พิการทางหู มีความสนใจ และ ได้อาศัยอ่าน ข้อความธรรมะของ มศพ.

ท่านได้อนุโมทนาสาธุ ที่ได้รับ โอกาสประเสริฐ จากผู้เจริญกุศล .."ถอดเทปการสนทนาธรรม"..ไว้ ให้ได้อ่าน

..แม้จะเป็นจำนวนน้อยคน หรือ เพียงคนเดียว ก็ตาม .. (รวมทั้ง บางกรณีที่ ไฟล์เสียง ที่อาจจะเบาไปบ้าง) เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากจริงๆ

และ สำหรับ ท่าน ที่มึความปกติสมบูรณ์ดี .. ก็เป็นการเพิ่มช่องทางสะดวก ที่ได้รับ ความละเอียดครบถ้วน อยากอ่านก็ได้อ่าน อยากฟังก็ได้ฟัง อยากทบทวนทั้งสองวิธี ก็ยิ่งเป็นการดีขึ้นไปอีก

อีกทั้ง เป็นหลักฐานอ้างอิง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาพระธรรม

ท่านที่เคยถอดเทปเอง ก็มีโอกาสได้รับความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดละออ ซาบซึ้งประทับใจไม่น้อยเลย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย ภู่งาม และ ชาว มศพ. ทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
j.jim
วันที่ 9 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
namarupa
วันที่ 9 ต.ค. 2559

กราบอนุโมทนาในเมตตาจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ที่ได้ช่วยเกื้อกูลเหล่าคณาจารย์ทั้งหลายและกราบอาจารย์ดวงเดือนในกุศลศรัทธา

และขออนุโมทนาคุณวันชัย ภู่งาม ในกุศลวิริยะที่ถอดเทปและถ่ายภาพบรรยากาศของการสนทนาในครั้งนี้ด้วยค่ะ การถอดเทปไม่ใช่งานง่ายๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
tong9999
วันที่ 10 ต.ค. 2559

ขอกราบท่านอาจารย์สุจินต์ด้วยความเคารพ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 11 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 18 ต.ค. 2559

อนุโมทนาในกุศลจิตทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
krumintdaroontham
วันที่ 19 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
lovedhamma
วันที่ 24 ธ.ค. 2560

ขออนุโมทนาในเมตตาจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่ได้เผยแพร่พระธรรมที่ถูกตามพระไตรปิฎกแก่เหล่าคุณครู+ท่านผู้อำนวยการ+บุคลากรทางการศึกษาทั้งหลาย และกราบอนุโมทนาในกุศลศรัทธาของอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ได้จัดเตรียมอาหารกลางวันมาให้บริการแก่บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ขออนุโมทนาสมาชิกชมรมบ้านธัมมะทุกท่านที่มาช่วยให้การสนทนาธรรมในครั้งนี้ผ่านไปด้วยดี...การศึกษาธรรมต้องมีจุดตั้งต้นที่ถูกทาง+ศึกษาทีละคำ และเป็นผู้ที่ละเอียด การสนทนาธรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ