สรุปแล้วเจ้ากรรมนายเวรไม่มีค่ะ

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  13 ก.พ. 2550
หมายเลข  2827
อ่าน  5,871

สมจริงดังพระพุทธเจ้าตรัสว่า เรามีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีกรรมเป็นทายาท ทำดีทำชั่วเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น ขณะที่เราได้รับความเจ็บทางกาย ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก แต่ขณะที่เราหงุดหงิดเป็นอกุศลจิต แค่ขุ่นใจนิดหน่อยก็เป็นโทสมูลจิตแล้ว เห็นได้ว่าขณะที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา จิตขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เราถึงต้องไม่ขาดการฟังธรรมและเจริญกุศลทุกอย่าง สรุปแล้วเจ้ากรรมนายเวรไม่มี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
yupa
วันที่ 14 ก.พ. 2550

แล้วคำว่า เจ้ากรรมนายเวร มาจากไหน ก็ได้ยินจากพระสงฆ์องค์เจ้าพูดเสมอว่า ทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ด้วย โดยส่วนตัวแล้วก็เชื่อว่าไม่น่าจะมี เพราะใครทำกรรมอย่างไรกรรมนั้นก็เป็นของผู้นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 14 ก.พ. 2550

คำนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา แต่คนยุคหลังที่ขาดการศึกษาพระธรรมคำสอน กล่าวตามๆ กัน โดยไม่มีการสอบจากพระไตรปิฎก

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
bluebaker
วันที่ 14 ก.พ. 2550

ถ้าอย่างนั้นคนที่ถูกเรากระทำ ไม่ว่าดีหรือเลว จะเรียกว่าอะไรครับ แล้วการทำบุญอุทิศไปให้เพื่อขออโหสิกรรมจะได้ประโยชน์อะไรครับ การปรารถนาดีต่อผู้อื่นจะมีผลใดเล่าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปุถุชนคนหนึ่ง
วันที่ 14 ก.พ. 2550

เป็นวิบากกรรมของคนนั้น แต่เป็นกรรมของท่านเอง ซึ่งขึ้นอยู่กับเจตนาเป็นหลัก ส่วนการทำบุญอุทิศส่วนกุศล เป็นกุศลเจตนาที่ต้องการให้ผู้ที่สามารถล่วงรู้ได้ เกิดก็กุศลจิตยินดีในกุศลกรรมนั้นๆ ประโยชน์ก็คือบุญ หมายถึง สภาพจิตที่ดีงามของผู้ให้และของผู้รับค่ะ ส่วนคำว่า อโหสิกรรม หมายถึง กรรมที่ไม่ให้ผล เมื่อกรรมมี ผลของกรรมย่อมมี ฉะนั้น ผู้ที่กรรมไม่สามารถจะติดตามให้ผลได้ คือ พระอรหันต์ ที่ท่านดับขันธปรินิพพานแล้วเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 14 ก.พ. 2550

ตอบความเห็นที่ ๓ เพิ่มเติม

คนที่ถูกเรากระทำ ไม่ว่าดีหรือเลว โดยปรมัตถ์เรียกว่า ได้รับวิบาก ส่วนการทำบุญอุทิศไปให้ เพื่อขออโหสิกรรมกับเจ้ากรรมนายเวร ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะกระทำไปด้วยความเข้าใจผิด ต่างจากการกระทำบุญแล้วอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้เขาอนุโมทนา เพราะญาติมีอยู่จริง การปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นกุศลจิตย่อมมีผลเป็นกุศลวิบาก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
bluebaker
วันที่ 15 ก.พ. 2550

ขอบคุณที่ให้ความกระจ่าง แต่ผมยังคิดว่าการขออโหสิกรรมน่าจะมีผล หากผู้ที่ถูกเรากระทำรับรู้ได้แล้วอโหสิกรรมให้ เขาก็จะไม่มากระทำเราตอบ แต่เราจะยังได้รับวิบากกรรมที่ทำมาอยู่ดีไม่มีทางลดหรือตัดทิ้งไปได้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่นไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ นั้นเขาสามารถสารภาพบาปแล้วก็จบกันไป เออแปลกดีนะครับ แต่เรานึกถึงหลักความจริงนะครับ หากเราทำผิดต่อคนๆ หนึ่ง วันหลังเราสำนึกผิด ไปขอโทษเขา ทำดีต่อเขาตอบแทน จนเขาหายโกรธเรา เขาก็คงไม่เคียดแค้นเราอีกต่อไป มันก็น่าจะเหมือนการขออโหสิกรรมนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
webdh
วันที่ 15 ก.พ. 2550

เวลานี้ใครมองเห็นเจ้ากรรมนายเวรบ้าง

เวลานี้ใครมองเห็นเจ้ากรรมนายเวรบ้าง ฟังดูเสมือนว่าทุกคนมีเจ้ากรรมนายเวรแต่ตามความเป็นจริงนั้น ทุกคนเป็นทายาทของกรรมของตนเองกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลดีที่กำลังได้รับความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ใช่บุคคลอื่นบันดาลให้

แต่กุศลที่ผู้นั้นได้กระทำแล้วในอดีต เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสสิ่งที่ดีๆ ฉะนั้น เมื่อกุศลให้ผล ก็ทำให้ได้รับความสุข ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ก็ฉันนั้น ถ้าถูกคนอื่นทำร้าย ก็อาจจะคิดว่าเพราะคนนั้นทำ แต่ถ้าไม่ได้ถูกใครทำร้ายเลย เวลาตกบันไดหรือเจ็บป่วยต่างๆ นั้น ใครทำให้ ฉะนั้น แต่ละคนจึงมีกรรมของตนเอง เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่างๆ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

ฉะนั้น เรื่องเจ้ากรรมนายเวร จึงเป็นเรื่องรับฟังต่อๆ กันมา โดยไม่รู้ว่าใครเคยเห็นเจ้ากรรมนายเวรที่ไหน เมื่อไหร่ เพียงแต่นึกว่ามีบุคคลที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรที่ทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนต่างๆ แต่ความจริงนั้น ทุกคนมีกรรมเป็นของของตนเอง

ฉะนั้น ท่านเป็นเจ้ากรรมนายเวรของท่านเองหรือเปล่า ในเมื่อคนอื่นไม่สามารถจะทำกรรมให้ท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม ต่างคนก็ต่างเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันโดยไม่รู้จักหน้าค่าตาว่าเคยเป็นเจ้ากรรมนายเวรกัน ตั้งแต่ในครั้งไหนในสังสารวัฎฎ์ ฉะนั้น ทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้ ต่างเป็นเจ้ากรรมนายเวรที่มองไม่เห็น ใครก็ตามที่ทำให้ท่านไม่พอใจในชาตินี้ คนนั้นแหละคือ ผู้ที่ท่านเคยทำกรรมไม่ดีกะเขาครั้งหนึ่งในสังสารวัฎฎ์ได้ไหม ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ไม่โกรธ ไม่เกลียด ให้อภัยผู้นั้นทันทีเมื่อไม่โกรธเคืองผู้ใด ก็หมดเวรกรรมกับผู้นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Guest
วันที่ 15 ก.พ. 2550

เป็นอภัยทานค่ะ ขณะที่ให้อภัย ขณะนั้นจิตเป็นกุศลที่ประกอบด้วยเมตตาคือ อโทสเจตสิก ส่วนเรื่องการสารภาพบาปก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ความจริงเท่านั้นที่ทนต่อการพิสูจน์ พระพุทธศาสนาสอนแต่สิ่งที่เป็นความจริง ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ เพราะเป็นความจริงที่จะทำให้ผู้นั้นสามารถเข้าถึงความเป็นพระอริยะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
olive
วันที่ 16 ก.พ. 2550

เราคิดว่าเจ้ากรรมนายเวรเป็นคำที่มนุษย์ใช้เรียกและตั้งขึ้นมาเอง ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฏก แต่เราก็คิดว่าบุคคลที่ถูกเจ้ากรรมนายเวรมีตัวตนจริง เพราะว่ามันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกแทนคนที่ถูกเราทำร้ายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ความว่าตัวเราเท่านั้นเป็นผู้รับผลขอกรรมนั้น ก็คือเราต้องรับผลจากสิ่งที่เราทำอันนี้เป็นจริงแท้ และการที่เราทำความดีทำบุญก็เป็นกรรมดีที่เราต้องรับไม่ต่างจากกรรมชั่ว

ดังนั้น การขออโหสิกรรม ก็ต้องมีผล เพราะการกระทำที่เรียกว่า การขออโหสิกรรม ก็คือ การที่คนเราทำบุญ เช่น การสวดมนต์ทำทานก็ทำให้ได้กุศลวิบากเช่นกัน แต่สิ่งที่ขัดแย้งจริงๆ ไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวรไม่มีจริง หรืออโหสิกรรมไม่มีผล แต่เป็นความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องความคิดที่ว่าการทำดีสามารถลบล้างปาบได้ต่างหาก และการทำดีย่อมให้กุศลวิบากดี การทำชั่วย่อมให้กุศลวิบากชั่วจะเปรียบเทียบก็จะพอยกตัวอย่างว่าเช่น ถ้ามีคนคนหนึ่งกำลังเดินทางกลับบ้านแล้วกระเป๋าตังค์หายไม่มีเงินติดตัวเลยสักบาท (ก็เพราะเขาเคยทำกรรมไว้ คือ เขาเคยขโมยเงินคนอื่น ทำให้เขาต้องได้รับกรรมคือเสียทรัพย์โดยไม่ได้ตั้งใจ) แต่ในขณะที่เขาลำบากอยู่นั้น จู่ๆ เขาก็เจอเงิน 15 บาทพอให้เขาขึ้นรถกลับบ้านได้พอดี (เพราะเขาเคยทำบุญบริจาคทานมาก่อน) แสดงให้เห็นว่าปาบและบุญให้ผลคนละด้าน และวาระบุญไม่ได้ทำให้ปาบลดลงแต่จะช่วยเกื้อกูลเมื่อเราต้องการต่างหาก ดังนั้น การจะปฏิเสธว่าอโหสิกรรมไม่ให้ผลนั้นไม่ได้เพราะอโหสิกรรมเป็นกรรมดีที่ต้องให้ผลในทางที่ดี แต่ไม่ได้ช่วยให้กรรมชั่วลดลงต้องกล่าวอย่างนี้จึงจะถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
webdh
วันที่ 16 ก.พ. 2550

ต้องมีความเข้าใจคำว่า อโหสิกรรม ในทางธรรมให้ถูกต้อง ถ้าเป็นภาษาไทยที่เราพูดคุยกัน คงจะหมายความว่า ให้อภัยกัน ไม่ถือโทษกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
webdh
วันที่ 16 ก.พ. 2550

กรรมนั้นย่อมให้ผลตามควรแก่เหตุ เมื่อเหตุมีแล้ว ผลย่อมมี ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว แม้แต่พระอรหันต์ซึ่งเป็นผู้หมดจากกิเลส ก็ยังต้องได้รับอกุศลวิบาก เพียงแต่ท่านไม่เป็นผู้ที่หวั่นไหว เพราะไม่มีปัจจัยคือ กิเลส ไม่มีใครหนีวิบากกรรมได้เลยนะคะ แม้แต่พระผู้มีพระภาคฯ ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐสูงสุด พระองค์ก็ยังได้รับความทุกข์ทรมานทางกาย (ประชวร) ได้รับคำตำหนิติเตียน ได้รับโภชนาหารอันไม่ประณีตในบางกาล รวมถึงพระอริยบุคคลท่านอื่นๆ ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก

ความทุกข์ทั้งหลาย ทุกข์ใจหรือกิเลสทุกข์ เป็นสภาพที่เราสามารถละคลายได้ด้วยปัญญา เมื่อยังมีกิเลสก็ย่อมมีทุกข์ค่ะ ท่านเปรียบไว้ว่า ทุกข์ใจนั้นเปรียบเสมือนการยิงลูกศรดอกที่สองซ้ำลงไปที่แผลเก่า ก็คงต้องทุกข์มากขึ้นไปอีกใช่มั้ยคะ ถ้าขาดปัญญา

โดยสมาชิก : devout

กรรม คือ การกระทำมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว กรรมดีให้วิบากดีทำให้มีความสุขส่วนกรรมชั่วให้วิบากไม่ดีทำให้มีความทุกข์ เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้วย่อมให้ผลตามฐานะของกรรมนั้นๆ ไม่สามารถลบล้างกรรมที่ทำสำเร็จไปแล้วได้ แต่มีหนทางเพื่อการสิ้นกรรมทั้งหมดได้ โดยการอบรมเจริญปัญญาจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ดับขันธ์ปรินิพพานไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่เกิดจึงไม่มีการรับผลของกรรมใดๆ อีกเลย

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ถ้าลบล้างกรรมชั่วได้ คงไม่มีใครไปเกิดในอบายเพราะทุจริตกรรม คงไม่มีใครเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ รูปไม่งาม และทุกคนจะมีแต่ความสุขความเจริญอย่างเดียวแต่ความจริงที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ มีความแตกต่างกันเพราะกรรม สรุปคือ ไม่มีใครแก้หรือลบล้างกรรมได้ และลบล้างไม่ได้ เพราะกรรมเป็นนามธรรม

โดยสมาชิก : prachern.s

กรรม คือ การกระทำเมื่อทำสำเร็จย่อมรอส่งผลเมื่อได้โอกาส กรรมเป็นนามธรรมไม่ปรากฏให้เห็นเหมือนรูป กรรมที่ทำไปแล้วมีมากมาย แต่กรรมไหนจะให้ผลเมื่อไหร่เราไม่ทราบ จึงกล่าวว่ากรรมเป็นเรื่องปกปิด

โดย : มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yupa
วันที่ 20 ก.พ. 2550

กรรม คือ ผลการกระทำซึ่งจะส่งผลในวันหนึ่ง เช่นเดียวกับ การปลูกต้นไม้ที่ต้องรอวันโต ออกดอก ออกผลฉันใด และดอกผลที่ออกมา ก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์ทั้งต้น กรรมก็เช่นกัน อย่าประมาท เป็นดีที่สุด

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
pamali
วันที่ 25 ก.ย. 2553

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
อ๊อด
วันที่ 22 มี.ค. 2556

เมื่อใดเราถูกกระทำ เมื่อนั้นเรากำลังใช้กรรม ผู้กระทำกำลังก่อกรรมใหม่

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ