บัดนี้พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น

 
pathai
วันที่  20 ต.ค. 2559
หมายเลข  28290
อ่าน  1,684

ช่วยตีความหมายนี้หน่อยครับ และช่วยอธิบายถึงความมั่วและไม่มั่วของเชิงอรรถด้านล่างนี้ด้วย

ขอบพระคุณ

พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนี ขันธกะ]

๑.ปฐมภาณวาร

ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม ๘ จากพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมีถึงที่พัก ครั้นถึงแล้วได้กล่าวกับพระนางมหาปชาบดีโคตมีดังนี้ว่า “โคตมี ถ้าพระนางรับครุธรรม ๘ (การรับครุธรรม) นั้นแหละจะเป็นการอุปสมบทของพระนาง คือ

๑. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ ๑๐๐ พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับทำอัญชลีกรรม ทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๓. ภิกษุณีพึงหวังธรรม ๒ อย่าง คือ ถามอุโบสถและไปรับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือบูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย โดยสถาน ๓ คือได้เห็น ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๕. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๖. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายให้แก่สิกขมานาที่ศึกษาธรรม ๖ ข้อตลอด ๒ ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใดๆ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๑๘ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนี ขันธกะ] ๑.ปฐมภาณวาร

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอนภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

โคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม ๘ นี้ (การรับครุธรรม) นั้นแหละจะเป็นการอุปสมบทของพระองค์”

พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า “ท่านอานนท์ ดิฉันยอมรับครุธรรม ๘ ข้อนี้ ปฏิบัติไม่ละเมิดไปจนตลอดชีวิตทีเดียว เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือชายหนุ่มผู้ชอบแต่งกาย เมื่อสรงน้ำดำเกล้าแล้วได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวน ก็ใช้มือทั้งสองประคองรับไว้เหนือศีรษะฉะนั้น”
ต่อมา ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระนางมหาปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม ๘ ข้อแล้ว พระมาตุจฉาของพระองค์อุปสมบทแล้วพระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้ามาตุคามจะไม่ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้นาน สัทธรรมจะดำรงอยู่ถึง ๑,๐๐๐ ปี แต่เพราะมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศไว้แล้ว บัดนี้พรหมจรรย์จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น๑"

เชิงอรรถ :

๑ สัทธรรมจะตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปี หมายความว่า ถ้าให้สตรีบวชโดยไม่ได้บัญญัติครุธรรมไว้ก่อน เวลาผ่านไป ๕๐๐ ปีก็จะไม่มีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา แต่เมื่อบัญญัติครุธรรมไว้ก่อนที่สตรีจะบวช ในระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปีก็ยังมีพระอรหันต์ผู้บรรลุปฏิสัมภิทาอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปีก็ยังมีพระอรหันต์สุกขวิปัสสกอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปีก็ยังมีพระอนาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปีก็ยังมีพระสกทาคามีอยู่ ผ่านไปอีก ๑,๐๐๐ ปีก็ยังมีพระโสดาบันอยู่ สรุปว่าปฏิเวธสัทธรรมจะดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี แม้ปริยัติธรรมก็ดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี เพราะปริยัติกับปฏิเวธต่างเกื้อกูลกัน (วิ.อ.๓/๔๐๓/๔๐๖-๔๐๗)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า :๓๑๙ }


พระวินัยปืฎก จูฬวรรค [๑๐. ภิกขุนี ขันธกะ]

๑.ปฐมภาณวาร

อานนท์ ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลหนึ่งที่มีสตรีมาก มีบุรุษน้อยจะถูกโจรปล้นทรัพย์ทำร้ายได้ง่าย

อานนท์ ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เหมือนหนอนขยอกที่ลงในนาข้าวสาลี ซึ่งอุดมสมบูรณ์ก็ทำให้นาข้าวนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

อานนท์ ธรรมวินัยที่มีมาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะไม่ตั้งอยู่ได้นาน เหมือนเพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่อุดมสมบูรณ์ก็ทำให้ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

อานนท์ เราบัญญัติครุธรรม ๘ แก่ภิกษุณีทั้งหลาย ซึ่งภิกษุณีทั้งหลายไม่พึงละเมิดไปจนตลอดชีวิต ก็เหมือนคนกั้นทำนบที่สระใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหล (เข้า) ออกไปฉะนั้น

อัฏฐครุธัมมะ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากข้อความพระไตรปิฎกที่ยกมานั้น เป็นเรื่องของการที่ท่านพระมหาปชาบดีขอบวช ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสห้าม พะรอานนท์ก็กราบทูลขอร้องให้สตรีได้ออกบวช จนท้ายสุด พระพุทธเจ้าก็ให้บวชโดยให้รับครุธรรม ๘ ประการ เป็นอุปสมบทของสตรีทั้งหลาย ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมาแสดงว่าถ้าสตรีบวชเป็นบรรพชิต ศาสนาคือพระสัทธรรม จักตั้งได้อยู่เพียง ๕๐๐ ปี ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกที่อรรถกถาอธิบายต่อครับว่า หากแต่ว่าเมื่อเราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการให้สตรีรักษาในการบวชก็จะทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้ เป็นพันปีครับ และที่พระองค์ทรงห้ามพระนางมหาปชาบดีบ่อยๆ ในการที่จะขอบวช เพื่อให้สตรีทั้งหลายเห็นถึงความยากในการที่จะได้บรรพชาและก็จะรักษาบรรพชานั้น และการประพฤติครุธรรมก็จะเป็นการรักษาภิกษุณีและพระศาสนาให้มีอายุยืนยาวขึ้นครับ เปรียบเหมือน บ่อน้ำที่ไม่มีการสร้างขอบ น้ำขังได้น้อย แต่เมื่อบ่อน้ำมีการสร้างขอบ ก็จะทำให้น้ำขังได้มาก ฉันใด พระองค์ก็ทรงบัญญัติครุธรรม ให้สตรีรักษาเพื่อพระศาสนาจะได้อายุยืนยาวขึ้น เป็นพันปี

แต่ข้อสงสัยก็มีว่าถ้ามีอายุเพียงแค่พันปี แล้วปัจจุบัน ๒๕๐๐ ปีแล้วศึกษาธรรมของใคร ข้อความในพระไตรปิฎกก็อธิบายต่อไปครับว่า คำว่า พันปี นั้นหมายถึงอะไร พันปีแรกคือ การที่มีพระอรหันต์ที่ท่านได้ปฏิสัมภิทา คือ สามารถอธิบายธรรมได้แตกฉาน และยุคพันปีแรกก็มีพระอรหันต์ที่ได้ฤทธิ์ด้วยครับ ศาสนายังไม่หมดสิ้นครับ พอพันปีที่สอง พระอรหันต์ที่ได้ฤทธิ์ ได้ปฏิสัมภิทา ไม่มีแล้ว แต่ยังมีพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฤทธิ์และปฏิสัมภิทาครับ จะเห็นว่าค่อยๆ เสื่อมไป พันปีที่สาม ก็จะไม่มีพระอรหันต์ จะมีแค่เพียงพระอนาคามีครับ ส่วนพันปีที่ ๔ สูงสุดเพียงพระสกทาคามี และพันปีที่ ๕ ก็เพียงพระโสดาบันครับ ดังนั้นอายุพระศาสนา ผู้บรรลุได้ถึงพันปีที่ ๕ ดังนั้นพระปริยัติธรรมก็ยังคงมีอยู่ เพราะผู้ที่จะบรรลุโดยไม่อาศัยพระปริยัติธรรม ศึกษาพระธรรมไม่มีครับ แต่พระปริยัติ พระศาสนาก็จะเสื่อมไปเรื่อยจากยุคแรก มายุคปัจจุบันและถึงอนาคต

ดังนั้นขณะนี้ก็ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังไม่อันตรธานและเมื่อยังมีการบรรลุธรรมก็แสดงว่าก็ยังมีพระสัทธรรม คำสอนอยู่ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

อรรถกถาโคตมีสูตร

ที่สำคัญ การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด พิจารณาด้วยเหตุผล ไตรตรองด้วยปัญญา ไม่ใช่เชื่อทันทีจากใคร สอบสวนจากพระธรรมวินัยและมื่อสอบสวนแล้วก็พิจารณาเหตุผลว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ครับ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแสดงถึงสิ่งที่มีจริง ไม่ได้แสดงถึงสิ่งที่ไม่มีจริง แสดงในสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นคำพูดใด คำสอนใดจากใครที่แสดงให้เห็นความจริงที่มีในขณะนี้ที่เป็นธรรม ที่เป็นอริยสัจจะ นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่คำสอนใด สอนว่ามีเรา มีตัวเราทำ ปฏิบัติ มีสัตว์บุคคลจริงๆ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าครับ คำสอนได้ สอนให้ได้ สอนให้ติด สอนเพื่อไม่เบื่อหน่ายไม่คลายกำหนัด นั่นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยนัยตรงกันข้าม คำสอนใดสอนให้ละความติดข้องและละกิเลสประการต่างๆ แต่ด้วยหนทางที่ถูก นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขณะนี้พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยังดำรงอยู่ ยังไม่อันตรธานก็เป็นโอกาสดีที่บุคคลผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของความเข้าใจสิ่งที่มีจริง ที่จะได้ฟังได้ศึกษา ได้สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป การมีโอกาสได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และอยู่ในช่วงที่มีพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งมีศรัทธาที่จะฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องจริงๆ เป็นโอกาสที่หายาก ดังนั้น สาระสำคัญของชีวิต คือ มีชีวิตอยู่เพื่อสะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่ากิเลสจะถูกดับจนหมดสิ้นไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ประสาน
วันที่ 21 ต.ค. 2559

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 21 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 22 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 22 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นายสุรพล กิจพิทักษ์
วันที่ 24 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 28 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
wirat.k
วันที่ 31 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 1 พ.ย. 2559

ขณะที่หาได้ยากมี 4 ประการคือ

1. พระพุทธเจ้าอุบัติในโลก

2. การเกิดเป็นมนุษย์ยาก

3. ชีวิตเป็นอยู่ลำบาก

4. การฟังสัทธรรมยาก

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
nopwong
วันที่ 8 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ