คำว่า สังขาร

 
บันทึกบู้ล
วันที่  27 ต.ค. 2559
หมายเลข  28310
อ่าน  942

คำว่า "สังขาร" ในอาการ ๕ ของอกุศลกรรมบถ มีความหมายว่าอย่างไรครับ

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 296

คำว่า โดยอารมณ์ ได้แก่ ปาณาติบาต มีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์ อทินนาทาน มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. มิจฉาจาร มีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจโผฏฐัพพะ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มิจฉาจารมีสัตว์เป็นอารมณ์ ดังนี้บ้าง มุสาวาท มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์ ปิสุณาวาจา มีอารมณ์เหมือนมุสาวาท. ผรุสวาจา มีสัตว์เป็นอารมณ์เท่านั้น สัมผัปปลาปะ มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยสามารถธรรมคือ ทิฏฐะ สุตะ มุตะวิญญาตะ อภิชฌา ก็เหมือนกัน. พยาบาท มีสัตว์เป็นอารมณ์เท่านั้น มิจฉาทิฏฐิ มีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 ต.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความจากอรรถกถาทั้งหลาย เวลาที่มีคำว่า สัตว์ กับ สังขาร มาคู่กัน ก็จะกล่าวถึงว่า สัตว์ ก็ได้แก่ สิ่งมีชีวิต ที่เป็นบิดา มารดา พี่สาว น้องสาว พี่ชาย น้องชาย สัตว์ชนิดต่างๆ เป็นต้น ส่วน สังขาร ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น ที่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ที่รู้กันว่าเป็นสิ่งของต่างๆ บ้าง แต่ความหมายของสังขาร ครอบคลุม สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ปรุงแต่ง ที่เป็นจิต เจตสิก และ รูป ด้วย (จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม)

ดังนั้น จากข้อความในอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่ได้ยกมา นั้น สามารถพิจารณาได้ดังนี้

-ปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) มีสังขาร เป็นอารมณ์ เพราะมีชีวิตินทรีย์ เป็นอารมณ์ หมายความว่า การฆ่าสัตว์ จะสำเร็จได้ ก็คือ การเข้าไปตัดซึ่งชีวิตินทรีย์ คือ ชีวิตของสัตว์ ชีวิตินทรีย์ เป็นรูปธรรม เพราะถ้าไปทำลายสิ่งของสัตว์ต่างๆ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ก็ไม่ใช่การฆ่าสัตว์

-อทินนาทาน (ถือเอาสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ให้) มีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์ ก็ชัดเจนว่า การลักขโมย จะลักสัตว์ สิ่งมีชีวิตประเภท ต่างๆ หรือ ลักสิ่งของต่างๆ เช่น เงิน ทอง เป็นต้น ก็เป็นอทินนาทาน

-มิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม) มีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจโผฏฐัพพะ เพราะจะต้องกระทบสัมผัส กับรูปธรรม คือ โผฏฐัพพะ จึงจะสำเร็จการประพฤติในกาม ได้

-มุสาวาท (พูดเท็จ) ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด) และสัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) มีสัตว์หรือสังขารเป็นอารมณ์ หมายความว่า เรื่องที่พูดเท็จ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อนั้น อาจเป็นเรื่องของคน สัตว์ หรือ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนเคยเห็น ได้ยิน ได้ยิน ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส เป็นต้น ก็ได้

-ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) ต้องมีสัตว์เป็นอารมณ์ เท่านั้น เพราะผู้ที่จะถูกด่า ก็ต้องเป็นสัตว์ บุคคล

-อภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น) มีสัตว์เป็นอารมณ์ ก็ได้ มีสังขาร เป็นอารมณ์ ก็ได้ กล่าวคือ ติดข้องทั้งในสิ่งมีชีวิตที่เป็นบิดามารดา บุตรธิดา สัตว์ต่างๆ และ ติดข้องแม้ในสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ที่เป็นสิ่งของต่างๆ เช่น เสื้อผ้า อาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น ซึ่งก็คือชีวิตประจำวันทั้งหมด

-พยาบาท มีสัตว์เป็นอารมณ์เท่านั้น หมายความว่า ปองร้ายต่อสิ่งที่มีชีวิต ที่เป็นมนุษย์หรือสัตว์ประเภทต่างๆ

-มิจฉาทิฏฐิ มีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ สังขารในที่นี้ มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่เป็น จิต เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นไปในภูมิ ๓ (กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ) เพราะไม่มีปัญญาเข้าในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จึงเห็นผิดในสภาพธรรมที่มีจริงเหล่านี้ ว่า เที่ยง ยั่งยืน เป็นต้น ครับ.

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เทพกวี
วันที่ 28 ต.ค. 2559

ผมขอเรียนถามครับ ทำไมกาเมสุมิจฉาจาร จึงไม่มีสัตว์เป็นอารมณ์ครับ ทำไมกลายเป็นสังขารเป็นอารมณ์

อีกข้อ คือ ถามสมมติ ผมขโมยแตงโม คำว่า สังขาร หมายถึง แตงโม ที่ถูกขโมย ใช่หรือเปล่าครับ

อีกข้อ คือ คำว่า สังขาร หรือ สัตว์ หมายถึงของที่ขโมย ของที่ฆ่าใช่รึเปล่าครับ การจัดเป็นสัตว์หรือสังขาร จัดตามของที่ทำให้ผิดศีลข้อนั้นใช่มั้ยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 28 ต.ค. 2559

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ

-สำหรับในข้อกาเมสุมิจฉาจาร นั้น มุ่งตรงต่อการการกระทบสัมผัส อารมณ์ในขณะนั้น คือ โผฏฐัพพะ ซึ่งโผฏฐัพพะ ก็เป็นรูปธรรม เป็นสังขารธรรม ประการหนึ่ง ในอรรถกถา ก็แสดงไว้ด้วยว่า อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มีสัตว์เป็นอารมณ์ ก็มี ซึ่งถ้ามีความเข้าใจพื้นฐาน ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ที่มีสัตว์ บุคคล ก็เพราะว่ามีธรรมเกิดขึ้นเป็นไป นั่นเอง

-ขโมยแตงโม แตงโม ไม่ใช่สัตว์ ก็เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นสังขาร โดยนัยนี้ก็คือ เพราะมีความเกิดขึ้นเป็นไปของรูปธรรม จึงมีการหมายรู้ว่า เป็นแตงโม หรือ เป็นสิ่งต่างๆ ครับ

-ในข้อขโมย ขโมยได้ทั้งสัตว์ ทั้งสิ่งของต่างๆ ที่เป็นสังขาร ขโมยเมื่อใด ก็เป็นอทินนาทาน ครับ แต่ถ้าในข้อฆ่าสัตว์ (ปาณาติบาต) นั้น ในอรรถกถาบางแห่งแสดงว่า มีสัตว์เป็นอารมณ์ แต่ถ้ากล่าวโดยความเป็นธรรมแล้ว มุ่งไปที่ชีวิตินทริยรูป ซึ่งเป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นสังขารธรรมด้วย การทำลายสิ่งของต่างๆ วัตถุต่างๆ ไม่ใช่การฆ่าสัตว์ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตินทริยรูป ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 31 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 31 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ