ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

 
khampan.a
วันที่  2 พ.ย. 2559
หมายเลข  28330
อ่าน  5,722

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถอดเทปคำสนทนา

อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ที่ห้องกิจการยุติธรรม ๑ สำนักงานกิจการยุติธรรม อาคารรัฐประศาสนภักดี

ชั้นที่ ๙ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

วันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

การประชุมวันนี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายสร้างเสริมความมั่นคงด้านพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนา จริงๆ คืออะไร ก็คงจะไม่รักษาดำรงพระพุทธศาสนาและความมั่นคงของชาติ อีกประการหนึ่ง ทุกคนก็เป็นที่รู้ดีว่า ถ้าขาดศาสนา ชาติจะมั่นคงไหม? เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีความจริงและความเข้าใจที่ถูกต้องในการที่จะประพฤติดี เราก็คงไม่ต้องอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่างคนก็ต่างประพฤติไป แต่เพราะเหตุว่าทุกคนมีที่พึ่ง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งใครก็รู้ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจจริงๆ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าใจจริงๆ เพื่ออะไร? ไม่ใช่เพื่อไม่ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ศึกษา เมื่อเข้าใจแล้ว ก็คือว่า เห็นประโยชน์อย่างยิ่งของการที่หมู่คณะหรือประเทศชาติจะดำรงมั่นคงต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อมีคนดี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความเข้าใจพระพุทธศาสนา (การเป็น) คนดี คงยาก ต่างคนก็ต่างเข้าใจว่าทำอย่างนี้ดี ซึ่งอาจจะเป็นทุจริตกรรมก็ได้ แต่ตามหลักของพระธรรมแล้ว ก็ต้องเป็นไปตามเหตุและผล ด้วยเหตุนี้ ในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปและสำหรับมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เราเห็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งถ้าเข้าใจผิด ก็จะทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เป็นการส่งเสริม ด้วยเหตุนี้ตามที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้เริ่มดำเนินการมา ก็เห็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ว่า การที่เราจะให้ประเทศชาติมั่นคง โดยพระพุทธศาสนาไม่มั่นคง ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะเป็นไปได้ไหม? เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ไม่ใช่ว่าเราจะมีเพียงชาติ กับ พระมหากษัตริย์ แต่ต้องมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งศาสนา นี้ เป็นหลัก เป็นแกนกลางที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกต้อง และมั่นคง ด้วยเหตุนี้ ปัญหาที่ชาวโลกขณะนี้ ชาวพุทธเราเห็น ก็คือว่า การที่ประเทศชาติไม่มั่นคง ก็เพราะเหตุว่าพระภิกษุรับเงินรับทอง, ตามความเป็นจริงแล้ว พระภิกษุเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าพระภิกษุเป็นใคร แล้วเราจะรักษาพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ทั้งหมดของกฎหมายที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ ก็คือ ต้องเป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัย


ทำไมเราต้องมีพระภิกษุ? ข้อสำคัญที่สุด คือ พระภิกษุเป็นใคร เพราะเหตุว่าทุกคนก็เป็นประชาชน แล้วเราก็อยู่ภายใต้กฎหมายทุกคน แต่สำหรับพระภิกษุแล้ว คือ ใคร สำคัญมากที่จะเข้าใจจริงๆ , พระภิกษุคือผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงและมีศรัทธาที่จะดำเนินตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ใครจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ได้เพียงแต่ว่าต้องการเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น พระภิกษุที่แท้จริง คือ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม มีความเข้าใจแล้วก็รู้จักตัวเอง เพราะว่า พุทธบริษัทไม่ได้มีเฉพาะพระภิกษุ มีอุบาสกอุบาสิกาด้วย ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ให้ทุกคนบวช ห้ามใครไม่ได้เลย ทุกคนเป็นอิสระ ตามการสะสม สะสมมาอย่างไรก็ประพฤติเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาล อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นพระอริยบุคคลเพราะได้ฟังพระธรรม เป็นพระโสดาบัน ก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระอนาคามี ก็มี แต่พอถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วไม่ครองเพศคฤหัสถ์อีกต่อไป นี่แสดงถึงความสูงยิ่ง ของผู้ที่สละอาคารบ้านเรือนอุทิศตน ประวัติของพระพุทธสาวกทั้งหมด ก็เห็นได้ว่าทุกคนสะสมมาที่จะสละทุกอย่างเพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะตัวเอง เพราะว่าเมื่อเป็นพระภิกษุแล้วท่านเผยแพร่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าพระองค์เดียวไม่สามารถที่จะทำภารกิจอนุเคราะห์คนให้ได้เข้าใจถูกต้องได้ ด้วยเหตุนี้พระองค์ตั้งแต่พรรษาแรกก็ส่งพระภิกษุไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา แล้วก็ผู้ที่เป็นภิกษุในครั้งนั้นที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล เต็มไปด้วยกิเลส ด้วยเหตุนี้สิ่งใดที่ไม่เหมาะสมแก่เพศบรรพชิต เพราะว่าเรากราบไหว้ทันทีที่บวช เพราะว่าประพฤติปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติอย่างไร ภิกษุประพฤติตามอย่างนั้น แต่ว่าเนื่องจากยังมีกิเลสอยู่ บางรูปก็ประพฤติผิด พระองค์ทรงประชุมพระภิกษุสงฆ์ อิสระมากเลย ไม่ใช่ว่าพระองค์จะทรงบัญญัติอย่างเดียว ทุกอย่างต้องด้วยความเห็นที่ถูกต้องของทุกฝ่ายแล้วก็สอบถามดูว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร สมควรที่ภิกษุจะทำอย่างนั้นไหม นี่คือในครั้งพุทธกาล เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าไม่ได้ทรงบัญญัติโดยที่ว่าไม่ให้คนได้เข้าใจว่าบัญญัติเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการประชุมก่อน แล้วก็ให้พระภิกษุทั้งหมดได้รับทราบ เมื่อเห็นว่าความประพฤติอย่างนั้นไม่เหมาะสม ทรงบัญญัติพระวินัย ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติพระวินัยแล้ว ใครจะเปลี่ยน ใครนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครปฏิบัติตาม ใครไม่ปฏิบัติตาม เราก็จะเห็นความเป็นพระภิกษุที่หลากหลายมากแม้ในครั้งพุทธกาล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ที่ใช้คำว่าพระผู้มีพระภาคก็เป็นอีกคำหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่าพระองค์ทรงจำแนกธรรมอย่างละเอียดยิ่ง ทุกอย่าง ทุกคำ คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม จะตอบไม่ถูก ว่าแต่ละคำคืออะไรๆ เพราะว่าส่วนใหญ่คิดเอง เช่น คำว่า ธรรมคืออะไร แค่คำเดียว สามารถที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์ได้เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สูงเลิศ หาผู้ใดเปรียบไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะโลกมนุษย์ แต่สากลจักรวาล ในพระไตรปิฎกจะมีพวกพรหม พวกเทวดามาเฝ้าทูลถามปัญหาต่างๆ ซึ่งแสดงความที่เป็นหนึ่งไม่มีใครเปรียบได้เลย เพราะฉะนั้น พระวินัยที่ได้บัญญัติไว้ ไม่ใช่พระองค์ไม่ทรงล่วงรู้ว่า ในกาลข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ผู้ใดก็ตามที่จะรักษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจความต่างกันของเพศบรรพชิตกับเพศคฤหัสถ์ มิฉะนั้นแล้วก็ปะปนกันหมด คฤหัสถ์ดูฟุตบอลก็ได้ ทำอะไรก็ได้ แล้วพระภิกษุล่ะ ถ้าไม่ทรงบัญญัติไว้จะมีความต่างกันไหมระหว่างภิกษุกับคฤหัสถ์ เพราะว่าเป็นผู้ที่ถ้าไม่มีความสามารถที่จะดำเนินชีวิตภิกษุต่อไปได้ ก็สึก (ลาสิกขา) ได้ เป็นคฤหัสถ์ได้ ช่วยประเทศชาติได้ในทุกทางที่มีความสามารถ แต่ผู้ที่สละชีวิตเพื่อพระธรรม เห็นว่าถ้าโลกปราศจากพระธรรม ก็ไม่มีความสงบสุข เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเองสามารถที่จะสละชีวิตคฤหัสถ์ ดำเนินตามพระพุทธเจ้า ศึกษาธรรม ประพฤติปฏิบัติตาพระวินัย ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งตัวท่านและบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบก่อน ทำไมเราถึงเป็นห่วงใยในเรื่องพระวินัย เพราะเหตุว่า ถ้าภิกษุใด ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ภิกษุนั้นไม่ใช่ภิกษุ เพราะฉะนั้น เราอยากให้มีภิกษุแบบไหน ถูกต้องตามพระธรรมวินัย หรือว่า เหมือนฆราวาสทุกอย่าง?


ทุกคนมีหน้าที่ใช่ไหม? คฤหัสถ์ อุบาสกอุบาสิกาก็มีหน้าที่ พระภิกษุมีหน้าที่ไหม? ท่านก็มีหน้าที่ของท่าน แต่หน้าที่ของท่านไม่ใช่หน้าที่อย่างประชาชนคนทั่วไป หน้าที่ของท่านมี ๒ อย่าง คือ ๑. ศึกษาคันถธุระ หมายความว่า พระธรรมทั้งหมด พระพุทธวจนะ ที่ทรงแสดง ลึกซึ้งมาก เพียงอ่านจบไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ได้เข้าใจแต่ละคำทีละคำ เมื่อนั้นจะเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกกิจหนึ่ง คือ เมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว ทำอะไร? เผยแพร่ให้คนอื่นได้เข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งตัวท่านเองก็บำเพ็ญวิปัสสนาธุระ ซึ่งมาจากความเข้าใจพระธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรมเลย ก็จะไม่เข้าใจแม้แต่คำว่า วิปัสสนา คืออะไร เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ควรศึกษาถ้าจะดำรงพระพุทธศาสนากับประเทศชาติ


ส่วนใหญ่เราจะปนกัน ระหว่าง ภิกษุ กับ สงฆ์ บางทีเห็นภิกษุรูปหนึ่งเราก็บอกว่าพระสงฆ์ แต่ความจริง ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า สงฆ์ หมายถึง คณะ ไม่ใช่หนึ่งบุคคล แล้วเวลาที่ทำกิจของสงฆ์จะต้องได้รับการแต่งตั้งตามพระวินัย พระภิกษุมีมาก แต่เมื่อเป็นกิจของสงฆ์ที่จะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ตามที่พระวินัยกำหนด ก็จะต้องมีการประชุมพระภิกษุ แล้วก็มอบหมายให้บุคคล (พระภิกษุ) กี่ท่านตามพระวินัยเป็นสงฆ์คือหมู่คณะที่จะทำกิจของสงฆ์นั้นให้สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ คำว่า สงฆ์ คำเดียว หมายความถึง คณะหรือหมู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นภิกษุ ไม่ว่าเป็นอะไร เป็นสงฆ์หมดในภาษาเดิมคือภาษาบาลี (สงฺฆ แปลว่า หมู่หรือคณะ) แต่ว่าสำหรับเรา เราไม่ได้แยกภิกษุบุคคล กับ ภิกษุสงฆ์ ทันทีที่กระทำกิจของพระศาสนาเสร็จ เป็นภิกษุบุคคลเหมือนเดิมแต่ละคน อาบัติก็อาบัติคนเดียว ไม่ใช่สงฆ์ทั้งหมดจะมาอาบัติร่วมกัน นี้เป็นความละเอียดที่แสดงให้เห็นว่า การบวชเป็นเรื่องที่จริงใจ ไม่ใช่ว่าบวชเพื่ออย่างอื่นเลย ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง มิฉะนั้น เป็นโทษกับตนเอง ผู้ที่ไม่รู้จะไม่รู้เลย ว่า ผู้ที่บวชเพียงเพราะต้องการบวช จะเป็นโทษแค่ไหน เพราะว่าไม่ได้กระทำกิจของพระศาสนา และคนที่ส่งเสริมผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่บวช ก็เป็นผู้ที่ช่วยทำลายบุคคลนั้นด้วย เพราะฉะนั้นทั้งหมด ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจจริงๆ เราก็จะรู้ได้ว่า แม้แต่พระรัตนตรัย พระสังฆรัตนะไม่ได้หมายความถึงภิกษุบุคคล แต่หมายความถึงผู้ที่ได้เข้าใจธรรม อบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็เป็นสงฆ์ ที่เป็นสังฆโสภณ โสภณ คือ ดีงาม


กฎหมายไม่ได้บังคับใครให้รับมรดก ถึงแม้ว่ามีผู้มอบให้ ไม่รับได้ไหม หรือกฎหมายบังคับว่าต้องรับ? แต่ทีนี้ ถ้าพูดถึงว่าเรากำลังพูดถึงกฎหมายกับภิกษุในพระธรรมวินัย หรือว่ากฎหมายของพระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ต้องแยก เพราะว่าโดยมากเราไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า พระภิกษุต้องเป็นพระภิกษุตามพระวินัย ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะกฎหมายหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าจะตามกฎหมาย ก็ต้องสึก (ลาสิกขา) แต่ถ้าเป็นพระภิกษุ ต้องทั้งกฎหมายและพระวินัยด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทองใดๆ เป็นที่รู้กัน ไม่ว่าใครก็รู้ ว่า พระภิกษุไม่รับเงินรับทอง จึงเป็นภิกษุ ถ้าจะรับเงินรับทอง ก็ไม่ใช่พระภิกษุ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระภิกษุในพระธรรมวินัย แต่เป็นปัญหากับพระภิกษุนอกพระธรรมวินัย แต่เราได้เข้าใจจริงๆ ในเรื่องว่าภิกษุ คือ ผู้ไม่รับเงินและทอง จะตัดปัญหาทั้งหมด แต่ว่าปัญหาทั้งหมดมาจากพระภิกษุที่รับเงินและทอง ซึ่งไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย


ก็ขอกล่าวถึงความรู้สึก ว่า พระพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ ก็ตาม เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เป็นเรื่องขององค์กรหนึ่งองค์กรใด เพราะฉะนั้นทุกคน ก็แล้วแต่ว่าจะเห็นประโยชน์ ว่า พระพุทธศาสนาที่เรานับถือ มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แล้วก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยไม่ใช่เฉพาะแก่ตัวเราเอง เพราะฉะนั้น ถ้ากฎหมายใด ที่พระภิกษุท่านไม่ผิด แต่ท่านทำผิดพระวินัย เราควรจะทำอย่างไร เพราะว่าท่านไม่ใช่ประชาชนธรรมดา แต่ท่านเป็นพระภิกษุ ที่มีกิจที่ไม่ใช่กิจของชาวบ้าน ไม่ใช่กิจเลี้ยงเสือ ไม่ใช่กิจอะไรทั้งหมด กิจของท่าน ๒ กิจที่มีในพระไตรปิฎก ก็คือ คันถธุระ ศึกษาพระพุทธพจน์ พระธรรมวินัย ซึ่งละเอียดมาก ไม่ใช่ประมาท ต้องศึกษาแต่ละคำ จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ชัดเจน เพราะฉะนั้น ปริยัติ หมายความถึงการศึกษาพระพุทธพจน์ ไม่ใช่เพียงแค่ฟังเผิน แต่ต้องฟังเข้าใจ แทงตลอด รอบรู้ ในแต่ละคำ แล้วพระภิกษุเป็นผู้กระทำกิจนี้ เพื่อเราจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าท่านไม่ทำผิดกฎหมาย จริง แต่ท่านทำผิดพระวินัย ไม่ทราบว่าทุกท่านคิดอย่างไร? จะปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่เป็นผู้ที่รู้ว่าพระภิกษุอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าไม่มีศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา เช่นเดียวกันอุบาสกอุบาสิกาก็พึ่งพาอาศัยท่านในความรู้ในความเข้าใจในความถูกต้อง สงเคราะห์กันตามหน้าที่ หน้าที่ของใครก็ของคนนั้น หน้าที่ของอุบาสก (และอุบาสิกา) ก็ทำหน้าที่ของอุบาสก (และอุบาสิกา) ซึ่งสงเคราะห์พระภิกษุให้ดำเนินไปตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ว่าให้ท่านทำผิดพระวินัย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว เรานับถือใคร สูงสุด ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นผู้บัญญัติสิกขาบททุกข้อ แม้ในการทำสังคายนาพระภิกษุประชุมกันแล้ว ไม่มีใครยกเลิกสักข้อเดียว แล้วเราเป็นใคร?

ขอเชิญคลิกฟังจากไฟล์เสียงได้ที่นี่ครับ

ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

ขอเชิญคลิกชมวีดีโอ (ภาพนิ่ง) ได้ที่นี่ครับ



กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
namarupa
วันที่ 3 พ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 3 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
thilda
วันที่ 3 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
worrasak
วันที่ 3 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 3 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Guest
วันที่ 3 พ.ย. 2559

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Thanapolb
วันที่ 3 พ.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และขอบพระคุณอาจารย์คำปั่น อักษรวิลับ

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 พ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูง ในความมั่นคงในคุณพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
rrebs10576
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ชื่นชมยินดีมากๆ จริงๆ ค่ะในกุศลจิตนี้ เป็นประโยชน์สมบูรณ์ครบถ้วนโดยทุกประการ มากๆ จริงๆ แก่ทุกท่าน สำหรับการถอดเทปสนทนาธรรมนี้ ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
siraya
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Noparat
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ดีใจที่ท่านอาจารย์นำเรื่องนี้บอกกล่าวสู่กระทรวงยุติธรรม ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
yupa
วันที่ 4 พ.ย. 2559

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
natural
วันที่ 4 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาในความกรุณาของทุกท่านในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Boonyavee
วันที่ 5 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
j.jim
วันที่ 5 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
เมตตา
วันที่ 5 พ.ย. 2559

ขอพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 7 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ