เรื่องการบวชระยะสั้นตามประเพณี คตินิยม

 
pdharma
วันที่  8 พ.ย. 2559
หมายเลข  28339
อ่าน  3,592

อยากเรียนถามว่า การบวชในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น เข้าพรรษา ๓ เดือน การบวชภาคฤดูร้อน การบวชในวัยเบญจเพศ รวมถึงการบวชในงานศพ ซึ่งเป็นตามประเพณี ตามคตินิยมเหล่านี้ เกิดคุณประโยชน์ต่อผู้บวชอย่างไรหรือไม่ ช่วยให้พระพุทธศาสนามีความยั่งยืนต่อไปหรือไม่

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 พ.ย. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ก็ต้องกลับมาตั้งต้นที่คำว่า บวช คืออะไร? บวช เป็นการเว้นจากความติดข้อง เว้นจากอกุศลทุกอย่าง เว้นจากความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต ผู้ที่จะบวชเป็นบรรพชิต จะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจริงๆ ซึ่งต้องสละอาคารบ้านเรือน ญาติสนิทมิตรสหายวงศาคณาญาติ รวมถึงสละทรัพย์สินต่างๆ ที่เคยมีอยู่ด้วย และไม่คิดที่จะหวนกลับมาสู่ความเป็นคฤหัสถ์อีก นี้คือ ความจริงใจของผู้ที่บวช และที่สำคัญ ท่านเหล่านั้น ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การทำตามๆ กันด้วยความไม่รู้

การบวชเข้าพรรษา บวชเมื่ออายุครบ ๒๕ (วัยเบญจเพศ) บวชภาคฤดูร้อน บวชหน้าไฟ ไม่มีในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีแต่บวช เพราะเห็นโทษของการอยู่ครองเรือน เห็นโทษของความเป็นคฤหัสถ์ เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส มุ่งศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ ดังนั้น ถ้าหากทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนา ไม่เกิดผลดีต่อพระพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย คิดว่าจะส่งเสริม แต่กลับเป็นการทำลาย เพราะเป็นไปกับความไม่รู้ และเป็นโทษกับผู้บวชด้วย เนื่องจากทำผิดพระวินัย อาบัติตั้งแต่เริ่มบวชเสร็จ ก็มีแล้ว คือ รับเงิน เมื่อออกจากพระอุโบสถ เป็นต้น และมีอีกมากมายที่จะทำผิด เพราะไม่มีความเข้าใจพระธรรมวินัย นั่นเอง, ความเจริญมั่นคงยั่งยืนของพระพุทธศาสนา อยู่ที่ มีผู้เห็นประโยชน์แล้วศึกษา มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ผู้ที่เข้าใจแล้ว ก็กล่าวคำจริง ประกาศคำจริง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

การบวช จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายมากทีเดียว ถ้าหากล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามพระวินัย เป็นผู้ย่อหย่อน ไม่รักษาพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ขาดความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าเท่านั้น เมื่อต้องอาบัติแล้ว ไม่กระทำคืนตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผลนิพพาน กั้นการไปสู่สุคติด้วย แทนที่จะได้กระทำกิจที่ควรทำที่จะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง แต่กลับไปเพิ่มอกุศล เพิ่มความไม่รู้ เพิ่มเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเองที่จะทำให้ได้รับผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาเป็นอย่างมากทีเดียว

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ถ้ามีจุดประสงค์ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ เป็นคฤหัสถ์ก็ศึกษาได้ ถ้าเห็นว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา ก็ควรที่จะได้ศึกษาในทันที ครับ


...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 9 พ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 10 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 11 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
kukeart
วันที่ 12 พ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ