ธรรมจากท่านพระธัมมธโร (Alan Driver) เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน
จากการบรรยาย "แนวทางเจริญวิปัสสนา" แผ่นที่ ๑๕ ครั้งที่ 855 - 859
สุ. วันนี้เป็นโอกาสดีที่พระคุณเจ้าธัมมธโรภิกษุ ท่านได้เดินทางมาจากจังหวัดลำปาง ท่านศึกษาภาษาบาลีที่วัดท่ามะโอ ทุกท่านคงเคยได้ฟังพระคุณเจ้าธัมมธโรครั้งหนึ่งแล้วเมื่อประมาณปีกว่าๆ คงจะได้ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถในการแสดงธรรมทั้งภาษาไทยด้วย ท่านเพิ่งกลับจากประเทศศรีลังกา และท่านได้กระทำกิจพระศาสนาที่ประเทศศรีลังกา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่งของชาวศรีลังกา สำหรับวันนี้คิดว่าท่านคงจะมีปัญหาหรือเรื่องราวที่ใคร่จะทราบบางประการในเรื่องธรรม ดิฉันขอกราบนมัสการอาราธนาพระคุณเจ้าเจ้าค่ะ
ธัม. อาตมาเป็นนักเรียนทางธรรม คือ เป็นนักเรียนชีวิต ถ้ามีใครมีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน อยากจะถามก็เชิญ
ถ. กราบนมัสการ ผมมีปัญหาข้องใจ วันนี้ไปฟังจากตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ มีท่านอาจารย์ท่านบรรยายว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น พอเจริญๆ ไป จะมีอุปกิเลสอย่างหนึ่งในอุปกิเลสทั้ง ๑๐ หรือ ๑๖ นั้น บรรยายไปๆ ถึงตอนที่ว่าปัญญาแก่ก็ไม่ดี สติมากก็ไม่ดี ปัญญามากก็ไม่ดี อันนี้ผมไม่เข้าใจจริงๆ จึงขอความรู้จากท่านอาจารย์
ธัม. ไม่ทราบว่า ผมเข้าใจคำถามหรือยัง สำหรับสติไม่มีทางที่จะมากไปได้ นี่เป็นหลัก สำหรับอย่างอื่นๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องขั้นของธรรมต่างๆ เป็นเรื่องละเอียด ผู้ที่มีปัญญาขั้นที่ได้มาจากการฟังธรรม จากการดูหนังสือ แต่ไม่มีศรัทธาในการเจริญสติปัฏฐาน รู้สึกว่าศรัทธายังไม่พอ ไม่อยากจะเรียกว่าปัญญาเกินไป แต่ศรัทธาไม่พอ ความจริงปัญญาเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก รู้สึกว่าจุดประสงค์ของผู้ที่สนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คือ เจริญปัญญานั่นเอง ถ้าต้องการเจริญปัญญา แต่ไม่รู้จักปัญญา ไม่เข้าใจว่าปัญญาเป็นอย่างไร รู้สึกว่าเจริญยากหน่อย ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่ละกิเลสต้องเป็นปัญญาที่เจริญในขณะนี้ ต้องค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น ถ้าเข้าใจผิด คิดว่าปัญญาไม่เกี่ยวกับขณะนี้ แต่ขณะอื่นต่อไป จะรอให้เกิดเป็นต้น นี่เข้าใจผิด เจริญปัญญาที่จะละกิเลสยังไม่ได้ ต้องเกี่ยวกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจ เพื่อที่จะเกิดสติระลึกรู้ และพิจารณาศึกษาเข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยลักษณะสภาพธรรมปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องหามาจากไหน ไม่ต้องทำให้เกิดขึ้น ไม่ต้องทำให้ปรากฏ จะหนีจากธรรมไม่ได้ ประสบทุกๆ ขณะ เฉพาะหน้า หนีไม่พ้น เดี๋ยวนี้ธรรมล้วนๆ เดี๋ยวนี้ก็ธรรมล้วนๆ เดี๋ยวนี้ก็ธรรมล้วนๆ ที่จะต้องรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ แต่ต้องรู้ ถ้าจุดประสงค์เป็นอย่างอื่น หมายความว่าจุดประสงค์ไม่ใช่การเจริญปัญญาที่จะละกิเลสได้ บางทีอาจจะคิดว่าต้องการละกิเลส แต่เป็นความต้องการอย่างเดียวก็ได้ เพราะยังไม่เข้าใจว่ากิเลสเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ต้องการละ แต่อาจจะเป็นความต้องการมากกว่าจะเป็นความเข้าใจ ต้องเข้าใจกิเลส ต้องเข้าใจโทษของกิเลส เป็นกิเลสเพราะอะไร เพราะมีโทษ โทษเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าจุดประสงค์ของท่านเกี่ยวกับขณะนี้ เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าเราต้องถามตัวเองบ่อยๆ ว่า จุดประสงค์ในชีวิตเป็นอย่างไร คิดว่าจะลืมบ่อยๆ ไม่มีสติก็ลืมแน่ เดี๋ยวนี้จุดประสงค์ในชีวิต ต้องการอะไรในชีวิต ถ้าจุดประสงค์ต้องการละกิเลสเป็นสมุจเฉท หมายความว่า ปรินิพพานเป็นจุดประสงค์ ถ้าสำเร็จจุดประสงค์เดี๋ยวนี้ จะเป็นอย่างไร ปรินิพพานเดี๋ยวนี้ พร้อมหรือยังไม่ทราบ ต้องถามตัวเอง จุดประสงค์เป็นอย่างไรจริงๆ ปัญหาที่ถามมา อาจจะตอบไม่ได้อย่างละเอียดตามที่ท่านถาม เพราะว่าเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างในคำถาม แต่ความจริงอาตมาอยากจะสนทนาเรื่องธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้ามีคำถามที่ตรงกับจุดประสงค์ก็คงจะตอบได้
ถ. กระผมมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องของอานาปานสติกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นบรรพแรกของ มหาสติปัฏฐานสูตร ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทุกบรรพ ก็ว่าเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ทั้งนั้น แต่สำหรับอานาปานสติกัมมัฏฐานนี้ รู้สึกว่ายัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวของกระผมเองยังเข้าใจไม่ถูก ยังเข้าใจไขว้เขว ไม่ทราบว่าจะจับเอาตอนไหน ที่จะเป็นอารมณ์ของมหาสติปัฏฐาน อารมณ์ของวิปัสสนา คือ ในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ตามหลัก มหาสติปัฏฐานสูตร นี้ ท่านก็ว่าไว้หลายตอน แต่ไม่ทราบว่า วิธีกำหนดที่จะให้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานจะกำหนดตอนไหน
ธัม. โยมต้องการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ หรือต้องการจะรู้สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ
ถ. ต้องการสิ่งที่ปรากฏ
ธัม. เพราะถ้าต้องการสิ่งที่ไม่ปรากฏ ก็ประมาทขณะนี้ ประมาทปัจจุบันขณะนี้ ขณะนี้สติไม่เกิด ปัญญาไม่เจริญ เพราะไม่สนใจที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่เห็นประโยชน์ของสติที่จะเกิดขณะนี้ รู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นปรากฏแล้ว โดยเหตุปัจจัยพร้อมอยู่แล้ว จึงเกิดขึ้นปรากฏได้ โดยไม่ต้องให้เกิดขึ้น ไม่ต้องให้ทำอะไรเลย เพราะสภาพธรรมทำหน้าที่ของสภาพธรรมแต่ละอย่างอยู่แล้วในขณะนี้เอง
ธัม. เดี๋ยวนี้มีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ใครไม่ชอบ ใครไม่ต้องการ ทำอะไรก็ไม่ทราบ จะตายก็เกิดขึ้นใหม่ทันที จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ดับไปแล้วจิตดวงแรกของชาติต่อไปเกิดขึ้นทันทีไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น ไม่ชอบ ไม่ต้องการ จะทำอะไร ทำอะไรไม่ได้ เดี๋ยวดับ เดี๋ยวเกิดใหม่ ธรรมทั้งนั้น ทั้งรูปธรรม หนีไม่พ้น แล้วสติไม่เกิดตาม เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ไม่รู้ของจริง ไม่ว่าอะไรปรากฏก็ไม่รู้ของจริง เพราะคอยรอต้องการอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏ แม้ขณะที่ต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ความต้องการเกิดขึ้นแล้วเป็นของจริง ซึ่งสติไม่เกิดขึ้นระลึกตามรู้ลักษณะของความต้องการนั้นซึ่งเป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสติไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ความไม่รู้ยังอยู่ที่สิ่งนั้น ที่ธรรมนั้นๆ เต็มที่เหมือนเดิม หรือว่าไม่เหมือนเดิม เพราะว่าเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าวันนี้ไม่รู้อีก ยิ่งยากที่จะรู้ เพราะว่าลืมหรือไม่เข้าใจประโยชน์ของสติ จุดประสงค์ คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่แล้ว เราจะบังคับธรรมให้เกิดตามที่เราต้องการไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วโดยเหตุปัจจัย มีอยู่แล้ว จึงเกิดขึ้นได้ เดี๋ยวนี้เห็นแล้ว ไม่ต้องบังคับให้เห็น เพราะเหตุปัจจัยมีพร้อมอยู่ที่จะให้เห็นแล้วเดี๋ยวนี้ ไม่ทราบว่า กายปรากฏบ้างหรือเปล่า โยม ลักษณะของกายปรากฏในขณะนี้บ้างหรือไม่
ถ. ปรากฏ
ธัม. ถ้าปรากฏแล้ว ก็คงเข้าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกาย ไม่ว่าจะเป็นกายในลักษณะไหน เกี่ยวกับเย็นหรือร้อน แข็งหรืออ่อน ตึงหรือไหว ก็เป็นกาย เป็นเรื่องของกายซึ่งเป็นของจริง ต่างกับจิต ต่างกับเวทนา ต่างกับธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏคนละทาง ต่างกับสีที่กำลังปรากฏขณะนี้อีกทวารหนึ่ง ต่างกับเสียงที่ต้องปรากฏเดี๋ยวนี้ เพราะโยมจะไม่ได้ยินอะไรเลยไม่ได้ เสียงปรากฏด้วย แต่เวลาที่กายปรากฏเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะปรากฏตรงนี้ คือ ที่ช่องจมูก หรือจะปรากฏที่นิ้ว หรือว่าจะปรากฏข้างใน ข้างในที่นี่แล้วแต่ก็เป็นเรื่องกาย แข็งปรากฏข้างในบ้าง ข้างนอกบ้าง ของเราบ้าง ของคนอื่นบ้าง ปรากฏเป็นปกติ เป็นธรรมดา แต่เมื่อไม่เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ต้องรู้ และโอกาสมีอยู่แล้วที่จะรู้ได้ เมื่อลืมหรือไม่เข้าใจ สติไม่เกิด ไม่รู้อีกๆ ไม่เข้าใจกาย ไม่ว่าจะเป็นกายที่ปรากฏตรงนี้ หรือตรงไหนก็ตาม บางทีลมหายใจปรากฏอยู่แล้วโดยเหตุปัจจัย ทำให้เกิดขึ้นปรากฏ แต่สติเกิดไม่ได้ เพราะปกติสติก็ไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือสภาพธรรมที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด สติไม่เกิด เพราะยังไม่เข้าใจเรื่องสติที่เป็นอนัตตา บังคับให้เกิดขึ้นตามที่เราต้องการให้เกิด แล้วก็บังคับให้รู้ในสิ่งที่เราต้องการรู้ตามลำดับหรือตามโอกาส ตามที่เราเกิดอารมณ์ที่รู้สึกว่าอยากจะเจริญสติปัฏฐานเดี๋ยวนี้ อะไรอย่างนี้ อันนี้เหตุปัจจัยยังไม่เกิดที่จะเกิดสติได้ ที่กายก็ไม่เกิด ที่เวทนาก็ไม่เกิด ที่จิตก็ไม่เกิด เพราะว่าจุดประสงค์และความเข้าใจยังไม่ตรง ยังไม่ถูก สติเป็นอนัตตาเหมือนกัน
ถ. หมายความว่า สิ่งที่ยังไม่ปรากฏ สิ่งที่ยังไม่เกิด ก็ไม่จำเป็นจะไปพยายามให้เกิด อย่างนั้นหรือเปล่า
ธัม. ห้ามไม่ได้ โยม เพราะว่าบางทีพยายามเหมือนกัน พยายามเป็นของจริง พยายามเพราะเหตุปัจจัยมีอยู่แล้ว ที่จะไม่สนใจสิ่งที่ปรากฏแล้ว ต้องการรู้อย่างอื่น ผู้เจริญสติไม่พ้นจากความเข้าใจผิด ไม่พ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะว่าเป็นผู้เริ่มต้น พระอรหันต์ผู้เดียวที่พ้นจากกิเลสทุกๆ อย่าง เพราะฉะนั้น บางทีลืม และความเข้าใจผิดที่สะสมมาทำให้ไม่อยากรู้สิ่งที่ปรากฏแล้ว แต่อยากรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ไม่มี และจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่มีใครบอกได้ จะตั้งใจสักเท่าไร อาจจะไม่เกิดก็ได้ เพราะจะมรณภาพเมื่อไหร่ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ต้องการรู้ที่ลมหายใจ อีกประเดี๋ยวก็ตาย เพราะเหตุปัจจัย โดยไม่มีใครรู้ล่วงหน้าก็ได้ เมื่อสิ่งใดยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏ ต้องการรู้สิ่งนั้น หมายความว่าขณะนั้นจะไม่เจริญสติ เพราะขณะนั้นไม่เกิดสติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่แล้ว แต่เกิดความต้องการจะรู้สิ่งที่รู้ไม่ได้ เพราะว่าในขณะนั้นไม่มี และยังไม่ทราบว่าจะเกิดด้วยหรือเปล่า
ถ. ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้ ก็แปลว่า ไม่เป็นทางที่ถูกอย่างนั้นหรือเปล่า
ธัม. ถ้าโยมพิจารณาเองจะรู้ว่า ถ้าสิ่งใดยังไม่ปรากฏขณะนี้ จะมีโอกาสที่จะรู้ได้ไหม ถ้ายังไม่เกิดขึ้น
ถ. ถ้ายังไม่เกิดก็รู้ไม่ได้ ถ้าเราพยายามจะให้เกิดในสิ่งที่ยังไม่เกิด ก็แปลว่า เป็นการฝืนธรรมชาติอย่างนั้นหรือเปล่า
ธัม. ไม่ใช่สติ เป็นสภาพธรรมเหมือนกัน เพราะว่าไม่ใช่เรา ต้องไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรา ต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ถ้าไม่ใช่นามธรรมก็ต้องเป็นรูปธรรม จะเป็นเราไม่ได้
ถ. ถึงแม้เราจะพยายามให้เกิด แต่เราก็จะต้องรู้ว่า สิ่งที่เราพยายามนั้นก็เป็นความคิด หรือนามธรรมอย่างหนึ่งที่อยากจะให้เกิดให้เป็นขึ้นอย่างนั้น จะใช่หรือเปล่า
ธัม. ถ้าคิดเกิดขึ้นปรากฏ ก็ต้องรู้คิด จะรู้อย่างอื่นไม่ได้ รู้สิ่งที่รู้ ไม่รู้สิ่งอื่นที่ไม่รู้ รู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น โดยไม่เลือก ไม่เป็นไร เพราะว่าสติเป็นเรื่องการละ ไม่ใช่เรื่องการโลภ ต้องการสิ่งที่ยังไม่ปรากฏ เป็นลักษณะของอภิชฌาที่ละเอียด บางทีอาจจะเข้าใจอภิชฌาว่าเกี่ยวกับโลภะที่หยาบๆ แต่อภิชฌามีหลายขั้น และขณะที่ไม่อยากรู้สิ่งที่ปรากฏแล้วอยากรู้อย่างอื่น อภิชฌาเกิดขึ้นห้ามสติในขณะนั้น
ถ. ขอบพระคุณ
ธัม. ไม่ค่อยมีใครชอบละ เพราะว่าเรื่องละขึ้นอยู่กับการชอบ ขึ้นอยู่กับปัญญาที่เป็นคนละสภาพ โลภะทำหน้าที่ชอบ ทำหน้าที่ต้องการ ทำหน้าที่ยึด ปัญญาไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านี้ เป็นคนละอย่าง จะละด้วยโลภะไม่ได้ และสะสมอะไรมา ปกติทุกวันๆ สะสมมาที่จะละ หรือตรงกันข้าม ถามตัวเองวันนี้ ตื่นขึ้นมาอะไรเกิด ปัญญาเกิดทันทีรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ละอภิชฌาและโทมนัส ไม่เกิดไม่พอใจ ไม่ยินดี แต่เกิดปัญญารู้ลักษณะที่ปรากฏทันที หรือเป็นอย่างไร แล้วต่อมาๆ ๆ วันนี้เอง ถามตัวเอง อะไรเกิดมาก ปัญญาเกิดมาก หรืออย่างอื่นๆ ถ้าเป็นอย่างอื่นๆ แบบไหน เป็นอย่างอื่น แบบให้ทานมากๆ บางทีก็มีได้ สะสมมาที่จะคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น แล้วก็มองดูวัตถุของตนเองในลักษณะที่สิ่งของเหล่านี้ๆ จะมีประโยชน์แก่ใครบ้าง แล้วก็ให้ หาผู้รับ แล้วก็ให้ บางคนสะสมมาที่จะเกิดกุศลจิตประเภทที่ให้บ่อย ตัวเองก็รู้ได้ เป็นอย่างนี้ทุกวันๆ ก็ไม่ได้ แม้ผู้ที่สะสมมามาก เพราะมีโอกาสที่จะให้ทุกขณะไม่ได้
เพราะฉะนั้น วันนี้เป็นอย่างไร อะไรเกิดขึ้น เกิดกุศลจิตที่ให้ทาน เกิดกุศลจิตที่รักษาศีล เกิดกุศลจิตที่เจริญความสงบ เกิดเมตตาต่อบุคคลอื่นหรือเปล่า ที่บ้านคงมีพ่อแม่บ้าง หรือว่ามีสามี มีภรรยา มีลูก มีน้อง มีพี่ มีสัตว์เดรัจฉานด้วย บางทีมีสุนัข มีแมว วันนี้เกิดเมตตาหรือยัง ตั้งแต่เช้าถึงขณะนี้ เดี๋ยวนี้เกิดเมตตาบ้างหรือเปล่า เพราะว่าที่นี่มีคนอยู่ที่เป็นอารมณ์ของเมตตาได้ ถามตัวเองดีมีประโยชน์ วันนี้เกิดอะไรบ้าง คงจะเป็นอกุศลมากกว่า ใช่ไหม เพราะว่ากุศลเป็นสิ่งที่เกิดยากหน่อย อกุศลเกิดไม่ยาก ความสงบต้องอาศัยการอบรม โลภะไม่ต้องอาศัยการอบรม โทสะก็ไม่ต้องอาศัยการอบรม โมหะก็ไม่มีปัญหา เกิดง่าย เกิดมาก เกิดบ่อย ถ้าไม่เจริญสติจะรู้คร่าวๆ ถ้าจะรู้ก็รู้คร่าวๆ บางทีไม่รู้เลย รู้คร่าวๆ หมายความว่า เรามีเมตตา เรามีโทสะ เรามีอย่างนี้อย่างนั้นซึ่งไม่ถูก เพราะเมตตาไม่ใช่เรา เมตตาเป็นนามธรรม มีลักษณะของมันเอง ซึ่งไม่เหมือนกับลักษณะของธรรมอื่นๆ ธรรมแต่ละอย่างเป็นแต่ละอย่าง ไม่เหมือนกัน เกิดขึ้นดับไป เดี๋ยวนี้ก็ดับ หรือยังดับแล้วๆ ๆ อีกด้วย เมื่อกี้หายไปไหน หมดแล้ว หมดเลย
เจริญสติปัฏฐานมีประโยชน์หรือเปล่า ถ้ายังไม่เห็นประโยชน์เจริญยาก สาตกสัมปชัญญะ เป็นความเข้าใจขั้นหนึ่งซึ่งสำคัญมาก ไม่เข้าใจประโยชน์ของกุศล เฉพาะประโยชน์ของสติปัฏฐาน เจริญสติ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะละ ไม่ได้ ไม่ทราบว่าใครสงสัยในเรื่องประโยชน์ของสติหรือว่าในเรื่องอื่นๆ ในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานบ้างหรือเปล่า ไม่เข้าใจอะไร โยม ในชีวิตประจำวัน ไม่ทราบว่าโยมรู้ประโยชน์ของสิ่งเหล่านี้เหล่านั้นหรือเปล่า รู้บ้างหรือเปล่า โยมรู้ประโยชน์ของบ้านหรือเปล่า บ้านมีประโยชน์หรือเปล่า เสื้อผ้ามีประโยชน์หรือเปล่า อะไรไม่มีประโยชน์ ทุกขณะเราสนใจแต่สิ่งที่เราถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะว่าสิ่งที่มีประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่เราถือเราเข้าใจว่า จะนำความสุขมาให้ สนใจความสุขทุกขณะหรือเปล่า รู้สึกว่าคงทุกขณะ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์แน่นอน สนใจความไม่เป็นทุกข์แน่นอน หมายความว่าสนใจประโยชน์ แต่เราเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูกในสิ่งที่มีประโยชน์ อาหารมีประโยชน์อย่างไร ถ้ารับประทานอาหารเพื่อที่จะมีประโยชน์ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เพื่อที่จะติดในรูป ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส ติดโผฏฐัพพะ จะเรียกว่า รับประทานอาหารเพื่อประโยชน์หรือเปล่า บางทีไม่เข้าใจประโยชน์ของอาหาร การรับประทานอาหารไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์ แต่ประโยชน์เป็นอย่างไร รับประทานอาหารเพื่ออะไร น่าถาม วันนี้รับประทานแล้ว อาจจะรับประทานอีกวันนี้ พรุ่งนี้ก็รับประทานอีก เพื่ออะไร เพื่อที่จะตกนรกหรือเปล่า เพราะว่ายังไม่เป็นพระโสดาบัน ตกนรกได้ เคยตกมาแล้ว จะตกไปอีก เพราะว่าเหตุมีอยู่แล้ว เพราะว่าใครในห้องนี้ไม่เคยทำอกุศลกรรมไว้แล้ว เคยทำไว้แล้ว ก็เมื่อเหตุพร้อมที่จะให้ตกนรก หรือว่าสถานที่อื่นๆ ที่แย่กว่าโลกมนุษย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่พิจารณา แต่พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ พิจารณาถูกหรือพิจารณาผิด พิจารณาด้วยโมหะหรือพิจารณาด้วยโลภะ หรือพิจารณาด้วยโทสะ หรือพิจารณาด้วยกุศลจิต บางทีพิจารณาด้วยกุศลจิตแต่ขาดปัญญา เพราะกุศลจิตเกิดพร้อมกับปัญญาบ้าง ปัญญาไม่เกิดบ้าง ถ้าพิจารณาที่จะให้ ก็มีประโยชน์ แต่ปัญญาเกิดขึ้นรู้อะไรหรือเปล่า บางทีปัญญาเกิดขึ้น แต่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ ก็ยังไม่รู้ประโยชน์แท้ๆ อะไรมีประโยชน์แท้ๆ ต้องเอาสติเป็นจุดประสงค์สูงกว่าจุดประสงค์อย่างอื่นๆ แต่ปกติจุดประสงค์อยากได้สีที่สวยงาม ที่ทำให้ไม่เป็นทุกข์ แต่เกิดสุขสบาย อยากได้เสียงที่ไม่ติเตียน อยากได้เสียงที่สรรเสริญ เสียงที่ไม่ทำให้รำคาญ เป็นปกติ อยากได้รสที่อร่อย กลิ่นที่หอม นี่คือจุดประสงค์ของชีวิต และคิดว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีประโยชน์ที่สุด หรือไม่อย่างนั้น ความสุข ความรู้สึกสุขสบายที่เกิดขึ้นจากการรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่คือสิ่งที่เราคิดว่า มีประโยชน์สูงสุด หรือว่าสิ่งเหล่าใดที่อุปการะให้ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าพอใจ ถูกหรือเปล่า เรามาฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แต่เข้าใจหรือยังว่า สติมีประโยชน์กว่าทุกอย่าง เพราะว่าหลงลืมสติ จะเจริญปัญญาได้อย่างไร ลืมปัญญา ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะว่าลืมว่า ขณะนี้ต้องรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ สำคัญ สำคัญมาก ถ้าสติไม่เกิด กุศลจิตขั้นอื่นๆ เกิดได้ ดี มีประโยชน์ ถ้ากุศลจิตไม่เกิด เกิดอกุศล ผู้ที่เข้าใจประโยชน์ของสติ ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่เข้าใจประโยชน์ของกุศลธรรมขั้นอื่นๆ ผู้ที่เข้าใจประโยชน์ของสติจริงๆ ก็เข้าใจประโยชน์ของกุศลธรรมขั้นอื่นๆ อยู่แล้ว จึงหันหน้าไปหาสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่ากุศลขั้นนั้นๆ ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของศีล จะสนใจประโยชน์ของสติอย่างไร ศีล รักษาศีล ๕ เป็นต้น ขัดเกลากิเลส แต่สติขัดเกลากิเลสอย่างวิเศษ ศีลไม่วิเศษ ธรรมดาๆ หมายความว่าปกติธรรมดา แต่สติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น ทุกขณะที่สติเกิดสะสมเหตุปัจจัยที่จะไม่ต้องรักษาศีลอีกต่อไป เพราะเป็นพระโสดาบันแล้ว ใครจะบังคับให้ล่วงศีลได้ เหตุปัจจัยหมดแล้ว ไม่มีทางที่จะฆ่าใคร ไม่มีทางที่จะล่วงศีลได้
ไม่ทราบว่า มีใครอยากถาม เรื่องประโยชน์ของสติอีกบ้างหรือไม่
ถ. ผมขอเรียนถามเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ในเมื่อผู้ที่มีเมตตาเกิดขึ้น สงสารสัตว์ทั้งหลาย กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนี้ก็มีเมตตาสงสารสัตว์ทั้งหลาย แต่ว่าผู้ที่สงสารสัตว์ทั้งหลาย ก็พิจารณาว่า เมตตานั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานก็สงสารเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สงสารทั้งคู่นี้ มีความต่างกันอย่างไร คนที่ไม่ได้เจริญก็มีความสงสาร คนที่เจริญสติปัฏฐานก็มีความสงสาร เพราะฉะนั้น สงสารด้วยกันทั้งหมดนี้จะมีความต่างกันอย่างไร
ธัม. ผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเกิดเมตตาก็ตาม เกิดกรุณาก็ตาม กับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเกิดเมตตา เกิดกรุณาเหมือนกัน ไม่ต่างกัน แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่หลงเข้าใจผิด เพราะไม่หลงลืม จึงเข้าใจได้ว่า ที่กำลังทำหน้าที่สงสารเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ปนกับรูปธรรม ไม่ปนกับนามธรรมอื่นๆ ด้วย สภาพธรรมที่สงสาร ไม่มีใครเห็นได้ เพราะไม่ใช่สี ไม่มีทางที่จะได้ยินได้ เพราะมกรุณาไม่ใช่เสียง ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้ มีลักษณะของมันเอง เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วดับไปทันที ก่อนขณะนี้ยังไม่เกิด เดี๋ยวนี้เกิด ดับทันที ไม่ใช่ตัวตน ตัวตนดับหรือยัง เราถือว่าตัวตนไม่ดับ ยังอยู่ นั่งอยู่ ฟังธรรมได้ อาจจะเข้าใจอย่างนี้ก็ได้ แต่ธรรมดับ ธรรมจะเป็นตัวตนได้อย่างไร เมื่อกี้นี้ไม่มี เดี๋ยวนี้มี เดี๋ยวนี้ไม่มี มีไหมลักษณะของตัวตน เป็นลักษณะของจริง ซึ่งมีอยู่ ลักษณะของตัวตนเป็นลักษณะที่เราคิดขึ้นมา เป็นลักษณะที่ไม่มีจริง เพราะว่าไม่มีอะไรที่เมื่อกี้นี้มี เดี๋ยวนี้มี แล้วก็ยังมี ไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ ในขณะนี้เป็นของใหม่ อาศัยของเก่าจึงเกิดขึ้นได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เป็นของใหม่เสียแล้ว ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่หลง ไม่เข้าใจผิดในสภาพธรรมที่ทำหน้าที่สงสาร ในขณะนั้นถ้าเกิดสติจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เรียกว่า กรุณา ถ้ากรุณาเกิดขึ้น หรือเมตตา ถ้าเมตตาเกิดขึ้น ค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเป็นผู้เริ่มต้นก็ต้องไม่เข้าใจชัดเจน แต่กำลังศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจชัดเจน ถ้าเกิดสติระลึกรู้นิดเดียว แล้วสนใจที่จะคิดถึงเรื่องสิ่งที่คิดว่า เมื่อกี้นี้ปรากฏ ก็หลงลืมสติอีกแล้ว คิดเรื่องสิ่งที่เกี่ยวกับที่เราคิดว่า เมื่อกี้ปรากฏเกิดขึ้น หลงลืมสติอีกแล้ว ไม่ใช่ทางที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้าต้องการรู้ตามสติและต้องการเกิด ต้องการให้แน่ใจ ผู้ที่แน่ใจ คือ พระโสดาบัน ไม่ใช่คนอื่น ให้แน่ใจก่อนไม่ได้ ขณะที่พิจารณาเพื่อที่จะให้แน่ใจ คือ ต้องการคิดถึงสิ่งที่เมื่อกี้นี้รู้สึกว่าปรากฏ เป็นอะไรบ้าง ก็หลงอีกแล้ว คือ เสียโอกาสที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น เพราะลืมจุดประสงค์ ต้องการคิดถึงเรื่องสภาพธรรมแทนที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอีกสภาพธรรมหนึ่งที่เกิดหลังจากที่สติดับไปแล้ว เมื่อสติที่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ของถาวร ไม่เที่ยง เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้เมตตา สตินั้นต้องดับไปเหมือนกับเมตตาที่ดับไป เพราะสติไม่ใช่ตัวตนเหมือนกัน เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ได้ทำหน้าที่สงสารใคร ทำหน้าที่ไม่หลงลืม พูดถึงสติปัฏฐานของผู้ที่เจริญปัฏฐานเปรียบเทียบกับเมตตาหรือกรุณาของใครก็แล้วแต่ ของผู้เจริญสติปัฏฐาน หรือของผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ไม่เป็นไร เหมือนกัน แต่สติปัฏฐานกับเมตตา กับกรุณา ใครแสดงความสงสารมากกว่ากัน ความจริงขณะที่เจริญสติปัฏฐาน สงสารสัตว์โลกมากกว่าขณะที่เกิดกรุณา เพราะว่ากรุณาละกิเลสไม่ได้ สงสารอย่างเดียว เมตตาละกิเลสไม่ได้ เมตตาคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น เท่าที่เข้าใจประโยชน์ แต่หวังประโยชน์ของสัตว์โลก ตามที่เข้าใจประโยชน์ แต่ไม่ได้ละกิเลส สติไม่มีโอกาสเจริญ ปัญญาซึ่งทำหน้าที่ละกิเลส เมื่อละกิเลสแล้ว หมายความว่า หน้าที่ครบแล้ว ต่อไปหลังจากปรินิพพานไปแล้ว ไม่เบียดเบียนใครแน่ ช่วยมากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ นอกจากว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ช่วยมากกว่าผู้ที่สงสารเฉยๆ เกิดเมตตาเฉยๆ เพราะละเหตุที่ทำให้คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี คนอื่นๆ ยังไม่ละเหตุ และเจริญเหตุที่จะละเหตุด้วย ถ้าสงสารคนอื่นจริงๆ จะเจริญสติปัฏฐาน เจริญเมตตาด้วย เพราะสะสมมาที่จะเข้าใจประโยชน์ของเมตตา ไม่ใช่ว่าพอเห็นประโยชน์ของสติแล้ว ไม่เจริญธรรมขั้นอื่นๆ นั่นเป็นตัวตนที่เข้ามาบังคับอีกแล้ว เข้าใจผิด เพราะเราไม่ได้สะสมมาที่จะเกิดแต่สติปัฏฐาน ไม่เกิดกุศลธรรมอย่างอื่นๆ พอเข้าใจสติปัฏฐานก็ละกุศลขั้นอื่นๆ เพราะไม่มีประโยชน์เท่ากับสติ แทนที่จะละกุศลขั้นอื่นๆ ก็จะเจริญกุศลขั้นอื่นๆ มากขึ้น มากกว่าเดิม เพราะว่าเมื่อเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า มีกิเลสมากน้อยแค่ไหน จะรู้ว่ามีมากจริงๆ เมื่อเริ่มที่จะเห็น เริ่มที่จะเข้าใจว่า มีกิเลสมากเท่าไร ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เจริญกุศลทุกๆ ขั้น ทุกๆ อย่างเท่าที่สามารถจะเจริญได้ เพราะไม่เกิดกุศล น่ากลัวมาก อันตรายมาก ไม่ใช่ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรไม่ได้ สำหรับอกุศล ถ้าสติเกิดรู้อกุศล เรียกว่าไม่เป็นไรได้ เพราะสติเกิดแล้ว
ถ. ขณะที่สติเกิด เวลานี้มันเกิดขึ้น
ธัม. เวลานี้สติเกิด หรือไม่เกิด
ถ. ในเมื่อสติเกิดขึ้น สภาพธรรมต่างๆ มีมากมาย เห็นก็มี สีก็มี เสียงก็มี เย็น ร้อน อ่อน แข็งก็มี เราควรพิจารณาอย่างไรก่อน
ธัม. ถ้าเมื่อสติเกิดขึ้น หลายๆ อย่างมีอยู่ หมายความว่าสติยังไม่เกิด เพราะเมื่อสติเกิดขึ้น หลายๆ อย่างไม่มี สติทำหน้าที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และสิ่งที่กำลังปรากฏไม่ใช่หลายๆ อย่าง ถ้าสีก็สี เสียงก็เสียง ถ้านามธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดก็ต้องเป็นเช่นนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น ต้องเป็นได้ยิน ไม่ใช่เห็น ขณะที่สติเกิด ไม่มีหลายอย่าง ถ้าคิดว่ามีหลายอย่างเป็นคนละขณะ บางทีสติเกิดขึ้นได้ และต่อมาเกิดคิดว่ามีหลายๆ อย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เริ่มต้นยากที่จะรู้ลักษณะของสติ เมื่อกี้นี้เกิดสติจริงๆ หรือเปล่า สะสมมาที่จะสงสัย ก็ต้องสงสัยตามที่สะสมมา จะไม่สงสัยไม่ได้ ถ้าเหตุปัจจัยพร้อมที่จะทำให้สงสัยในสติที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเมื่อกี้นี้ บังคับให้สติอยู่นานๆ แล้วให้สติเกิดตามรู้สติ และทำให้ตัวเองเข้าใจพอที่ต้องการเข้าใจไม่ได้ ต้องมีขันติมาก
ถ. ผมดีใจมากที่ได้เห็นพระ Alan กลับมาอีกครั้ง มาครั้งนี้ผมก็รู้สึกว่า ท่านพูดภาษาไทยได้ชัดเจน และฟังเข้าใจดี ผมได้รู้จักท่านมาพอสมควร โดยเฉพาะท่านเป็นพระชาวต่างประเทศ และท่านก็เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานในแนวทางที่อาจารย์สุจินต์ได้สอนอยู่ รู้สึกว่าท่านได้เข้าใจลึกซึ้ง ผมเองก็ดีใจที่ได้พบท่านวันนี้ วันนี้ผมอยากจะเรียนถามท่านเรื่องสติปัฏฐาน คือ เรื่องสติจะเกิดหรือไม่เกิด ก็พอจะทราบได้ เนื่องจากผมพอจะเปรียบเทียบได้ว่า ในระหว่างที่มีสติและหลงลืมสตินั้นจะต่างกัน เพราะเข้าใจว่าน่าจะเป็นสติที่เกิดขึ้น แต่ว่าเท่าที่ปฏิบัติมาก็หลายปี ก็ยังไม่เกิดปัญญาเลย ผมเข้าใจว่าผมจักโยนิโสมนสิการไม่ถูกต้อง หรืออย่างไร ท่านช่วยอธิบายหน่อยได้ไหม คือ เกิดสติ แต่รู้สึกว่าปัญญาจะยังไม่เกิด
ธัม. โยมเองก็พอจะเดาได้ไหม พอจะรู้ได้ไหมว่า ทำไมเจริญสติได้ แต่ปัญญาไม่เกิด โยมคิดอย่างไร โยมวินิจฉัยอย่างไร เคยพิจารณาหรือเปล่า ถ้าไม่เคยพิจารณา ไม่รู้จะแก้ปัญหานี้ได้เมื่อไหร่ เพราะตัวเองก็ต้องพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าคนอื่นจะพิจารณาให้อย่างเดียว ถ้านานแล้วโยมรู้สึกว่า เกิดสติบ่อยหรือว่าเกิดสติบ้าง แต่ปัญญาไม่เจริญ เพราะเหตุใด โยมต้องพิจารณา โยมต้องมีความคิดบ้างในเรื่องนี้ มีไหม เพราะอะไร ปัญญาไม่เจริญ
ถ. ผมเข้าใจว่า จำนวนครั้งที่สติเกิดน่าจะน้อยไป จึงทำให้ปัญญายังไม่เกิด หรือว่ายังไม่มากพอ ขณะที่สติเกิดขึ้น ปัญญาก็ต้องเกิดตาม หรือว่าสติเกิดอย่างเดียวก็ได้ หรือว่าเมื่อเกิดสติแล้ว ปัญญาจะต้องเกิดทุกครั้ง อย่างไหนจึงจะถูกต้อง
ธัม. โยมเคยปัญญาเกิดหรือเปล่า
ถ. ผมคิดว่า ยังไม่น่าจะเกิดปัญญาขั้นภาวนา
ธัม. แต่ปัญญาเคยเกิดหรือเปล่า
ถ. ก็น่าจะอยากให้ปัญญาเกิดเหมือนกัน
ธัม. ปัญญานั้นถ้าเกิดแล้ว ลักษณะอย่างไร จึงจะรู้ว่าปัญญาเกิดแล้ว มีลักษณะปรากฏเป็นอย่างไร จึงจะบอกได้ว่า อ้อ นี่คือ ปัญญาเกิดแล้ว จะเป็นอย่างไร
ถ. ปัญญาขั้นแรก คือ ปัญญาที่รู้ความแตกต่างระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม ใช่ไหม ผมก็ได้เจริญสติมานานพอสมควร ผมก็ยังรู้สึกว่า ไม่สามารถจะแยกนามธรรมและรูปธรรมออกได้
ธัม. เจริญพร โยมไม่สามารถแน่นอน แต่ปัญญาที่เจริญมาถูกต้องสามารถที่จะแยกนามออกจากรูปได้ ตามเหตุปัจจัย ตามเหตุผล แต่ถ้าโยมคอยนามรูปปริจเฉทญาณเกิด รู้สึกว่าจะต้องคอยนาน แล้วก็อาจจะผิดหวัง เพราะเริ่มต้นไม่ใช่ว่าจะรู้ว่ากำลังเจริญปัญญา เพราะเกิดรู้นามธรรมแยกออกจากรูปธรรมได้แล้ว นี่เป็นญาณขั้นสูงเสียแล้ว คือ เป็นเริ่มต้นจริงๆ เพราะว่าไม่ใช่มหาวิปัสสนา แต่ไม่ใช่ปัญญาธรรมดาอยู่แล้ว รู้ชัดแล้ว เป็นญาณ ผู้ที่เจริญปัญญาที่จะเกิดญาณ รู้ว่าปัญญานั้นเจริญขึ้นๆ ปัญญาของผู้นั้นยังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ชัด เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานที่เข้าใจจุดประสงค์ คือ เจริญปัญญาพิจารณาลักษณะที่กำลังปรากฏ ต้องเข้าใจด้วยว่า ปัญญานั้นที่เริ่มต้นยังไม่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ จะมีลักษณะเหมือนนามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ จะรู้ชัดเจนในลักษณะของนามว่า ไม่ใช่รูป รูปไม่ใช่นาม ชัดเจนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าคอยปัญญาประเภทนี้ แล้วคิดว่ายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ปัญญายังไม่เกิด ก็ไม่ถูก เพราะปัญญาที่จะเกิดเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นญาณ ต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจไม่ชัด
ถ. หมายความว่า ถ้าเป็นปัญญาขั้นเห็นความแตกต่างของนามรูป เป็นปัญญาขั้นสูงอยู่แล้วใช่ไหม
ธัม. ก็เรียกว่า สูง เพราะว่าชัด แต่ความจริงไม่สูงเท่าไร เพราะเริ่มต้น แต่ชัด เป็นญาณ ปัญญาที่เราเจริญขึ้นให้เป็นญาณ ยังไม่ได้เป็นญาณ แต่เป็นปัญญาเหมือนกัน เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่ญาณ จึงไม่ทำหน้าที่แยกนามออกจากรูป รู้ชัดในความต่างกันของนามกับรูป ยังไม่ถึงขั้นนั้น
ถ. ผมก็ยังไม่หวังถึงขั้นนั้น ที่ปฏิบัติมาประจำ วันนั้นผมสังเกตดู ยกตัวอย่าง ยกตัวอย่างเช่นทางหู ทางโสตทวาร ขณะที่ได้ยิน มีสติเกิดขึ้นนั้น ผมเข้าใจว่า พิจารณาเป็นเสียง น่าจะพิจารณาง่ายกว่าว่า ที่ได้ยินนั้นเป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพรู้ เสียงเป็นสภาพที่ไม่รู้ หรือเป็นรูปธรรมว่า จะพิจารณาง่ายกว่า ว่าสิ่งนั้นเป็นรูปธรรม ถ้าจะพิจารณาว่า เป็นนามธรรมนี้ ผมรู้สึกว่าผมจะพิจารณายาก แม้ทางตาก็เหมือนกัน ขณะที่เห็นนี้ ผมพิจารณาว่า สิ่งที่เห็นหรืออารมณ์ที่เห็นนั้นเป็นรูปธรรม รู้สึกว่าจะพิจารณาง่ายกว่า สภาพที่เห็นเป็นนามธรรม
ธัม. พิจารณาเป็นเสียง ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร คือ หมายความว่า ทำให้สิ่งที่ปรากฏเป็นเสียง พิจารณาเป็นเสียง หรืออย่างไร พิจารณาแบบไหน จึงจะเรียกว่า พิจารณาเป็นเสียง
ถ. ผมพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างหนึ่งทางหูนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นสิ่งที่เป็นเสียงทั่วๆ ไป ผมก็อธิบายไม่ถูก เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง สมมติว่าเกิดเสียง ได้ยินเสียงคนพูด หรือว่าได้ยินเสียงรถก็ดี เสียงนกร้องอะไรก็ดี ถ้าหากว่ามีสติเกิดขึ้น พิจารณาว่ามันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งจริงๆ อย่างนั้น ถ้าจะพิจารณาว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่รู้ หรือสภาพทางวิญญาณ อะไรอย่างนี้ ผมเข้าใจยากกว่า อย่างนั้นถูกต้องหรือเปล่าไม่ทราบ
ธัม. ก็นามธรรมละเอียดกว่ารูปธรรม และมักจะมองข้าม เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ นามธรรมมี นามธรรมทำหน้าที่ทุกๆ ขณะ ทำให้มีอารมณ์ปรากฏต่อนามธรรมนั้น ถ้าไม่มีนามธรรม ไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่ทุกขณะมีอารมณ์ปรากฏ เพราะทุกขณะนามธรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่แล้วก็ดับไป นามธรรมที่มีอยู่ทุกๆ ขณะ ทำหน้าที่รู้ทุกขณะตั้งแต่เกิดมา คือ ยังไม่เคยอยู่ปราศจากสภาพรู้นั้น ชินกับสภาพรู้นั้นมาก จนกระทั่งการอยากรู้สภาพนามธรรม คล้ายๆ กับเป็นของแปลกเหลือเกิน อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปหา คิดดู แต่เดี๋ยวนี้กำลังทำหน้าที่ กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เราคิดว่าเป็นเรา คิดว่าเข้าใจแล้ว เมื่อการรู้ในขณะนี้เป็นเรา นามธรรมอยู่ที่ไหน ต้องหา เป็นการมองข้ามจริงๆ มองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด กำลังทำหน้าที่รู้สี สีจึงปรากฏได้ ทำหน้าที่นามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่รู้เสียง ทำให้เสียงปรากฏได้ ทำหน้าที่นามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่รู้เสียง ทำให้เสียงปรากฏได้ เสียงจึงไปปรากฏได้ จึงกำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะสภาพรู้มีอยู่ ความจริงไม่ใช่ของไกล หรือของรู้ยาก แต่เข้าใจผิด
ถ. ผมก็ว่าผมเข้าใจผิด เพราะจะว่าไม่มี ก็ไม่ใช่ ความจริงสภาพรู้นี้มี ถ้าเราไม่รู้ มันก็เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม ว่าได้ยิน ได้ยินต้องมีแน่ แต่ว่ามันก็แปลก ได้ยินก็มี เห็นก็มี ความจริงเราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพธรรม คิดตามเหตุผลนั้น มีแน่นอน
ธัม. ที่หนังสือเล่มนี้ไม่เกิดความรู้สึกว่า มีนิ้วเรากำลังจับอยู่ เพราะว่ามีแต่รูปธรรม นามธรรมไม่เกิดที่หนังสือ หนังสือไม่รู้สึกอะไร ไม่ได้เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้เรื่อง เป็นรูปธรรมล้วนๆ แต่ละอย่างเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แต่เดี๋ยวนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏอยู่ เพราะไม่มีรูปธรรมอย่างเดียว ที่เรายึดถือว่าเป็นเรา มีนามธรรมด้วย จึงมีอารมณ์ต่างๆ กำลังปรากฏอยู่
ถ. ถ้าคิดตามเหตุผล ผมเข้าใจเรื่องตามเหตุตามผลว่า มี แต่ต้องมาคิดเสียก่อน มันถึงจะเข้าใจ
ธัม. แน่นอนโยม ไม่คิดแล้วจะเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ต้องเป็นผู้คิด ไม่ทราบว่าในห้องนี้มีใครไม่เป็นผู้คิด เคยไม่คิดบ้างไหม อาจจะคิดว่า บางทีไม่คิด แต่หายาก ขณะที่ไม่คิด คิดตลอดเรื่อยๆ แต่คิดถูกหรือคิดผิด เมื่อคิดไม่ถูกก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ สติปัฏฐานอาศัยคิดถูก คิดถูกในเรื่องหลายๆ เรื่อง แต่โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานต้องคิดถูก ฟังแล้ว พิจารณา คิดถูกเข้าใจ เข้าใจขั้นคิด หรือเข้าใจขั้นสูงๆ กว่านั้นอีก ไม่ใช่ว่าข้ามขั้น แล้วเข้าใจลึกกว่าขั้นนี้ คือ เข้าใจผิดขั้นคิด แต่เข้าใจถูกขั้นที่สูงกว่านี้ คือ เจริญสติปัฏฐานอยู่แล้วโดยไม่เคยคิด ไม่ต้องคิด หรือว่าคิดผิดด้วย คิดผิดตามปริยัติ แต่ปฏิบัติได้ ไม่มีทาง เพราะว่าปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าพิสูจน์ปริยัติ เมื่อกี้นี้โยมบอกว่า รูปธรรมรู้ง่าย ไม่ทราบว่าง่ายจริงๆ หรือเปล่า ถ้าปรากฏก็ง่ายกว่ารู้ได้ยิน เพราะว่าได้ยินไม่ปรากฏ รู้ยากที่สุด เพราะไม่ปรากฏขณะนั้นที่เสียงกำลังปรากฏ อาจจะเรียกว่าง่ายได้ เพราะปรากฏ แต่รู้ถูกหรือผิด รู้มากหรือน้อย รู้ละเอียด หรือรู้คร่าวๆ แล้วแต่ ขณะนี้ไม่มีแค่เสียง สภาพรู้มีด้วย สภาพรู้คือได้ยิน ในขณะนี้มีอยู่ เสียงมีอยู่ ทั้ง ๒ อย่าง ลักษณะต่างกัน จะรู้เสียงชัด รู้ลักษณะของเสียงชัดเจน โดยยังไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้เสียง รู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ยิ่งรู้สภาพของรูปธรรมตามความเป็นจริง เป็นเหตุปัจจัยทำให้จำเป็นต้องค่อยๆ รู้นามธรรมด้วย รู้นามธรรมดีขึ้น ทำให้รู้รูปธรรมดีขึ้นด้วย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นรูปธรรม ทำให้เข้าใจว่า ไม่ใช่นามธรรมอย่างไร
ธัม. ถ้ายกตัวอย่างในขณะนี้ สิ่งที่ท่านเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอะไร เป็นสี ใช่ไหม แต่ปกติธรรมดาๆ เห็นแล้วก็คิด รู้ว่าเป็นคน เป็นพระ เป็นโยม เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง รู้แล้ว รู้สึกว่า เขากำลังคิดร้ายด้วย หรือว่าเขากำลังคิดดี ก็พอจะรู้ได้ใช่ไหม รู้แล้วก็นึกทันทีได้ว่า เรามีอารมณ์ดี มีอารมณ์ไม่ดี หรืออย่างไร พอจะนึกได้ ใช่หรือเปล่า ถ้ายิ้ม ก็คงมีอารมณ์ดี ถ้าหน้าบึ้งก็คงมีอารมณ์เสีย แล้วขณะนั้นชื่อว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานั้น เป็นสภาพรู้หรือเปล่า คือ บอกว่าเขาโกรธ ดูแล้วก็คิดว่าเขาโกรธ อะไรโกรธ สีโกรธหรือเปล่า สีทำหน้าที่โกรธไม่ได้ แต่ในขณะนั้นคิดว่า สิ่งที่เราเห็นนั้น คือ โกรธเรา หรือโกรธคนอื่น ก็แล้วแต่ สิ่งที่ปรากฏทางตาโกรธ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสี สีไม่ได้โกรธ โกรธเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เรานึกถึงความโกรธได้แต่ความโกรธนั้นไม่ได้ปรากฏทางตา เป็นนามธรรม แยกออกจากสีที่ปรากฏทางตา ไม่มีใครเห็นโกรธได้ ไม่มีใครเห็นความพอใจได้ จะเห็นเมื่อไรก็ต้องเห็นสีอย่างเดียว ไม่เห็นอย่างอื่น แต่มักจะคิดว่า เห็นหลายอย่าง และบางทีคิดว่าเห็นนามธรรมด้วย เห็นโกรธ เห็นความพอใจ เห็นหลายอย่าง เห็นปัญญาของเขา อะไรก็แล้วแต่ บางทีอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า นามธรรมกับรูปธรรมปะปนกันเสมอในความคิดของเรา ปะปนกันละเอียดสักเท่าไรก็เอาไว้ก่อน บางทียกตัวอย่างยากหน่อย หมายความว่า ถ้ารูปธรรมเป็นอารมณ์ในขณะนั้น ปัญญาไม่หลงเข้าใจผิดว่า มีอย่างอื่นๆ ในรูปธรรมนั้น คือ ถ้าสีปรากฏ ปัญญาสามารถรู้สีตามความเป็นจริงว่า สีนั้นไม่ใช่อย่างอื่น นอกจากสี ไม่ปะปนกับอะไรอย่างอื่น ถ้าเราคิดว่าสีเป็นคน และเราคิดว่าคนเป็นสิ่งที่รู้อย่างนี้ รู้อย่างนั้น ก็ถือว่าเราคิดว่า สีทำหน้าที่รู้ได้ แต่สีทำหน้าที่รู้ไม่ได้ สีเป็นรูปธรรม รูปธรรมไม่รู้อะไรเลย ปรากฏทางตา เมื่อรู้สีตามความเป็นจริงในขณะนั้น ไม่คิดว่าในสีนั้นมีอย่างอื่น นอกจากสี สิ่งที่เคยคิดว่ารวมกับสีในขณะนั้น ไม่คิดผิดว่า มีอะไรรวมกับสี สิ่งที่ปรากฏนั้นไม่ได้เป็นอย่างอื่น นอกจากสี สีนั้นไม่ได้เป็นคนซึ่งเดินได้ ซึ่งพูดได้ ซึ่งคิดได้ ซึ่งโกรธได้ พอใจได้ สีต้องเป็นสี แยกออกจากสิ่งอื่นๆ ที่ความเข้าใจผิด มักจะคิดว่า มีอยู่ในสีนั้น หรือว่าเป็นสีนั้น บางทีคิดว่า สีเป็นสิ่งที่มันก็ไม่ได้เป็นว่า สีเป็นคน เป็นต้น สีเป็นสัตว์ สีเป็นสี สีไม่เป็นสัตว์ หรือไม่เป็นบุคคล บางทีคิดว่าในสีนั้นมีคน นี่คิดผิดอีกอย่างหนึ่ง บางทีคิดว่าสีอยู่ในคน ที่เป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหาก เข้าใจผิดหลายอย่าง แต่สรุปคือ เอาหลายอย่างมารวมกัน หรือให้เป็นหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นหนึ่ง สีเป็นสีอย่างเดียว ไม่มีอะไรอย่างอื่นในสี ไม่มีรูปธรรมอย่างอื่นในสี จับสีได้ไหม ไม่ได้ เพราะสภาพแข็งไม่มีอยู่ในสภาพสี เป็นคนละอย่าง ปรากฏคนละทาง ต้องแยกรูปออกจากรูปด้วย ไม่ใช่รูปออกจากนามอย่างเดียว ถ้ายังคิดว่า สามารถจะจับสีได้ ก็ผิดทีเดียว สีที่ปรากฏทางกาย เมื่อหยิบหนังสือขึ้นมา ไม่ใช่สี และบางทีคิดว่ามีนามด้วย บางทีคิดว่านิ้วของเรารู้สึกอะไรได้ แต่นิ้วของเราเป็นรูปธรรม ต่างๆ ชนิดล้วนๆ ไม่มีนามธรรมเลยในรูปธรรมนั้น ในขณะที่รู้สึกตรงนี้ ไม่ใช่นิ้วรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม สิ่งที่เราเห็นนั้นรู้สึก แต่เป็นสภาพรู้ซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่มีใครเห็นได้ เกิดขึ้นตรงนี้ แต่ไม่ใช่รูปธรรมที่เรายึดถือว่าเป็นนิ้วของเรา ต้องแยกรูปออกจากรูป นามออกจากนาม และรูปออกจากนาม นามออกจากรูป ที่สติเกิดแล้ว ปัญญาศึกษาลักษณะที่ปรากฏ ขณะนั้นเรียกว่าแยกแล้วได้ อาจจะได้ แต่ไม่ชัด เพราะปัญญายัง อ่อนๆ เริ่มที่จะฝึกแยก โดยรู้สิ่งเดียว สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็แยกแล้ว ใช่ไหม ความจริงไม่ต้องแยก เพราะมันแยกอยู่แล้ว สีไม่ได้เป็นการเห็น การเห็นไม่ได้เป็นสี แต่เราไม่รู้แต่ละลักษณะตามความเป็นจริง เมื่อรู้แต่ละลักษณะตามความเป็นจริง ก็ไม่เอารวมมาเป็นอย่างอื่นๆ
รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ลักษณะเดียว รู้สีตรงสี ไม่ใช่กำลังรู้คน นั่นไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่รู้สีที่เป็นกลมๆ เมื่อคิดว่าสีเป็นกลมๆ ก็ไม่ได้รู้ตรงสี ไม่รู้เสียงที่เป็นเสียงสุนัข เพราะว่าไม่ตรงเสียงที่เป็นเสียง ไม่มีสุนัขในเสียง ต้องตรงลักษณะ จึงจะแยกให้ชัดได้ ต่อมาไม่สนใจในอย่างอื่นๆ ในขณะที่สติเกิด รู้ทางตา ไม่สนใจในอย่างอื่นทั้งหมด ทิ้งนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ทิ้งแข็ง ทิ้งเย็น ทิ้งเสียง รู้ ศึกษาเฉพาะสีที่ปรากฏทางตาทางเดียว
ถ. การที่ว่า แยกรูป แยกนาม ผมเข้าใจว่า เมื่อขณะที่พิจารณารูปไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้ชัดว่า รูปนี้เป็นรูป เมื่อรู้ชัดว่าเป็นรูป รูปนี้ไม่ใช่นาม เพราะฉะนั้น ในเมื่อรู้ชัดอย่างนี้แล้ว ขณะนั้นเห็นรูป ก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่า รูปนั้นเป็นนาม และเมื่อเห็นนาม ก็ไม่ได้เข้าใจผิดว่า นามนั้นเป็นรูป ในเมื่อปัญญารู้อย่างนี้แล้ว ก็ชื่อว่าแยกรูป แยกนาม ใช่ไหม ที่ว่าแยกรูป แยกนามแล้ว ใช่ไหม
ธัม. เหมือนกัน ไม่มีนามในรูป ไม่มีรูปในนาม แต่รู้หรือยัง วันนี้จุดประสงค์ของอาตมาที่ลงมาวันนี้ ต้องการฟังอาจารย์สุจินต์ บรรยายเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าอาตมาไม่เลิก ก็อาจจะผิดหวัง
ถ. ท่านอาจารย์บอกว่า ญาติโยมกำลังสนใจ แล้วเวลาก็เหลือน้อยอยู่แล้ว แค่ ๑๕ นาที เพราะฉะนั้น นิมนต์ท่านบรรยายต่อ
ผมก็มีคำถามต่อไปว่า การเจริญสติปัฏฐาน พิจารณาสี สีนี้ตามที่อาจารย์กล่าวว่า สีไม่ได้รู้อะไร เราจะจับสีก็จับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เราเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เห็นพระพุทธรูป เห็นพื้น เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ในขณะนั้น ขณะที่เรารู้ว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ขณะนั้นการเห็นนั้นดับไปแล้ว ถ้าเราจะพิจารณาในขณะนั้นที่เรารู้ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ขณะนั้นมันเป็นเพียงนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ใช่ไหม
ธัม. สภาพเห็น รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไรไม่ได้ เมื่อเข้าใจถูกว่า เห็นเป็นอย่างหนึ่ง รู้สี ไม่รู้สัณฐาน ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ความหมาย ก็ที่กำลังรู้ความหมายนั้น รู้ชื่อ หรือว่ารู้สัณฐาน ไม่รู้ชื่อ ไม่รู้ความหมาย ก็ที่กำลังรู้ความหมายนั้น รู้ชื่อ หรือว่ารู้สัณฐาน ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นเห็นไม่ได้ เห็นทำหน้าที่เดียว รู้สี โดยไม่คิดถึงความหมาย หรือว่าสัณฐาน อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังรู้ความหมายต้องเป็นอีกขณะหนึ่ง เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะเห็นกับลักษณะคิด คนละลักษณะ รู้ว่าเป็นอะไรต่างกับเห็น
ถ. การปฏิบัติธรรม จะต้องรู้การเกิดดับของรูปนาม หรือไม่
ธัม. อีกทีได้ไหม
ถ. การปฏิบัติธรรมที่จะให้ละตัวตนได้ จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงการเกิดดับของนามของรูปหรือไม่
ธัม. ต้องรู้สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นตัวตน จึงจะละความเข้าใจผิดว่า ตัวตนมีอยู่ เพราะไม่ใช่ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน ไม่มีเรา ไม่มีโกรธ ไม่มียินดี ไม่มีเมตตา ไม่มีสี ไม่มีเห็น มีหลายอย่างสารพัด แต่ละอย่างนั้นเป็นแต่ละอย่าง ถ้าเป็นนาม มีลักษณะรู้ก็เป็นนาม ถ้ามีลักษณะไม่รู้ก็เป็นรูป แต่ไม่ใช่เรา ต้องรู้สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา จึงจะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เราอย่างไร เพราะรู้ว่าเป็นอะไร
ถ. ไม่จำเป็นต้องรู้การเกิดดับใช่ไหม
ธัม. เกิดดับของอะไร
ถ. ของรูปของนาม
ธัม. ของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ หรืออย่างอื่น
ถ. ของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้
ธัม. แล้วเดี๋ยวนี้มีอะไรปรากฏบ้าง
ถ. สีที่ปรากฏนี้เกิดขึ้น อย่างเห็นสี เห็นสิ่งต่างๆ แต่บางทีทั้งๆ ที่สีมี ก็ไม่เห็น กลับไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างนี้เรียกว่า สีดับหรือเปล่า
ธัม. สีเกิดขึ้นแล้วดับหรือไม่ดับ โยม
ถ. ก็ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอย่างไร คือว่าทั้งๆ ที่สีมีอยู่ แต่ไม่เห็น ไปได้ยิน ไปคิดเรื่องอื่น อย่างนี้เรียกว่า สีดับหรือเปล่า สีเป็นรูป ใช่ไหม
ธัม. หมายความว่าอย่างไร สีเป็นรูป
ถ. สีเขาจัดเป็นรูป ใช่ไหม
ธัม. หมายความว่าอย่างไร สีเป็นรูป
ถ. คือเป็นสิ่งที่ไม่มีการรู้สึก
ธัม. เจริญพร ไม่มี
ถ. แต่สีนั้นมีอยู่ สีไม่มีก็เห็นไม่ได้ ทีนี้ทั้งๆ ที่สีมีอยู่ บางทีก็ไม่เห็น อย่างนี้เรียกว่า สีดับหรือว่าเรียกว่าอะไร
ธัม. ขณะที่จะรู้ลักษณะของสี ว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยง ต้องเป็นขณะที่สีปรากฏ จะรู้การเกิดขึ้นหรือการดับไปของสิ่งที่ไม่ปรากฏ คือ ดับไปนานแล้ว หรือยังไม่เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะรู้การเกิดหรือการดับของสีในเมื่อกำลังได้ยิน เพราะว่าเมื่อกี้โยมบอกว่า เมื่อกี้ไม่เห็น เพราะว่าเกิดขึ้นทางอื่น เช่น ได้ยิน ขณะนั้นที่ได้ยิน ไม่มีทางที่จะรู้การเกิด หรือการดับของสีได้ จะรู้การเกิดการดับของสีเฉพาะเมื่อรู้สี ไม่ใช่เมื่อเสียงกำลังปรากฏ เมื่อเสียงกำลังปรากฏ ก็ได้มีโอกาสที่จะรู้เสียงตามความเป็นจริงว่า เสียงเที่ยงหรือเปล่า เสียงเป็นอย่างไร จะรู้การเกิดการดับเป็นขั้นสูงของปัญญา เริ่มแรกต้องรู้ลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรม โดยยังไม่รู้การเกิดและการดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เพราะว่าปัญญายังไม่ได้อบรมถึงขั้นนั้น ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่ว พอที่จะแยกออกจากกัน เป็นขั้นแรกของปัญญา ปัญญาขั้นสูงต่อไปจะเกิดไม่ได้ แล้วจะรู้การดับของสิ่งที่ในขณะนั้นไม่ปรากฏ ก็ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่มีทางที่จะรู้ได้ รู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏกับเราว่าเป็นอย่างไร เกิดหรือไม่เกิด ดับหรือไม่ดับ เที่ยงหรือไม่เที่ยง อย่างอื่นจะรู้ไม่ได้ เมื่อรู้ว่าสีที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ดับเดี๋ยวนี้ ก็สีอย่างอื่นที่ไม่ได้เห็น แต่สำคัญว่ามี ถ้ามีก็ต้องดับเช่นเดียวกับสีที่เราพิสูจน์แล้วว่าดับ ไม่ต้องคิดถึงสีที่ไม่ปรากฏ เพราะขณะที่คิดถึงสีที่ไม่ปรากฏ ก็เลยโอกาสที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าเป็นอย่างไร อย่าลืมว่า นามเกิดดับเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าสีดับอย่างเดียว เห็นดับด้วย
ถ. คือจากการศึกษาเรื่องรูปนามไม่เที่ยง เกิดแล้วดับนี้ เพราะฉะนั้น ทำให้นึกถึงรูปนามอื่นที่อยู่นอกตัวว่า รูปนามเหล่านั้นเกิดดับหรือไม่
ธัม. ได้ คือ ไม่ใช่รู้นามรูปที่ไม่ปรากฏต่อเรา คิดถึงนามรูปอื่นๆ ที่ยังไม่เกิด หรือเกิดมานานแล้วได้ แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ก็ต้องเป็นนามธรรมกับรูปธรรมที่ปรากฏในขณะนี้กับตัวเรา ไม่ใช่กับคนอื่น เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ สีเดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ว่า สีเป็นอย่างไรตามความเป็นจริง และสีของเมื่อวานพิสูจน์ไม่ได้ เมื่อวานผ่านไปแล้ว สีของพรุ่งนี้หรือสีที่ปรากฏข้างหลัง ซึ่งท่านเห็นไม่ได้ ท่านพิสูจน์เรื่องสีนั้นไม่ได้ แต่สีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ พิสูจน์ได้ ไม่ต้องเอาใจใส่ในสิ่งที่ไม่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ไม่ปรากฏจะเป็นเรื่องเป็นราวกับเราอย่างเดียว จะไม่เป็นของจริง จะรู้ตามความเป็นจริงได้ ต้องรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่สีที่ไม่เห็น
ถ. ทีนี้ปัญหาที่ว่า รูปหรือนามที่ว่าเกิดดับนี้ สีเกิดขึ้นได้เพราะมีนาม มีจิต
ธัม. ใครบอก ใครบอกว่า สีเกิดขึ้นเพราะนาม
ถ. ถ้าไม่มีจิต ก็เหมือนกับสีไม่มี ไม่มีอะไรไปรู้
ธัม. สีไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏกับไม่มีเหมือนกันหรือเปล่า
ถ. ก็คิดว่าคนละอย่าง
ธัม. ถ้าเหมือนกัน หมายความว่า ถ้าในทีนี้ไม่มีใคร ก็จะไม่มีรูปธรรมสักอย่างหนึ่ง ตลอดเวลา ไม่มีใครอยู่ แต่อย่าลืมปรากฏกับมีอยู่ ไม่เหมือนกัน “ปรากฏ”หมายความว่า เป็นอารมณ์ของจิต แต่จิตไม่ได้ทำให้รูปเกิดขึ้น รูปเกิดขึ้นเพราะรูปบ้าง รูปเกิดขึ้นเพราะจิตบ้าง รูปก็เกิดขึ้นเพราะอาหารบ้าง เกิดขึ้นเพราะกรรมบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องรู้จึงจะให้รูปนั้นที่ถูกรู้เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะกรรมก็ได้ เพราะอาหารก็ได้ แล้วแต่หลายอย่าง เพราะอุตุ คือ รูปประเภทหนึ่งก็ได้ ไม่ได้อาศัยจิตเกิดขึ้น แต่จะปรากฏได้เพราะถูกจิตรู้ จิตเกิดขึ้นรู้ลักษณะรูปนั้นในขณะนั้น รูปนั้นจึงปรากฏได้
ถ. คิดว่าคงจะเกิดจากการคิดมากกว่าเกิดจากการปฏิบัติ ที่ว่ารูปนามเกิดดับนี้ อันนี้ไม่ทราบว่ารูปเกิดดับ และสภาพเกิดดับเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ บางทีจิตไปรับอารมณ์อย่างนั้นบ้าง รับอารมณ์อย่างนี้บ้าง เมื่อมีรูป อาจจะไปเกิดกับรูปนั้นรูปนี้ เพราะฉะนั้น จึงทำให้สงสัยว่า รูปนั้นมีการเกิดดับหรือเปล่า แต่ว่าจิตนั้นเกิดดับแน่ เชื่ออย่างนั้น
ธัม. อย่ารีบเร่งไปรู้ถึงการเกิดดับ เพราะว่าต้องรู้สภาพที่จะเกิด สภาพที่จะดับ เป็นอย่างไร สภาพที่จะเกิดนี้ สภาพที่จะดับนี้ ต้องเป็นสภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อยังแยกออกจากกันไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงการเกิดและการดับ ขั้นแรกก่อน ไม่ใช่ขั้นมหาวิปัสสนาก่อน แล้วก็วิปัสสนาอ่อนๆ ทีหลัง อ่อนก่อน แข็งแรงขึ้นต่อมาๆ ต่อไปเริ่มฟังก็ฟังมากๆ พิจารณาด้วย แล้วก็อย่าคิดว่าพอ เราไม่ใช่ผู้เริ่มต้นแล้ว เพราะว่าต้องเริ่มต้นใหม่ทุกขณะ เดี๋ยวนี้ต้องเริ่มต้นใหม่ เกิดสติใหม่ รู้สิ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ ถ้าถือว่าเราไม่ใช่เริ่มต้นแล้วก็เข้าใจผิด ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เริ่มต้น คิดว่าอาจจะเรียกว่า พระอรหันต์ ไม่ใช่ผู้เริ่มต้นก็ได้ เพราะว่าท่านไม่ต้องเจริญกุศลแล้ว หมดแล้ว ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ รู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง แม้พระอรหันต์ก็รู้ตามความเป็นจริงเหมือนกัน แต่หน้าที่จบแล้ว
โยม ไม่ทราบเมื่อกำลังคิดเรื่องนี้ เคยเกิดสติบ้างหรือไม่ เพราะว่าเมื่อคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมา จึงคิดอย่างนั้น เรื่องนั้น บางทีลืมทีเดียวว่า คิดถึงเรื่องสติปัฏฐานก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องรู้ลักษณะ สงสัยเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่ไม่สงสัยนั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าไม่ใช่พระโสดาบันเสียก่อน เป็นแล้วจึงค่อยเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่สงสัย ไม่มีใครชอบสงสัย แต่ต้องกล้ามาก เพราะผู้ที่จะเป็นพระโสดาบันเป็นผู้ที่ไม่ว่าเกิดสงสัยก็ไม่หวั่นไหว ตลอดมา แต่ค่อยๆ เจริญสติรู้แม้ลักษณะของสงสัย ซึ่งมีจริง เป็นของจริง ไม่ใช่ว่าสงสัยแล้ว ไม่ใช่ของจริงที่จะต้องไม่รู้ ต้องรู้สงสัย แต่มักจะเกิดไม่พอใจในสงสัย กังวลไม่อยากจะสงสัย นี่ไม่ใช่เหตุที่จะละสงสัย คือกังวลถึงความสงสัย ต้องรู้แม้สงสัย จึงจะรู้นามธรรมและรูปธรรมทั่วไป แล้ววันหนึ่งก็ไม่สงสัย
ถ. ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน รู้สึกว่าสติยังอ่อนมากเหลือเกิน เพราะแต่ละวันอารมณ์มักจะไปกับเรื่องต่างๆ แต่ว่าบางครั้งรู้สึกทางหูบ้าง ทางตาบ้าง พิจารณาเป็นบางเวลา ก็คิดว่าอาจจะเป็นสติที่เริ่มจะเกิดขึ้น
ธัม. ไม่ทราบว่าพระโสดาบันเคยมีสติอ่อนๆ หรือเปล่า คิดว่าเคย
ถ. คิดว่าคงมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน
ธัม. ถ้าเป็นอย่างนี้ คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ และจุดประสงค์ของเรา คืออยากจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรับรองว่าสติอ่อน ถ้าสติอ่อน เกิดน้อย แล้วก็คิดว่าไม่ใช่น้อย หรือว่าไม่พอใจที่เกิดน้อย ไม่ตรงกับจุดประสงค์ที่เราบอกว่า ต้องการรู้สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออ่อนก็อ่อน สติรู้สติที่อ่อนนั้นได้ เพราะสติอ่อนๆ ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง บางทีสติเกิดตามรู้ลักษณะของสติอ่อนๆ นั้นได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน เมื่อรู้ลักษณะของสติอ่อนๆ นั้นตามความเป็นจริง ก็รู้ลักษณะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏต่อจากสติอ่อนๆ นั้นดับไปแล้ว ไม่ต้องสนใจในสติอ่อนว่า อ่อน หรือทำไมอ่อน หรือว่าทำไมน้อย ไม่ต้องถามว่า ทำไม เพราะว่าดับแล้ว อ่อน เพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าเพราะคนอื่นไม่ชอบเรา จึงทำให้สติเราอ่อน เราเองยังไม่ได้เจริญ ยังไม่ได้อบรมที่จะเกิดสติแข็งแรง เพราะเพิ่งเริ่มต้นจริงๆ
ถ. สมมติว่าเราเอามือวางไว้ที่โต๊ะ สภาพธรรมที่มือเราที่สัมผัสที่โต๊ะนี้
ธัม. คิดว่าวางไว้ที่เก้าอี้ ไม่ต้องสมมติ เพราะวางไว้แล้ว
ถ. สภาพธรรมที่เกิดขึ้น มีตั้งแต่เย็นก็มี แข็งก็มี ความรู้สึกว่า เย็นก็มี รู้สึกว่าแข็งก็มี เมื่อเราเอามือวางไว้ที่เก้าอี้ สติเกิด แล้วเราก็คิดว่า มันเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ทั้งที่แข็งก็มี เย็นก็มี รู้สึกว่ามันจะอยู่ในสิ่งเดียวกัน รู้ต้องคิดว่า สภาพธรรมมีทั้งเย็น มีทั้งอ่อน ทั้งแข็งด้วย ถ้าเราจะพิจารณา เราจะโยนิโสมนสิการอย่างไร เมื่อสติเกิด
ธัม. ทำไมต้องคิดอย่างนี้ ต้องรู้เฉพาะแข็งหรืออ่อนว่า เพราะขณะนั้นที่เกิดคิดขึ้นมาแล้วว่า มีอ่อน มีแข็งเกิดพร้อมๆ กัน ก็ต้องรู้สภาพคิดนั้น ถ้าพยายามรู้อย่างหนึ่งอย่างใด เฉพาะแข็งหรือเฉพาะอ่อน หรือว่าต้องการแยกแข็งออกจากอ่อน รู้สึกว่าขณะนั้นสติไม่เกิด เพราะจุดประสงค์ของสติ ไม่ใช่ว่าในขณะนี้ต้องการแยกเย็นออกจากแข็ง
ถ. ผมก็ไม่ได้คิดจะแยก แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าอย่างไหนมีลักษณะที่เด่น หรือว่าแรง สมมติว่าเราเอามือจับที่โต๊ะ แล้วโต๊ะนั้นเย็นมาก เราก็จะรู้สึกในเรื่องเย็นมากกว่าเรื่องแข็ง อย่างนั้นใช่ไหม
ธัม. รู้แค่เย็น ไม่ต้องสนใจว่าเด่น หรือไม่เด่น
ถ. ถ้าหากว่าสภาพเย็นนั้นปรากฏ ก็พิจารณาความรู้สึกอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป ว่ามันเย็นใช่ไหม หรือว่าอย่างไร
ธัม. อีกทีโยม
ถ. ขณะที่สติเกิด มือสัมผัสกับโต๊ะว่าเย็น ก็ให้พิจารณาความเย็นอย่างนั้นต่อไป
ธัม. ต่อไปจะได้อย่างไร เพราะว่าดับไปแล้ว จะให้รู้สึกเฉพาะเย็น หรือว่าเฉพาะความรู้สึกเย็นต่อไป ก็แล้วแต่ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น เพราะว่าขณะนี้เย็นปรากฏ ขณะต่อไปเย็นจะปรากฏหรือไม่ ใครบอกได้ ต่อมารู้สึกร้อนอาจจะปรากฏ หรือว่าเสียงปรากฏ หรือว่าสีปรากฏ หรือว่านึกคิดเกิดขึ้นว่า อ้อ นี่เป็นเย็น แล้วนึกคิดเกิดขึ้น แล้วแต่ ไม่มีการให้พิจารณาอย่างนี้ หรือว่าพิจารณาอย่างนั้น เพราะว่าพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ถ้าจะให้พิจารณาแบบหนึ่ง แบบใดก็ให้พิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ถ้าพิจารณาสิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่ต้องรู้ว่าจะต้องพิจารณาอะไรต่อไป เพราะต่อไปจะต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่อย่างอื่น
ถ. ก็ไม่ได้คิดจะพิจารณาต่อไป แต่ว่าเย็นปรากฏที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็รู้สึกว่า จะพิจารณาเฉพาะเย็นเท่านั้น แต่ว่าผมก็ยังไม่ทราบว่า มันเกิดความรู้อะไรขึ้นมา ยังไม่ทราบว่าปัญญาอะไรเกิดขึ้นมาจากการพิจารณาอันนั้นว่า สภาพเย็นหรือสภาพรู้ว่าเย็น แต่เราก็แยกไม่ออกว่า เรารู้ว่าเย็นกับเย็น ทั้งๆ ที่มันก็มีของจริง แต่เราก็ไม่สามารถแยกออกได้
ธัม. แต่ถ้าในขณะนั้นต้องการคิดถึงว่า เป็นเย็น หรือเป็นสภาพรู้เย็น ก็เลยลักษณะที่ปรากฏอีกแล้ว
ถ. แต่ก่อนนั้นก็เคยท่องว่า ถ้าเย็น เราก็มักจะท่อง เมื่อศึกษาใหม่ๆ มักจะท่องว่าเย็นเป็นรูป และความรู้สึกเย็นเป็นนาม แต่ระยะหลังนี้ เราก็รู้สึกว่าที่ท่องนั้น ขณะที่ท่องก็ลืมพิจารณาสภาพที่เกิดขึ้นที่มือ ถูกไหม ขณะที่เราท่องว่า นี่เป็นรูป นั่นเป็นนาม แสดงว่าขณะนั้นเราลืมพิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้น
ธัม. ขณะที่ท่อง ไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะที่ปรากฏ แต่มีโอกาสที่จะรู้สภาพที่ท่องนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ต้องรู้
ถ. เพราะฉะนั้น ตอนหลังนี้ ผมก็เลยไม่ท่อง ก็เลยรู้สึกว่า รู้ว่าไม่ใช่พิจารณา อย่างนี้ก็ไม่ท่องว่าเป็นรูป หรือเป็นนาม เราพิจารณาเฉยๆ ก็เหมือนกับเราไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ผมก็ยังแปลกใจ แสดงว่าไม่ได้พิจารณาอะไรเลย มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ธัม. ก็แล้วแต่ บางทีเป็นโมหะได้ ตัวเองก็ต้องค่อยๆ รู้ลักษณะของโมหะที่เกิดขึ้นด้วย เพราะทุกคนรู้เย็นปรากฏ แต่ไม่ได้รู้เย็น เย็นที่เป็นรูปธรรม แต่รู้เย็นที่เป็นแก้ว รู้เย็นที่เป็นน้ำแข็ง รู้เย็นที่ว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีตัวตนอยู่ บางทีอาจจะรู้เย็นที่มีอยู่ที่นี่ ยังเป็นเย็นที่อยู่ในบริเวณนี้ คือยังเป็นสถานที่ก็ได้ ยังเป็นที่นี่ที่เย็น ก็ยังไม่รู้ตรงลักษณะ ถ้าคิดว่าที่นี่มีของเย็น ที่นี่เย็น เพราะขณะที่เย็นปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ที่นี่หรือที่โน่น ไม่รู้ที่ เพราะว่ารู้ลักษณะของเย็น ซึ่งไม่ใช่ที่ ถ้าจะรู้ว่าที่ไหน ที่โน่น ก็คิด ไม่ใช่สติที่รู้แค่เย็น ตัวเองก็ต้องรู้ว่า ขณะที่เกิดสติรู้เย็น มีแต่สติหรือว่าหลังจากสติดับไปแล้ว ไม่มีอย่างอื่นบ้างไหม บางทีไม่มีโลภะ หรือไม่มีโมหะ หรือก็แล้วแต่ อย่างอื่นๆ ที่พิจารณาเย็น แต่ไม่ใช่ปัญญา บางทีต้องการรู้เย็นนานๆ นั่นก็อาจจะเรียกว่าพิจารณาได้ แต่ไม่ใช่ปัญญาพิจารณา คือ คิดถึงเย็นด้วยจิตประเภทอื่นๆ ที่ไม่เป็นกุศลจิตก็ได้ แล้วแต่ ตัวเองก็ต้องรู้ตัวเอง คนอื่นบอกไม่ได้ว่า ต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น มีหลายอย่างเกิดขึ้น ใกล้ชิดกัน รู้ยาก แต่เมื่อรู้เย็น ไม่ใช่รูปธรรมอย่างอื่นๆ แล้วก็ไม่ใช่สภาพรู้เย็น แค่เย็นอย่างเดียว อยากจะบอกว่า เป็นลักษณะของสติได้ แต่เข้าใจผิดได้ง่าย
ถ. มีท่านมีความสงสัยอยากจะถามว่า รูปอ่อนกับรูปแข็ง บางครั้งไม่ปรากฏลักษณะชัดเจน จะว่าอ่อนก็ไม่ใช่ จะแข็งก็ยังไม่ชัด เช่น ที่นอนที่บรรจุนุ่นไว้แน่นๆ แต่ไม่อ่อนมาก บางครั้งก็เหมือนว่าแข็ง แต่ว่าก็ยังอ่อนกว่ากระดาน แล้วจะพิจารณาว่าอ่อนหรือแข็งดี
ธัม. ปัญหาอยู่ที่ว่า ถ้าคนอื่นถามว่า แข็งหรืออ่อน ก็ไม่รู้ว่าจะตอบว่าอย่างไร แข็งก็ไม่ใช่ อ่อนก็ไม่ใช่ ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าอยากจะเรียกชื่อ อยากจะแบ่งให้เป็นแข็งแน่นอน หรืออ่อนแน่นอน ไม่ต้องแบ่ง และไม่ต้องใส่ชื่อที่ถูกต้อง เพราะแข็งหรืออ่อนก็เป็นธาตุดินเหมือนกัน ธาตุดินไม่ใช่เรา ถ้าพยายามนึกออกว่าแข็งหรืออ่อนแน่ ก็ไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ใส่ใจในลักษณะในขณะนั้น แต่ต้องการเป็น ๑ ใน ๒ ต้องการตัดสินว่า จะเรียกว่าอย่างไร อะไรดี อะไรถูก แข็งน้อยหรือว่าอ่อนมาก อ่อนน้อยหรือแข็งมาก ไม่รู้จะเรียกอย่างไรถูก นั่นไม่ใช่ขณะที่เจริญสติปัฏฐาน ผู้เจริญสติปัฏฐานไม่สนใจที่จะบอกได้ถูกว่า อ่อนแน่หรือแข็งแน่ ไม่สำคัญ
ถ. สภาพตึงไม่ค่อยปรากฏ ยกตัวอย่างสภาพเคร่งตึง
ธัม. ยกขึ้นมาแสดงอย่างไร ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่อ่อน แต่ปรากฏทางกาย ยังไม่ปรากฏ ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ใช่เย็นร้อน ไม่ใช่อ่อนแข็ง แล้วปรากฏทางกาย คือไม่ใช่ทางตา ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางจมูก ไม่ใช่ทางหู แล้วจะเป็นอะไร คิดว่าพอแล้ว คิดว่าคงจะใกล้เวลา
สุ. ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เมตตาอนุเคราะห์แสดงธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในวันนี้ เจ้าค่ะ