คารวะ 6

 
Lertchai
วันที่  3 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28396
อ่าน  40,469

คารวตา หรือ คารวะ ๖ เช่น ไม่ใส่รองเท้า ไม่สวมหมวกหรือกางร่ม เวลาเข้าโบสถ์หรือวิหาร มีอะไรบ้างครับ ขอความกรุณาด้วย

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรม

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ถอดเทปโดย คุณสงวน สุจริตกุล

สำหรับเรื่อง "คารวะ ๖"ท่านผู้ฟัง จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของการ "ปฏิบัติ" ทั้งสิ้น

๑. การเคารพ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็ไปสู่ที่บำรุง เมื่อพระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็ไปสู่ที่ เจติยสถาน โพธิสถาน ไหว้พระเจดีย์ หรือ ต้นโพธิ์ เป็นต้น นี่คือ "การปฏิบัติ" เป็นการกระทำ ความเคารพ ในพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.

๒. การเคารพ ในพระธรรม เช่น ผู้ที่สามารถไปฟังพระธรรมได้แต่ไม่ไปสู่ที่ฟังพระธรรมหรือ ฟังพระธรรมอยู่ แต่มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่เอื้อเฟื้อ...นั่งอยู่พึงทราบว่า ผู้นั้น ไม่มีความเคารพ ในพระธรรม ถ้าเคารพจริง ย่อมกล่าว ธรรมกถา แล้วก็ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะฟังพระธรรม คือ ฟังพระธรรม ด้วยความเคารพนี่เป็นการเคารพ ในพระธรรม

๓. การเคารพ ในพระสงฆ์ เช่น คฤหัสถ์ ขณะที่ไม่มีความยำเกรงในพระเถระ ในพระภิกษุใหม่ ในพระภิกษุผู้ปานกลางมีการคะนองกาย ในที่ทั้งหลาย มีโรงอุโบสถ เป็นต้น สำหรับพระภิกษุ ได้แก่ พระภิกษุ ที่ไม่ไหว้ ตามลำดับผู้แก่ (อาวุโส) ก็ทราบได้ว่า ผู้นั้น ไม่มีความเคารพในสงฆ์

๔. การเคารพ ในสิกขา (ศึกษา) มีข้อความว่าฝ่ายผู้ใดไม่สมาทาน ศึกษาในไตรสิกขา เสียเลยพึงทราบว่า ผู้นั้น ไม่เคารพในสิกขาคือ ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นคุณค่า ไม่เคารพเพราะเห็นว่า ไม่ควรที่จะต้องศึกษา จึงไม่ศึกษา การไม่เคารพในสิกขา.คือ การไม่เคารพใน "การเจริญสติปัฏฐาน" เพราะไม่เห็นคุณ ไม่เห็นประโยชน์ แต่สำหรับ"ผู้ที่มีความเคารพ ในไตรสิกขา" (ศีล สมาธิ ปัญญา) ก็คือ เห็นคุณ เห็นประโยชน์ แล้วศึกษา (ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ) ด้วยความเคารพ

๕. การเคารพ ในความไม่ประมาท สำหรับผู้ที่ "ไม่เคารพ" ในความ "ไม่ประมาท"คือ"ผู้ที่อยู่ ปราศจากสติ" ไม่พอกพูน "ลักษณะแห่งความไม่ประมาท" แสดงว่าไม่มีความเคารพใน "ความไม่ประมาท"เพราะฉะนั้นความเคารพทั้งหมด เป็น การปฏิบัติ.ถ้าเคารพใน ความไม่ประมาทคือ "สติ" ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง เป็นการพอกพูนแห่ง ลักษณะของความไม่ประมาทเพราะ "เห็นประโยชน์"จึงเคารพใน "ความไม่ประมาท"

๖. การเคารพ ในการปฏิสันถาร การปฏิสันถาร มีสองประการ ได้แก่อามิสปฏิสันถาร กับ ธัมมปฏิสันถาร ถ้าบุคคลนั้น เห็นคุณ เห็นประโยชน์ในการปฏิสันถาร ทั้งสองประการ คือ การต้อนรับด้วยอามิส ด้วยวัตถุสิ่งของ ซึ่งจะเป็นที่สบายใจ สะดวกใจ แก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่ "ปฏิบัติ" คือ ให้อามิสปฏิสันถารเพราะเป็นผู้เคารพ ในอามิสปฏิสันถาร สำหรับ ธัมมปฏิสันถารก็คือการเป็นผู้เคารพ ในธัมมปฏิสันถาร เพราะว่า เห็นคุณค่าของพระธรรม และคิดว่าสิ่งที่ควร ที่จะให้แก่ผู้อื่นที่สุด คือ พระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อพบปะบุคคลใด ก็มีธัมมปฏิสันถารเพราะว่า เป็นผู้ที่มีความเคารพ ในธัมมปฏิสันถา

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ว่า เรื่องของการเคารพเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ ทั้งสิ้น

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าเรื่อง "การละคลายกิเลส" เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าตราบใดที่"สติ" ไม่ระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ ย่อมไม่สามารถ ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันมีจิต ที่เป็น กุศลบ้าง อกุศลบ้างเช่น ในขณะที่จิตอ่อนโยนมีความนอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อมในขณะนั้น เป็น กุศลจิต และ ถ้า "สติ" เกิด ระลึก รู้ ในขณะนั้นๆ ก็คือ "จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Lertchai
วันที่ 3 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 3 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นเรื่องของกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป ทำในสิ่งที่เหมาะควร ทำให้เป็นผู้มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา (การศึกษา) ในความไม่ประมาท และ ในการต้อนรับ เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็นอกุศล แล้ว ความประพฤติที่ดีงามใดๆ เกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่ที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะควร ได้ ก็ด้วยกุศลธรรม เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระธรรมทุกส่วนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมทั้งหลายอย่างแท้จริง ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 4 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 5 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ