ภิกษุให้การประหารแก่ภิกษุ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

 
khampan.a
วันที่  11 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28420
อ่าน  2,261

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๗๖๓

สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๔

เรื่องพระฉัพพัคคีย์

[๖๙๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่พระสัตตรสวัคคีย์ พระสัตตรสวัคคีย์ร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านร้องไห้ทำไม พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พระฉัพพัคคีย์เหล่านี้โกรธน้อยใจ ให้ประหารแก่พวกผม

บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุทั้งหลายเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข่าวว่า พวกเธอโกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุทั้งหลายจริงหรือ
พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุทั้งหลายเล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้ :-

พระบัญญัติ

๑๒๓.๔. อนึ่ง ภิกษุใด โกรธ น้อยใจ ให้ประหารแก่ภิกษุเป็นปาจิตตีย์

เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ

สิกขาบทวิภังค์

[๖๙๖] บทว่า อนึ่งใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด

บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
บทว่า แก่ภิกษุ คือแก่ภิกษุอื่น

คำว่า โกรธ น้อยใจ คือไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ

คำว่า ให้ประหาร ความว่า ให้ประหารด้วยกายก็ดี ด้วยของเนื่องด้วยกายก็ดี ด้วยของที่โยนไปก็ดี โดยที่สุด แม้ด้วยกลีบอุบล ต้องอาบัติปาจิตตีย์

บทภาชนีย์ติกปาจิตตีย์

[๖๙๗] อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ ให้ประหาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อุปสัมบัน ภิกษุมีความสงสัย โกรธ น้อยใจ ให้ประหาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์

อุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน โกรธ น้อยใจ ให้ประหาร ต้องอาบัติปาจิตตีย์

จตุกทุกกฏ

ภิกษุโกรธ น้อยใจ ให้ประหาร แก่อนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนุปสัมบัน ภิกษุสงสัย ต้องอาบัติทุกกฏ

อนุปสัมบัน ภิกษุสำคัญว่าอนุปสัมบัน ต้องอาบัติทุกกฏ

อนาปัตติวาร

[๖๙๘] ภิกษุถูกใครๆ เบียดเบียน ประสงค์จะป้องกันตัว ให้ประหาร ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล

สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ

ปหารสิกขาบทที่ ๔

วินิจฉัย ในสิกขาบทที่ พึงทราบดังนี้ :-

ว่าด้วยการให้ประหารด้วยฝ่ามือ

สองบทว่า ปหารํ เทนฺติ มีความว่า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ กล่าวคำเป็นต้นว่า ผู้มีอายุ พวกท่านจงตั้งตั่งเล็ก จงตักน้ำล้างเท้ามาไว้ แล้วให้ประหาร (แก่ภิกษุพวกสัตตรสวัคคีย์) ผู้ไม่กระทำตาม

ในคำว่า ปหารํ เทติ อาปตฺติ ปาจิตฺติยสฺส นี้ มีวินิจฉัยว่า เมื่อภิกษุให้ประหารด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะประหาร ถ้าแม้นผู้ถูกประหารตาย ก็เป็นเพียงปาจิตตีย์ เพราะการประหาร (นั้น) มือหรือเท้าหัก หรือศีรษะแตก ก็เป็นปาจิตตีย์เท่านั้น ตัดหูหรือตัดจมูกด้วยความประสงค์จะทำให้เสียโฉม อย่างนี้ว่า เราจะทำเธอให้หมดสง่าในท่ามกลางสงฆ์ ก็เป็นทุกกฏ

บทว่า อนุปสมฺปนฺนสฺส มีความว่า ภิกษุให้ประหารแก่คฤหัสถ์หรือบรรพชิต แก่สตรีหรือบุรุษโดยที่สุด แม้แก่สัตว์ดิรัจฉาน เป็นทุกกฏ แต่ถ้าว่ามีจิตกำหนัดประหารหญิง เป็นสังฆาทิเสส

สองบทว่า เกนจิ วิเหฐิยมาโน ได้แก่ ถูกมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานเบียดเบียนอยู่

บทว่า โมกฺขาธิปฺปาโย คือปรารถนาความพ้นแก่ตนเองจากมนุษย์ เป็นต้นนั้น

สองบทว่า ปหารํ เทติ มีความว่า ภิกษุให้ประหารด้วยกาย ของเนื่องด้วยกาย และของที่ขว้างไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เป็นอาบัติ ถ้าแม้นภิกษุเห็นโจรก็ดี ข้าศึกก็ดีมุ่งจะเบียดเบียนในระหว่างทางกล่าวว่า แน่ะอุบาสก เธอจงหยุดอยู่ในที่นั้นนั่นแหละ อย่าเข้ามา แล้วประหารผู้ไม่เชื่อฟังคำกำลังเดินเข้ามาด้วยไม้ค้อนหรือด้วยศัสตราพร้อมกับพูดว่า ไปโว้ย แล้วไปเสีย ถ้าเขาตายเพราะการประหารนั้น ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน แม้ในพวกเนื้อร้าย ก็นัยนี้เหมือนกัน คำที่เหลือในสิกขาบทนี้ ตื้นทั้งนั้น ก็สมุฏฐาน เป็นต้น ของสิกขาบทนั้นเป็นเช่นเดียวกับปฐมปาราชิก แต่สิกขาบทนี้เป็นทุกขเวทนา ดังนี้แล

ปหารสิกขาบทที่ ๔ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Lertchai
วันที่ 19 ธ.ค. 2559

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ