พระรับเงินและทอง

 
มานพ
วันที่  21 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28458
อ่าน  5,757

กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพครับ

พระวินัยห้ามภิกษุรับเงินและทอง แต่ชาวบ้านถวายเงินและทอง ไม่ว่าจะถวายให้กับวัดหรือเฉพาะภิกษุ ถ้าภิกษุรับ ในขณะรับยังไม่ได้นำไปใช้นะครับ ขณะนั้นเป็นอาบัติปาจิตตี ใช่หรือไม่ครับ เพราะเงินและทองนั้นภิกษุรับไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นเงินและทองนี้จะเป็นของภิกษุไม่ได้เลยแม้เขาจะถวายให้เฉพาะภิกษุก็ตาม เพราะฉะนั้นจะถือว่าเป็นของตนไม่ได้เลย (เพราะฉะนั้นพระภิกษุสงฆ์จึงต่างจากคฤหัสถ์มากราวฟ้ากับดินเพราะคฤหัสถ์รับเงินและทองได้ไม่ผิด) เพราะฉะนั้นถ้าภิกษุนำสิ่งของที่ไม่ใช่ของตน (เพราะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้) นั้นไปใช้ ถือว่าเป็นการยักยอกได้หรือไม่ และจะ ปาราชิก ได้หรือไม่ครับ

เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น และเพื่อสหายธรรมท่านอื่นได้ศึกษาด้วยครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

@ เงิน ทอง ย่อมสมควรกับเพศคฤหัสถ์ ไม่สมควรกับเพศบรรพชิต เพราะ บรรพชิตหมายถึง การเว้นทั่ว เว้นทั่ว จากการกระทำดั่งเช่น คฤหัสถ์ ที่เคยทำมา ไม่ว่า การจะใช้เงิน และทอง การประกอบกิจการงาน ดั่งเช่น คฤหัสถ์ และเว้นทั่ว ซึ่งการกระทำ ที่ไม่ดีทางกาย วาจาและใจ อันมีพระวินัยบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นข้อกำหนดให้รักษา และ เว้นทั่วจากกิเลสโดยประการทั้งปวง อันเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พระก็ไม่สามารถที่จะรับเงิน และทอง และใช้เงินทองได้ เพราะ ไม่เช่นนั้น พระภิกษุ ก็ไม่ต่างจากเพศคฤหัสถ์ ที่มีการใช้เงิน และทอง และเงินและทองเหล่านั้น ก็มีการสะสม นำมาซึ่งความยินดี นำมาซึ่งการเพิ่มกิเลสอาสวะต่างๆ ได้ โดยไม่รู้ตัวเลย ครับ

สำคัญที่สุด ถ้าเราพิจารณาเป็นเรื่องราว ว่าสิ่งนี้ควรกับสมัยนี้ สิ่งนี้ไม่ควร แต่เมื่อเราพิจารณาที่จิต สภาพจิตแล้วก็จะตรง คือ อกุศล การยินดี เงินทองของพระภิกษุ เป็นอกุศล อกุศลไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยุคสมัยไหนเลย ไม่ว่าจะสมัยพุทธกาล สมัยปัจจุบัน และ ในอนาคตกาล อกุศลย่อมไม่สมควรในยุคสมัยไหนเลยครับ การรับเงินและทองและยินดีเงินทอง ก็เป็นอกุศลธรรม และเงินและทอง เป็นสิ่งที่ผู้ครองเรือนใช้กัน ต่างจากพระภิกษุผู้สละอาคารบ้านเรือนแล้ว ไม่สะสมอะไรทั้งสิ้น ครับ

ดังนั้น หากว่า ภิกษุ รับเงินและทอง ยินดีในเงินและทอง ที่บุคคลอื่นถวายเฉพาะตน ไม่ได้ถวายเป็นส่วนกลาง หรือ มอบให้วัด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะ คำว่า ยักยอก มุ่งหมายถึง ของที่เป็นของของคนอื่น เช่น ส่วนกลางของวัด เพราะฉะนั้น หากภิกษุ ยักยอก นำของที่เขาถวายกับวัดในราคา มูลค่าเกิน ๕ มาสก ต้องอาบัติปาราชิก ดั่งเช่น นายไชยบูลย์หรือธัมมชัยโย ยักยอกเงินส่อนกลางของวัดนำมาเป็นของตน ตามที่มีคดีความกันอยู่ จึงต้องอาบัติปาราชิก ครับ

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ ๔๑๕ -๔๓๒

๕. สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา

ข้าพเจ้าละสมบัติไม่ใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้ในพระสัทธรรม ที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศดีแล้ว ข้อที่ละทิ้งเงินทองเสียแล้ว กลับมายึดเงินทองนั้นอีก ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าปรารถนาแต่ความไม่กังวลห่วงใย ผู้ใดละทิ้งเงินทองแล้วกลับมายึดเงินทองนั้นไว้อีก ผู้นั้นจะโงหัวขึ้นมาได้อย่างไร ในระหว่างบัณฑิตทั้งหลาย เงินและทองไม่มีเพื่อสันติความสงบสำหรับผู้นั้น เงินทอง นั้นก็ไม่สมควรแก่สมณะ เงินทองนั้น ก็มิใช่อริยทรัพย์.


[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 219

อรรถกถากุมาปุตตเถรคาถา

ก็คุณคือเครื่องหมายแห่งความเป็นสมณะนี้นั้น ย่อมเกิดมีแก่ภิกษุเช่นใด เพื่อ จะแสดงภิกษุเช่นนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อกิญฺจนสฺส (ผู้ไม่มีกังวล) ดังนี้ ได้แก่ ผู้ไม่เข้าไปยึดถือเกี่ยวข้อง อธิบายว่า เว้นจากการถือครอบครองสมบัติมี นา สวน เงิน ทอง ทาสี และทาส เป็นต้น


[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 371

สมณะเหล่านั้น ไม่รับเงิน ไม่รับทอง ไม่รับรูปิยะ ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก


เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

เหตุใดจึงมีพระวินัยบัญญัติไม่ให้พระรับเงินทอง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 3] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค-ทุติยภาค เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๙๔๐

พระบัญญัติ

ภิกษุใด รับ ก็ดี ให้รับ ก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.


พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ไม่รับเงินและทอง รับเงินและทองไม่ได้ เป็นผู้ปราศจากเงินและทองอย่างสิ้นเชิง เพราะท่านเหล่านั้น ต้องสละทรัพย์สินเงินทองก่อนบวชแล้ว ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงรับเงินและทองไม่ได้ เงินทองไม่ควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง ไม่มีพระพุทธดำรัสแม้แต่คำเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสให้พระภิกษุรับเงินและทองหรือไปแสวงหาเงินและทอง ตามข้อความจาก

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๒

มณิจูฬกสูตร

“ทองและเงินไม่ควรแก่สมณศากยบุตร สมณศากยบุตรย่อมไม่ยินดีทองและเงิน สมณศากยบุตร ห้ามแก้วและทอง ปราศจากทองและเงิน ... เรามิได้กล่าวว่า สมณศากยบุตรพึงยินดี พึงแสวงหาทองและเงินโดยปริยายอะไรเลย”

พระภิกษุ คือ เพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสเป็นอย่างยิ่ง เป็นผู้เว้นโดยทั่ว ได้แก่ เว้นจากกิเลส เว้นจากความติดข้องยินดีพอใจในกาม จะเห็นได้ว่าผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น ต้องสละทุกสิ่งทุกอย่าง คือ สละอาคารบ้านเรือน สละทรัพย์สมบัติ สละวงศาคณาญาติ บวชเป็นบรรพชิตเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองจริงๆ ท่านสละอาคารบ้านเรือนแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีเรือน รวมถึงสละทรัพย์สมบัติทั้งปวงด้วยไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น เมื่อสละสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ควรรับสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตโดยประการทั้งปวง

ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ที่จะบวชจะต้องเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ รู้จักตนเองและพิจารณาตนเองโดยละเอียดว่า สามารถที่จะดำรงเพศที่มีคุณธรรมสูงกว่าคฤหัสถ์ได้หรือไม่? เพศบรรพชิตเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์เป็นอย่างยิ่งที่สูงกว่านั้น สูงเพราะคุณธรรม เนื่องจากว่าผู้ที่เป็นบรรพชิต จะต้องมีความมั่นคงที่จะสละกิเลสทุกอย่างทุกประการ มากกว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ พร้อมกันนั้นก็จะต้องเป็นผู้มีความอดทน มีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้อง น้อมประพฤติในส่วนที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต และงดเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามโดยประการทั้งปวง นี้คือชีวิตที่แท้จริงของบรรพชิต ซึ่งมีความแตกต่างจากคฤหัสถ์ ถ้าบรรพชิตใดมีความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคฤหัสถ์ ยังต้องการทรัพย์สมบัติ ยังมีจิตใจเหมือนคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือนทุกประการ นั่นก็ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่มีอัธยาศัยที่จะเป็นบรรพชิตที่แท้จริงถ้าต้องการทรัพย์สินเงินทอง อยากมีทรัพย์สินเงินทอง ก็ไม่ต้องบวช เพราะผู้ที่เป็นพระภิกษุจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ จึงควรแก่การครองผ้ากาสาวพัสตร์ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มานพ
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Lertchai
วันที่ 21 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tommy9
วันที่ 22 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
alex
วันที่ 26 ธ.ค. 2559

อยากไห้มองด้วย เมตตาธรรม มองไปในทางเพื่อเกิดปัญญา การรับเงินทองนี้มีมาแต่สมัยพระพุทธกาลแล้ว หมายความว่ามีมาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนา การจะมองว่าถูกผิดเรื่องรับเงินนี้ควรมองที่ เจตนา ทั้งเจตนาของผู้ไห้และของผู้รับ จึงจะพิจารณาได้ เหมาะสมที่สุด เหตุไดจึงบอกว่ามีมาพร้อมกับศาสนาพุทธ ก็เพราะในอดีตการเดินทางออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ล้วนออกไปยังต่างแดน บ้างก็ต้องเดินทางด้วยพาหนะต่างๆ มิใช่เฉพาะการเดินทางด้วยเท้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเรื่องการเดินทางนี้ ก้มีทั้งผู้ศรัทธาและไม่ศรัทธา ก็ย่อมได้รับเงินและใช้เงินในการเดินทาง แม้ในสมัยนี้ ก็มีทั้งการเดินทางไปศึกษาธรรมะยังต่างประเทศ ก็ต้องมีทั้งค่าเดินทาง สมุดหนังสือ สิ่งเหล่าล้วนต้องใช้เงิน กลับมามองพระพุทธศาสนาเอง พระสงฆ์ก็ยังต้องใช้เงินเพื่อ บำรุงวัด บำรุงศาสนา ถ้ารถก็ต้องมีคนขับ รถก้อต้องเติมน้ำมัน นี้ก็ยังต้องใช้เงินอีก ดังนั้นจึงอยากไห้มองด้วยเมตตาธรรม มองว่า เจตนาที่เก็บที่ใช้เพื่ออะไร ถ้าเพื่อเป็นเป็นเพื่อประโยชน์เพื่อศาสนา เพื่อส่วนรวม อันควรเห็นด้วยปัญญา อย่ามองว่าพระรับเงินนั้นชั่วไปหมด เพราะเมื่อมองอย่างนี้ไม่ได้ประโยชน์ ทำไห้จิตใจเราตกต่ำ หากมีพระที่ชั่วบ้างก็มองว่าคนเหล่านั้นมิใช่พระในพุทธศาสนา เป็นเพียงโจรในคราบผ้าเหลืองเท่านั้น ไม่ควรเอามาเก็บไว้ในใจให้เป็นทุกข์ไม่สบายใจ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
khampan.a
วันที่ 27 ธ.ค. 2559

เรียน ความคิดเห็นที่ 7 ครับ

ไม่ว่าภิกษุในครั้งพุทธกาล มีชีวิตในเพศบรรพชิตอย่างไรตามพระธรรมวินัย ภิกษุทุกยุคสมัยต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย พระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลในการขัดเกลาละคลายกิเลส พระองค์ทรงบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า พระภิกษุรับเงินทอง ไม่ได้ จะรับเพื่อตนเอง หรือ รับเพื่อบุคคลอื่น เพื่อสิ่งอื่น ก็ไม่ได้ เป็นอาบัติทั้งหมด เพราะเหตุว่า เงินทอง ไม่ควรแก่เพศบรรพชิต โดยประการทั้งปวง การกระทำใดๆ ที่ผิด จะบอกว่า ถูก ไม่ได้ เพราะความจริง ต้องเป็นความจริง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การบวช เป็นเพศบรรพชิต เป็นเรื่องของอัธยาศัยของแต่ละบุคคล แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่า ทุกคนต้องบวช เพราะบังคับไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเห็นว่า ตนเอง ยังต้องใช้เงิน ยังต้องการเงินในการดำรงชีวิต ก็เป็นคฤหัสถ์ ไม่ต้องบวช เพราะถ้าบวชเป็นพระภิกษุแล้วต้องศึกษาพระธรรมและน้อมประพฤติตามพระวินัย เนื่องจากว่า เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สะสมความดีประการต่างๆ ได้ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ต.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ