ธรรมกถิกสูตร .. คุณธรรมของพระธรรมกถึก
[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 76
๖. ธรรมกถิกสูตร
ว่าด้วยคุณธรรมของพระธรรมกถึก
[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าธรรมกถึก.
[๔๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน.
ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ... ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขาร ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก.
ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน..
จบธรรมกถิกสูตรที่ ๖
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 405
ข้อความบางตอนจาก ...
อรรถกถาสามัญญผลสูตร
เพราะฉะนั้น ธรรมกถึกแม้อื่น เมื่อแสดงธรรม พึงแสดงศีลในเบื้องต้น แสดงมรรคในท่ามกลาง และแสดงนิพพานในที่สุด นี้เป็นหลักของธรรมกถึก.
บทว่า สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ ความว่า ก็ผู้ใดมีเทศนาเกี่ยวด้วยการพรรณนาถึงข้าวยาคูและภัตร หญิงและชายเป็นต้น ผู้นั้นชื่อว่าแสดงเทศนาพร้อมทั้งอรรถก็หาไม่ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงละการแสดงอย่างนั้น ทรงแสดงเทศนาเกี่ยวด้วยสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทรงแสดงพร้อมทั้งอรรถ ดังนี้.
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์