การบวช เรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ม.ค. 2560
หมายเลข  28509
อ่าน  18,283

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การบวช : เรื่องที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์

โดย คุณจักรกฤษณ์ เจนเจษฎา

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๗๓

เข้าใจผิด

๑. การบวชเป็นประเพณีนิยมที่สังคมยกย่องมาแต่โบราณ

เข้าใจถูก

๑. ในสมัยพุทธกาล การบวชไม่ใช่ประเพณีนิยม แต่บวชเนื่องจากผู้บวชมีความเข้าใจพระธรรมอยู่แล้วและมีอัธยาศัยที่แน่วแน่ในการสละความเป็นอยู่อย่างคฤหัสถ์ แล้วประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัดเพื่อการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งในเพศบรรพชิต เป็นการบวชตามอัธยาศัย ไม่ใช่ตามอำเภอใจ ตามประเพณีนิยม หรือตามเทศกาลนิยม เพราะนั้นเป็นเรื่องของพิธีกรรมที่สำเร็จเมื่อเสร็จสิ้นพิธี แต่สิ่งที่สำคัญคือการถือครองเพศบรรพชิต เพราะการเป็นภิกษุมิได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ที่พระธรรมวินัย



เข้าใจผิด

๒. การบวชเป็นการปฏิบัติกิจของลูกผู้ชาย

เข้าใจถูก

๒. การบวชเป็นการสละเพศคฤหัสถ์เพื่อการขัดเกลากิเลส ไม่เกี่ยวกับเพศชายหรือหญิง ในสมัยก่อนเมื่อยังมีภิกษุณี ก็ไม่มีการกล่าวเลยว่าการบวชภิกษุณีเป็นการปฏิบัติกิจของลูกผู้หญิง



เข้าใจผิด

๓. บวชเป็นการได้ทำความดีได้เจริญกุศลอย่างสูงกว่าคฤหัสถ์

เข้าใจถูก

๓. ความดีหรือกุศลในพระพุทธศาสนาขึ้นอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเพศ หรือขึ้นอยู่กับรูปแบบพิธีกรรม ดังนั้น แม้จะเป็นคฤหัสถ์แต่มีปัญญาที่เข้าใจพระธรรมได้ถูกต้องก็สามารถทำความดีและเจริญกุศลได้สูงยิ่งถึงในระดับพระอริยบุคคลในเพศฆราวาสก็ยังมี เช่น นางวิสาขามิคารมาตา อนาถบิณฑิกเศรษฐี หมอชีวกโกมารภัจจ์ พระเจ้าพิมพิสาร เป็นต้น ล้วนเป็นพระอริยะที่ต่างทำความดีด้วยคุณธรรมที่สูงยิ่งในเพศฆราวาสทั้งสิ้น


เข้าใจผิด

๔. บวชเพื่อใกล้ชิดพระธรรมวินัย ได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติพระธรรม

เข้าใจถูก

๔. แม้อยู่ในเพศคฤหัสถ์ก็ใกล้ชิดพระธรรมวินัยได้ จากการศึกษาและการฟังพระธรรมคำสอนที่เผยแพร่อยู่แล้วโดยทั่วไป ไม่จำต้องรอบวชเพื่อให้ได้ใกล้ชิดพระศาสนา แต่การรอบวชเพื่อจะได้ใกล้ชิดพระศาสนากลับจะเป็นการปิดกั้นการศึกษาพระธรรมวินัยที่สามารถศึกษาหาความรู้ได้ในทันที ในขณะที่การให้บวชเพื่อจะได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา เป็นการชักจูงโดยรูปแบบ ไม่ใช่การชักจูงโดยการให้ความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่แรกถึงประโยชน์ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์



เข้าใจผิด

๕. การบวชทำให้มีเวลาทุ่มเทในการศึกษาและปฏิบัติธรรม

เข้าใจถูก

๕. การบวชสำหรับผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัยดีแล้ว ย่อมสละชีวิตคฤหัสถ์เพื่อศึกษาและอบรมเจริญปัญญาเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง แต่สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้และไม่มีอัธยาศัยสละชีวิตคฤหัสถ์ แม้จะมีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม แต่ไม่สามารถดำรงตนในเพศภิกษุได้อย่างเหมาะสม และไม่มีอุปนิสัยผูกพันในการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ย่อมทำให้ละเมิดพระวินัย กลับกลายเป็นโทษเสียมากกว่า


เข้าใจผิด

๖. บวชเพื่อสืบอายุพระศาสนา

เข้าใจถูก

๖. การสืบทอดพระศาสนาขึ้นอยู่กับการที่พุทธบริษัทสี่พร้อมเพรียงกันศึกษาพระธรรมด้วยความเคารพ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งในสัจธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับจำนวนของผู้ที่บวชเป็นภิกษุ แต่หากบวชกันมากๆ แต่ต่างไม่สามารถดำรงเพศบรรพชิตตามพระธรรมวินัยแล้ว แทนที่จะเป็นการสืบทอดพระศาสนา กลับเป็นการทำลายพระศาสนาเสียมากกว่า

เข้าใจผิด

๗. บวชเพื่อทำให้บิดามารดาญาติมิตรปลาบปลื้มที่บุตรได้แสวงหาอริยทรัพย์

เข้าใจถูก

๗. บิดามารดาญาติมิตรย่อมปลาบปลื้มในความดีทุกประการของบุตร แม้จะทำความดีในเพศฆราวาสก็ตาม การบวชเพียงชั่วคราว เป็นเพียงพิธีกรรม ย่อมเป็นการปลาบปลื้มในสิ่งที่มีผลน้อยมาก แต่เนื่องจากเป็นความเชื่อที่ไม่ได้พิจารณาเหตุและผล คิดไปว่าได้ปลาบปลื้มในบุญกุศลมากไปกว่าความดีอื่นๆ


เข้าใจผิด

๘. บวชเพื่อตอบแทนพระคุณโดยการชักนำบิดามารดาญาติมิตรให้เข้าใกล้ชิดพระพุทธศาสนา เป็นการตอบแทนด้วยอริยทรัพย์

เข้าใจถูก

๘. จริงอยู่ว่าการตอบแทนพระคุณบิดามารดาญาติมิตรให้ได้เข้าใกล้พระพุทธศาสนาเป็นการตอบแทนที่สำคัญ แต่บุตรสามารถกระทำได้ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ไม่จำต้องรอให้บวชเสียก่อน และที่สำคัญคือบุตรชักนำให้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาเพียงขณะที่บวชเท่านั้น ย่อมไม่ใช่การตอบแทนที่แท้จริง แต่การตอบแทนที่แท้จริงคือ การชักนำให้บิดามารดาตั้งมั่นในศีล ในธรรม มีความเข้าใจพระธรรมได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องกระทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต


เข้าใจผิด

๙. บวชเพื่อประกันตนเองว่าสามารถประพฤติความดีได้

เข้าใจถูก

๙. การประพฤติดีนั้นเป็นเรื่องที่บุคคลสามารถประเมินตนเองได้ว่าสามารถทำดีได้หรือไม่ ทำได้เพราะเหตุใด ทำไม่ได้เพราะเหตุใด ไม่ใช่ต้องมาบวชเพื่อที่จะประกันหรือรับรองตนว่าทำดีได้ และหากบวชแล้วทำดีไม่ได้ ย่อมเกิดความเสียหายต่อตนและพระศาสนาเป็นอย่างมาก มีวิธีอื่นอีกมากมายในการทดสอบความดีของตนที่ปลอดภัยและดีกว่าการที่จะต้องมาบวชมากมาย


เข้าใจผิด

๑๐. บวชเพื่อสร้างอุปนิสัยในทางที่ดีมีคุณธรรม และดัดนิสัยไม่ดีทั้งหลาย

เข้าใจถูก

๑๐. ผู้ที่เข้ามาบวชต้องมีอุปนิสัยที่ประสงค์จะขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งมาก่อน ไม่ใช่เข้ามาบวชเพื่อที่จะสร้างอุปนิสัย หรือดัดนิสัย อย่างที่พ่อแม่ทำกับบุตร เนื่องจากวัดมิใช่โรงเรียนดัดนิสัย และ เพศบรรพชิตเป็นเพศที่บริสุทธิ์และสูงกว่าเพศฆราวาส หากผู้บวชยังไม่มีอุปนิสัยในการละและขัดเกลาแล้ว ย่อมไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติที่เป็นการขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งได้ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระศาสนาเป็นอย่างมากดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนผู้ที่ประสงค์จะสร้างอุปนิสัยให้มีคุณธรรมจริงๆ ก็ทำได้แม้อยู่ในเพศคฤหัสถ์ ดังที่มีค่ายคุณธรรมสำหรับบุคคลทั่วๆ ไป และเมื่อหากพัฒนาอุปนิสัยและความเข้าใจพระธรรมวินัยได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็สามารถบวชในภายหลังด้วยความมั่นใจจริงได้



เข้าใจผิด

๑๑. บวชเพื่อให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ต่างๆ

เข้าใจถูก

๑๑. เป็นการบวชที่ผิดวัตถุประสงค์ตามพระธรรมวินัย เนื่องจากภิกษุนอกจากต้องประพฤติพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเท่านั้น ไม่ใช่เรียนวิชาความรู้ทางโลก

เข้าใจผิด

๑๒. การบวชเรียนในเวลาจำกัด มิใช่เพื่อประโยชน์ในการอยู่เป็นสมณะ แต่เพื่อประโยชน์ในการออกไปครองบ้านครองเรือน

เข้าใจถูก
๑๒. การบวชมิใช่เรื่องที่ทำกันชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแสวงหาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะความรู้ต่างๆ ที่ดีมีประโยชน์นั้น บุคคลสามารถแสวงหาได้ตลอดเวลาและนำไปใช้นำไปปฏิบัติเพื่อการครองบ้านครองเรือนได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องมาบวช การบวชไม่ใช่แค้มป์ทหาร แค้มป์วินัย ที่จะมีไว้สำหรับฝึกฝนตนเองเพื่อนำไปใช้ในชีวิตภายนอก แต่พระธรรมวินัยเป็นเรื่องของการศึกษาอบรมเพื่อให้เกิดปัญญาขัดเกลากิเลส ต้องกระทำไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม และเพศบรรพชิตนั้นเป็นการขัดเกลาอย่างยิ่งต่างไปจากคฤหัสถ์ หากประสงค์จะศึกษาหาความรู้จากพระธรรมก็เริ่มได้ในทันที ไม่จำต้องรอและสนใจเฉพาะขณะที่บวช การบวชชั่วคราวทำให้พระธรรมวินัยกลายเป็นเพียงเครื่องมือที่จะแสวงหาประโยชน์ต่อไปในทางโลก มากกว่าเห็นถึงความสำคัญของพระสัทธรรมที่นำมาซึ่งปัญญาที่ทำให้เข้าใจความจริงในสัจธรรมที่นำสัตว์ออกจากสังสารทุกข์ พระธรรมวินัยจึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าและควรได้รับการศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพยิ่ง


เข้าใจผิด

๑๓. การบวชชั่วคราวเพื่ออุทิศกุศลให้บุคคลที่เคารพนับถือ

เข้าใจถูก

๑๓. แม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่หากการบวชเป็นเพียงพิธีกรรมและรูปแบบเท่านั้น ย่อมไม่เป็นการเจริญกุศลที่ถูกต้องและแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อบวชแล้วมีแนวโน้มที่จะประพฤติปฏิบัติผิดพระวินัยเนื่องจากไม่เข้าใจพระธรรมวินัยอย่างถ่องแท้ การอุทิศกุศลจึงไม่อาจที่จะบรรลุผล แต่หากชาวพุทธได้เข้าใจโดยแท้จริงว่า กุศลที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญนั้นคือสิ่งใด ทุกคนย่อมเจริญกุศลนั้นๆ ได้ถูกต้อง และสามารถแสดงออกให้ผู้อื่นได้ชื่นชม และอุทิศส่วนกุศลได้เสมอ ไม่จำกัดเวลาและไม่ต้องมีรูปแบบพิธีการใดๆ เลย


เข้าใจผิด

๑๔. อย่างไรก็ตามการบวชดีกว่าไม่บวช

เข้าใจถูก

๑๔. การบวชดีสำหรับผู้ที่เข้าใจถูกต้องและมีอัธยาศัยที่จะขัดเกลากิเลสอย่างแท้จริงในเพศบรรพชิต ไม่ใช่การบวชชั่วคราว บวชตามประเพณีนิยม หรือบวชด้วยความหวังประโยชน์แก่ตน แต่จะเป็นผลเสียอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะจะนำไปสู่การละเมิดพระวินัยอันก่อให้เกิดผลร้ายแก่ตนและทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญต่อไปในภายภาคหน้า



เข้าใจผิด

๑๕. หากไม่มีการบวชแล้วย่อมไม่มีหนทางอื่นที่จะได้เจริญบุญกุศลในพระศาสนา

เข้าใจถูก

๑๕. หากไม่เข้าใจเรื่องบุญในพระพุทธศาสนาแล้ว ย่อมทำให้คิดเช่นนั้น บุญในพระพุทธศาสนามีถึง ๑๐ ประการ ซึ่งเป็นไปในเรื่องของการให้ทาน การอุทิศความดีที่ทำไว้แล้ว การยินดีในความดีทั้งหลาย การรักษาศีล ความอ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม ความช่วยเหลือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น การอบรมขัดเกลากิเลส การฟังพระธรรม การแสดงพระธรรม และการทำความเห็นให้ตรงและถูกต้อง นี้เป็นบุญในพระพุทธศาสนาที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัด และไม่ต้องมีรูปแบบหรือพิธีการใดๆ เป็นบุญที่สำเร็จได้เสมอและเกิดผลจริง


เข้าใจผิด

๑๖. ไม่สนับสนุนการบวชแล้วจะทำนุบำรุงพระศาสนาได้อย่างไร

เข้าใจถูก

๑๖. ไม่ใช่ไม่สนับสนุนการบวช แต่หากเป็นการบวชที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยผู้บวชมีอัธยาศัยสละเพศคฤหัสถ์เพื่อขัดเกลากิเลสอย่างแท้จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้บวชเป็นภิกษุด้วยพระธรรมวินัย ย่อมนำมาซึ่งความดี ความผาสุก ความเลื่อมใส ศรัทธา และความตั้งมั่นในพระสัทธรรม แต่หากผู้บวชไม่มีอัธยาศัย ใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ รับเงินรับทอง ยุ่งเกี่ยวเรื่องทางโลก ประจบเอาใจคฤหัสถ์ เป็นหมอยา หมอดู ทำไสยศาสตร์ บอกใบ้ให้หวย แสวงหาลาภยศ สรรเสริญ กระทำการย่ำยีพระธรรมวินัยเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสนับสนุนให้ช่วยกันทำลายพระศาสนา




... ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกท่าน ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 8 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 9 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 10 ม.ค. 2560

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 13 ม.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
2491surin
วันที่ 15 ม.ค. 2560

 ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kullawat
วันที่ 7 มิ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
peera1009
วันที่ 26 ต.ค. 2562

กราบสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 27 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chaichumpon
วันที่ 2 พ.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Nataya
วันที่ 22 ก.พ. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ประสาน
วันที่ 9 มี.ค. 2563

สาธุๆ ๆ อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน 

ได้อ่านอีกครั้งทำให้ได้เข้าใจขึ้นอีก ตามอานิสงส์จากการฟังจริงๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
สิริพรรณ
วันที่ 29 ต.ค. 2563

ยินดียิ่งในกุศลเจตนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2563

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

อ่านเพิ่มเติม

ทำไมบวช

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
theiynnxkratri
วันที่ 26 ก.ย. 2564

สาธุอนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Boonsanong
วันที่ 26 ก.ย. 2564

น้อมกราบ อนุโมทนา สาธุ สาธุ สาธุ ครับ !!!

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ