สวดอภิธรรมให้ผู้เสียชีวิตแล้วฟัง
มักจะมีผู้บอกว่า การสวดอภิธรรม ๗ คัมภีร์ในงานพิธีศพนั้น นำมาจากตัวอย่างที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยได้ทรงแสดงอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำมาปฏิบัติเป็นประเพณีของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อแสดงความกตัญญู
หากมีผู้ถามว่า สวดพระอภิธรรมในงานศพให้ใครฟัง ควรจะตอบว่าอย่างไร หากบอกว่าผู้เสียชีวิตไปแล้วย่อมไม่ได้ยินแล้ว เขาก็จะอ้างตามเรื่องโปรดพระพุทธมารดาข้างต้น
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในสมัยพุทธกาล เวลามีผู้เสียชีวิต ก็จะทำการเผาศพ บุคคลนั้น ตามปกติ ไม่ได้มีการที่จะต้องนิมนต์พระมาสวดอภิธรรม เพียงแต่ เมื่อเผาศพเสร็จแล้ว ก็จะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม เพราะเห็นประโยชน์ของการเจริญอบรมปัญญา ไม่ใช่ให้มานั่งสวด และ ไม่มีการถวายของกับพระภิกษุด้วยเงินทองในสมัยปัจจุบัน ครับ
ซึ่งในความเป็นจริง ก็เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมา ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาสวด หากไม่สวดพระอภิธรรม ไม่ใช่งานศพ หรือ ทำไม่ถูกต้อง เพราะ ในความเป็นจริง ในสมัยพุทธกาลที่มีการจากไป หรือ มีการสิ้นชีวิตของคนในสมัยพุทธกาล ก็จะมีการแสดงธรรม แต่ ไม่ใช่การสวดพระอภิธรรม เพราะ ประเพณีที่สำคัญที่ลืมกันไป และ เป็นประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณี คือ การฟังธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจถูก มากกว่า การได้เพียงได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้ และไม่เข้าใจในภาษาบาลีครับ
[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 434
ลำดับนั้น อมนุษย์ผู้มีเวรกันมาแต่ก่อน เข้าสิงร่างของแม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่ง ทำท่านให้เสียชีวิต พระศาสดาเสด็จออกจากกรุงสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นพาหิยะล้มอยู่ที่กองขยะระหว่างทาง ตรัสบอกเหล่าภิกษุว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงช่วยกันยกร่างพาหิยะ แล้วให้นำไปทำฌาปนกิจ โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้ ณ ทางใหญ่ ๔ แพร่ง จากนั้น เกิดพูดกันกลางสงฆ์ว่า พระตถาคต รับสั่งให้ภิกษุสงฆ์ทำฌาปนกิจร่างของพาหิยะ เก็บธาตุมาแล้ว โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
หลายท่านคงเคยไปร่วมฟังสวดพระอภิธรรมในงานศพ พระอภิธรรม ไม่ได้มีเฉพาะในงานศพ ทุกขณะเป็นธรรม และเป็นอภิธรรม ด้วยสิ่งที่มีจริงในขณะนี้เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นธรรมที่ละเอียด (อภิธรรม) โดยความเป็นอนัตตาที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลตัวตน ในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ไม่ได้เลยซึ่งถ้าไม่ได้ฟังไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย จะเห็นได้ว่าในสมัยพุทธกาล ไม่มีการนำพระอภิธรรมมาสวดในงานศพ แต่มีการแสดงพระอภิธรรม แสดงธรรมให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจ พร้อมทั้งมีการศึกษาพระอภิธรรมเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
พระธรรมต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ เป็นการสะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ความเข้าใจเกิดขึ้นนั้น สภาพธรรมที่ดีงามต่างๆ ก็เกิดพร้อมกับปัญญาด้วย โดยไม่ต้องไปทำไปบังคับเลย แต่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย สิ่งสำคัญ คือ ฟัง ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นต่อไป แม้แต่ ๓ บทแรก ที่ได้ฟังในงานสวดพระอภิธรรมศพ คือ กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพพยากตา ธัมมา ก็เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ ธรรมที่เป็นกุศล ก็มี ธรรมที่เป็นอกุศล ก็มี ธรรม ที่ไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็มี ทั้งหมด ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...