การ ปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ ปัญญา เพื่อการหลุดพ้น จำเป็นต้องผ่าน สมถกัมมัฏฐาน ก่อนหรือไม่

 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่  15 ม.ค. 2560
หมายเลข  28531
อ่าน  5,032

เนื่องจากมีการโฆษณาเรื่อง "การปฏิบัติ" ของพระบางสาย ที่โด่งดังในภาคอีสาน มักชี้นำไปสู่การทำ สมถกัมมัฏฐานก่อนเสมอ ที่น่าสงสัยว่า จำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะ ดูเสมือนว่าเขาจะเน้น ให้เกิดความเห็นจริงของอาการ 32 เป็นหลัก แล้วจะทำให้เกิดปัญญา ที่ผมคิดตามแล้วก็ไม่เข้าใจว่า เส้นทางของความเบื่อหน่ายนั้น จะทำให้เกิดปัญญา ได้โดยหลักการใด จึงขออนุญาต นำข้อสรุป 18 ขั้นตอน มาเพื่อการพิจารณาในการตอบข้อสงสัยด้วยครับ

1. ผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพานจะต้องถือศีลให้บริสุทธิ์ ข้อนี้สำคัญมาก ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ก่อนเรื่องอื่นใด คือใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงาม อะไรผิดศีลห้ามทำโดยเด็ดขาด

2. ให้คิดถึงนิพพานทุกขณะ เหมือนนิพพานอยู่ตรงหน้า คือระลึกไว้เสมอว่า เราจะไปนิพพานเท่านั้น จุดเดียวที่เดียว อย่างอื่นไม่เอา ให้พุ่งตรง ตัดตรงไปเลย

3. ทำสมาธิในชีวิตประจำวันให้ได้ คือ ถ้าใครบริกรรมพุทโธ ก็ให้ทำไปใครดูลมหายใจ ก็ให้ดูไป เรื่องนี้เน้นย้ำมากให้คุมกรรมฐานไว้ระหว่างวัน ส่วนจะใช้กรรมฐานชนิดใด ตรงนี้ใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในหมวดกรรมฐาน 40 ไม่มีอะไรผิด จุดนี้ให้เน้นไปที่การทำสมถะก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจวิปัสสนาในช่วงแรกๆ ต้องฝึกให้จิตมีความตั้งมั่นก่อน ให้จิตอยู่กับกรรมฐานของตนตลอดเวลาทั้งวัน ยกเว้นเวลาที่ต้องทำงานเท่านั้น เน้นว่า นี่คือการปฏิบัติเบื้องต้นไม่ควรทำสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ควรทำผิดไปจากนี้

4. เมื่อทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ไปจนจิตเข้าสู่สมาธิได้แล้ว ให้สังเกตดู ช่วงนี้จิตจะปรุงกิเลสน้อยลง เพราะจิตมันอิ่มอารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่งมากขึ้น ทำความสงบได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ว่าจิตของเราเริ่มมีกำลังเกิดความตั้งมั่นได้ง่าย คือในชีวิตประจำวันก็ทรงอารมณ์อยู่กับกรรมฐานได้ เมื่อทำสมาธิในรูปแบบก็มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ อย่างนี้ถือว่าเริ่มใช้ได้แล้ว ตรงนี้ ให้เริ่มพัฒนาในขั้นตอนต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่การทำสมาธิ

5. พอจิตสงบ ตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ท่านให้เริ่มเดินปัญญาต่อไปเลย เพียงแค่สมาธิอย่างเดียวนั้น จิตจะไม่มีความกว้างขวาง จะต้องเดินปัญญาต่อ จึงจะเกิดความกว้างขวาง นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำเอาไว้ ต้องทำตามพระพุทธเจ้าท่านสอน

6. ให้เริ่มต้นพิจารณาร่างกาย โดยให้แยกเป็นส่วนๆ คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่เป็นตำหรับแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า ให้เอามาดูเป็นส่วนๆ ดูสิ เส้นผมของเราเป็นยังไง สะอาดหรือสกปรก เหมือนกันกับขนสัตว์ชนิดอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่อาบน้ำมันจะเป็นอย่างไร แล้วไล่พิจารณาเรียงไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

กรรมฐาน 5 นี้เป็นพื้นฐานทางเดินทางด้านปัญญา ให้หัดดูไปเรื่อยๆ เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็ให้พิจารณาไป ให้เห็นว่าที่ทำอยู่นี้คือหินลับปัญญา

7. เมื่อทำจนชำนาญ ต่อไปก็ลองแยกให้เป็นธาตุ 4 คือดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาให้เป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกข์ขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำเช่นนี้ สติปัญญาจะมากขึ้นเป็นลำดับ

8. เมื่อพิจารณาสักพัก ก็ให้ย้อนกลับมา ทำสมาธิ เอาความสงบ เอากำลังของจิตใหม่ ต่อเมื่อจิตอยู่ในความสงบ เริ่มมีกำลังฟื้นตัว ก็กลับมาเดินไปปัญญาอีกครั้ง ให้ทำเช่นนี้สลับไป ห้ามทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว ต้องมีทั้งการทำสมาธิ และเดินปัญญาสลับกันเรื่อยไป

9 เมื่อถึงจุดหนึ่ง คราวนี้ให้กำหนดเป็นอสุภะ อสุภะก็คือกรรมฐานกองหนึ่ง ที่ทำให้เห็น ธรรมชาติของร่างกายคนเรา มีอยู่ 10 ระยะคือ ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืดซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ

ซากศพที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลเยิ้ม (เน่าเฟะ)

ซากศพที่ขาดออกเป็น ๒ ท่อน

ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว

ซากศพที่กระจุยกระจายซากศพที่ถูกฟัน บั่นเป็นท่อนๆ

ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (จมกองเลือด)

ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด ซากศพที่เหลืออยู่แต่ร่างกระดูก หรือเหลือแต่ท่อนกระดูก ในการกำหนดอสุภะนี้ ให้กำหนดภาพเหล่านี้ ขึ้นมาตรงหน้าเลย ทำให้ภาพนิ่งอยู่ตรงหน้าอย่างนั้น หมั่นเอาภาพอสุภะมาตั้งไว้ตรงหน้าเสมอ ตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไร แค่ให้จิตกำหนดภาพเหล่านี้ให้ได้ก็พอ แล้วดูไป ดูอย่างเดียว เพ่งไปเลยอย่าให้คลาด เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ จิตมันจะรู้ของมันเอง

10. เมื่อถึงจุดที่เพียงพอแก่ความต้องการของจิต คราวนี้ธรรมชาติจะหมุนไปสู่ความจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นธรรมที่ละเอียดมาก จิตมันจะมีปัญญาในเรื่องกามราคะ ถึงตอนนั้น จิตมันจะสิ้นข้อสงสัยในเรื่องกามราคะไปเลย โดยไม่ต้องมีใครบอก ในขั้นนี้ จะสำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว

11. เมื่อทำซ้ำๆ จนบรรลุอนาคามี จิตจะไม่กลับมาเกิดอีก เพราะกามราคะมันขาดสะบั้นไปสิ้น จิตมันจะหมุนขึ้นสูงอย่างเดียวไม่ลงต่ำ ไปอยู่ชั้นพรหมสุทธาวาส เวลานั้นจิตจะรู้ความจริงไปตามลำดับ

12. ทบทวนและย้ำอีกรอบว่า "เมื่อทำสมาธิ (สมถะ) ให้พักเรื่องปัญญา (วิปัสสนา) และเมื่อเดินปัญญา (วิปัสสนา) ก็ให้พักเรื่องสมาธิ (สมถะ) ทั้งสองสิ่งนี้จะต้องทำสลับกันไปตลอด ห้ามทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อทำสิ่งหนึ่ง ก็ไม่ต้องคิดถึงอีกสิ่ง คือทำความสงบ ก็ทำไป พิจารณาความจริง ก็ทำไป ห้ามนำมาปนกัน ให้ทำสลับไปอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดการปฏิบัติ

13. เมื่อก้าวถึงภูมิอนาคามีแล้ว จะมีภูมิของอนาคามีที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ 5 ระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นขั้นๆ พวกที่ก้าวข้ามขั้นไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่ในช่วงกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ จะหายาก โดยมากแล้วจะไปทีละขั้น เพราะด่านกามราคะมันยากจริงๆ ไม่ใช่ของง่าย

14. ในขั้นนี้ปัญญาจะเดินอัตโนมัติ ตลอดเวลาแล้ว เห็นนิพพานอยู่ตรงหน้า ช่วงนี้ปัญญาจะฆ่ากิเลสตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง ฆ่ากิเลสตลอดเวลายกเว้นเวลานอนหลับ ตอนนั้นไม่มีคำว่า เผลอแล้ว เพราะปัญญาจะเกิดอย่างถี่ยิบ

15. สติปัญญาเดินมาก ต้องย้อนสู่สมาธิ ห้ามเดินปัญญาแต่อย่างเดียวเด็ดขาด ต้องทำสลับกันไปเช่นนี้

16. ต่อไปจะก้าวเข้าสู่มหาสติปัญญา ถึงตรงนี้จะหมดนิมิตที่เกี่ยวกับจิต เหมือนฟ้าแลบตลอด ไม่ต้องบังคับให้จิตทำงาน กิเลสซ่อนอยู่ตรงไหน ปัญญาจะตามไปฆ่าเชื้อที่นั่น ส่วนใหญ่ถึงตรงนี้ ทุกข์เวทนาจะน้อยมากๆ เหลือเพียงสุขเวทนาเท่านั้น มันจะเห็นสุขเวทนาชัดเจนมาก จุดนี้เองที่มันจะเข้าไปในปราสาทราชวัง ไปเจอนายใหญ่ คืออวิชชา ค้นพบอริยสัจ 4 มันจะเห็นกษัตริย์แห่งวัฏฏะคือ ตัวอวิชชา ถึงตรงนั้นทุกสรรพสิ่งจะว่างไปหมด ยกเว้นเพียงตัวเองที่ยังไม่ว่าง

17. เมื่อถึงจิตตะ คืออวิชชา พอเปิดอันนี้ออก จิตมันก็จ้าขึ้น ตอนนี้ข้างนอกก็สว่าง ภายในก็สว่าง ว่างทั้งหมด ตัวเราก็ว่าง เป็นวิมุต คือธรรมชาติที่แท้จริง จิตเป็นธรรมธาตุ เป็นภาวะนิพพาน จิตไม่เคยตาย ถึงธรรมชาติแล้ว หายสงสัยล้านเปอร์เซ็นต์

18. แรกเริ่ม ธาตุขันธ์ เป็นเครื่องมือของกิเลส แต่ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ธาตุขันธ์จะเป็นเครื่องมือของธรรมทั้งหมด

การกระทำในการถามข้อสงสัยของผมนี้ มีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยล่วงหน้า มา ณ ที่นี้ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดรอบคอบย่อมได้สาระจากพระธรรมวินัย

โดยมากจะเข้าใจกันว่า การเจริญสติปัฏฐาน จะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน คือ อบรบให้ได้ฌานจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ ดังนั้นเรามาเข้าใจคำว่า สมถะที่ควบคู่กับการเจริญวิปัสสนา คือ อย่างไรครับ

สมถะ กับสมถกรรมฐาน (สมถภาวนา) ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน สมถะ หมายถึงสภาพธรรมที่สงบ สงบจากกิเลส ส่วนสมถภาวนาหมายถึงการอบรมเจริญความสงบจากกิเลส มีการเจริญพุทธานุสสติ เป็นต้น จะเห็นนะครับว่าต่างกัน สมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลสขณะนั้น

คำถามจึงมีว่าจำเป็นไหมจะต้องเจริญสมถภาวนา ก่อนถึงจะเจริญวิปัสสนาได้ คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะ สมถภาวนาและวิปัสสนานั้น เป็นคนละส่วน แยกกันเลยครับ ผู้ที่อบรมสมถภาวนา เช่น เจริญฌาน แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการเจริญวิปัสสนา หรือ หนทางการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ฌาน แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง และไม่มีทางบรรลุธรรมได้เลยครับ ดังเช่น พวกฤาษี ดาบส อาจารย์พระโพธิสัตว์ มี อาฬารดาบส อุททกดาบส ก็อบรมสมถภาวนา ได้ฌานแต่ไม่รู้หนทางการดับกิเลส ไม่เข้าใจการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่บรรลุอะไรเลยครับ แต่ผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ได้บรรลุธรรมมีไหมครับ

คำตอบ คือ มี มีมากด้วยครับ ดังเช่น นางวิสาขา ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านบรรลุธรรม โดยการเจริญสมถภาวนาก่อนไหมครับ คำตอบคือไม่ แต่ท่านฟังพระธรรม จากพระพุทธเจ้า ปัญญาที่เคยสะสม การเจริญวิปัสสนา หรือการรู้ความจริงในสภาพธรรมในอดีตชาติ ก็เกิดขึ้นรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไมใช่เรา ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมและเป็นอนัตตาครับ ซึ่งการเจริญสมถภาวนาไม่สามารถรู้ความจริงเช่นนี้ได้เลยครับ

ดังนั้น ประเด็นคือ ไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน ถึงจะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ครับ หากมีคำแย้งว่า ต้องมีสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปเป็นธรรมคู่กัน ตามที่ผมได้อธิบายแล้วว่า สมถะ กับ สมถภาวนานั้นต่างกัน สมถะ หมายถึง สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส ซึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงองค์ของ สมถะ และวิปัสสนาว่าเป็นอย่างไรบ้างดังนี้

มรรค มี องค์ ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คือการเจริญมรรค อันเป็นหนทางดับกิเลส คือ วิปัสสนานั่นเองครับ คำถามมีว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสมถะหรือเปล่าครับ หรือ มีแต่วิปัสสนาอย่างเดียว คำตอบคือ มีทั้ง องค์ธรรมของสมถะ และมีวิปัสสนาด้วย พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่เป็นคู่กันในการอบรมปัญญา คือ สมถะและวิปัสสนา ดังนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ตามที่กล่าวมามีทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย มีอย่างไร พระพุทธเจ้า แสดงว่า ฝ่ายของวิปัสสนา มี ๒ อย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ นี่คือฝ่ายวิปัสสนา ส่วน ๖ ประการหลังคือ สัมมาวาจา ... สัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะนั่นเอง ครับ

แม้ขณะที่เจริญวิปัสสนา เจริญมรรค อย่างเดียว ไม่ได้เจริญสมถภาวนาก่อน หรือไม่ได้เจริญสมถภาวนาเลย ขณะที่เจริญวิปัสสนาอย่างเดียวก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเกิดพร้อมกันอยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เกิดพร้อมกัน ถามว่ามีสมถะไหมในขณะนั้น มีครับ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นฝักฝ่ายของสมถะ คือ สภาพธรรมที่สงบจากกิเลส และมีฝักฝ่ายวิปัสสนาในขณะนั้นด้วย คือ สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ....

มรรคหรือสติปัฏฐาน เป็นทั้งสมถและวิปัสนนา

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า ปฏิบัติธรรมปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิด ให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญา เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทังหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ


..อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่ 15 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณมากครับ ชัดเจนครับ

ผมก็ฟังคำบรรยายทั้งของอาจารย์สุจินต์ และคณะวิทยากร และทราบมาอย่างนั้น แต่ว่าทางสายของกลุ่มที่นับถือกันว่าเป็นพระสายปฏิบัตินั้น แทบไม่กล่าวถึงเส้นทางของพระไตรปิฎก และพระอภิธรรมเลย

ส่วนใหญ่จะเน้นสมถภาวนา แล้วก็ยืนยันตรงกันว่าสามารถนำไปสู่บรรลุ นิพพาน ได้

และที่ผิดสังเกตมากๆ ก็คือ พอเริ่ม ก็บอกให้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่านิพพานคือ อะไรเสียด้วยซ้ำ

และยิ่งกว่านั้น ทั้งพระ และฆราวาส ที่สังกัดในกลุ่มนี้ อ้างว่าตัวเองบรรลุ "อรหันต์" กันมากมาย (หลาย 10) จากเส้นทางการปฏิบัติแบบนี้ ที่ยืนยันด้วยการรับรองกันเอง ที่ไม่ทราบว่ามีระบบตรวจสอบจากที่อื่นบ้างหรือเปล่าก็ไม่ทราบ

นี่คือประเด็นข้อสงสัยหลัก และเป็นที่มาของคำถามเริ่มต้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่ 16 ม.ค. 2560

นอกจากนี้ ยังมีสำนักปฏิบัติธรรมหลายแห่ง นำเทปคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ไปเปิดในรายการวิทยุเพื่อการประชาสัมพันธ์ แต่ในการปฏิบัติก็กลับเน้น "ยุบหนอ-พองหนอ" ตามภูมิของเขาเอง ไม่เกี่ยวข้องกับเทปคำสอนที่ใช้ใดๆ ทั้งสิ้น อย่างนี้ ก็มี แบบ แปลกๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 17 ม.ค. 2560

ปัญญาตรงข้ามกับอวิชชา ที่ไหนมีปัญญาที่นั้นจะไม่มีโลภะ ต้องฟังธรรมจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ และเลิกคิดที่จะปฏิบัติธรรม เพราะทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ตัวตที่จะทำค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ม.ค. 2560

สาธุ สาธุ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 22 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ