ไม่ปลงก่อนการการลาสิกขาบท อาบัติเหล่านั้นจะยังมีผลในสังสารวัฏฏ์หรือไม่

 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่  20 ม.ค. 2560
หมายเลข  28549
อ่าน  965

ผมได้ฟังคำบรรยายของท่านวิทยากร ที่สรุปว่า ถ้าไม่ปลงอาบัติ ก็ควรลาสิกขาบทไป ฟังดูเหมือนกับว่า เมื่อลาสิกขาบทไปแล้ว อาบัติทั้งหลายจะกลายเป็นโมฆะทันที ไม่มีผลกรรมสืบเนื่อง ผมสงสัยว่าทำไมฟังดูง่ายขนาดนั้นครับ และขัดกับหลัก "กรรม" ที่ยังคงต้องมีผล จนกว่าจะไม่เกิดอีกต่อไป หรือผมฟังผิดไปครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับเพศพระภิกษุย่อมจะต้องมีข้อห้าม ข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้า เพราะประโยชน์ในการละกิเลส และ สำรวมระวังในเพศบรรพชิต เพื่อประโยชน์ตน และประโยชน์ต่อผู้อื่น และ สังคมโดยรวม เพราะฉะนั้น เมื่อมีการทำผิดพระวินัยในเพศบรรพชิต ก็สามารถแก้อาบัติตามสมควรแก่อาบัติได้ ยกเว้นแต่ อาบัติปาราชิกที่ไม่สามารถแก้ได้แต่ หากว่า ทำผิดพระวินัยแล้ว มีอาบัติอยู่ แต่ถ้าเปลี่ยนเพศมาเป็นฆราวาสแล้ว อาบัติย่อมไม่มีผลต่อชีวิต คือ ไม่ติดตัวมาที่จะทำอันตรายกับผู้ที่เป็นเพศคฤหัสถ์ได้เลย แต่ก็ต้องพิจารณาว่า อาบัติข้อนั้น ถึงกับล่วงกรรมบถ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือไม่ หากล่วงกรรมบถ แม้สึกมาแล้ว กรรมนั้นสามารถให้ผลได้ครับ เพียงแต่ว่า สิ่งที่ควรพิจารณา คือ ไม่ใช่กลัวที่จะได้รับโทษ แต่สิ่งที่ควรพิจารณา คือ การที่จะเห็นโทษในกิเลส ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิต และเพศคฤหัสถ์ เมื่อเป็นเพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ใช้ชีวิตให้เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ ด้วยการทำดีและศึกษาพระธรรม เป็นสำคัญ เพราะ ชีวิตไม่ใช่มีเพียงแค่ผล ที่เป็นวิบากที่จะได้รับสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี แต่ ชีวิตยังมีในส่วนที่เป็นเหตุ ที่จะสะสมต่อไปเป็นอุปนิสัยที่ดีและไม่ดี รวมทั้งเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ดี และไม่ดีด้วย เพราะฉะนั้นการได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม จะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา ปัญญา ความเห็นถูก จะทำให้เกิด กุศลจิต กุศลกรรม สิ่งที่ดี และจะทำให้คิดถูก ไม่กระทำผิด ในสิ่งที่ไม่สมควร ทั้งในเพศบรรพชิต และคฤหัสถ์ ครับ เพราะฉะนั้น แทนที่จะกังวลในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็อยู่กับปัจจุบัน ด้วยการทำดี และ ศึกษาพระธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระภิกษุทุกรูป ทุกยุคทุกสมัย จะต้องสมาทานศึกษาน้อมประพฤติตามในสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ กล่าวคือ ไม่กระทำในสิ่งที่ผิด และ น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น จะไม่มีการบัญญัติเพิ่ม และ ไม่มีการถอนสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แล้ว ซึ่งจะต้องกลับมาที่การตั้งต้นว่า บวช เพื่ออะไร? ถ้าไม่มีความจริงใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเองในเพศบรรพชิต นั่น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยอย่างแน่นอน มีแต่โทษเท่านั้น เมื่อมีการล่วงละเมิดสิกขาบทต่างๆ ไม่ประพฤติตามพระวินัย ก็กำลังทำทางให้ตนเองไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชนานหรือพึ่งบวชก็ตาม เพราะเหตุว่า การล่วงละเมิดสิกขาบท แล้วไม่มีการเห็นโทษ ไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ก็เป็นผู้มีอาบัติเป็นเครื่องกั้นการบรรลุธรรม และ กั้นการเกิดในสุคติภูมิ ด้วย นั่นหมายความว่า ถ้าหากมรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังเป็นพระภิกษุอยู่ ชาติถัดไป ก็เกิดในอบายภูมิเท่านั้น น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงบังคับให้ใครบวช แม้เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองได้ ถ้าได้ลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์แล้ว ก็ไม่มีอาบัติแต่ถ้าอาบัติที่ทำตอนบวชนั้นเป็นอกุศลกรรมบถ ก็แล้วแต่ว่าจะให้ผลเมื่อใด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นคฤหัสถ์แล้วก็ขอให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดีด้วยการทำดีและศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แสวงรวยสูงเนิน
วันที่ 20 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณมากครับ ชัดเจนมากขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Lertchai
วันที่ 21 ม.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 22 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ