ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรม บียอน รีสอร์ท กระบี่ จังหวัดกระบี่ ๑๐-๑๒ มกราคม ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  24 ม.ค. 2560
หมายเลข  28562
อ่าน  2,756

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๑๐-๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากร รศ.สงบ เชื้อทอง ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวณิช อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เพื่อไปสนทนาธรรมที่ โรงแรม บียอน รีสอร์ท กระบี่ จังหวัดกระบี่

ท่านอาจารย์และคณะฯ จำนวนทั้งสิ้น ๕๙ ท่าน พร้อมกัน ณ จุดนัดหมายที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ในช่วงเช้าของวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ (อีกท่านหนึ่งคือ อ.กฤตบุญ รณรื่น เดินทางจากประจวบคีรีขันธ์ไปด้วยตนเอง รวมคณะฯทั้งสิ้น ๖๐ ท่าน)

ท่านอาจารย์และคณะฯ เดินทางโดยสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7910 จากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ในเวลา ๑๐.๑๐ น. ถึงยังท่าอากาศยานกระบี่ ราว ๑๑.๓๐ น. ซึ่งก็ขออนุญาตที่จะนำลงภาพที่ได้บันทึกไว้โดยละเอียดตามสมควร เพื่อที่จะเป็นบันทึกของการเดินทางที่สมบูรณ์พร้อมไปด้วยภาพและเรื่องราวของการสนทนาธรรมบางตอน เพื่อประโยชน์ต่อไปนะครับ

จากนั้นเดินทางด้วยรถตู้ซึ่งท่านเจ้าภาพจัดเตรียมไว้จำนวน ๖ คัน โดยแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารเรือนทิพย์ สาขาคลองสน ร้านอาหารขึ้นชื่อของกระบี่ ตั้งอยู่ริมคลองสน ซึ่งเป็นคลองธรรมชาติ มีบรรยากาศร่มรื่นและความชุ่มเย็นจากการที่ถูกโอบล้อมด้วยลำน้ำธรรมชาติ ก่อนเดินทางเข้าสู่ที่พัก

อนึ่ง เป็นที่ทราบดีว่า ก่อนที่ท่านอาจารย์และคณะฯจะเดินทางมาสนทนาธรรมที่จังหวัดกระบี่ ได้เกิดมีพายุฝนตกอย่างหนักทางภาคใต้ เป็นเหตุให้มีน้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายจังหวัด ตามที่เป็นข่าวครึกโครมทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ โดยที่จังหวัดกระบี่เอง ก็ประสบกับพายุฝนตกหนัก จนเกิดมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในหลายพื้นที่ และถึงกับมีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในครั้งนี้ด้วย ภาพของภัยพิบัติดังกล่าว ยังปรากฏให้เห็นในวันที่ท่านอาจารย์และคณะฯเดินทางผ่านไปยังร้านอาหารเรือนทิพย์ ดังภาพที่ได้บันทึกไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับน้ำที่สูงมากและไหลบ่าเข้าท่วมอย่างรวดเร็วและรุนแรงออกไปสู่ทะเล โดยไม่ท่วมขังอยู่นาน อย่างไรก็ดี ฝนที่ตกหนักจนเกิดมีน้ำป่าไหลหลากนี้ เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน ก่อนที่ท่านอาจารย์และคณะฯ จะเดินทางไป และ ไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลยจนตลอดทั้งสามวันที่มีการสนทนาธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ท้องฟ้าที่เคยเต็มไปด้วยเมฆฝน กลับใสสว่าง ดวงอาทิตย์ส่องแสงจ้าตลอดวันอีกด้วย

การเดินทางไปสนทนาธรรมที่จังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ของท่านอาจารย์และคณะฯ มีการเตรียมการอย่างดียิ่งของท่านเจ้าภาพและคณะ ซึ่งทราบว่ามีการสำรวจสถานที่หลายแห่งในจังหวัดกระบี่ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกที่นี่ เนื่องจากมีความสวยงามมากตั้งแต่แรกเห็นห้องโถงต้อนรับของโรงแรม ซึ่งมองเห็นวิวทะเลในมุมกว้าง ประกอบกับความโปร่งโล่งของบริเวณต้อนรับที่ออกแบบมาให้เปิดบานเลื่อนกระจกเพื่อรับลมทะเลแทนเครื่องปรับอากาศ ทำให้รู้สึกสดชื่น เหมือนถูกน๊อคด้วยหมัดเด็ดเมื่อเแรกพบเลยทีเดียว

ท่านเจ้าภาพมีความพิถีพิถันในทุกรายละเอียดของการจัดการสนทนาธรรมในครั้งนี้มาก เริ่มตั้งแต่การจองตั๋วเครื่องบิน และการคัดเลือกสถานที่ ซึ่งเมื่อตัดสินใจเลือกได้ที่ โรงแรม บียอน รีสอร์ท กระบี่ แห่งนี้แล้ว ก็ได้ติดต่อทางโรงแรมเพื่อขอจองห้องพักล่วงหน้า ซึ่งทางโรงแรมสามารถให้ห้องพักได้เต็มที่ที่สุดเพียง ๓๐ ห้องเท่านั้น เพราะเหตุที่ต้องกันส่วนไว้สำหรับแขกของโรงแรม ซึ่งมีการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าพักเป็นจำนวนมากจากทั่วโลกตลอดปีด้วย เนื่องจากเป็นโรงแรมระดับห้าดาว ที่มีบรรยากาศดีมาก วิวสวย และมีความเป็นส่วนตัว พรั่งพร้อมไปสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากที่พักแล้ว ทางท่านเจ้าภาพก็พิถีพิถันมากในการคัดเลือกสถานที่รับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็น ซึ่งไม่เพียงต้องมีอาหารอร่อยที่มีชื่อเสียงของกระบี่เท่านั้น แต่ต้องเป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศสวยงามสำหรับการรับประทานอาหารในแต่ละครั้งอีกด้วย ซึ่งสถานที่ที่เป็นที่สุดของการเดินทางมาที่กระบี่ในครั้งนี้ คงไม่พ้นการที่ท่านเจ้าภาพจัดให้ทุกท่านเดินทางไปรับประทานอาหารค่ำ ณ ร้านอาหาร The Hilltop ซึ่งอยู่บนเขา สามารถชมวิวของเมืองกระบี่ได้ในมุมพาโนรามารอบทิศทาง เป็นร้านอาหารที่กล่าวว่า ผู้ที่มาเที่ยวที่กระบี่ ต้องเดินทางมาที่นี่สักครั้งหนึ่งให้ได้เลยทีเดียว

เมื่อได้ไปแล้วก็พบว่าเป็นสถานที่สวยงามมาก มองเห็นทิวทัศน์แสนสวยของกระบี่ ที่ประกอบไปด้วยภูเขาหินปูนรูปทรงแปลกตาและทะเลที่ราบเรียบยามเย็น ทั้งยังเป็นที่ที่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับการเดินทางมาชมพระอาทิตย์ตก ซึ่งมีบรรยากาศสุดแสนจะโรแมนติคอีกด้วย แม้จะรู้ว่าเป็นการเห็นเพื่อลืม ดังที่ท่านอาจารย์กล่าวบ่อยๆ ก็ตาม ก็ยังมีความรู้สึกว่าอยากจะเห็นอยู่ดี ในขณะนั้น ย่อมเป็นผู้ที่รู้ได้ด้วยตนว่า มีความระลึกถึงคำและความจริงดังกล่าวบ้างไหม? ในความไม่มีสาระของการเพียงเห็นแล้วดับไป และไม่กลับมาอีกเลย เหมือนเช่นที่ไม่เคยมี ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย แม้จะเป็นขณะเล็กๆ น้อย เปรียบเหมือนแสงสว่างที่เพียงสลัวๆ ก็ตาม จะมีได้ เกิดได้ ก็เพราะเหตุที่มีความมั่นคงขึ้นจากการได้ฟังคำจริง วาจาสัจจะ จนมีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นในใจ ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลมีการระลึกเป็นไปในธรรมประการต่างๆ ได้ โดยความเป็นอนัตตา เกิดก็เกิด มีก็มี ย่อมเป็นผู้ที่รู้ได้ด้วยตน และด้วยความเป็นผู้ตรง ไม่ใช่ด้วยความติดข้องต้องการ แต่ด้วยความเป็นอนัตตา

เมื่อเริ่มเข้าใจในหนทางที่ถูกต้อง ย่อมรู้ว่า หากปราศจากคำและความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นในพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว การจะมีคำจริงที่ถูกต้องที่ฝังไว้ในหทัยจนจรดเยื่อในกระดูก ดังที่ท่านอาจารย์กล่าว ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้มีการระลึกเป็นไปในธรรมที่เกิดปรากฏในขณะนี้ได้นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย นี่คือเหตุผลว่า เพราะเหตุใด จึงทรงแสดงหนทางไว้อย่างชัดเจนว่า ปริยัติ ปฏิปัตติ (ปฏิบัติ) ปฏิเวธ หากไม่มีปริยัติ คือ การฟังคำจากที่ทรงตรัสรู้จนมีความเข้าใจถูกต้องที่มั่นคงแล้ว ปฏิปัตติหรือการปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมเกิดมีไม่ได้แน่นอน เมื่อการปฏิบัติไม่ถูกต้อง จะป่วยกล่าวไปใยถึงปฏิเวธ การรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจธรรม ซึ่งไม่มีทางจะเกิดได้ ด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นตัวตน ที่จะทำ จะปฏิบัติ เพราะเหตุว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของธรรม ทั้งสิ้น ที่จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา

สิ่งที่บุคคลจะพึงกระทำได้ในขณะนี้ คือ การอบรมเจริญปัญญาให้เกิดมีขึ้น ด้วยการฟังและเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง ซึ่งเป็นการสะสมปัญญาความเข้าใจไป ทีละเล็ก ทีละน้อย เป็นจิรกาลภาวนา ซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่ต้องอาศัยบารมีต่างๆ มีความเพียร ความอดทน และคุณความดีประการต่างๆ ที่จะเจริญขึ้นจนกระทั่งมีกำลัง ละคลายกิเลส ความติดข้อง ไปทีละเล็ก ทีละน้อย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการได้พบกับหนทางที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ในการอบรมปัญญา เพื่อถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในวันหนึ่งแม้แสนไกล เพราะความเห็นผิดจากพระธรรมที่ถูกต้อง (มิจฉาทิฏฐิ) ไม่มีทางที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้แน่นอน ทั้งยังเป็นโทษอย่างยิ่ง ในอันที่จะเป็นเหตุให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เป็นตอในวัฏฏะ ที่ไม่มีทางที่จะออกไปได้เลยในที่สุด

๗. ปฐมสุริยูปมสูตร

ว่าด้วยสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อนการตรัสรู้อริยสัจ

[๑๗๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อนสิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ตามความเป็นจริง คือ สัมมาทิฏฐิ ฉะนั้นเหมือนกัน อันภิกษุผู้มีความเห็นชอบ พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบปฐมสุริยูปมสูตรที่ ๗

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาบางตอนของการสนทนาธรรมในวันที่ ๒ (๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐) ซึ่งท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสมาธิที่เป็นประโยชน์ น่าพิจารณามาก มาบันทึกไว้ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของทุกๆ ท่าน และเพื่อบันทึกเก็บไว้เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ซึ่งคุณงามความดีทุกประการที่เกิดขึ้นแล้วนี้ แม้จะไม่มีวันที่จะหวนกลับคืนมาได้อีก แต่จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยอันยอดเยี่ยมที่สุดของบุคคล สำหรับการเดินทางในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน จากการได้พบ ได้เข้าใจความจริงที่ถูกต้อง ในหนทางที่มีค่าเหนือทรัพย์แลรัตนะใดในสากลจักรวาลดังกล่าวนี้ จึงเป็นผู้ซึ่งเมื่อได้พบได้เห็นการกระทำความดีที่บริสุทธิ์จริงๆ ในการเจริญกุศลทั้งปวง แม้ในกาลนี้ ที่ผู้ซึ่งมีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมที่ทรงแสดง ย่อมรู้ว่า หาได้มีบุคคล ตัวตน ใดๆ ที่เจริญกุศลอันเลิศในครั้งนี้ไม่ แต่เป็นนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ที่ได้สั่งสมอบรมดีแล้วนั้น เกิดขึ้นปรากฏเป็นไป ในกิจทั้งปวง แล้วๆ เล่าๆ อันเป็นทั้งกุศลธรรม ความดี ที่เกิดขึ้นเป็นไป (ของท่านเจ้าภาพ) และเป็นทั้งกุศลวิบากอันยอดเยี่ยม ที่ทุกๆ ท่านได้รับ ทั้งนี้ ไม่เฉพาะเพียงท่านที่มีโอกาสร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้เท่านั้น แต่เป็นกุศลวิบากอันเยี่ยมสำหรับทุกๆ ท่าน และเป็นปัจจัยอันดีสำหรับท่านที่ได้ติดตามพิจารณาธรรมและกิจกรรมครั้งนี้ ด้วยใจชื่นชมอนุโมทนา ในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพ ที่ควรแก่การอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง กราบอนุโมทนาท่านเจ้าภาพและคณะฯ ซึ่งได้จัดการสนทนาธรรมครั้งนี้ด้วยความพิถีพิถันอย่างยิ่งในทุกรายละเอียด เป็นความปีติที่ได้ร่วมรับรู้ในกุศลทุกประการที่ท่านได้กระทำแล้ว อันเป็นเหตุให้เกิดมีปีติ แล้วๆ เล่าๆ ทุกครั้งที่ระลึกได้ ครับ

ผศ.อรรณพ เมื่อวาน (๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐) มีประโยชน์มากๆ เลยนะครับ หลายๆ ท่านที่ได้ฟังการถ่ายทอดท่านได้บันทึกเสียง และได้ปรารภว่า ท่านอาจารย์ได้กล่าวให้เข้าใจ สมาธิกับปัญญา ชัดเจนมาก เพราะว่า สมาธิคือความตั้งมั่น เป็นอกุศลก็ได้ "อกุศลสมาธิ" ซึ่งไม่มีประโยชน์แน่!! และเป็นกุศลสมาธิ ก็เป็นกุศลดีงาม แต่แม้เป็น "กุศลสมาธิ" จะประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ได้ และแม้ว่าจะประกอบด้วย ปัญญา แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ออกจากวัฏฏะไม่ได้!!

เพราะฉะนั้น ในกาลที่เว้นว่างจากพระศาสนา ก็มีการอบรมสมาธิถึงขั้นฌานจิตที่แท้จริง เป็นกุศลที่แนบแน่น ก็ยังออกจากวัฏฏะไม่ได้ มีท่านอาฬารดาบส อุทกดาบส เป็นต้น

แต่ว่า "ปัญญา" จึงจะเป็น "หนทาง" ที่จะให้ออกจากวัฏฏะได้ ด้วยความเข้าใจ มีสมาธิ ไม่มีปัญญาก็ได้ แต่เมื่อมีปัญญา ก็มีความตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ ซึ่งก็คือเอกัคตาเจตสิก ที่เกิดพร้อมปัญญาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราพูดกัน แล้วสรุปว่า ปัญญาดีกว่าสมาธิ โดยที่เราไม่ได้เข้าใจถูก เห็นถูก อย่างชัดเจน

ที่นี้ ที่จะกราบเรียนท่านอาจารย์เพิ่มเติม ก็คือ สมาธินี่ ติดกันเยอะ ติดสมาธิกันเยอะ แล้วก็ทึกทักเอาว่า พระพุทธศาสนาคือการทำสมาธิ!! กราบเรียนท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ได้คุยกับท่านอาจารย์นิดหน่อย ก็อยากจะได้สนทนาเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เขาเข้าใจธรรมะ แต่เขาก็อาจจะทำสมาธิ เพื่อเป็นการพักผ่อนร่างกาย จิตใจ โดยที่เขาไม่ได้เห็นผิดว่าเป็นพุทธศาสนา อย่างนี้ จะเป็นอย่างไรครับ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็พูดคำที่ไม่รู้จัก ไม่รู้จักว่าสมาธิคืออะไร? เหมือน "เห็น" พูดคำที่ไม่รู้จัก "เห็น" มีจริงๆ แต่รู้จัก "เห็น" หรือเปล่า? ก็พูดว่าเห็น เพราะฉะนั้น "สมาธิ" / "ทำสมาธิ" ก็ไม่รู้จักว่า "สมาธิ" คืออะไร?
ผศ.อรรณพ ถ้าเขาเข้าใจว่าสมาธิคือความตั้งมั่น แต่ว่าเขาก็ไม่ได้เห็นผิด
ท่านอาจารย์ ทุกคนก็รู้ เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล?
ผศ.อรรณพ เขาอาจจะต้องการพักผ่อน ก็เป็นโลภะ ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีปัญญา ที่เป็นเครื่องส่อง เป็นแสงสว่างที่ส่องสิ่งที่ละเอียด ให้ปรากฏลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังธรรมะ ไม่มีทางที่จะเข้าใจสมาธิเลย ได้แต่พูดคำว่าสมาธิ เช่น ไม่มีสมาธิ ฟังแล้วตอบได้ไหม? ตอบผิด ไม่ถูก เพราะไม่มีสมาธิ ไม่ได้ฟัง ใช่ไหม? แต่ถ้ามีสมาธิ มีความตั้งใจที่จะฟัง แล้วเข้าใจ จึงตอบถูก แต่เขาสามารถจะตอบแค่เขาตั้งใจฟัง แต่เขาก็ไม่รู้ว่า "ตั้งใจ" คือ อะไร?

รวมความว่า ถ้าไม่มีการได้ฟังพระธรรม หรือฟังเผินๆ มีแต่ชื่อ ชื่อเยอะมากเลย ฌานจิต ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน รูปฌาน อรูปฌาน มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ ก็ "ฟังไปเป็นคำทั้งหมด" แต่ "ความเข้าใจสิ่งที่กำลังมี" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด!! ไม่ต้องรีบร้อน แต่ "แต่ละคำ" มี แต่ขอให้เข้าใจ "แต่ละคำ" ไม่ใช่ว่า "พูดตามกันไป" แล้วก็ไม่เข้าใจ!!

เพราะฉะนั้น สมาธิมีจริงๆ ถูกต้องไหม? ถ้าจิตของเขาตั้งมั่น เขาก็บอกว่า กำลังเป็นสมาธิ ก็เป็นสมาธิจริงๆ แต่ "เป็นเขา" หรือว่า "เป็นธรรมะ"??? ถ้าไม่มีการที่จะรู้ว่า "ทุกอย่างเป็นธรรมะ" เมื่อนั้นจะไม่มีการขัดเกลากิเลส เพราะ "ปัญญาที่รู้" ต่างหาก ที่ "ขัดเกลา" ไม่ใช่ "ตัวตน" ที่ไปพยายามทำ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย!!! แล้วตู่ว่านั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอันตราย เพราะเหตุว่า กว่าจะได้ยินได้ฟังคำสอนที่ตรง ที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมะ เป็นปรกติ ทีละคำ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าสมาธิ ไม่ใช่รูปธรรม ดอกไม้ โต๊ะ เก้าอี้ สี เสียง กลิ่นต่างๆ เหล่านี้ ไม่เป็นสมาธิ ทำสมาธิไม่ได้ เพราะไม่เห็น ไม่รู้ แล้วจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น สมาธิมีจริง ไม่ใช่เราแน่นอน ต้องมั่นคงที่ว่า "ไม่ใช่เรา" มีปัจจัยก็เกิด ถ้าไม่มีปัจจัยไม่มีใครไปสามารถทำให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้สักอย่าง!! นี่คือความมั่นคง ที่จะค่อยๆ ละความเป็นเรา!!! เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นเรา ไม่ใช่ฟังแล้วก็ไปละตอนนั้นตอนนี้ แต่ว่า เริ่มต้นตั้งแต่ฟัง ด้วยความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ว่าขณะนี้ มีสิ่งที่มีจริง หลงยึดถือว่าเป็นเรา นานมาก ปล่อยไม่ได้ ทิ้งไม่ได้เลย เป็นเราจนกว่าจะได้ฟังคำที่กล่าวถึงแต่ละหนึ่งที่มี ให้พิจารณาจริงๆ ว่า "เห็น" มี เพราะ "เห็นเกิดขึ้น" แล้ว "เห็นก็ดับไป" เพราะฉะนั้น "เห็น" จะ "เป็นเรา" ได้ไหม? "ได้ยิน" มี จากไม่ได้ยิน "ได้ยิน" ก็เกิดขึ้น ได้ยิน แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น "ได้ยิน" เป็น "เรา" ได้ไหม?

ไม่ว่าอะไรทั้งหมด ปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริง จนกระทั่งถึง "ลักษณะที่เกิดแล้วดับ" เมื่อนั้น ความเห็นที่ถูกต้องว่า "ไม่ใช่เรา" มีกำลังเพิ่มขึ้น กว่าจะสละ ละความเป็นตัวตน หรือความเป็นเราได้ นานมาก แต่ทั้งหมดต้องมาจากความรู้ ความเข้าใจถูกต้องอย่างเดียว ถ้าไม่ใช่ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มี ไม่สามารถที่จะถึงการที่จะละคลายกิเลส อุตส่าห์ฟังธรรมะตั้งนาน ใช่ไหม? อุตส่าห์ไปทำวิปัสสนา เพราะว่าคนที่ไปทำวิปัสสนา มีสองพวก พวกหนึ่งไม่เคยฟังธรรมะเลย อีกพวกหนึ่ง ฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องปัจจัย ทุกอย่างหมด เป็นครูบาอาจารย์ที่สอนคนอื่นเรื่องนี้ด้วย แต่ก็มีสำนักปฏิบัติ!! ให้คนไปปฏิบัติ!! ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจสิ่งที่มีว่า "ไม่ใช่เรา" ไม่ได้มั่นคงเลย!! เพราะว่า ขณะนี้ต่างหาก ที่เข้าใจว่าเป็นเรา การที่จะ "ละความเป็นเรา" ได้ ก็ต่อเมื่อ "รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น" ไม่ใช่ในขณะอื่น!!

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจพระธรรมเลย แม้จะมีคำพยากรณ์ว่าพระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ "จะดำรงอยู่ได้" ไม่ได้หมายความว่าจะต้องดำรงอยู่!! เพราะฉะนั้น จะดำรงอยู่ได้ถึง ๕,๐๐๐ ปี เมื่อมีผู้ที่ศึกษาและเข้าใจธรรมะ!!! ต้องมีข้อแม้ด้วย!! ไม่ใช่ไปเรียนมาแล้ว แล้วก็คิดว่าเข้าใจแล้ว แล้วก็ตั้งสำนักปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติ นั่นไม่ใช่การเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้! ไม่ใช่เรา!!!

และถ้าไม่มีความเข้าใจว่า "เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา" แล้วเมื่อไหร่ ที่จะไม่ใช่เรา? ไปสำนักปฏิบัติ ก็ไม่ได้รู้ความจริงในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิด ไม่มีสักขณะเดียวที่ "เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา!!!" แต่ก็ไปสำนักปฏิบัติ!!

อีกพวกหนึ่งก็คือว่า ไม่ได้ฟังธรรมะเลย เขาบอกว่า วิปัสสนา ทำวิปัสสนา ชวนกันไปทำวิปัสสนา ไม่รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร? ถ้าถามดู ตอบไม่ได้สักอย่าง!! แล้วไปทำอะไร? คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทำให้คนโง่!! ไม่ได้เพิ่มอวิชชา แต่ทำให้สิ่งที่ไม่รู้ ค่อยๆ ละคลาย ด้วย "ความเข้าใจ" จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริง และสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสแล้วทุกคำ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ รู้ได้ มิฉะนั้น ไม่ทรงแสดง

ผศ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ประเด็นเรื่องสมาธิ ที่มีโทษอย่างมาก คือ ไม่เข้าใจพระธรรมคำสอน แล้วก็คิดว่า พระพุทธศาสนาคือการทำสมาธิ และในเมื่อไม่เข้าใจ ก็เป็นการ "ตั้งมั่นผิด" เป็น "มิจฉาสมาธิ" แล้วยังเอามิจฉาสมาธินั้นมาสอนกัน แล้วก็ตู่ว่า นี่คือหนทาง นี่คือวิปัสสนา แต่จริงๆ แล้วเป็น "มิจฉาสมาธิ" ซึ่งประกอบด้วยความเข้าใจผิด การเห็นผิด

แต่ถ้าคนที่ศึกษาธรรมะเข้าใจแล้ว อาจจะเป็นเวลาที่เขาเหนื่อย เขาก็ไม่ได้คิดว่าเขาต้องทำสมาธิอะไรนะครับท่านอาจารย์ ก็อาจจะพิงเก้าอี้ หลับตาแล้วหายใจลึกๆ เพื่อพักผ่อน โดยที่ไม่คิดว่าจะต้องไปทำอันนี้เพื่อให้ขัดเกลากิเลสอะไร อันนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะมีการพักสายตา พักผ่อน ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องมาทำสมาธิ ทำอะไรทั้งสิ้น!!

อ.คำปั่น ก็ชัดเจนนะครับ ทุกอย่างจะกระจ่างขึ้น เมื่อได้ฟังคำจริงแต่ละคำ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น ที่ได้ฟังตั้งแต่ต้นมา ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเน้นย้ำถึงสภาพธรรมที่มีจริง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ควรรู้ยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลาย การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล

เพราะฉะนั้น สาระสำคัญ จึงอยู่ตรงนี้ คือ เข้าใจสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง จริงๆ และจะเข้าใจได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ฟังคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เชิญอาจารย์กุลวิไลครับ

อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ ดิฉันขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับคนยุคนี้ เรื่องของสมาธิ เพราะอย่างที่ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจว่า ถ้าไม่ได้ศึกษา เอาคำมาพูดโดยไม่รู้จัก แล้วเขาก็จะมีความเข้าใจผิดด้วย ว่าสมาธิจะต้องเป็นทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น และที่สำคัญ จะคิดว่าเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิด้วย เดี๋ยวนี้เขาก็จะมีเรื่องการแพทย์ เอาสมาธิมาใช้ในการรักษา และพวกที่เน้นเรื่องสุขภาพ เขาก็จะมีการฝึกโยคะ แล้วก็เป็นการทำสมาธิกัน

หรือแม้เด็ก ก็เข้าคลาส ทางโรงเรียนก็อยากให้เด็กมีสมาธิ คิดว่าการมีสมาธิ ทำให้เด็กฉลาดและสามารถเรียนเก่ง เพราะว่าเด็กไม่ค่อยจะอยู่นิ่งกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ เพราะฉะนั้น เขาก็จะให้เด็กมาฝึกสมาธิ ส่วนหนึ่งคือเพื่อที่จะให้เด็กอยู่กับการศึกษาได้และเรียนเก่งด้วย แต่ก็มีบางที่บอกให้เด็กมีสติด้วย และมีปัญญาด้วย ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ประเด็นนี้ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ว่า ถ้าหากว่าบุคคลที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย แล้วก็เอาคำที่มีในพระไตรปิฎกมาใช้ แล้วก็ไม่ตรงกับสภาพธรรมะตามความเป็นจริง เขาก็จะใช้กันแบบที่ไม่เห็นคุณค่าของการที่จะต้องศึกษาพระธรรมคำสอนค่ะท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ "พูดคำที่ไม่รู้จัก" มีคำเดียว ไม่ว่าใครจะทำอะไร ก็คือ "พูดคำที่ไม่รู้จัก"
ผศ.อรรณพ แต่ "เขาคิด" ว่า "เขารู้จัก"
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้คงไม่พูด ถ้าเขาไม่รู้คำนั้น เขาคงไม่พูดคำนั้น
ผศ.อรรณพ ใช่ครับ เขาคิดว่าเขารู้ แล้วเขาก็จะเอามาใช้ประโยชน์อย่างที่พี่กุลบอก
ท่านอาจารย์ แล้วเขาก็ไม่รู้ตัวด้วย ว่าเขาพูดคำที่ไม่รู้จัก จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม

อ.กุลวิไล ก็เหมือนที่ท่านอาจารย์ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญญา ซึ่งในพระไตรปิฎก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แสดงชัดเจนมากว่า สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม จิต เจตสิกและรูป "ปัญญา" ประเสริฐสุด เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่เป็นคำจริง เขาก็จะไม่สามารถรู้ธรรมะตามความเป็นจริงได้ แต่สิ่งเหล่านี้ เขาก็ไม่ได้สะสมมาที่จะศึกษาเลย ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่ช่วยกันได้ เพราะว่าถ้าเขาไม่ศึกษาพระธรรมคำสอน เขาก็ไม่สามารถจะเข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรมได้

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ สิ่งที่ทำให้ระบบการศึกษา ตั้งแต่ประถมขึ้นมา คิดกันก็คือว่า ทำสมาธิแล้วนักเรียนจะได้เรียนหนังสือเก่ง ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ?
ท่านอาจารย์ ก็พูดคำที่ไม่รู้จัก
ผศ.อรรณพ เอาละครับ เขาไม่รู้จัก แต่ถ้าเขาให้ไปทำอย่างนั้น ที่เขาคิดว่าเป็นสมาธิ ให้เด็กอาจจะตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วจะมีผล ทำให้เรียนหนังสือเก่ง จริงไหมครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย แค่ความสนใจ ก็ทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียนได้

ผศ.อรรณพ จริงๆ อันนี้เป็นการทึกทักกัน เพราะว่าเด็กที่เขาสะสมมา อย่างพวกฝรั่งพวกอะไร เด็กนักเรียนของเขา เขามีความสนใจในศาสตร์นั้น เขาก็เรียนคอมพิวเตอร์ เรียนอะไรเก่ง โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งหลับตาท่องอะไร หายใจเข้าออกอะไรทั้งสิ้น แต่เด็กที่เขาสะสมมา ที่เขาจะมีความเก่งในวิชาการต่างๆ พอถูกจับมานั่งสมาธิ เกิดคนนั้นเรียนดี ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง แล้วก็อ้างว่าสมาธิ ทำให้เขาเรียนเก่ง

เพราะฉะนั้น ก็เลยบังคับให้เด็กนั่งหลับตา ทำสมาธิ แล้วเหมือนได้สองอย่าง หนึ่งเรียนเก่งด้วย สองเป็นการรักษาพระศาสนาด้วย แต่จริงๆ แล้วเป็นการทำลายคำสอน เพราะตัดโอกาสให้เขาได้เข้าใจในหนทางที่ถูกต้อง แล้วคิดว่าการทำในสิ่งที่ไม่ได้เป็นพระธรรมคำสอน แต่จะเป็นแนวทาง เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเป็นตัวตนที่เข้าใจผิดทั้งสิ้นเลย เพราะว่าคนที่เขาไม่ได้นั่งสมาธิแล้วเขาเรียนหนังสือเก่งๆ ก็เยอะแยะไป

ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่รู้ตัวว่าพูดคำที่ไม่รู้จัก เริ่มคิดแล้ว สามารถที่จะรู้จักคำที่พูดได้ไหม? และใครสามารถที่จะทำให้เข้าใจได้ ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็จะเห็นประโยชน์ แม้แต่ว่า เขาจะไม่นับถือหรือนับถือศาสนาใดๆ ก็ตาม แต่ความจริงเป็นความจริง ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าใครรู้สึกตัว ว่าพูดคำที่ไม่รู้จัก อยากจะรู้จักคำไหนล่ะคะ? มีทั้งหมด ในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกคำ

อ.คำปั่น กราบท่านอาจารย์ครับ ในเรื่องของความไม่รู้และความเห็นผิด ก็เป็นอันตรายมาก แม้แต่ในโรงเรียนที่มีการสอนในสิ่งที่ผิดๆ อย่างเช่น ให้นักเรียนนั่งสมาธินี้ ก็เป็นการปลูกฝังในสิ่งที่ผิดตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ ท่านอาจารย์ครับ ก็เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าจะทำให้เด็ก สะสมในสิ่งที่ผิดต่อไปครับ และทางออกที่ถูกต้อง ที่จะเป็นแนวทางแก้ไขในส่วนนี้ ควรจะเป็นอย่างไรที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเด็กตั้งแต่ต้นครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ใครสอนเด็ก?
อ.คำปั่น ผู้ใหญ่ครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ สอนผิดหรือสอนถูก?
อ.คำปั่น สอนผิดครับ
ท่านอาจารย์ แล้วจะแก้ไขอย่างไร?
อ.คำปั่น ก็ต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ก่อนครับ
ท่านอาจารย์ โดยมาก จะได้ยินคำว่า พระพุทธศาสนาดีที่สุด แก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แล้วเมื่อไหร่จะเรียน? ได้แต่พูด หรือบอกว่า ให้เด็กๆ เรียน แล้วผู้ใหญ่ล่ะ? ดีมาก ต้องเอาไปสอนในโรงเรียน แต่ผู้ใหญ่ไม่เรียนเลย!! เพราะฉะนั้น จะถูกได้อย่างไร?

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ครับ ผมขอแทรกนิดหนึ่งครับ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า "พูดคำที่ไม่รู้จัก" เป็นการเบรค เบรคเอี๊ยดเลยนะครับท่านอาจารย์ หมายความว่า จะรู้สึกว่า อะไรนี่ สิ่งที่เขาพูด เขาไม่รู้อะไรเลยหรือ?
ท่านอาจารย์ ใช่สิ ลองถามสิ
ผศ.อรรณพ สามารถที่จะสอบถาม คุยกันได้

ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่รู้สึกตัวว่าพูดคำที่ไม่รู้จัก แล้วได้ยินคำนี้ ต้องสนใจทันที แล้วมีใครรู้จัก? ก็ต้องบอกว่าคนที่รู้จักมี ถามสิคำอะไร? คนนั้นรู้จักทั้งหมด!!
ผศ.อรรณพ สมมติผมจะลองเป็นคนพูดดูนะครับว่า พระพุทธศาสนามีประโยชน์มากเลย
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร?
ผศ.อรรณพ เพราะว่าสอนให้เข้าใจความจริง แล้วก็ได้ทำดี

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม? คำสอนของพระพุทธเจ้า
ผศ.อรรณพ มีเมื่อศึกษา
ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อศึกษา ศึกษาหรือยัง?
ผศ.อรรณพ ก็แล้วแต่ บางคนไม่ได้ศึกษา แต่เขาคิดว่า ... .
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษา ก็ "พูดคำที่ไม่รู้จัก" ต่อไป

ผศ.อรรณพ ท่านอาจารย์ถึงกล่าวว่า คนที่เพียงแต่จะยกย่องว่า พระพุทธศาสนาดีเหลือเกิน มีประโยชน์ต่อสังคม มีประโยชน์ต่ออะไรทุกอย่าง แต่ตัวเขาเองไม่ได้ศึกษา
ท่านอาจารย์ แล้วปากตรงกับใจไหม?

ผศ.อรรณพ ไม่ตรง เพราะว่า ในเมื่อบอกว่าสิ่งนั้นดีเหลือเกิน แต่ตัวเองก็ไม่ได้ศึกษาในสิ่งนั้นเลย
ท่านอาจารย์ แล้วยังเกี่ยงให้คนอื่นศึกษาด้วย!!
ผศ.อรรณพ แต่ก็ยังดูว่า เหมือนกับจะมีความหวังดีเจืออยู่ว่าเห็นว่าสิ่งนั้นดี
ท่านอาจารย์ ทำไมไม่หวังดีกับตัวเองที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง!! ก็เกี่ยงกันไป เกี่ยงกันมา ทั้งโลก!!

คุณทรงเกียรติ กราบท่านอาจารย์ครับ ก็คือ จะมีลักษณะว่า เวลาคุณครูคุมเด็กไม่อยู่ เอ้านั่งสมาธิ
ท่านอาจารย์ เปลี่ยนใหม่ได้ไหม? นั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เป็นครูนี่ ถ้าจะให้เขาทำสมาธิก็อย่าให้เขาเข้าใจผิด!! บอกให้เขานั่ง แต่ไม่ต้องพูดเรื่องทำสมาธิ เพราะเด็กทำไม่ได้เลย ผู้ใหญ่เห็นเด็กนั่งนิ่งๆ นายแพทย์คนหนึ่ง ท่านก็ไปปฏิบัติธรรม แล้วก็ให้ลูกไปด้วย ลูกก็ไม่รู้อะไรเลย คิดดู ให้นั่งสมาธิหรือนั่งวิปัสสนาก็แล้วแต่ นั่งได้นาน กลับไปบ้านพ่อชมเชยลูก ลูกเก่งมาก ลูกบอก พ่อไม่รู้หรือ ว่าเขาไม่รู้อะไรเลย เขาคิดเรื่องอื่นทั้งนั้นเลย ระหว่างที่เขานั่ง แต่เขานั่งได้ ชั่วโมงหนึ่งเขาก็นั่งได้
เพราะฉะนั้น แทนที่จะเอาความเข้าใจผิดไปให้เด็ก ว่าสมาธิ บอกเด็กให้นั่งเฉยๆ กี่นาทีก็ได้

คุณทรงเกียรติ ผมขอออกตัวก่อนนะครับ ผมไม่ได้ให้เด็กทำสมาธิ ผมให้เด็กฟังเสียงดนตรี เพราะผมต้องการให้เขาเงียบ ผมเจอกรณีที่ว่า สาเหตุที่ให้ทำก็คือคุณครูหมดมุข ไม่รู้จะให้เด็กที่ยุกยิกอยู่ทำอย่างไร แต่ผมเห็นเวลาที่คุณครูเขาทำ เด็กก็ไม่นิ่งอย่างที่ ...

ท่านอาจารย์ เราไม่ได้หมายความว่าให้เด็กนั่งตัวแข็ง แค่ไม่ทำอะไรเดือดร้อนคนอื่น ก็ให้เขานั่งเฉยๆ
คุณทรงเกียรติ ทีนี้จะมีอีกว่า กรณีก็คือว่า คุณครูผู้หลักผู้ใหญ่ บางทีท่านก็เข้าใจว่า สิ่งที่ท่านจะมอบให้กับบุคลากรหรือว่าผู้ใกล้ชิดก็คืออยากจะให้ธรรมะ
ท่านอาจารย์ รู้จักธรรมะหรือเปล่า?
คุณทรงเกียรติ อย่างเมื่อกี้นี้ ที่ท่านอาจารย์ถามอาจารย์อรรณพ ผมคิดถึงภาพที่คุณครูผู้น้อยลองไปถามคุณครูผู้ใหญ่อย่างนั้น เขาก็คงจะ ... .
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้คุณทรงเกียรติบอกว่าพาเด็กไปสำนักปฏิบัติหรืออย่างไร?

คุณทรงเกียรติ พาบุคลากรไปครับ
ท่านอาจารย์ พาไปทำไม? พาไปที่จะให้เด็กนั่งนิ่งๆ หรืออย่างไร?
คุณทรงเกียรติ พาบุคลากรไปเพื่อ..ใช้คำว่า..ไปปฏิบัติธรรม หรือว่าไปเรียนรู้
ท่านอาจารย์ ค่ะ แค่นี้ก็ผิดแล้ว ทุกคำ เป็นคำที่ไม่รู้จัก พูดคำที่ไม่รู้จัก!!
คุณทรงเกียรติ ผมเคยคุยกับทางผู้ใหญ่ที่ชวนผมไป แล้วผมก็บอกว่า ผมขอไม่ไปครับ ผมบอกว่า ด้วยข้อมูลที่ได้ศึกษาก็บอกว่าไม่ใช่กิจของพระภิกษุที่จะมาอบรมบุคลากรอย่างนี้ ผมก็เลยขอตัว จนเขาเข้าใจแล้วว่าเราไม่ให้ความร่วมมือทางด้านนี้ เขาก็ละเลยผ่านไป เท่านั้นเองครับ

ผศ.อรรณพ ร่วมมือกันทำลายพระพุทธศาสนาด้วยความไม่รู้!!
คุณทรงเกียรติ ผมไม่กล้าใช้คำนั้น เพราะว่าเราอยู่ในฐานะครูผู้น้อย
ผศ.อรรณพ การที่ไปให้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไปปฏิบัติ ใช้คำว่าปฏิบัติก็ไปทำสมาธิ แล้วก็บอกว่านี่เป็นหนทาง นี่เป็นพุทธศาสนา มีผลเสียอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่ง ถ้ามีเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เชื่อเช่นนั้น ก็คือ หลง ผิดทางแล้ว พุทธศาสนาก็ถูกทำลาย!! แต่ถ้ามีเยาวชนที่เขาเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์พูด เขามีเหตุมีผล เขาก็รู้ว่าเขาไม่ได้รู้อะไร เขาคิดเรื่องอื่น แล้วเขายังไม่ได้ยินพระธรรมที่ถูกต้อง เขาก็เลยรู้สึกทางด้านลบกับพระพุทธศาสนา ว่าเป็นอะไรก็ไม่รู้ ที่เขาต้องไปนั่ง แล้วเขาก็ไม่รู้ พวกนี้ก็จะไม่สนใจ ซึ่งพวกนี้มีเยอะ

แต่พวกนี้ ถ้าเขาได้ยินได้ฟังความจริง อย่าคิดว่าเด็กเข้าใจไม่ได้ เด็กบางคนมีเหตุมีผล มีความเข้าใจ อย่างที่เราไปเชียงใหม่ก็เห็นมีเด็ก ป.๒ พูดก็ยังพอเข้าใจเหตุผลได้ ถ้ามีโอกาสที่จะปลูกฝัง สิ่งที่ถูกต้องให้เขา ซึ่งบางคนเขาก็สะสมมา ก็สามารถเข้าใจได้ แต่ถ้าไปสอนอย่างนี้ เด็กที่เขาไม่ได้สะสมมาดี เขาก็อาจจะไม่ได้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็เบื่อหน่ายไปเลย หรือว่า เขาก็หลงเชื่อไปเลย ก็เป็นการทำลายพระธรรมคำสอน ซึ่งกว่าพระองค์ท่านจะประกาศแสดง และอย่างที่ท่านอาจารย์พูดบอกว่า "พูดคำที่ไม่รู้จัก" อาจจะดูเหมือนเป็นการเบรคแรงมาก ว่าเขาพูดอะไร? เขาไม่รู้สิ่งที่เขาพูด เหมือนกับ ... .

ท่านอาจารย์ ก็จะได้รู้สึกตัว
ผศ.อรรณพ เหมือนกับช๊อตเลย
ท่านอาจารย์ ช่วยไม่ได้ ก็ฟังดูสิ ถ้าคิดว่าควรจะสนทนาต่อก็มีคำสนทนาต่อไปได้ ใช่ไหม? ถ้าเราบอกว่า พูดคำที่ไม่รู้จัก!! เขาก็น่าจะคิดว่า คำไหน? ที่เขาไม่รู้จัก!! แทนที่จะพูดคำที่รู้จัก ก็พูดคำที่ไม่รู้จักต่อไป ก็มีสองแบบ

ผศ.อรรณพ กราบเท้าท่านอาจารย์ ผมยังไม่กล้าพูดคำนี้กับคนทั่วไปที่เขาไม่ได้ศึกษาธรรมะครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แต่เวลานี้ เรากำลังพูดในระหว่างพวกเรา ให้รู้ว่าอะไรถูกต้อง ใช่ไหม? จะได้เข้าใจถูกต้องว่า ถ้าจะให้เด็กไม่เดิน ให้นั่งก็บอกให้นั่งไป กี่นาทีก็แล้วแต่ ใช่ไหม? แล้วทำไมคุณครูถึงอยากให้เด็กทำสมาธิ?

คุณทรงเกียรติ ตอบแทนที่เคยเห็นนะครับ คุณครูใช้การนั่งสมาธิ เป็นการลงโทษด้วย ไปกันใหญ่แล้วครับเดี๋ยวนี้ บางทีเด็กทำกิจกรรมอะไรที่เป็นการไปรบกวนคนอื่น แล้วก็ ...
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นการสมควรที่จะพูดว่า "พูดคำที่ไม่รู้จัก" หรือเปล่า?
คุณทรงเกียรติ ใช่ครับ ในความคิดเห็นที่ผมเจอก็จะรู้สึกว่า ไปขนาดนั้นกันแล้วครับ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณครูทั้งหลาย ก็เป็นผู้ที่ควรอย่างยิ่ง ที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง เวลาได้ยินคำว่า "พูดคำที่ไม่รู้จัก" ต้องเอะใจแล้ว แล้วอะไรล่ะ ที่พูดแล้วรู้จัก?
คุณทรงเกียรติ จะให้พูดในสิ่งที่รู้จัก ยากจังเลยครับ
ท่านอาจารย์ ก็พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม? ไม่ใช่ง่ายๆ เลย ให้เห็นคุณสูงสุด ว่าทำไม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้คนจึงได้กราบไหว้ เคารพบูชา สักการะ ไหว้ครูก็ยังไม่เท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไหว้ใครทั้งโลก ก็ยังไม่เท่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไม่อยากรู้หรือ? ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีคุณอย่างไร?

ก็ไม่ใช่ไป "คิดเอง" ไม่ใช่พูดคำที่ไม่รู้จัก อย่างนั้น อย่างนี้ สติ ปัญญา อะไรต่างๆ แต่ก็ไม่รู้ว่า "ทุกคำ" เป็นปัญญาทั้งหมด ซึ่งจะต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไตร่ตรอง พิจารณา จนกระทั่งเป็นความเข้าใจตามลำดับด้วย

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 2

ข้อความบางตอนจาก รัตนสูตร

ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

พระศากยมุนี ผู้มีพระหฤทัยดำรงมั่นได้บรรลุธรรมใดอันเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมตธรรม เป็นธรรมประณีต ธรรมชาติอะไรๆ อันเสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

บุคคล ๘ จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน เป็นสาวกของพระสุคตเจ้า ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก สังฆรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้

... ... ... ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงแรม บียอน รีสอร์ท กระบี่ ... ... ...

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพและคณะ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

... ... ...

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการถ่ายทอดสดการสนทนาธรรมในครั้งนี้ได้ที่นี่ ... ..


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ม.ค. 2560

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพและคณะ และอนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 24 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 24 ม.ค. 2560

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพและคณะ
อนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม
ผู้ถ่ายทอดความงามของพระธรรมพร้อมด้วยภาพกิจกรรมที่สำคัญในครั้งนี้
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 25 ม.ค. 2560

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของท่านเจ้าภาพและคณะทุกๆ ท่าน
อนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง
ที่ได้ถ่ายทอดความงามของพระธรรมพร้อมด้วยภาพกิจกรรมที่สำคัญในครั้งนี้
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 25 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
จิรัฎฐ์
วันที่ 25 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ม.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kullawat
วันที่ 29 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ