เมื่อคุณนีน่า วัน กอร์คอม ตอบปัญหาธรรมที่วัดบวรนิเวศ
เมื่อคุณนีน่า วัน กอร์คอม ตอบปัญหาธรรมที่วัดบวรนิเวศ
วันนี้เป็นโอกาสพิเศษซึ่งไม่ได้มีมาเป็นเวลาหลายปีทีเดียว ที่ท่านผู้ฟังทุกท่านคงจะคุ้นเคยกับหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเขียน คือเรื่อง “ธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน” และ “ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน” ซึ่งได้พิมพ์หลายครั้ง และทุกคนที่ได้อ่านก็มีความเข้าใจดี และเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์มาก แล้วก็ส่งต่อๆ กันให้เพื่อนฝูงมิตรสหายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อ่าน และทุกท่านก็เห็นว่ามีประโยชน์มาก คุณนีน่าเคยอยู่เมืองไทยเมื่อ ๑๐ ปีก่อน แล้วก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะจากเมืองไทยไปแล้วก็ไม่ได้ขาดการสนใจ ยังคงมีความสนใจศึกษาธรรมอยู่ตลอดเวลา แล้วได้เขียนเรื่องต่างๆ อีกหลายเรื่อง ซึ่งยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย และยังไม่ได้พิมพ์ อันนี้ก็คงต้องแล้วแต่โอกาส แล้วในวันนี้คุณนีน่าก็ได้มาที่นี่ เพราะเหตุว่าสามีของคุณนีน่าจะไปประเทศอินโดนีเซีย จะไปเป็นเอกอัครราชทูตเนเทอร์แลนด์ที่นั่น และก่อนที่จะไปที่นั่นก็มาแวะที่กรุงเทพเพื่อพักผ่อน และจะได้มีโอกาสที่จะศึกษาและทำประโยชน์ในทางธรรม
สำหรับในวันนี้ทุกท่านก็คงได้เห็น ได้พบแล้ว ทั้งคุณนีน่าและสามี ซึ่งสำหรับท่านทูตเอง ทุกท่านคงจะอนุโมทนา เพราะท่านเป็นผู้ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ภรรยาได้ศึกษาธรรม และเป็นกำลังใจอย่างดี แม้ในการประชุมที่ศรีลังกาหรือที่อินเดีย ท่านเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้คุณนีน่าได้ไปทำประโยชน์ที่นั่นทุกครั้ง ตั้งแต่การประชุมที่ศรีลังกาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และแม้ในการไปอินเดียในคราวก่อน คุณนีน่าก็ได้ไปด้วย เพราะสามีเห็นว่าเป็นประโยชน์ และสำหรับตัวของท่านทูตเองนั้นก็สนใจในธรรม แต่เนื่องจากผู้ที่อยู่ในวงการทูตก็มีเวลาน้อย เพราะเหตุว่ามีหน้าที่การงานมาก แล้วยังต้องพบปะช่วยเหลือบุคคลต่างๆ ในวงการที่ทำงานอยู่ แต่แม้กระนั้นตอนเช้าๆ เวลาที่รับประทานอาหาร ท่านก็ฟังเทปที่ภรรยาอัดธรรมไว้ให้ หรือว่าอ่านหนังสือที่ภรรยาเขียน โดยเฉพาะเวลาที่ภรรยาไปต่างประเทศก็ฟังเทปและอ่านหนังสือ เพราะฉะนั้น ก็เป็นท่านทูตชาวต่างประเทศซึ่งสนใจในธรรม เท่าที่ทราบในขณะนี้ก็คงจะเป็นผู้เดียว แต่ว่าทั้งนี้ให้เห็นว่า เมื่ออดีตกาลอาจจะเป็นเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปี ทุกท่านจะอยู่ที่ไหน ไม่มีใครทราบ ใช่ไหมว่า ในอดีตอาจจะได้อยู่ที่เขตแดนพระวิหารเชตวัน ได้ฟังธรรมที่นั่น หรือมีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม ความสนใจและการสะสมในอดีตเป็นเหตุให้ทุกท่านเห็นว่า ชีวิตของแต่ละคนต่างกันไป โดยที่ไม่เลือกผิวพรรณวรรณะ ไม่เลือกชาติ ไม่เลือกศาสนาใดๆ เลย แต่ย่อมเป็นไปตามการสะสม
สำหรับชาวไทยเราก็จะได้เห็นสหายธรรมต่างประเทศที่มีความสนใจในธรรม และได้ทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนาหลายท่าน มีคุณนีน่า วัน กอร์คอม และอีกหลายๆ ท่านทีเดียวเป็นตัวอย่าง และในวันนี้คงจะเป็นโอกาสเดียวที่คุณนีน่าจะได้พบทุกท่านที่นี่ เพราะว่าในวันเสาร์นี้ก็จะไปอินโดนีเซียแล้ว ขอเชิญท่านที่ใคร่จะทราบเรื่องความสนใจของคุณนีน่า หรือว่าถ้ามีปัญหาธรรมใดๆ ที่คิดว่า การฟังสหายธรรมย่อมเป็นประโยชน์ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ขอเชิญคุณนีน่าค่ะ
นีน่า ดิฉันมีความรู้สึกว่า ทุกคนมีความสนใจจริงๆ ในธรรม ในสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ที่คุณสุจินต์พูดตลอดเวลาทั้งวิทยุและที่นี่ด้วย ได้พบกับคุณสุจินต์หลายปีมาแล้ว คุณสุจินต์สอนให้ดิฉันรู้เรื่องการปฏิบัติตามธรรมชาติ ไม่ต้องทำอะไรพิเศษ ไม่ต้องบังคับอะไร ดิฉันคิดว่า ดี เพราะว่าชีวิตของดิฉันมีธุระมากเสมอ และการนั่งนานๆ ในห้องสำหรับดิฉันไม่ชอบ และไม่เห็นว่ามีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้น จึงเรียนอภิธรรมก่อน เพราะว่าพระอภิธรรมเป็นเรื่องของความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เรื่องจิต เจตสิก รูป ว่ามีจิต เจตสิก รูป ตลอดเวลา พูดหลายครั้งเรื่องสติ แต่สำหรับทุกคนและสำหรับดิฉันด้วย ไม่ง่ายเลย สติเป็นอะไร สติรู้อะไร ปัญญาเป็นอะไร ปัญญารู้อะไร อารมณ์ของสติเป็นปรมัตถสัจจะ มีนามและรูป เช่น ได้ยินเสียง เห็นสี มีตลอดเวลา แต่เราไม่รู้มากเรื่องนี้ มีอวิชชามาก มีสติเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ตอนแรกไม่แน่ใจ อะไรกำลังปรากฏ
เราคิดเรื่องนามและรูปทีละเล็กทีละน้อย เข้าใจว่า มีเสียงเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม เสียงกำลังปรากฏ เราคิดเรื่องเสียง เสียงรถยนต์ รถยนต์เป็นสมมติสัจจะ ความคิดเรื่องรถยนต์ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่คิดเป็นธรรมชาติปรากฏเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิดเรื่อง แต่มีลักษณะ เดี๋ยวนี้เห็น ถ้ารู้ว่า เห็นคน เป็นความคิดเรื่องสมมติสัจจะ มีอะไรที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้เห็น มีอะไรที่ถูกเห็นด้วย เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะ ต้องอดทนมาก ต้องเจริญปัญญาหลายชาติ ไม่ใช่ในชาติเดียว ผู้มีพระภาคเจริญสติปัฏฐานหลายๆ ชาติ ถ้าเริ่มเข้าใจลักษณะอะไรปรากฏ รู้ละเอียดยังไม่ได้ ก็ต้องเจริญทีละเล็กทีละน้อย แต่เริ่มเข้าใจได้ ถ้าเริ่มเข้าใจ สติเป็นอะไร เจริญได้ มี ๖ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ลักษณะปรากฏโดยทวารเดียว หลายลักษณะในเวลาเดียวกัน รู้ไม่ได้ แต่ไม่ต้องบังคับสติ บังคับสติไม่ได้ ไม่ใช่สติจริงๆ เป็นการติดในสมมติที่เรามีเรื่องสติ แต่สติเกิดเองได้ ถ้าฟังเรื่องธรรมบ่อยๆ และรู้เรื่องพระอภิธรรมด้วย และพิจารณาแล้วเริ่มปฏิบัติได้ พูดเรื่องธรรมยากจริงๆ ถ้ามีคำถามง่ายกว่า สำหรับดิฉันพูดภาษาไทยไม่ค่อยออก
ผู้ฟัง ดิฉันเคยได้อ่านหนังสือของคุณนีน่า วัน กอร์คอม โดยอาจารย์ สุจินต์ท่านได้พิมพ์ แปลเป็นภาษาไทย ก็รู้สึกยินดีและซาบซึ้งและอยากพบ และวันนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ได้พบ ดิฉันได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์หลังคุณนีน่า ฟังแล้วก็ได้นำไปปฏิบัติ ก็รู้สึกว่าได้รับประโยชน์ ได้รับความเข้าใจมากพอสมควร และได้อ่านหนังสือของท่านแล้วก็ยินดี และรู้สึกอยากจะได้พบท่าน และก็ได้พบสมประสงค์ ขอแสดงความยินดีแทนเพื่อนสหายธรรมทุกคน ผู้เป็นเพื่อน ผู้เป็นเครือญาติในพระพุทธศาสนา ที่ได้ประพฤติธรรมร่วมกันและเราก็มีจุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ ศึกษาพระธรรมของพระพุทธองค์ที่ปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ว่าเราทุกๆ คนนี้ จะมีความรู้สึกอันเดียวกันว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเป็นเครื่องอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก โดยไม่เลือกชาติ ไม่เลือกชั้นวรรณะ สภาพธรรมทั้งหมดทุกอย่างที่ปรากฏมีเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้นมาเพื่อทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกนั้นเป็นความจริง เพราะว่าเราสามารถจะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดในชาติไหน ภาษาไหน จิต เจตสิก ทุกคนก็มี เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ดีใจ อยากจะถาม และเห็นว่า ในการที่ท่านเขียนหนังสือออกมา ก็ได้รับประโยชน์แจ่มแจ้งมากแล้ว เป็นการลำบากแก่ผู้ตอบเหมือนกัน เพราะคำตอบทั้งหมดอยู่ในหนังสือที่คุณนีน่าได้เขียนแล้ว พร้อมทั้งอาจารย์ได้บรรยายเป็นภาษาไทยซึ่งก็ชัดเจนมากทีเดียว อย่างที่คุณนีน่าได้กล่าวไปตะกี้นี้ ก็อาจจะฟังยากสำหรับบางท่าน แต่สำหรับดิฉันพอประมวลได้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏกับเราเดี๋ยวนี้ มีสติรู้
ผู้ฟัง รู้สึกว่าคุณนีน่ามีความรู้ทางนี้มากพอสมควรคนหนึ่งทีเดียว ก็เพิ่งจะเห็นวันนี้ ก็อยากจะถาม ๒ ข้อ ข้อแรก อยากถามคุณนีน่าว่า ทำไมจึงสนใจในพระพุทธศาสนา ข้อที่ ๒ อยากให้คุณนีน่าบรรยายถึงสภาวะของตัวสติและปัญญา เป็นธรรมชาติ เป็นสภาวะอย่างไร ลักษณะอย่างไร
นีน่า สติเป็นโสภณเจตสิกที่เกิดขึ้นกับโสภณจิตเท่านั้น สติเป็นเจตสิกอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ สติไม่ใช่ปัญญา ถ้ามีลักษณะเดียวที่ปรากฏในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่รวมกัน ไม่ใช่สมมติบัญญัติ เช่น ลักษณะแข็ง แข็งเท่านั้นเอง เวลาแข็งปรากฏ ไม่คิดเรื่อง มีแต่ลักษณะแข็งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดเรื่องที่ไหนที่ปรากฏ แข็งเท่านั้น สติรู้ แต่ปัญญาเข้าใจลักษณะ ถ้ามีสติที่รู้ลักษณะแข็งในเวลาเดียวกัน ปัญญารู้ลักษณะธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่สติที่เข้าใจลักษณะธรรมชาติของแข็ง แต่เป็นปัญญาที่เข้าใจ และปัญญาเจริญได้เวลาที่มีสติ แต่เป็นนิดเดียวเท่านั้น เดี๋ยวนี้อาจจะมีสตินิดเดียว ต่อจากนั้นอาจจะไม่มีเลยตลอด ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมง แต่ไม่เป็นไร เพราะว่าถ้าเป็นสติจริงๆ ที่รู้สึกตัว และมีปัญญาที่เริ่มจะเข้าใจ ไม่ใช่แน่ใจเรื่องลักษณะ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าตอนแรกแข็งปรากฏ จะมีนามธรรมที่รู้แข็งด้วย รู้สึกอะไรด้วย แต่สติรู้สึกตัวในลักษณะเดียวเท่านั้น จะมีความสงสัยว่าเดี๋ยวนี้เป็นนามหรือเป็นรูปที่ปรากฏ ไม่แน่ใจ เพราะถ้าปัญญาเจริญขึ้นๆ จะไม่มีความสงสัย แต่สำหรับทุกคนเรายังไม่มีความแน่ใจ ความต่างกันของนามและรูป แต่เราต้องรู้ว่าปัญญาไม่ค่อยชัด จะชัดในตอนแรกไม่ได้เลย แต่ความสำคัญอยู่ที่ปัญญาเริ่มเข้าใจถูกต้อง นี่เป็นจุดประสงค์ ไม่ใช่มีสติตลอดวัน ดีมาก สบายเงียบอย่างนี้ ไม่ใช่เลย ความเข้าใจถูกต้องที่เจริญทีละเล็กทีละน้อย นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ต้องบังคับไม่ให้คิด เพราะมีเหตุปัจจัยให้คิด ทุกสิ่งมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น เป็นความจริง ความคิดมีลักษณะ อาจจะปรากฏเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ อาจจะกำลังคิดถึงธรรม ความคิดมีลักษณะที่รู้ได้ ทุกอย่างที่เป็นความจริง เช่น โลภะไม่ดี ไม่ต้องรู้โลภะ ต้องรู้โลภะด้วย เราทุกคนบอกว่า มีโลภะ รสอร่อย สามีและดิฉันรับประทานอาหารที่ร้านอาหารอร่อยมาก มีโลภะ แต่ถ้าเราบอกว่า โลภะ แต่เราไม่รู้ลักษณะของโลภะ มีคนที่คิดว่า นั่งวิปัสสนา รูปนั่ง นี่ไม่ใช่ลักษณะเลย เป็นเรื่องที่คิดเท่านั้น
ผู้ฟัง ถามคุณนีน่าว่า ทำอย่างไรสติและปัญญาจึงจะเกิดมาก เกิดบ่อย
นีน่า ถ้ามีความคิดที่สติและปัญญาต้องเกิดมาก ผิดแล้ว แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าศึกษาธรรม ศึกษาพระอภิธรรมด้วย พระสูตรด้วย พระวินัยด้วย พระสูตร เรื่องลักษณะที่ปรากฏโดย ๖ ทวาร พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่อง ๖ ทวาร แต่ละทวาร ฟังดีๆ แล้วพิจารณา ต้องพิจารณาด้วย ที่พระผู้มีพระภาคตรัส ถ้าฟังแล้วลืม ไม่มีประโยชน์ ต้องอ่านแล้วพิจารณาถูกต้องโดยแยบคาย นี่เป็นเหตุปัจจัยอันเดียวที่จะทำให้ปัญญาเจริญได้ ถ้าไม่ติดในสติปัญญา ถ้ามีความคิด ตัวเองอยากจะมีปัญญา
ผู้ฟัง ผมอยากจะถามว่า คุณนีน่ารู้จักอาจารย์สุจินต์เมื่อไร ตอนไหน
นีน่า ออกจากเมืองไทย ๑๐ กว่าปีแล้ว ได้พบคุณสุจินต์คิดว่า ๑๔ ปีมาแล้ว และถามอาจารย์สุจินต์เรื่องพระอภิธรรมตลอดเวลา บอกอาจารย์ว่าอาจจะอยู่เมืองไทย ไม่นานเท่าไร อาจจะ ๒ ปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี มีโอกาสไปกับอาจารย์สุจินต์ ถามเสมอๆ เพราะว่าถ้ามีคำถาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่าต้องถามด้วย ต้องฟังด้วย เพราะธรรมไม่ง่ายเลย ต้องพิจารณาให้มีความเข้าใจ แล้วปัญญาจะเจริญขึ้นได้
ผู้ฟัง เมื่อฟังอาจารย์สุจินต์อธิบายแล้ว ประมาณนานเท่าไรจึงจะเข้าใจลักษณะของสติ
นีน่า อาจจะยังไม่เข้าใจถูกต้อง เริ่มเข้าใจเท่านั้นเอง เพราะว่าหลายครั้งอาจจะไม่แน่ใจว่า มีสติหรือเปล่า ถ้าสงสัยมีลักษณะด้วย เป็นลักษณะความสงสัย หลายลักษณะที่ไม่ชอบ ไม่ชอบความสงสัย แต่มีลักษณะเป็นความจริง เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัย รู้ได้ ถ้าเข้าใจนิดเดียว เริ่มได้ เป็นการเริ่มเท่านั้นเอง ไม่แน่ใจ ไม่รู้ละเอียด อาจจะไม่ได้ในชีวิตนี้ แต่เริ่มเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง เมื่อกี้คุณนีน่าก็บอกว่า โลภะนี้ก็ควรรู้ ทีนี้ในเมื่อลักษณะของโลภะนี้ เราก็ยังไม่รู้จัก แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่า ควรจะรู้โลภะ
นีน่า โลภะกำลังปรากฏเท่านั้นเอง มีความรู้สึกด้วย โลภะมีความรู้สึกดีใจด้วย ความรู้สึกไม่เหมือนโลภะติดในอะไร แต่ความรู้สึกดีใจหรืออุเบกขาก็ได้ มีความรู้สึกตลอดเวลา มีลักษณะด้วย ถ้าเราคิดถึงเรื่องชื่อ โลภะ บังคับให้รู้ลักษณะจริงๆ เพราะว่าอาจจะเป็นลักษณะความรู้สึกดีใจที่ปรากฏ แล้วแต่สติ บังคับไม่ได้เลย แล้วแต่สิ่งที่ปรากฏกำลังปรากฏ เป็นวิธีเดียว ถ้าโลภะกำลังปรากฏ แล้วก็เป็นอารมณ์ของสติ ปัญญารู้ได้ บางทีโลภะไม่ปรากฏ แต่เป็นความรู้สึกดีใจที่ปรากฏ กำลังปรากฏ รู้ลักษณะของความรู้สึกดีใจได้ แต่ถ้าเราคิดเรื่องชื่อ เป็นชื่อ โลภะ สุขเวทนา อุเบกขาเวทนาก็ได้ เราคิดเรื่อง ไม่เหมือนกับรู้ลักษณะ
ผู้ฟัง เมื่อกี้คุณนีน่ากล่าวว่า ขณะที่เขียนจดหมาย สติก็เกิดขึ้นได้ ในขณะที่กำลังเขียนจดหมายแล้วสติเกิดขึ้น ขณะนั้นมีอะไรที่จะพิจารณาได้หรือครับ พิจารณาได้ไหมขณะที่เขียนจดหมายแล้วมีสติเกิดขึ้น
นีน่า แล้วแต่สติ และเวลาที่สติรู้สึกตัว ปัญญาเริ่มเข้าใจลักษณะที่ต่างกัน ลักษณะของความรู้สิ่งที่ปรากฏโดยทางตาเท่านั้นเอง หรือสิ่งที่ปรากฏโดยตา หรือความคิดเรื่องสิ่งที่เขียน แต่ทุกอย่างอย่างแล้วแต่สติ เราจะเลือกไม่ได้เลย ไม่เลือกว่าวันนี้จะรู้สึกตัว ลักษณะอะไร เป็นไปไม่ได้ แล้วแต่อัธยาศัยด้วย
ผู้ฟัง ผมเคยอ่านหนังสือของคุณนีน่าที่เขียนไว้ มีข้อความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า การบูชาที่วัดพระแก้ว เอาไข่ไปบูชา ขณะที่เอาไข่ไปบูชานั้น ไม่ได้กุศล แต่กุศลอยู่ที่กราบพระแก้ว ขณะที่กราบพระแก้ว ขณะนั้นจิตเป็นกุศล ขณะที่เอาไข่ไปบูชานั้นไม่เป็นกุศล
นีน่า เป็นไปได้ แล้วแต่จิต แม้แต่เวลาบูชามีกุศลจิต แล้วทีหลังมีการติดก็ได้ เวลาถวายอาหารพระมีกุศลจิต ทีหลังอกุศลจิตเกิดได้ อาจจะติดในผลของกุศล แล้วแต่ จิตเกิดดับรวดเร็ว มีอกุศลจิตมากๆ มีกุศลจิตด้วย แต่เป็นปัญญาที่แน่ใจ เวลาไหนมีกุศลหรือมีอกุศล เพราะว่าลักษณะไม่เหมือนกัน แต่สำหรับทุกคนยากทีเดียว เพราะว่าเราคิดว่า ขณะที่เราอยู่ในวัดแล้วก็ถวายของพระ คิดว่าตลอดเวลาเป็นกุศลหมด แต่อันที่จริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่ามีการติดหลายครั้งที่เกิดขึ้น แล้วอาจจะไม่รู้
ผู้ฟัง เมื่อกี้คุณนีน่าว่า สติจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ ผมสงสัยอยากจะถามว่า วิริยะ ความเพียรในการเจริญสติปัฏฐาน การเพียรในการระลึกรู้ ตัวนี้จะทำอย่างไรละครับ จะแล้วแต่เขาได้อย่างไร จะแล้วแต่สติได้อย่างไร ความเพียร วิริยะ ความขยัน ความเพียรเจริญสติ แล้วคุณนีน่าว่า ให้เพียรเจริญสติ ให้มีความเพียรในการระลึกรู้ จะไม่ขัดกันหรือ
นีน่า เวลาที่มีสติจริงๆ ปัญญาจริงๆ มีวิริยะด้วยในเวลาเดียวกัน เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ต้องมีวิริยะ มรรคมีองค์ ๘ ในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องคิดเรื่องวิริยะ เพราะถ้าเราคิดเรื่องวิริยะ ต้องมีวิริยะ มีความคิดเรื่อง ความคิดที่เป็นตัวตนตั้งใจอะไร ไม่ใช่เป็นวิริยะในมรรคมีองค์ ๘ หมายความว่าปัญญาที่รู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏ ในเวลานั้นมีวิริยะของมรรคมีองค์ ๘ แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องวิริยะ ซึ่งไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ อาจจะเป็นอกุศล อาจจะเป็นวิริยะที่เกิดกับโลภะก็ได้
ผู้ฟัง คำว่า “สติ” คือ ความระลึกได้ ความเพียรนี้เป็นวิริยะ คุณนีน่าก็ได้อธิบายไปแล้ว เหตุที่ดิฉันมาพูดย้ำนี้ เพราะมีภิกษุองค์หนึ่งท่านเกิดสงสัยขึ้นมาว่า การเจริญสติปัฏฐาน หรือเรียกว่า เจริญภาวนา ท่านบอกว่าเจริญภาวนาแล้ว เวลานี้อาตมาก็กำลังถือศีล ๒๒๗ เป็นพระภิกษุ แต่อาตมายังไม่ได้เจริญสมาธิ แล้วมาเจริญวิปัสสนา มันจะไม่ข้ามขั้นไปหรือ ถ้าหากวันหนึ่งวันใดไปพบท่านอาจารย์สุจินต์แล้ว ช่วยถามให้อาตมาที พระท่านบอกอย่างนี้
ดิฉันเข้าใจพอที่จะตอบได้ ถ้าหากว่าคำตอบของดิฉันซึ่งตอบพระภิกษุไปนี้ผิด ก็ขอให้ท่านอาจารย์หรือคุณนีน่าช่วยกรุณาบอกว่า ผิด แต่ดิฉันก็ได้ตอบไปแล้ว ดิฉันบอกว่า เอาไว้วันหลังดิฉันจะเรียนอาจารย์อีก เรื่องนี้ดิฉันพยายามที่จะพูดให้มีการออกอากาศ เพราะมีคนสงสัยกันมากว่า การเจริญวิปัสสนา คือ การมีสติระลึกรู้รูปนามที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่มีองค์ของสมาธิ ดิฉันก็เลยบอกว่า องค์ของขณิกสมาธิ คือ สัมมาสมาธิที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงนั้น เป็นสัมมาสมาธิที่ร่วมอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา และการเจริญไตรสิกขา ๓ ก็คือ การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือการเจริญสติรู้เดี๋ยวนี้นั่นเอง
ความระลึกได้ที่เป็นขณิกะ เป็นอนุขณะนิดเดียว แล้วก็หมดไป ในสภาพเสียงที่เกิด กลิ่นที่โชยมา อันนี้องค์ของสมาธิก็ร่วมด้วยแล้ว เพราะเป็นสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน ถ้าหากว่าสมาธินี้เกิดร่วมกับจิตทุกขณะ แต่ถ้าหากว่าไม่ได้ระลึกรู้ในสภาพของรูปนาม ไม่มีสติระลึกได้ในสภาพของรูปนาม สมาธินั้นก็เรียกว่า มิจฉาสมาธิ ยังไม่ใช่สัมมาสมาธิ
ดิฉันตอบท่านไปอย่างนี้ ถ้าหากว่าผิดถูกประการใด ก็ขอให้ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายให้ชัดอีกทีหนึ่ง
นีน่า แม้แต่เดี๋ยวนี้มีเสียงดัง ถ้ามีสมาธิด้วยร่วมกับสมาธิจิตที่เริ่มเข้าใจลักษณะที่เสียงดัง แต่ไม่เป็นไร สมาธิก็เกิดขึ้นร่วมกับจิต
ผู้ฟัง ไม่ใช่เจริญทีละองค์ แต่เป็นสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยกัน สัมมาสมาธิหรือวิริยะ ซึ่งเรียกว่าเป็นความเพียรนั้น ถ้ามีสติระลึกรู้ตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริง สภาพธรรมก็คือธรรมชาตินั่นเอง เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ธรรมก็คือธรรมชาติ เพราะฉะนั้น การเจริญสติก็คือระลึกรู้ธรรมชาติ ธรรมชาติเสียง ธรรมชาติกลิ่น ธรรมชาติการสัมผัส เมื่อกี้นี้ท่านก็ได้ถามถึงคำว่า สภาพของโลภะ ยังไม่รู้ ดิฉันขอย้ำที่คุณนีน่าได้กล่าวไปเมื่อกี้นี้ถึงท่านทูตท่านรับประทานอาหาร ชมว่าอาหารอร่อยมาก แต่สภาพของโลภะจริงๆ นั้น เกิดขณะที่อาหารสัมผัสที่ลิ้น แล้วเรากลืนเข้าไป เราจะรู้สึกเพลิดเพลินพอใจ แล้วสติก็ระลึกรู้สภาพความรู้สึกอันนั้นทันที อันนี้สภาพของโลภะกำลังปรากฏในทางติดในรส พอใจ นั่นคือโลภะ เกิดขึ้นขณะนั้นจริงๆ และสติรู้ตรงนั้น
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่อารมณ์ที่ปรากฏตามความเป็นจริง ที่เป็นความพอใจ ไม่ว่าทางตาเห็น จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงหรือไหวเหล่านี้ เกิดความพอใจ เป็นอารมณ์ของโลภะจริงๆ ปรากฏแล้วขณะที่สัมผัส สติรู้ได้
เพราะฉะนั้น จะยากก็ตรงที่ไม่เข้าใจ
นีน่า แต่พระผู้มีพระภาคพูดเรื่องโลภะบ่อยๆ เพราะปรากฏตลอดเวลาโดย ๖ ทวาร แล้วเราก็ติดในทุกอย่าง ติดในการเห็น การได้ยิน ตาเห็นไม่ได้ ไม่ชอบ เราชอบเห็น อยากจะเห็นต่อไป อยากจะได้ยินต่อไป อยากจะให้มีชีวิตต่อไป ติดในทุกอย่าง หมายความว่า โลภะปรากฏทุกๆ วัน หลายๆ ครั้งมีโลภะแรง และมีโลภะอ่อน ก็ไม่รู้สึกตัว ลืมบ่อยๆ แต่ถ้าอ่านในพระสูตรเรื่องโลภะ แล้วพิจารณา อาจจะเป็นเหตุปัจจัยให้มีสติรู้สึกตัว และมีความเข้าใจลักษณะของโลภะ
ผู้ฟัง ลักษณะของโลภะอย่างที่คุณนีน่าพูดนี้ ถ้าหากว่าเป็นโลภะใหญ่ๆ ก็รู้สึกว่าพอจะพิจารณาได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าโลภะนิดๆ ก็พิจารณาละเอียดลงไปอีก จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดกับอารมณ์ที่ปรากฏ อันนี้เป็นคำพูดของท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งดิฉันจำได้แม่นยำมาก ที่ว่าต้องละเอียดกับอารมณ์ที่ปรากฏ ต้องเป็นผู้ละเอียด พระธรรมเป็นเรื่องของความละเอียด ไม่ใช่ของหยาบ
บางครั้งอย่างสมมติว่า เราอาบน้ำ ถ้าหากว่าอากาศเย็นจัด เราอาบน้ำเย็น เราอาจจะรู้สึกทรมาน โทสะ ไม่ชอบ รีบๆ อาบ แต่บางครั้งเราอยู่ในห้องน้ำที่อากาศร้อน เราก็อาบอย่างอ้อยสร้อย คือว่า ช้าๆ ราดแล้วราดอีก อันนั้นถ้าหากว่าไม่มีสติจริงๆ จะไม่รู้ความพอใจในสัมผัสเลย คือ รู้สึกว่ามันแช่มชื่น ขณะที่เอาน้ำรด ใจเรารู้สึกสบาย เย็นก็เป็นสภาพหนึ่ง นั่นเป็นโลภะซึ่งเรารู้ได้ยาก หรือบางครั้งมีคนเขาให้สบู่เรา หรือว่าเราซื้อมาก็ตาม พอเราฉีกก้อนสบู่ออกแล้ว จะเอาไปอาบน้ำ หรือเอาไปใช้ พอหยิบก้อนสบู่ขึ้นมาดม พอดมแล้ว สบู่ก้อนนั้น ดมอีกครั้งหนึ่ง นี่เพราะอะไร
นีน่า เป็นชีวิตประจำวัน
ผู้ฟัง โลภะบ่อยๆ เพราะเมื่อก่อนนี้ดิฉันได้ยินอาจารย์ว่า โลภะหยุบหยับเลย โลภะมากมาย ดิฉันก็ไม่เห็นว่าโลภะมากมายอย่างไร ก็ไม่เห็นว่ามันมากมายเท่าไร วันหนึ่งก็ไม่เห็นชอบอะไรเท่าไร แต่ทำไมอาจารย์จึงว่า มีโลภะมากมาย แต่พอไปปฏิบัติจริงๆ แล้ว ตรงกับอารมณ์จริงๆ เป็นความจริง เพราะฉะนั้น ตาที่เห็นรูป หูที่ได้ยินเสียง จมูกที่ได้กลิ่น ลิ้นที่ลิ้มรส กายที่กระทบสัมผัส นี้เป็นโลภะ โทสะ อยู่ทั้งวันจริงๆ ถ้าละเอียด ถ้าไม่ละเอียดก็จะรู้แต่โลภะใหญ่ๆ ก็จะไม่ได้รับความละเอียด
ผู้ฟัง อยากถามคุณนีน่าว่า โลภะ โทสะ โมหะ เกิดบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ทำอย่างไรสติและปัญญาจึงจะให้เกิดบ่อยๆ ส่วนโลภะ โทสะ โมหะ ให้เกิดน้อยๆ
นีน่า ศึกษาธรรมและพิจารณาธรรม และความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้กิเลสลดลงน้อยลงทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง สวัสดีครับ ผมก็เพิ่งมีโอกาสรู้จักคุณนีน่าวันนี้ และยังไม่เคยได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียนไว้ อาจจะทำให้ผมล้าหลังไปหน่อย สำหรับธรรมที่คุณนีน่าได้เขียน เมื่อกี้ได้พบก็ไม่ทราบว่า ท่านเป็นทูต นึกว่าเป็นแขกมาร่วมฟัง ก็ต้องขออภัยด้วย ที่ท่านยิ้มด้วย ผมก็ยิ้ม ไม่ได้สวัสดีท่าน
นีน่า เป็นเพื่อนธรรม
ผู้ฟัง ผมมีความยินดีครับ ที่มีโอกาสได้เห็น ได้พบคุณนีน่า และได้ฟังธรรม รู้สึกว่าคุณนีน่ามีความเข้าใจธรรมอย่างดี ผมก็อยากจะเรียนถามปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งนัก แต่เป็นปัญหาที่ผมมีความสนใจ อยากจะถามปัญหาแรกว่า สำหรับผู้ที่ศึกษาศาสนาพุทธนี้จะมีอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันกับครอบครัวหรือไม่ ตามความรู้สึกของคุณนีน่า การสนใจในศาสนาพุทธและมีการปฏิบัติจริงจังอย่างนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อการครองเรือนระหว่างสามีภรรยาไหม นี่เป็นปัญหาข้อแรกที่ผมอยากจะถาม อยากฟังความคิดเห็นความรู้สึกของคุณนีน่า
นีน่า ชีวิตของฆราวาสไม่เหมือนชีวิตของพระ พระผู้มีพระภาคทรงสอนทุกคนเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง เจริญความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้รู้ลักษณะของนามและรูป ไม่ว่าในชีวิตของพระ ชีวิตธรรมดาของพระ หรือชีวิตธรรมดาของฆราวาส สามีภรรยา ชีวิตไม่ต้องเปลี่ยน ชีวิตฆราวาสไม่เหมือนชีวิตพระ แต่ทุกคนเจริญสติปัญญาได้ ไม่ต้องบังคับหรือเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะมีนามและรูปปรากฏแล้ว รู้ลักษณะได้
ผู้ฟัง ถ้าเราพูดถึงว่า ทั้งสามีและภรรยาเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน ปัญหานี้จะน้อย หรือเกือบจะไม่มี แต่ถ้าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ผมว่าปัญหาจะมีมาก เพราะว่าบางโอกาสภรรยาอาจจะนึกไปว่า สามีนี้วางเฉย ไม่ค่อยจะคิดในเรื่องครอบครัวเสียเลย ดังนี้ เป็นต้น ผมจึงคิดว่า น่าจะมีปัญหาอยู่
นีน่า ในชีวิตของทุกคนมีปัญหา แต่ถ้าสนใจในธรรมช่วยมากกว่า ถ้ามีปัญหา ให้มีกุศลจิตมากกว่า ถ้าเจริญสติเดี๋ยวนี้ เป็นห่วงเสมอ เป็นห่วงเรื่องอนาคต คิดถึงอนาคต หรืออดีต แต่ถ้าเจริญปัญญาในสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เท่านั้นเอง นี่ช่วยมากทีเดียวให้มีปัญหาน้อยลง เป็นห่วงน้อยลง เป็นห่วงเสมอ ธรรมดาๆ มีลักษณะด้วย เวลาปัญญารู้ลักษณะเป็นห่วง เป็นสิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ เวลานี้ไม่มีปัญหา แต่ต่อไปอาจจะมีปัญหา เพราะว่ายังมีกิเลส กิเลสจะน้อยลงถ้าเจริญปัญญา
ผู้ฟัง สรุปว่า ทั้งสามีและภรรยาควรสนใจในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน
นีน่า แล้วแต่เหตุปัจจัย บางทีสนใจคนเดียว คนอื่นไม่สนใจ แต่อาจจะช่วยคนอื่นได้ โดยไม่บังคับ พูดถึงปัญหาในชีวิต ธรรมช่วย สมมติว่าสามีไม่สนใจ ไม่เห็นว่า ธรรมเป็นอะไรที่ช่วยได้จริงๆ มีศรัทธามากกว่า แล้วเริ่มสนใจด้วย แต่ไม่ต้องบังคับ เพราะว่าบังคับไม่ได้เลย แล้วแต่เหตุปัจจัย
ผู้ฟัง อีกปัญหาหนึ่ง คือ ผมอยากจะถามความรู้สึกของท่านว่า ในขั้นต้นที่คุณนีน่าจะเริ่มมีความสนใจในการศึกษาพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสนใจที่เกิดขึ้นเอง หรือมีผู้แนะนำครับ
นีน่า มีเหตุปัจจัยเสมอๆ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น แม้แต่ที่พบกันเดี๋ยวนี้ มีเหตุปัจจัยในอดีต พบกับคุณสุจินต์ มีเหตุปัจจัยที่พบ ต้องมีเหตุปัจจัยเสมอ แต่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย อาจจะเป็นในชาติก่อน
ผู้ฟัง สรุปว่าเป็นเหตุปัจจัยตั้งแต่ในชาติก่อน แล้วอีกปัญหาหนึ่ง ผมขออภัยนะครับ อย่าหาว่าผมนี้ล้วงชีวิตเบื้องหลังของท่านเลย แต่เดิมนั้นท่านนับถือศาสนาอื่นหรือไม่ครับ
นีน่า นับถือศาสนาคริสต์ ก่อนที่จะมาประเทศไทย
ผู้ฟัง และขณะที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องต่อสู้กับความรู้สึกมากไหมครับ มี conflict มากไหม ที่จะเปลี่ยนแปลงมานับถือศาสนาพุทธ
นีน่า เกิดขึ้นโดยมีเหตุปัจจัยที่สนใจในพุทธศาสนา
ผู้ฟัง ในความรู้สึกของคุณนีน่าเอง ท่านเห็นว่า อันนี้เราไม่ต้องไปมองศาสนาอื่น แต่อยากจะฟังความรู้สึกว่า ในความรู้สึกของคุณนีน่าเห็นว่า พระพุทธศาสนามีความเหมาะสมมากกว่าไหมครับ
นีน่า ดิฉันมีความรู้สึกเสมอ เปรียบเทียบไม่ได้เลย คริสต์ศาสนาหรือพุทธศาสนาเป็นชื่อ ความสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจลักษณะของการเห็นเดี๋ยวนี้ การได้ยินเดี๋ยวนี้ นี่เป็นความสนใจของดิฉัน ไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องศาสนาเลย ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบ ที่ปรากฏเดี๋ยวนี้เป็นความสนใจของดิฉัน
ผู้ฟัง ท่านทูตเองเป็นยังไงครับ
นีน่า ต้องถามให้ตอบเอง ดิฉันแปลได้
ท่านทูต ความสนใจของผมในพระพุทธศาสนา คุณนีน่ามาเมืองไทย ได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา directly concern the reality of everyday life I think it’s the most important thing.
นีน่า ก่อนนับถือคริสต์ศาสนา มาเมืองไทยและรู้เรื่องพุทธศาสนา ไม่สนใจในอย่างอื่น เพราะเข้าใจว่า พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันนี่เอง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเราก็มีความคิดเห็นเป็นแนวเดียวกัน ทางพวกผมที่เป็นประชาชนชาวไทยก็มีความยินดีอย่างมาก
ผู้ฟัง ดิฉันก็ขออนุโมทนา เพราะว่าพระพุทธศาสนานั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นของประเทศไทยเรา ก็หลายประเทศ หลายชาติ หลายภาษา เรียกว่า เป็นของที่อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เป็นโชค เป็นลาภอันประเสริฐ
นีน่า ดิฉันพูดภาษาไทยมานานแล้ว จะขอให้อาจารย์พูด
ผู้ฟัง ทีแรกผมยกมือว่าจะถาม เพราะท่านผู้หนึ่งบอกว่า อะไรทำให้เข้ามาสนใจในเรื่องนี้ ท่านก็ได้ตอบไปแล้ว เพราะว่าสนใจในเรื่องปัจจุบัน แต่ผมอยากจะสรรเสริญว่า ผมเกิดมาในเมืองไทยลูบคลำแต่ชายผ้าเหลือง พบว่าทั้งท่านทูตและผู้รจนาหนังสือเล่มนั้น ได้เข้าไปถึงใจกลางของพระธรรม ผมขอแสดงความยินดีและหวังว่าเพื่อนชาวตะวันตกทั้งหลายคงจะรู้อย่างท่านทูตและคุณนีน่า
ท่านอาจารย์ ขอขอบคุณและอนุโมทนาคุณนีน่า เข้าใจว่าท่านผู้ฟังและผู้ที่อ่านหนังสือแล้วก็อาจจะมีเรื่องถามคุณนีน่าอีก แต่เวลามีจำกัด และก็ไม่ทราบว่า เมื่อไรจะได้พบคุณนีน่า ซึ่งท่านผู้ฟังวันนี้ก็คงไม่ทราบใช่ไหมว่า อะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้เสมอ ทุกอย่างที่จะเกิดแต่ละอาทิตย์ แต่ละขณะ แต่ละวัน เพราะฉะนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ