ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  30 ม.ค. 2560
หมายเลข  28582
อ่าน  2,755

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา เพื่อไปสนทนทนาธรรมที่บ้านพักในซอยประดิพัทธ์ ๑๕ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

สำหรับท่านที่สนใจชมภาพและความการสนทนาธรรมที่บ้านของคุณจักรกฤษณ์และคุณชฎาพร ในครั้งก่อนๆ สามารถคลิกชมได้ที่ลิงค์ด้านล่างนะครับ

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๗
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙

อย่างที่เคยเรียนทุกๆ ท่านทราบแล้วในคราวก่อนว่า ปัจจุบันคุณจักรกฤษณ์และคุณชฎาพร (คุณแอ๋ว) มีกุศลศรัทธาอย่างยิ่ง โดยได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์เดินทางมาสนทนาธรรมที่บ้านพักแห่งนี้ เป็นประจำทุกเดือน โดยในแต่ละเดือน ท่านเจ้าบ้านทั้งสองได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเชิญเพื่อนสนิท มิตรสหาย และสหายธรรมจากมูลนิธิฯ ไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำกันในแต่ละเดือน มีเพียงเพื่อนสนิทบางท่านเท่านั้นที่มีความสนใจจริงๆ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมสนทนาบ่อยครั้ง

สำหรับครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชิญจากท่านเจ้าบ้านเพื่อเข้าร่วมฟังการสนทนา นอกจากจะเป็นเพื่อนๆ ของท่านเจ้าบ้านแล้ว ท่านเจ้าบ้านได้เชิญเพื่อนๆ สมาชิกจากชมรมบ้านธัมมะ มศพ. กลุ่มที่เป็นเจ้าภาพจัดการสนทนาธรรมที่สวนสามพราน เข้าร่วมฟังการสนทนาด้วย ซึ่งก็เป็นความกรุณาของท่านเจ้าบ้าน ที่มอบโอกาสอันวิเศษในครั้งนี้ให้ข้าพเจ้าและภรรยาได้เข้าร่วมรับฟังการสนทนาด้วยเช่นกัน

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำภาพและความการสนทนาบางตอนในวันนั้น ซึ่งเป็นการสนทนาในช่วงเช้า ระหว่างท่านอาจารย์กับเพื่อนของท่านเจ้าบ้านและคุณจรรยา ปิ่นประดับ ที่ได้สนทนาในเรื่องของ "ศีล" ซึ่งท่านอาจารย์ได้ให้ความเข้าใจในความละเอียด ลึกซึ้ง ของแม้ "ศีล" ที่คนทั่วไป แม้เราท่านทั้งหลาย ก็มีความเข้าใจที่เผินมาก และอาจเข้าใจผิดอย่างมาก หากไม่ได้ศึกษาโดยละเอียด ซึ่งเมื่อได้ศึกษาแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของ ความเข้าใจจริงๆ ใน "แต่ละคำ" ที่ทรงแสดง ซึ่งเป็นคำที่มาจากการบำเพ็ญพระบารมีอย่างยาวนาน จนกระทั่งได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง "คำ" ต่างๆ ซึ่งเป็นพระปัญญาคุณทั้งสิ้นนั้น ให้พวกเราได้รู้ได้เข้าใจ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลยในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ทั้งไม่คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ฟังและเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จนจรดเยื่อในกระดูก ตามที่ท่านอาจารย์ได้เมตตากล่าวเตือน และปรารภผู้ฟัง บ่อยๆ นั่นเอง

ผู้ฟัง การที่เรารักษาศีล ... ..
ท่านอาจารย์ ค่ะ แค่นี้ก่อน ... ศีล คือ อะไร? การศึกษาธรรมะ "ทุกคำ" ต้องตั้งต้นว่า "คืออะไร?" ไม่อย่างนั้นเราไม่รู้ว่าเราพูดเรื่องอะไร แต่ถ้ารู้ว่าคืออะไร แล้วเราพูดต่อไปได้ ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ได้ เพราะฉะนั้น พอพูดว่า "รักษาศีล", "ศีล" คือ อะไร? ถ้าไม่รู้ "รักษา" อย่างไรคะ? เห็นไหม? ไม่รู้อะไรเลย แล้วที่ว่ารักษาน่ะ รักษาหรือ? เพราะไม่รู้ว่าศีลคืออะไร แต่ถ้ารู้แล้วว่าศีลคืออะไร เมื่อนั้นจะรู้เลย เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะเป็นความจริง และเป็นการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศี-ละ ในภาษาบาลี คนไทยก็ตัดคำสุดท้ายออก เหลือแค่ ศีล คืออะไร? เห็นไหม? ชาวพุทธ ต้องไม่ลืมว่า ชาวพุทธคือผู้ที่ฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม รักษาศีล แต่ไม่รู้ว่า ศีลคืออะไร?

ผู้ฟัง ศีลคือ ธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านกำหนดเอาไว้ให้พระภิกษุสงฆ์ แล้วก็ ... .
ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงพระธรรม และทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับภิกษุ เพราะฉะนั้น ภิกษุต่างกับคฤหัสถ์ เป็นเพศที่สูงยิ่ง ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติสมกับเป็นเพศที่สูงยิ่ง แล้วจะเป็นภิกษุได้อย่างไร?

พระธรรมทั้งหมด ชัดเจน คฤหัสถ์เป็นคฤหัสถ์ ภิกษุเป็นภิกษุ ถ้าไม่รู้จักภิกษุ ก็เข้าใจผิด คนที่ไม่รู้ไม่ศึกษาธรรมเลย รับเงิน รับทอง เป็นภิกษุได้อย่างไร? เห็นไหม? แล้วก็พูดให้คนรักษาศีล ทำไมไม่ให้เข้าใจว่า ศีลคืออะไร ไม่ใช่ให้เขารักษา!! พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ไม่ใช่ให้ใครทำ!!! แต่ให้เกิด "ความเข้าใจ" จากความที่ไม่เคยรู้อะไรเลยทั้งสิ้น!! เป็นการ ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจถูกว่า "เป็นธรรมะ" ธรรมะทั้งหลาย เป็นอนัตตา ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ต้องเป็นความจริง มาสู่ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ว่าเป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง ภาษาบาลีไม่มีคำว่า "สิ่งที่มีจริง" แต่ใช้คำว่า "ธรรมะ" สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วดับไป "ไม่ใช่เรา", "ไม่ใช่ของเรา"

เพราะฉะนั้น ถ้าใครบอกให้รักษาศีล ยังไม่ได้บอกเลยว่าศีลคืออะไร คนนั้นจะมีความรู้ไหม? คนนั้นจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

เห็นไหมว่า ทั้งหมดนี้ ต้องรู้ ต้องศึกษา ไม่ใช่ไปทำ หรือไปจำ หรือไปไม่เข้าใจ!! ถ้าเป็นอย่างนั้น มีแต่ "รู้จักผู้บอกให้ทำ" แต่ "ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แต่ "คำสอนทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" นำไปสู่ "การเข้าใจ" และ "การรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา!!!

ถ้าไม่มีการที่จะเข้าใจธรรมะเลย จะบอกว่ารู้จักพระพุทธเจ้า กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเลยในความเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น "ชาวพุทธ" ต้องฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้เป็นชาวพุทธจริงๆ "ศีล" คือ อะไร? เริ่มต้นคำนี้ก็ได้ จะเอาคำไหนก็ได้ "ทีละคำ" ทีละหลายๆ คำนี่ไม่รู้จริง ต้อง "ทีละคำ" เปิดตำรา พจนานุกรม ใช่ไหม?

คุณผู้หญิง ใช่ค่ะ จำได้ว่าเคยจดไว้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ศึกษาจากพจนานุกรม ต้องศึกษาจากพระไตรปิฎก พจนานุกรมคือ "คำแปล" จากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง ใช่ไหม? แต่ว่า "ไม่ได้เข้าใจ" เพียงแค่บอกว่า คำนี้แปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร เท่านั้นเอง อุบาสก อุบาสิกา หมายความว่าอะไร ผู้นั่งใกล้พระศาสนา แล้วอย่างไร? แค่นี้เอง? นั่งใกล้ นั่งอย่างไรยังไม่รู้เลย ห่างไกลแค่ไหน? ก็ยังไม่รู้!!! ได้ยินคำว่า พระพุทธองค์หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้ไหม? ว่าไกลแค่ไหน? ยิ่งกว่าฟ้ากับดิน ประมาณไม่ได้เลย ในพระปัญญาคุณ แล้วคนที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้เข้าใจเลย จะห่างจากพระองค์สักแค่ไหน?

แต่พอเป็นอุบาสก อุบาสิกา "เริ่มเข้าใกล้" เพื่อ "ฟังพระธรรม" เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้ที่รู้จักพระธรรม เพราะ ฟัง-เข้าใจ ทุกคำ ที่ถามว่าจะศึกษาอย่างไร ก็คือว่า ต้องเข้าใจทุกคำ มาก-น้อย ไม่สำคัญ ขอให้ "เริ่มเข้าใจให้ถูกต้อง"พราะ แต่ละคำ ต้องนำไปสู่ธรรมะ สิ่งที่มีจริง ทั้งหลาย ทั้งหมด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ใครจะเปลี่ยนไหม? มีคนเขาพยายามเปลี่ยนหรือเปล่า? ธรรมะทั้งหลายเป็นอัตตา? ง่ายดี ใช่ไหม? อัตตาคือเรา ไม่ต้องเรียนอะไร ไม่ต้องรู้อะไร แต่ผิด ไม่ใช่คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "คำ" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำใดที่ตรัสแล้ว เปลี่ยนไม่ได้!! เพราะเป็นการตรัสรู้ถึงที่สุด!!

เพราะฉะนั้น จะไม่พูด ศีล เหมือนแต่ก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่า ศีลคืออะไร? เจอหรือยังคะ คำแปล (หัวเราะ) ง่ายมากเลย (ความหมายของ) "ศีล" ไม่ยาก "ศีล" คือ "ปกติ" เคยได้ยินไหม? ศีลคือปกติ, "ปกติ" ของ กาย วาจา เพราะเหตุว่า สิ่งที่เป็นรูปธรรม มีศีลไหม? ไม่รู้อะไรเลย ดอกไม้นี่มีศีลไหม? โต๊ะนี่มีศีลไหม? ไม่มีใจแล้วจะมีศีลได้อย่างไร? ไม่มีสภาพรู้ ธาตุรู้ จะมีศีลได้อย่างไร? ไม่รู้อะไรเลย ใครไปแตะ ใครโยนทิ้งหรือทำอะไร ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น!!

เพราะฉะนั้น สภาพนามธรรมมีสองอย่าง เริ่มขยาย คำว่า ธรรม หนึ่ง ต่างกันเป็นสอง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม มีจริงแต่ไม่รู้ แล้วก็มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่รูปเลย มีจริงๆ เกิดขึ้นต้อง รู้ "เห็น" นี่ "รู้" ไหมว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ นี่คือ "รู้", เสียง-ได้ยินไหม เสียงนั้น เสียงนี้ หมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้น "สภาพรู้" เกิดขึ้น จึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปรากฏให้รู้ว่ามี เวลา "ได้กลิ่น" สภาพรู้เกิดขึ้น "รู้กลิ่น" นั้น จึงกล่าวว่า กลิ่นนั้นมี แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้เกิดขึ้นรู้ สิ่งนั้นจะปรากฏว่ามีได้อย่างไร ไม่มีใครไปรู้ว่ามี

ด้วยเหตุนี้ นามธรรมเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งซึ่งมีจริง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทุกธาตุเปลี่ยนไม่ได้ ธาตุแข็งเป็นแข็ง เป็นหวานไม่ได้ เป็นเค็มไม่ได้ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง คำว่า ธา-ตุ เป็นธรรมะ มีลักษณะเฉพาะของตน ของตน จริงไหม? ใครเปลี่ยนแปลงได้? แต่ละหนึ่ง แข็ง ใครไปเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม? เป็นธาตุแข็ง โกรธ เปลี่ยนโกรธให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม? ให้เป็นชอบ เมตตา กรุณา ได้ไหม? ไม่ได้!! เพราะฉะนั้น "โกรธ" ก็เป็นธาตุหนึ่ง ซึ่งเกิดแล้วต้องเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ธรรมะทั้งหมดก็คือธาตุทั้งหมดที่เปลี่ยนลักษณะไม่ได้ มีลักษณะเฉพาะของตน ของตน ด้วยเหตุนี้ นามธาตุ หรือ นามธรรม เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ แต่ก็ยังต่างกันเป็นสองอย่าง เป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ต่างกันเป็นสองอย่าง คือ หนึ่ง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่เห็น จะรู้ไหม สีเหลืองอ่อน กับสีอ่อน สีขาว, สีเหลืองแก่ สีแดงเข้ม ต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เพราะ "เห็น" ใช่ไหม? จึงสามารถที่จะรู้แจ้งได้ว่า มีสีแดงตรงนี้ "เห็น" รู้แจ้งเฉพาะตรงที่เห็น นั่น ไม่มีสีแดงตรงนั้น แต่เป็นอย่างอื่น เป็นรูปร่างต่างๆ เพราะ "เห็น"

เพราะฉะนั้น "เห็น" เป็นธาตุที่รู้แจ้ง "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" กำลังมี ใช่ไหม? ทุกคนกำลังมีใช่ไหม? "เห็น" เป็น "สภาพที่รู้แจ้ง" สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ใช้คำว่า "จิต-ตะ" ที่คนไทยเรียกว่า "จิต" จะใช้คำว่า "วิญญาณ" ก็ได้ จะใช้คำว่า "หทัย" ก็ได้ จะใช้คำว่า "มโน" ก็ได้ เหมือนภาษาไทยเราใช่ไหม? สตรี ก็ได้ ผู้หญิงก็ได้ ดรุณีก็ได้ ก็เรียกไป แต่ก็หมายความถึงสิ่งเดียว สิ่งนั้น

เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน มีความละเอียดมาก แต่ทรงแสดงด้วยชื่อต่างๆ แล้วแต่จะชื่ออะไร แต่คนไทยชินกับคำว่า จิตกับวิญญาณ แต่คนไทยไปแยกเอง วิญญาณต้องออกจากร่าง ต้องตายแล้ว ไม่ถูกต้องเลย แสดงว่าพระศาสนากำลังสูญจากการที่คนจะเข้าใจถูกต้อง เพราะคำอื่นซึ่งไม่ใช่ความจริง ทำลายคำจริง!!

ด้วยเหตุนี้ "สภาพรู้" ใช้คำในภาษาไทย เพราะเราคนไทย จะเข้าใจธรรมะก็ในภาษาของตน เพราะฉะนั้น "สภาพรู้" เดี๋ยวนี้กำลังมีแน่ๆ มีตั้งแต่เมื่อไหร่คะ? สภาพรู้

ผู้ฟัง ตั้งแต่เกิดครับ
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิด ถ้าสภาพรู้ไม่เกิด จะมี "เรา" ไหม? ที่ยึดถือว่า เป็นเรา เป็นคนนั้น คนนี้ มีได้ไหม? ไม่ได้!! เพราะฉะนั้น "สภาพรู้" รู้ แต่ "สภาพที่ไม่รู้" ก็ไม่รู้ สภาพที่ไม่รู้ เป็น "รูปธรรม" สภาพรู้ เป็น "นามธรรม" สภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม มี ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง คือ จิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้น ได้ยินเสียงไหม? ได้ยิน สภาพที่ได้ยิน รู้แจ้งเฉพาะเสียงที่ได้ยิน คือ "จิต" ชอบเสียงนั้นไหม? ชอบไหม? "ชอบ" มีจริงไหม? "ชอบ" ไม่ใช่จิต แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต อาศัยกันและกันเกิดขึ้น แต่ลักษณะของสภาพที่ไม่ใช่จิต ซึ่งเป็นนามธรรม ใช้คำว่า "เจตสิก" ภาษาบาลีก็ต้องออกเสียงว่า "เจ-ตะ-สิก-กะ" ทุกคำ

เพราะฉะนั้น นามธรรมที่เกิด มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ "กำลังเห็น" ทุกอย่างปรากฏกับจิต รู้แจ้งไปหมด นี่เป็นนั่น นั่นเป็นนี่ พอเสียง แม้แต่เสียงดนตรี มโหรี คอนเสิร์ทหรืออะไรก็ตามแต่ มีตั้งหลายเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งแต่ละเสียง เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง แต่บางเสียงก็ดังมาก ชอบไหม? ไม่ชอบ "ไม่ชอบ" ไม่ใช่จิต จิตแค่รู้แจ้งความดัง เสียงที่ดัง แต่ เจตสิก-ไม่ชอบ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน อาศัยกันและกันด้วย เพราะว่ากล่าวไว้แล้ว ว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จะเกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยธรรมะอื่นปรุงแต่ง อาศัยกันและกันเกิดขึ้น จิตและเจตสิกอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ต่างทำงานคนละอย่าง จิตทำหน้าที่รู้แจ้ง แต่เจตสิกที่เกิดกับจิต ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง โกรธบ้าง ดีใจบ้าง จำบ้าง ทุกอย่างทั้งหมด นอกจากจิต เป็นเจตสิก

ทั้งวันคือ จิตและเจตสิก ใครรู้บ้าง? ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่คือการตรัสรู้ ละเอียดกว่านี้มาก ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า "ไม่ใช่เรา" เพื่อละความทุกข์ซึ่งเกิดเพราะ "ความไม่รู้" และ "ความติดข้อง" ทุกข์ทั้งหลาย มาจาก "ความติดข้อง" และ ความติดข้องทั้งหลายก็มาจาก "ความไม่รู้"

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรมะ ต้องฟัง "เพื่อเข้าใจ" ไม่มี "เรา" เลยเวลานี้ มี "จิต เจตสิก รูป" ใช่ไหม? เห็นไหม? เริ่มละความเป็นเรา!! "เริ่มละ" ด้วยการ "ไตร่ตรองและการฟัง" ว่าแท้ที่จริง มีปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ

เพราะฉะนั้น ชั่วสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นเท่านั้น ที่เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็หายไปเลย!!! ไม่กลับมาอีกเลย!! หลงพอใจ ในสิ่งที่ไม่มี!!! เพราะยังเข้าใจว่ายังอยู่ ยังมีอยู่ มิฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะดับกิเลสไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการตรัสรู้ความจริง ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้ เพราะว่าเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ติดต่อกัน ไม่เห็นมีอะไรเกิด ไม่เห็นมีอะไรดับเลย เพียงแต่เดี๋ยวนี้ "เห็น" เดี๋ยวนี้ "ได้ยิน" เท่านั้นเอง แต่ แต่ละหนึ่ง มีการเกิดขึ้นและดับไป เป็นธรรมดา

กว่าจะ "รู้จักศีล" เห็นไหม? คือ ปกติ แต่ ปกติของอะไร? ปกติของนามธรรม ซึ่งเป็นจิตและเจตสิก ซึ่งถ้าไม่มีจิตและเจตสิก รูปเคลื่อนไหวไม่ได้ ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ไม่ได้!!! แต่ตัวที่เป็นศีลจริงๆ ที่เป็นปกติ ก็คือ ปกติของจิตและเจตสิกป็นปกติไหม? ปกติเพราะใครก็ทำอะไรไม่ได้ มีปัจจัยเกิดแล้ว เป็นอย่างนี้แล้ว ทุกขณะ!!!

ผู้ฟัง เดิมทีผมเข้าใจในเรื่องศีลว่าเป็น "ข้อห้าม" แต่ที่อาจารย์กำลังบอก คือ ศีลคือสภาพในการที่เรารับรู้โดยการที่มีประธานที่จะรับรู้
ท่านอาจารย์ ต้องฟังแต่ละคำโดยละเอียดยิ่งนะคะ โดยละเอียดยิ่ง!!
ผู้ฟัง แปลว่า ศีล ไม่ใช่ ข้อห้าม?
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่า ธรรมะทั้งหลาย เป็นอนัตตา
ผู้ฟัง คือ ความเข้าใจว่าไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ ห้ามได้ไหม?
ผู้ฟัง ไม่ใช่ข้อห้ามคือ หมายความว่า ให้เราเข้าใจใน ...
ท่านอาจารย์ ที่คนทั่วไปเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักทรัพย์ จะถูกต้องไหม? ในเมื่อธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมะต้องสอดคล้องกัน โดยละเอียดยิ่ง ถึงจะถูกต้องจริงๆ ห้ามจิตไม่ให้เกิด ได้ไหม? ห้ามจิตที่เกิด ไม่ให้รู้อะไร ได้ไหม? ห้ามได้ไหม? ถ้าห้ามไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะห้ามหรือ? ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น!! รู้ว่าห้ามไม่ได้ แล้วจะห้ามหรือ? ห้ามคนไม่ให้ฆ่าสัตว์ ห้ามได้ไหม? คะ? ห้ามได้ไหม? ไม่มีทางเลย!! แม้แต่ "ห้ามเห็น" ยังห้ามไม่ได้ "ห้ามคิด" ยังห้ามไม่ได้ แล้วจะไปห้ามฆ่าได้อย่างไร?

แต่ "ทรงแสดงธรรมะ ตามความเป็นจริง" อันนี้ เป็นสิ่งซึ่ง ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง!!! ว่า "ศีล" ไม่ใช่ "ข้อห้าม" แต่ "ศีล" คือ "ปกติของจิตและเจตสิก" ซึ่งเป็นสภาพรู้ ที่เกิดขึ้นแล้วเป็นไป

คุณจรรยา กราบท่านอาจารย์ค่ะ จริงๆ แล้ว ความเข้าใจในเรื่องของศีล ถ้าธรรมดาที่ไม่ได้มาศึกษาที่ มศพ. ก็คิดว่าเป็นข้อห้าม เพราะว่า กรณีของพระ ก็มีศีล ๒๒๗ ข้อ ถ้าไม่ใช่ข้อห้าม จะเข้าใจว่าอย่างไรคะท่านอาจารย์คะ?

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การเข้าใจต้องละเอียดมากเลย ตั้งแต่ต้น ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะ ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ห้ามอะไรได้ไหม? ห้ามไม่ได้!! คนธรรมดาห้ามได้ไหม? ใครก็ตาม ห้ามได้ไหม? ไม่มีใครห้ามอะไรได้เลย นี่ต้องมั่นคงจริงๆ

เพราะฉะนั้น ห้ามจิตไม่ให้เกิด ได้ไหม? ห้ามจิตไม่ให้ดี เป็นกุศล ได้ไหม? ห้ามจิตให้ไม่ดีได้ไหม? ไม่ได้!! เพราะเป็นธรรมดาของปัจจัย คือ เจตสิก ที่จะทำให้จิตนั้นๆ เป็นอย่างนั้น เพราะจิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน ตอนนี้จะมีคำใหม่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า "อารัมณะ" คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า "อารมณ์" หมายความถึง "สิ่งที่จิตรู้" เท่านั้น จะไม่หมายความถึงอย่างอื่นเลย จิตรู้ได้ทุกอย่าง สิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมด เป็น "อารมณ์" คือ เป็น "สิ่งที่จิตกำลังรู้" เพราะฉะนั้น อารมณ์คือความหมายนี้เท่านั้น ไม่ใช่ว่า วันนี้อารมณ์ดี คนไทย ไม่ศึกษาเลย บอกว่า อารมณ์ดี หมายความว่าอย่างไร? อารมณ์ดี? เห็นไหม? พูดทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย พูดคำที่ไม่รู้จัก แม้แต่ อารมณ์ดี พูดแล้วใช่ไหม?

คุณจรรยา ท่านอาจารย์คะ อย่างนี้ จะเข้าใจกรณีของศีล ๒๒๗ ข้อ อย่างไร? คือ ตามความเข้าใจว่า เป็นการชี้โทษของการกระทำอย่างเดียวก็ไม่ใช่ แต่ว่า ในศีล ๒๒๗ ข้อ เหมือนพูดในสิ่งที่สมควรทำด้วยค่ะ

ท่านอาจารย์ นี่คือการศึกษา "เผิน" ไงคะ ยังไม่ทันไรก็จะเป็นอย่างโน้น จะเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างนั้นไปหมด!! แต่ว่า ความเป็นจริง ต้องลงรากลึก!! ที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมะ มีจริงๆ เกิดแล้วดับ แล้วก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้!! แล้วก็หลากหลายมาก สุดที่จะประมาณได้ เพราะอะไร? เพราะเพียงหนึ่งอย่างที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีก อันอื่นใหม่หมดทุกขณะ ทั้งโลกจะมากมายสักแค่ไหน? เพราะฉะนั้น จึงประมาณไม่ได้เลย แต่สามารถที่จะกล่าวตามประเภทที่ต่างกันของธรรมะนั้นๆ ได้ ตั้งแต่ ทุกอย่างเป็นธรรมะ นี่หนึ่งแล้ว ธรรมะมีสองอย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม รูปจะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย นามธรรมก็จะเป็นรูปธรรมคือที่เกิดขึ้นรู้ จะไม่รู้ไม่ได้ ที่ไม่รู้ก็จะให้รู้ไม่ได้!!! ไม่ได้ห้ามเลย!! แต่เป็นตามความเป็นจริง!!!

เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจธรรมะ จนถึงการดับกิเลสได้ ต้องละความไม่รู้อย่างละเอียดยิ่ง ทุกอย่างต้องตรง ตั้งแต่ต้น!! มิฉะนั้นก็จะไปนั่งห้าม!!! ไม่ให้คิดโน่น ไปนั่งห้าม ให้จิตนิ่งๆ หรืออะไรอย่างนั้น ใช่ไหม? ซึ่งไม่ถูกต้อง!!! ด้วยเหตุนี้ ทุกคำต้องละเอียด รอบคอบ ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า "ศีล" คำเดียว ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่า เป็นความเป็นปกติของจิตและเจตสิก

ผู้ฟัง ขออนุญาตครับอาจารย์ แปลว่า ธรรมะจริงๆ คือ ท่านสอนให้เราเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ
ผู้ฟัง แล้วศีล ใครเป็นคนเขียนครับ ในพระไตรปิฎก มีไหมครับ?
ท่านอาจารย์ มีเยอะค่ะ
ผู้ฟัง ท่านเขียนออกมาใช่ไหมครับ?
ท่านอาจารย์ ท่านไม่ได้เขียนหรอก (หัวเราะกันครืน) พระผู้มีพระภาคฯทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา แล้วสาวกทั้งหลาย ก็ท่องจำ ด้วยปากเปล่า ตั้งแต่สังคายนาเป็นต้นมา ให้มีความถูกต้อง แต่ละครั้ง แต่ละครั้ง จนกระทั่งถึงวาระที่จารึกเป็นตัวอักษร

ผู้ฟัง ศีลคือคำสอนที่ตกทอดมา?
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ ศีลมีจริงไหม? อ้าว! ไม่มีแล้วจะมารักษากันทำไม? เป็น "ชื่อ" ไม่ได้!!
คุณจรรยา ท่านอาจารย์คะ ถ้าดูจากนิยามของคำว่า ศีล เหมือนมีการนิยามความหมายของศีลมากมาย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ต้องศึกษาตั้งแต่ต้น ทีละคำ!!! จนกระทั่งคำนั้นแจ่มแจ้ง!! ปริยัติ รอบรู้ รอบรู้อะไร? พุทธพจน์ คำที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่อย่างอื่น!! เพราะฉะนั้น ปริยัติ รอบรู้คำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หมายความว่า ทุกด้าน ทุกแง่ ทุกมุม แทงตลอดในแต่ละคำ เปลี่ยนไม่ได้!! เพราะฉะนั้น ปริยัติ คือ การรอบรู้และแทงตลอดวาจาสัจจะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กล่าวถึงสัจธรรม สิ่งที่มีจริงๆ จนกว่าจะมั่นคง เป็นสัจจญาณ ญาณคือปัญญาที่ไม่เปลี่ยนเลย เมื่อเข้าใจแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นปัญญาที่มั่นคง เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มั่นคงไหม? ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้เป็นปกติ ซึ่งคนอื่นไม่คิดเลยว่า นี่คือ สิ่งที่จะต้องรู้!!!

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาธรรมะจริงๆ ด้วยความเคารพ ด้วยความละเอียดรอบคอบ จะเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ธรรมะเป็นเรื่องที่ควรศึกษา ไม่ใช่เป็นเรื่องทำตาม ใครบอกแล้วเราทำ เขาพูดแล้วเราเชื่อ ไม่ใช่อย่างนั้น!! แต่ทุกคำ ต้องจริง!! พิจารณาจากการไตร่ตรอง จากการฟัง ฟังคำไหนต้องเข้าใจคำนั้นจริงๆ

คุณจรรยา หนูยังติดใจที่น้องเขาถามว่า ในศาสนาพุทธพูดถึงเรื่อง ศีล สมาธิ แล้วก็ปัญญา
ท่านอาจารย์ เอามาจากไหน ขอโทษ
คุณจรรยา เมื่อกี้นี้ที่น้องเขาพูดขึ้นมา
ท่านอาจารย์ พูดคำเยอะ ที่ไม่รู้จักสักคำเดียว!! เป็นการพิสูจน์แล้วใช่ไหม? ว่าพูดคำที่ไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม ไม่ลืมนะคะ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร? และเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ทุกคำ มาจากการตรัสรู้ ซึ่งต้องอาศัยการบำเพ็ญบารมี นานเท่าไหร่? กว่าจะรู้ความจริงซึ่งเป็นอย่างนี้ แต่ถูกปกปิดไว้ด้วยความไม่รู้!! หนาทึบ แน่นมาก ไม่มีใครสามารถที่จะไปเอาความไม่รู้ซึ่งกั้นสภาพธรรมที่ปรากฏ ด้วยความไม่เข้าใจ ที่จะรู้อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ จนต้องอาศัยการฟัง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

เพราะฉะนั้น เริ่มรู้สึกตัวว่า พูดคำที่ไม่รู้จัก!! ไม่ว่าคำไหนกี่คำ ศีลรู้จักไหม? สมาธิรู้จักไหม? ปัญญารู้จักไหม? พูดไปแล้ว ไม่รู้จักสักคำ

ผู้ฟัง อาจารย์ครับ เดิมที เข้าใจว่ารู้จัก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่า เดิมที ไม่ได้ฟังธรรมะ
ผู้ฟัง เดิมที มีคนนิยาม ในคำเหล่านี้เอาไว้ แล้วเราเรียนรู้โดยที่ไม่ได้มองย้อนกลับไปถึงความจริงว่ามันคืออะไร เราเรียนรู้แบบวิธีจำ แล้วก็นำไปปฏิบัติ เดิมทีผมคิดว่าการเป็นชาวพุทธ อย่างง่าย คือการรักษาศีล ๕ ก็คิดว่าดีแล้ว
ท่านอาจารย์ คนที่รักษาศีล ๕ เป็นชาวพุทธหรือเปล่า?
ผู้ฟัง เดิมทีเข้าใจว่า
ท่านอาจารย์ แต่ลองพิจารณา คนที่รักษาศีล ๕ เป็นชาวพุทธหรือเปล่า?
ผู้ฟัง อาจจะเป็นใครก็ได้ในโลกนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ นั่นน่ะสิ แล้วจะมาอ้างว่าเป็นชาวพุทธได้อย่างไร?
ผู้ฟัง ตอนนี้ก็เลยยังค่อนข้างงง จริงๆ อ่านหนังสืออาจารย์ไปเยอะครับ เปิดไปแล้วก็ติด
ท่านอาจารย์ ทีละคำ อยู่ตรงนั้นแต่ละคำ จนเข้าใจมั่นคง ลึกซึ้ง ชัดเจน

คุณจรรยา การที่เข้าใจว่า ชาวพุทธควรจะต้องถือศีล ๕ กับ ศีล ๘ อาจจะเป็นเพราะว่า ถ้าอ่านพระไตรปิฎกแล้ว ก็จะมีว่า การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น ในเบื้องต้นก็คือการรักษาศีล ๕ อันนี้มีข้อความในพระไตรปิฎกจริง ถือศีล ๕ กับ ศีล ๘

ท่านอาจารย์ พระไตรปิฎกสำหรับอ่านหรือสำหรับศึกษาทีละคำ? พระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครอ่านได้? บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขแสนกัป เพื่อจะรู้ความจริงอย่างที่ได้ฟัง แค่นี้หรือ? เท่านี้หรือ? แค่รักษาศีล ๕ นี่หรือ? คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!

ผู้ฟัง โดยความเข้าใจ การเป็นชาวพุทธที่ดี ... .
ท่านอาจารย์ เป็นชาวพุทธจริงๆ ต้องเข้าใจพระธรรมคำสอน ต้องรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คำของพระองค์กับเรา ห่างไกลแสนไกล ใครคิดว่าอ่านพระไตรปิฎกเข้าใจได้ เอาไปบอกคนอื่นเลย ผิด!!!

ผู้ฟัง แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรครับ ว่า ใครพูดความจริงที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ก็ฟังสิ!! ฟัง!! รู้ว่าคำที่ได้ยิน จริงหรือเปล่า? ไตร่ตรองสิ!! ไม่ได้บอกให้เชื่อเลยสักคำ!! ทุกคำที่ได้ฟังนี้ จริงหรือเปล่า? จึงมีการสนทนาธรรม ซึ่งเป็นมงคล เพราะฉะนั้น ลองคิดเปรียบเทียบ ใครที่อ่านพระไตรปิฎก แล้วเอาคำนั้นไปสอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี นานเท่าไหร่? กว่าจะตรัสรู้ แต่ละคำ เป็นปัญญา ที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แม้แต่ "ศีล" มีใครรู้บ้าง ว่า "ไม่ใช่เรา" เพราะ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็มี "เรารักษาศีล" เริ่มแล้ว!! ให้ไม่รู้แล้ว!! ให้ "เป็นเรา" แล้ว!! แล้วนี่หรือ? คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ชาวพุทธที่เข้าใจพระธรรม ที่ศึกษาจริงๆ เป็นผู้ทำลายพระศาสนา!!!

[เล่มที่ 20] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปิณณาสก์เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 609

อเสกขภูมิ

[๓๖๒] ดูก่อนนายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นอกุศลนั้นเป็นไฉน ดูก่อนนายช่างไม้ กายกรรมเป็นอกุศลวจีกรรมเป็นอกุศล การเลี้ยงชีพชั่ว เหล่านี้ เรากล่าวว่าศีลเป็นอกุศล ก็ศีลที่เป็นอกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นอกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล่วก็ต้องกล่าวว่า มีจิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน ถึงจิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดมีราคะ โทสะ โมหะ ศีลเป็นกุศลมีจิตนี้เป็นสมุฏฐาน ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้ ดับ ลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้น เราก็ได้กล่าว แล้ว

ดูก่อนนายช่างไม้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละกายทุจริต เจริญกาย สุจริต ละวจีทุจริต เจริญวจีสุจริต ละมโนทุจริต เจริญมโนสุจริต ละมิจฉา อาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้นดับลงหมดสิ้นในการ ละทุจริต เจริญสุจริต และการละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ศีลที่เป็นกุศลเหล่านั้นดับลงหมดสิ้นในการละทุจริต เจริญสุจริตและการละ มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีวะ ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงชื่อว่า ปฏิบัติ เพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล.

ดูก่อนนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ตั้งมั่น เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิด ขึ้น ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียรประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อ ความตั้งมั่น เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ดูก่อน นายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลที่เป็นกุศล.

[๓๖๓] ดูก่อนนายช่างไม้ ก็ศีลที่เป็นกุศลเป็นไฉน ดูก่อนนายช่างไม้ เราย่อมกล่าวซึ่งกายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล และอาชีวะอันบริสุทธิ์ ลงในศีล เหล่านี้เรากล่าวว่าศีลเป็นกุศล ก็ศีลเป็นกุศลเหล่านี้มีอะไรเป็นสมุฏฐาน แม้สมุฏฐานแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น เรากล่าวแล้ว ก็ต้องกล่าวว่า มี จิตเป็นสมุฏฐาน จิตเป็นไฉน แม้จิตเล่าก็มีมาก หลายอย่าง มีประการต่างๆ จิตใดปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ศีลเป็นกุศลมีจิตนี้เป็น สมุฏฐาน ศีลเป็นกุศลเหล่านี้ดับลงหมดสิ้นในที่ไหน แม้ความดับแห่งศีลเป็น กุศลนั้นเราก็กล่าวแล้ว

ดูก่อนนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล แต่จะสําเร็จด้วย ศีลหามิได้ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับ หมดสิ้นแห่งศีลเป็นกุศลเหล่านั้น ของภิกษุนั้นด้วย ก็ผู้ปฏิบัติอย่างไร จึงจะ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล

ดูก่อนนายช่างไม้ ภิกษุในธรรมวินัย นี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งมั่น เพื่อ ยังอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น. . . เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่ เกิดขึ้นแล้ว. . . เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น. . . เพื่อความตั้งมั่น เพื่อ ความไม่เลือนหาย เพื่อความเจริญยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญเพื่อความเต็มเปี่ยมแห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ดูก่อนนายช่างไม้ ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อความดับแห่งศีลเป็นกุศล

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

... ... ...

ขอเชิญคลิกอ่านความละเอียดเพิ่มเติมในความหมายของคำว่า "ศีล" ได้ที่นี่ ... ศีล
และขอเชิญคลิกชมคลิปการสนทนาธรรมบางส่วนได้ที่นี่ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 31 ม.ค. 2560

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนา ท่านอาจารย์ คุณจักรกฤษณ์คุณชฎาพร คุณวันชัย เป็นอย่างยิ่งค่ะ ข้อเขียน ณ กาลครั้งหนึ่ง ทำให้ได้พิจารณาและเข้าใจธรรมะมากขึ้น ซึ่งแม้เป็นผู้ถามเอง บางครั้งด้วยความมุ่งมั่นด้วยโลภะ ตื่นเต้นบ้าง ทำให้ไม่ได้สาระจากการสนทนาเท่าที่ควร ได้อ่านทบทวน เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 31 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 1 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 2 ก.พ. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Tathata
วันที่ 3 ก.พ. 2560

ขอบคุณและอนุโมทนาที่นำมาแบ่งปันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
rrebs10576
วันที่ 3 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 7 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
khampan.a
วันที่ 14 ก.พ. 2560

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา
ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 20 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ