ทำความเพียรเพื่อความเกิดสมาบัติ ทำอย่างไร

 
pdharma
วันที่  11 ก.พ. 2560
หมายเลข  28616
อ่าน  1,809

ใน อรรถกถาสัทธรรมปฏิรูปกสูตร มีข้อความว่า ผู้ไม่ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือไม่ทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่าไม่มีความเคารพในสมาธิ .. ส่วนผู้ใดยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่ามีความเคารพในสมาธิ.

อยากทราบว่า ทำความเพียรเพื่อความเกิดสมาบัตินั้น อย่างไรเรียกว่า "ทำความเพียร" จึงจะเป็นการเคารพยำเกรงในสมาธิ และ สมาธิที่เกิดขณะฟังพระธรรม แต่ไม่ถึงกับเกิดสมาบัติ เรียกว่า เคารพยำเกรงในสมาธิ หรือไม่

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ก.พ. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตเป็นการสนทนา ไม่ใช่การตอบทางเดียวนะครับ เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจพระธรรมทั้งสองฝ่าย ครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตั้งแต่นัยเบื้องต้น จนถึง สูงสุด แม้แต่คำว่า สมาธิ ก็ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะ สมาบัติ ๘ สมาธิ ที่เป็นขณิกสมาธิ ก็ชื่อว่า สมาธิเช่นกัน

ดังนั้น การอ่านเพียงพระสูตร บางพระสูตร แล้ว สรุป สมาธิ เฉพาะ สมาบัติ ๘ ย่อมไม่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น การเคารพในสมาธิ ทรงแสดงโดยนัยสูงสุด ที่เป็นสมาบัติ ๘ แต่ ผู้ที่อ่านย่อมต้องมีความเข้าใจสอดคล้องกับส่วนอื่นในพระธรรมด้วยว่า สมาธิ ไม่ได้จำกัดเฉพาะ สมาบัติ ๘ เท่านั้น แม้ ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ ก็เป็นสมาธิ

เพราะเหตุว่า ถ้า การเคารพสมาธิ มุ่งหมายเฉพาะ สมาบัติ ๘ เท่านั้น ก็จะขัดแย้งกับข้อความในพระไตรปิฎกส่วนอื่นๆ อีก แม้ในสูตรที่ใกล้เคียงกับพระสูตรนี้เอง ในเรื่องการเคารพ ประการต่างๆ ดังข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 250

ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ชื่อว่า เคารพในสิกขาด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ในสิกขา จักไม่เคารพในสมาธิ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ชื่อว่า เคารพในสมาธิด้วย


ข้อความแสดงว่า ผู้ที่เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และในสิกขา ย่อมเคารพในสมาธิด้วย

เพราะฉะนั้น หากเป็นผู้ละเอียดและศึกษาพระธรรมในส่วนต่างๆ ด้วยนั้น ก็จะทำให้เข้าใจถูกว่า บุคคลที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น ย่อมมีสองประเภท คือ ได้ฌานสมาบัติ และ ไม่ได้ฌานสมาบัติ ดังเช่น ท่านพระจักขุบาล เป็นพระอรหันสุกขวิปัสสกะ คือ บรรลุธรรมโดยไม่ได้ฌาน ซึ่งข้อความแสดงว่า พระอรหันตสุกขวิปัสสกะ คือ พระอรหันต์ที่ได้ ขณิกสมาธิแล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุธรรม นั่นคือ มีสมาธิ แต่ ไม่ได้สมาบัติ 8 แต่ ก็บรรลุธรรม เพราะฉะนั้น พระจักขุบาลเป็นพระอรหันต์แล้ว เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์หรือไม่ เพราะ ในพระสูตรที่ได้ยกมา คือ ผู้ที่เคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมเคารพในสมาธิด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรม โดยนัยเบื้องต้น จนถึงสูงสุด จึงควรเป็นผู้ละเอียดในการศึกษาพระธรรมในส่วนต่างๆ เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น จึงมีคำถาม ถามผู้ร่วมสนทนาตั้งคำถามดังนี้ ครับ

คำถาม .. พระจักขุบาล เป็น พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ไม่ได้สมาบัติ ๘ เป็นผู้เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์และเคารพในสมาธิหรือไม่

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 11 ก.พ. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมาธิ เป็นธรรมที่มีจริง สมาธิเป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สมาธิแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิ คือเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิ เป็นเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดี

สัมมาสมาธิมีหลายระดับ คือ สมาธิที่เป็นไปในวัฏฏะและสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ สมาธิที่เป็นฌานระดับขั้นต่างๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น เพียงเพื่อสงบระงับกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ เป็นต้นและทำให้เกิดในพรหมโลกเท่านั้นไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้

สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับองค์มรรคเป็นสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ กล่าวคือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกขณะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น จนมีกำลังย่อมเป็นการทำกิจร่วมกันในอริยมรรค

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ เพราะสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษานั้นมีมาก ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ย่อมไม่ชื่อว่าเคารพในพระธรรม เป็นเหตุให้เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด ความเข้าใจพระธรรมย่อมไม่มี ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pdharma
วันที่ 12 ก.พ. 2560

ขอขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่าน

เพื่อความเข้าใจมากขึ้นของผู้ตั้งกระทู้ จึงใคร่ขอสนทนาเพิ่มเติม

- อรรถกถาข้างต้น เกี่ยวข้องกับที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุอันตรธานและความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ทรงตรัสถึง "ความไม่เคารพในสิกขา" (ซึ่งรวมถึงสมาธิ ในศีล สมาธิ ปัญญา) และทรงตรัสถึงเฉพาะ "ความไม่เคารพในสมาธิ" อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโดยนัยนี้ได้มีอรรถกถาว่าหมายถึง "ไม่ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิดหรือไม่ทำความเพียรเพื่อความเกิดสมาบัติ" อันจะเป็นเหตุให้พระสัทธรรมอันตรธานได้ ซึ่งจะแตกต่างจากความเคารพในสมาธิตามนัยอื่นๆ (เช่น เพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ) หรือไม่ครับ

- ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมาธิที่เกิดขณะฟังพระธรรม แต่ไม่ถึงกับเกิดสมาบัตินั้น ก็เป็นความเคารพในสมาธิอันเป็นองค์ประกอบของสิกขา ๓ อันอาจกล่าวได้ว่า "เคารพในสิกขา" แต่จะหมายรวมถึง "เคารพในสมาธิ" ที่จะยังพระสัทธรรมไม่ให้อันตรธานด้วยหรือไม่ครับ

- ในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 625 มีข้อความว่า "จริงอยู่ ว่าโดยการกำหนดแห่งวิปัสสนา มรรคที่เกิดขึ้นแก่พระสุกขวิปัสสกก็ดี มรรคที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้สมาบัติที่ไม่ทำฌานให้เป็นบาทก็ดี ... ย่อมเป็นมรรคประกอบด้วยปฐมฌานทั้งนั้น." ในกรณีเช่นนี้ พระสุกขวิปัสสกเรียกได้ว่า "ทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติ" หรือไม่ครับ (แม้ว่าจะยังไม่ได้สมาบัติก็ตาม)

- จากสัทธรรมปฏิรูปกสูตรนั้น อรรถกถากล่าวถึง ความเคารพในสมาธิที่เกี่ยวข้องกับสมาบัติ นั่นแสดงว่า ความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ต้องอาศัยสมาธิโดยนัยสูงสุด ที่เป็นสมาบัติ ๘ ด้วยใช่หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 12 ก.พ. 2560

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

จากข้อความที่ผู้ถามยกมาที่ว่า

- ใน[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 625 มีข้อความว่า "จริงอยู่ ว่าโดยการกำหนดแห่งวิปัสสนา มรรคที่เกิดขึ้นแก่พระสุกขวิปัสสกก็ดี มรรคที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้สมาบัติที่ไม่ทำฌานให้เป็นบาทก็ดี ... ย่อมเป็นมรรคประกอบด้วยปฐมฌานทั้งนั้น." ในกรณีเช่นนี้ พระสุกขวิปัสสกเรียกได้ว่า "ทำความเพียร เพื่อความเกิดสมาบัติ" หรือไม่ครับ (แม้ว่าจะยังไม่ได้สมาบัติก็ตาม)


กำลังจะกล่าวสรุปว่า แม้พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ก็เจริญฌาน แต่ ความจริงไม่ใช่ ขออธิบายดังนี้ ซึ่งได้อธิบายแล้วในเพจพระไตรปิฎก ขอยกข้อความซ้ำมาดังนี้ครับ

ข้อความนี้ กำลังอธิบาย ตัว มรรคจิต อันเกิดได้ในแต่ละบุคคล เช่น พระสุกขวิปัสสกะ คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ และ แม้ผู้ทำฌานให้เป็นบาท เจริญวิปัสสนา ได้ มรรคจิต สภาพธรรมที่เป็น มรรคจิตนั้น สงบ ระงับ จากกิเลส สงบแนบแน่น ดั่งปฐมฌาน เพราะ ความที่มรรคจิตนั้น มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่เป็นสภาพธรรมที่สงบ ระงับ พร้อมกับ ปัญญาที่มีกำลัง จึงทำให้ มรรคจิตนั้น ละเอียดประณีต สงบ เทียบเท่าปฐมฌานนั่นเอง

มิได้หมายความว่า แต่ละบุคคล จะต้องเจริญฌานจิต ปฐมฌาน จึงจะเจริญวิปัสสนา และ ไม่ได้หมายถึง ว่ามรรคนั้นเป็นบุพภาค การอบรมปัญญาเบื้องต้น มรรคเบื้องต้น ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน จะต้องอบรมฌาน แต่ ข้อความนี้ มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่เป็น มรรคจิต ของแต่ละบุคคลที่ได้มรรคจิต ดังข้อความที่ว่า..มรรคที่เกิดขึ้นแก่พระสุกขวิปัสสกโดยกำหนดวิปัสสนาบ้าง.. นั่นคือ มรรคจิตที่เกิดขึ้นกับพระสุกขวปัสสก โดยกำหนดวิปัสสนา นั่นคือ ไม่ได้กำหนดฌานจิต แต่กำหนดวิปัสสนาเท่านั้น ที่เป็นการจะถึง มรรคจิต ได้มรรคจิต ซึ่ง มรรคทั้งหมดที่เกิดนั้น ไม่ว่ากับใคร ความสงบเทียบเท่าปฐมฌาน

นี่ก็เป็นการอธิบายที่ชัดเจน ไม่ขัดแย้งกัน ระหว่าง การอธิบายพระสุกขวิปัสสกะ ที่มุ่งหมายถึง ผู้เจริญวิปัสสนาล้วนๆ แล้วได้บรรลุ ถ้าเป็นการตีความว่าพระอรหันสุกขวิปัสสกะ ต้องเจริญฌาน เพื่อได้มรรคจิต นั้นผิด แต่ ที่ถูกคือ พระสุกขวิปัสสกะ เจริญวิปัสสนาล้วนๆ แล้วได้ มรรคจิต ตัว มรรคจิตนั้นเอง สงบเทียบเท่า ปฐมฌาน

ดังนั้น การอ่าน และ ยกข้อความมพระไตรปิฎก สำคัญที่สุด คือ ต้องดูบริบท ช่วงนั้นว่ามุ่งหมายถึงอะไร ถึง มรรคจิต ไม่ใช่ ที่เป็นบุพภาค เริ่มเจริญวิปัสสนา ก็จะไม่ขัดแย้งกับพระไตรปิฎกส่วนอื่น ที่อธิบายว่า พระสุกขวิปัสสกะ คือ ผุ้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ ไม่ได้เจริญฌาน แม้เพียงขณิกสมธิ พิจารณาธรรม ด้วยวิปัสสนาก็บรรลุเป็นพระสุกขวิปัสสกะ ครับ เพราะถ้าสรุปว่า พระสุกขวิปสสกะ ต้องเจริญฌานจิตก่อน นั่นก็แย้งกับพระไตรปิฎกส่วนอื่นทันที

การไม่คิดเองคนเดียว รวมทั้งการอ่านให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ขัดแย้งในข้อความในพระไตรปิฎกส่วนอื่นๆ ก็จะทำให้ไม่เข้าใจผิด และ ไม่เผยแพร่ในสิ่งที่ไม่ตรงครับ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ครับ จากกระทู้ที่ว่า เปรียบเหมือนได้ปฐมฌาน

เปรียบเหมือนได้ปฐมฌาน


ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกส่วนอื่นจะต้องสอดคล้องกับ ส่วนของอรรถกถาสัทธรรมปฏิรูปกสูตรด้วย ดังนั้น ข้อความในสูตรอื่น แสดงความละเอียดของการเคารพ ในแต่ละส่วนดังนี้

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 250

ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ชื่อว่า เคารพในสิกขาด้วย ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา จักไม่เคารพในสมาธิ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ภิกษุเคารพในพระศาสดา ในธรรม ในสงฆ์ ในสิกขา ชื่อว่า เคารพในสมาธิ ด้วย


ดังนั้น การที่พระอรหันตสุกขวิปัสสกะ ได้ ขณิกสมาธิ เจริญวิปัสสนา บรรลุธรรม ไม่ได้ฌาน ผู้ถาม กล่าวว่า สมาธินั้นเป็นการเคารพในสิกขา แต่ ไม่ได้หมายถึง เคารพในสมาธิ เพราะฉะนั้น ข้อความนี้ที่กล่าวนี้ก็แย้งกับพระไตรปิฎกส่วนอื่นที่ว่า ภิกษุเคารพในสิกขา จักไม่เคารพในสมาธิ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะ จะมีได้

ดังนั้น เราจะต้องเข้าใจ บริบท ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยสูงสุดก่อน ไม่เช่นนั้น พระอรหันตสุกขวิปัสสกะ ก็จะไม่เคารพในสมาธิ เพราะ ไม่ได้ สมาบัติ ๘ และ ข้อความที่ผู้ถามยกมาในพระไตรปิฎก ในอภิธรรม ในส่วน พระอรหันตสุกขวิปสสกะ ก็ได้อธิบายแล้ว ว่าในความสงบแนบแน่นเทียบเท่าปฐมฌาน ครับ ในขณะที่มรรคจิตเกิด แต่ไม่ได้หมายถึง พระอรหันตสุกขวิปัสสกะ จะต้องเจริญฌาน ครับ

ดังนั้น ผู้ถามยังไม่ไต้ตอบคำถามในประเด็นนี้ ที่ถามไปตอนต้นที่ว่า

คำถาม .. พระจักขุบาล เป็น พระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ไม่ได้สมาบัติ ๘ เป็นผู้เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ และเคารพในสมาธิหรือไม่

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pdharma
วันที่ 14 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาให้ความกระจ่างครับ

- ในความคิดเห็นที่ 4 เป็นเพียงข้อสงสัย ไม่ใช่ข้อที่ผู้ตั้งกระทู้สรุปว่าเชื่อเช่นนั้น และข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะมีความเคารพในสมาธิ ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความกระจ่างใน ความเห็นที่ 6 เพิ่มเติมแล้ว

- ทั้งนี้ ข้าพเจ้ายังมีข้อสงสัยที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งจะพยายามศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ในประเด็น เช่น

๑. สัทธรรมปฏิรูปกสูตรนั้น เหตุใดทรงตรัสทั้ง เคารพในสิกขา และ เคารพในสมาธิ แยกกันในเมื่อสมาธินั้นน่าจะรวมอยู่ในสิกขา ๓ แล้ว

๒. ยังไม่เข้าใจว่า เคารพในสมาธิ ในสัทธรรมปฏิรูปกสูตรที่กล่าวถึงความยั่งยืนหรืออันตรธานของพระสัทธรรม กับ เคารพในสมาธิ ในสูตรอื่นๆ ที่มุ่งเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ (ละอกุศล เจริญกุศล) มีนัยเหมือนกันหรือไม่ (ในสัทธรรมปฏิรูปกสูตร กล่าวถึง เคารพในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และในสมาธิเท่านั้น ส่วนในพระสูตรอื่นเช่น สักกัจจสูตร กล่าาวถึง เคารพในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท และในปฏิสันถาร หรือในทุติยสุวจสูตร ก็รวมถึง ความเป็นผู้ว่าง่าย และความเป็นผู้มีมิตรดีงามด้วย)

๓. เกี่ยวกับผู้ได้ฌาน เช่นใน สักกัจจการีสูตร "...บางคนกระทำความเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ...ใน ๔ จำพวกนั้นผู้ที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิและกระทำความเคารพในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศและประเสริฐที่สุด..."
หรือ สัปปายการีสูตร "...บางคนเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ...ใน ๔ จำพวกนั้นผู้ที่ฉลาดในการเข้าสมาธิและะกระทำความเคารพในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศและประเสริฐที่สุด..."

ผู้ตั้งกระทู้ยังไม่เข้าใจว่า ความสำคัญของการฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ หรือ ฉลาดในการเข้าสมาธิ จะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรืออันตรธานของพระสัทธรรมในข้อ ๑ สัทธรรมปฏิรูปกสูตร หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้จะพยายามศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 14 ก.พ. 2560

เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ

หากได้อ่านรายละเอียดของพระสูตรที่ชื่อว่า สัทธรรมปฏิรูปกสูตร เป็นพระสูตรที่แสดงถึง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป หรือ การค่อยๆ อันตรธานของพระธรรม ซึ่งเป็นการอันตรธาน ของการบรรลุ อันตรธานของปฏิบัติ และ อันตรธานของปริยัติ ซึ่งในพระไตรปิฎกและ อรรถกถาของสูตรนี้ก็ได้แสดง การอันตรธานแต่ละอย่าง ว่าเป็นอย่างไร เช่น ในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน ก็มีพระภิกษุผู้บรรลุคุณธรรมโดยมาก ที่ได้ทั้ง ฌาน เช่น อภิญญา ๖ และ บรรลุธรรมด้วย มี ท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ต่อเมื่อ การบรรลุก็ค่อยๆ เสื่อมไป จากที่เคยได้ฌาน ได้ สมาบัติ พร้อมวิปัสสนา บรรลุธรรมนั้นก็เสื่อมไป เรื่อยๆ จนถึงไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติ ๘ แต่ ยังบรรลุธรรมได้ คือ เจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ไม่ได้อบรมฌาน สมาบัติ ได้ ขณิกสมาธิ เป็นพระอรหันสุกขวิปสสะ จนถึงพันปีที่ ๓ คือ สมัยนี้ ไม่ได้สมาบัติ ๘ ไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ เป็นเพียงพระอนาคามี ซึ่งก็เป็นการยืนยันจากข้อความในพระไตรปิฎก ในสูตรนี้ ในการค่อยๆ อันตรธาน แม้สมาบัติ ๘ แม้ไม่ได้ฌาน แต่ สมัยนี้ สูงสุดก็คือ พระอนาคามีบุคคล เป็นการยืนยันว่า ผู้ที่ไม่เจริญสมถภาวนา ไม่ได้เจริญสมาธิ ก็บรรลุธรรมได้ แต่ ก็แสดงให้เห็นถึงการอันตรธาน ไปตามลำดับ จากเคยได้ฌานสมาธิพร้อมวิปัสสนาก็ไม่ได้แล้ว จนไล่ไปตามลำดับ ถึงพันปีสุดท้าย พันปีที่ ๕ ก็มีเพียงพระโสดาบัน นี่คือ สาระของพระสูตร พระสูตรจึงแสดงต่อไปว่า เหตุ ๕ ประการ ที่ทำให้พระธรรม อันตรธาน ลบเลือนเสื่อมสูญไป คือ

1. ไม่เคารพในพระพุทธเจ้า

2. ไม่เคารพในพระธรรม

3. ไม่เคารพในพระสงฆ์

4. ไม่เคารพในสิกขา

5. ไม่เคารพในสมาธิ

นั่นก็แสดงว่า เป็นการแสดงการเสื่อมไป อันตรธานไป ตามสาระของพระสูตร


จากคำถาม

๑. สัทธรรมปฏิรูปกสูตรนั้น เหตุใดทรงตรัสทั้ง เคารพในสิกขา และ เคารพในสมาธิ แยกกันในเมื่อสมาธินั้นน่าจะรวมอยู่ในสิกขา ๓ แล้ว

- สิกขา ๓ คือ การอบรม อธิปัญญา อธิจิต และ อธิศีล ก็คือ การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เพราะ อธิจิต บางคนเข้าใจว่า มุ่งหมายถึง สมาบัติ ๘ เท่านั้น แต่ อธิจิต ตามที่เคยอธิบายในเพจพระไตรปิฎก พร้อมยกข้อความในอรรถกถามาแล้วว่า มุ่งหมายถึง จิตที่เป็นการเจริญวิปัสสนาด้วย ไม่ใช่ สมาบัติ ๘ เท่านั้น เพราะฉะนั้น การอ่านพระไตรปิฎก ต้องประกอบส่วนอื่นด้วย ครับ ส่วน การเคารพในสมาธิ ที่เป็นสมาบัติ ๘ ก็มุ่งหมายถึง สมาธิโดยนัยสูงสุด ที่เป็นการเจริญ สมาบัติ ๘ ซึ่งพระสูตร นี้เป็นการแสดงถึง การค่อยๆ เลือนหายไป ของ ผู้บรรลุธรรมสูงสุด จากที่เคยได้สมาบัติ พร้อมวิปัสสนา ก็ค่อยๆ เลือนหายไป ทีละน้อยนั่นเอง ครับ


๒. ยังไม่เข้าใจว่า เคารพในสมาธิ ในสัทธรรมปฏิรูปกสูตรที่กล่าวถึงความยั่งยืนหรืออันตรธานของพระสัทธรรม กับ เคารพในสมาธิ ในสูตรอื่นๆ ที่มุ่งเพื่อความไม่เสื่อมแก่ภิกษุ (ละอกุศล เจริญกุศล) มีนัยเหมือนกันหรือไม่ (ในสัทธรรมปฏิรูปกสูตร กล่าวถึง เคารพในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และในสมาธิเท่านั้น ส่วนในพระสูตรอื่นเช่น สักกัจจสูตร กล่าาวถึง เคารพในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ในความไม่ประมาท และในปฏิสันถาร หรือในทุติยสุวจสูตร ก็รวมถึง ความเป็นผู้ว่าง่าย และความเป็นผู้มีมิตรดีงามด้วย)

- เฉพาะพระสูตรนี้ มุ่งหมายถึง การเคารพสมาธิ ที่เป็นการค่อยๆ เลือนหายของการบรรลุธรรม ที่เคยได้สมาบัติ ๘ แล้วไม่ได้ นั่นเอง เป็นไปตามลำดับของการอันตรธาน แต่ส่วนอื่นๆ ก็คือ ขณะที่สมาธิที่เกิดพร้อมปัญญาเกิด ขณะนั้นก็ไม่เสื่อม คือเป็นธรรมที่เป็นกุศล เป็นโสภณธรรมในขณะนั้น ครับ


๓. เกี่ยวกับผู้ได้ฌาน เช่นใน สักกัจจการีสูตร "...บางคนกระทำความเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ...ใน ๔ จำพวกนั้นผู้ที่ฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิและกระทำความเคารพในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศและประเสริฐที่สุด..."
หรือ สัปปายการีสูตร "...บางคนเคารพในสมาธิ แต่ไม่ฉลาดในการเข้าสมาธิ...ใน ๔ จำพวกนั้นผู้ที่ฉลาดในการเข้าสมาธิและะกระทำความเคารพในสมาธิ นับเป็นผู้เลิศและประเสริฐที่สุด..." ผู้ตั้งกระทู้ยังไม่เข้าใจว่า ความสำคัญของการฉลาดในการตั้งจิตมั่นในสมาธิ หรือ ฉลาดในการเข้าสมาธิ จะเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรืออันตรธานของพระสัทธรรมในข้อ ๑ สัทธรรมปฏิรูปกสูตร หรือไม่ อย่างไร

- แน่นอนครับว่า พระอริยบุคคล มีหลายประเภท ประเภทที่เลิศสูงสุด คือ ได้ทั้งสมาบัติ ๘ และ บรรลุธรรม เป็นอภิญญา ๖ บางพวก เป็น วิชชา ๓ บางพวก ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติ เป็นพระอรหันสุกขวิปัสสกะ คือ เป็นพระอรหันต์ที่ไม่ได้ฌาน สมาบัติ แต่ก็บรรลุธรรม

ผู้ที่เลิศทั้งได้ฌาน และ บรรลุธรรม ย่อมเป็นผู้เลิศประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่ได้ฌาน แต่บรรลุธรรม ดั่งเช่น ท่านพระสารีบุตร ผู้ได้ฌาน ได้สมาบัติ ๘ อภิญญา ๖ ย่อมเป็นผู้เลิศกว่า พระจักขุบาล ผู้เป็นพระอรหันสุกขวิปสสกะ ที่บรรลุธรรม แต่ไม่ได้ฌาน สมาบัติ แต่ สองท่าน เหมือนกัน อย่างหนึ่ง คือ ได้รสวิมุตติ คือถึงพระนิพพาน บรรลุธรรม อันเป็นข้อสรุปได้ว่า การบรรลุธรรมไม่จำเป็นจะต้องเจริญสมถภาวนา เจริญสมาธิ ครับ

ดังนั้น การเป็นผู้เลิศกว่า คือ การได้สมาธิ เป็นผู้เลิศกว่า ผู้ไม่ได้สมาธิ จะเป็นข้อสรุปว่า การจะบรรลุธรรม ต้องได้ฌาน ได้สมาธิก่อน จึงเป็นข้อสรุปที่ผิด ครับ และ ตามพระสูตร สัทธรรม ที่กล่าวมา ก็แสดงชัดเจนว่า ยุคปัจจุบัน พันปีที่ 3 มีแต่พระอนาคามี ที่ไม่ได้ฌาน สมาบัติ เพราะ หมดพันปีที่ 1 เข้าพันปีที่สอง ก็เหลือแต่พระอรหันตสุกขวิปัสสกะ ที่ไม่ได้อบรมสมถภาวนา ไมไ่ด้เจริญฌาน แต่ก็บรรลุธรรมได้ครับ

ดังนั้น ข้อสรุปอีกข้อที่ว่า สมัยปัจจุบัน ต้องเจริญสมาธิ เจริญสมถภาวนาก่อนจึงจะบรรลุธรรมได้ นั่นผิด เพราะ เป็นการยกพระสูตร ส่วนอื่นๆ ที่เป็นการบรรลุธรรมของบุคคลผู้เลิศในสมัยปฐมโพธิกาล ให้มาปฏิบัติในสมัยนี้ ที่เหลือเพียงพระอนาคามี ที่ไม่ได้ฌาน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 17 ก.พ. 2560

เรียนขออภัยผู้ถามในความเข้าใจผิด ในเรื่องเฟสบุ๊ค ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
thilda
วันที่ 27 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านผู้ถามและท่านอาจารย์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ