ถอดเทปรายการบ้านธัมมะ พระธรรมวินัยกับกฎหมาย ครั้งที่ 2/4

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ก.พ. 2560
หมายเลข  28624
อ่าน  1,583

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ถอดเทปรายการบ้านธัมมะ

พระธรรมวินัยกับกฎหมาย

ครั้งที่ 2/4

ไฟล์เสียง ...

รายการบ้านธัมมะ พระธรรมวินัยกับกฎหมาย ครั้งที่ 2

ไฟล์วีดีโอ...

รายการบ้านธัมมะ 25 มกราคม 2560 พระธรรมวินัย กับ กฏหมาย 2/4

พิธีกร (ธนากร) สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับเข้าสู่รายการบ้านธัมมะ โดยมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังคงค้างการสนทนาพิเศษในหัวข้อ พระธรรมวินัยกับกฎหมาย ในเรื่องของกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทไว้ว่า ตัวกฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม แต่เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความยุติธรรม อีกความหมายหนึ่งของความยุติธรรมก็คือความถูกต้องสมควรนั่นเอง เพราะฉะนั้นการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับพระธรรมวินัยนั้น จึงต้องคำนึงถึงความถูกต้องสอดคล้องกับพระธรรมวินัยด้วย ซึ่งในวันนี้ อาจารย์ทั้ง ๓ ท่านก็ยังคงอยู่กับพวกเรา ได้แก่ คุณจริยา เจียมวิจิตร คุณจักรกฤษณ์ เจนเจษฎา และคุณวิชัย เฟื่องฟูนวกิจโดยมีอาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ความลึกซึ้งทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ไปติดตามชมกันได้เลยครับ

อ.จักรกฤษณ์ พระธรรมวินัย ก็คือ การที่เกี่ยวข้องกับความดีงามทั้งหลาย ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง สิ่งไม่ดีท่านก็ได้อธิบายไว้ ดังนั้นในการใช้กฎหมายต่างๆ ก็จะต้องดูหลักตรงนี้ ส่วนที่เป็นส่วนที่ดีอย่างไร ส่วนไม่ดีอย่างไร เอามาปรับใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ศีล ๕ ข้อ ยกตัวอย่างข้อแรก ปาณาติบาต คือ เจตนาเว้นจากการฆ่าสัตว์ ในพระธรรมวินัยท่านอธิบายละเอียดเลยว่า องค์ประกอบของการฆ่าสัตว์ มีอย่างไรบ้าง ๑ ๒ ๓ ๔ กฎหมายก็คล้ายๆ กัน คือนำหลักนี้มาพิจารณาว่า การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะต้องมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้วินิจฉัยว่า สิ่งนั้นเป็นการกระทำความผิดไหม ยกตัวอย่างเช่น ในพระธรรมวินัยท่านบอกว่า การฆ่าสัตว์นั้น ๑) สัตว์นั้นต้องมีชีวิต อันนี้เป็นองค์ประกอบหนึ่ง อันที่ ๒) คือมีเจตนาทำให้สัตว์นั้น ตายไป หรือว่าล่วงไป เป็นองค์ประกอบย่อยๆ ซึ่งในการบังคับใช้กฎหมาย ใช้หลักนี้ได้เลย ในการพิจารณาองค์ประกอบของความผิด ดังนั้น พระธรรมวินัยจะให้ประโยชน์มาก เพราะจะมีความละเอียดรอบครอบ

เมื่อกล่าวลึกลงไปอีกถึง พระวินัยเองเป็นบทบัญญัติ กำหนดว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ สิ่งใดเป็นอาบัติ พระวินัยท่านก็ไม่ได้บัญญัติหลักเฉยๆ แต่ท่านให้รายละเอียดด้วย ซึ่งตรงนี้ท่านอาจารย์วิชัย ก็จะได้ให้รายละเอียดในส่วนนี้ ซึ่งกฎหมายเองก็สอดคล้องกัน เพราะว่าจะต้องมีหลักการ มีประเด็นย่อย มีข้อยกเว้น อันนี้พระวินัยจะเอื้อในการใช้กฎหมายทั่วๆ ไป จะไม่มีโทษใดๆ เลย ถ้ามีความรู้พระวินัยแล้วก็มาใช้กฎหมาย แล้วก็สอดคล้องกับที่อาจารย์จริยาได้กล่าวไว้กฎหมายต้องสอดคล้องกับพระวินัย โดยพระวินัยเป็นหลัก กฎหมายจะผิดแผก หรือมีอะไรที่แตกแยกของจากพระวินัย ต้องมาพิจารณา มีอะไรผิดปกติไหม อันนี้เป็นหลักการที่ใช้ได้เลย ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย โดยเฉพาะส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวโดยรวม ท่านสามารถที่จะใช้ประโยชน์ในการนำมาพิจารณากฎหมายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และได้ประโยชน์จริงๆ ตรงนี้สำคัญที่สุด อันนี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจรรโลง การบังคับใช้กฎหมายได้เป็นอย่างดี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นพระธรรมวินัย จึงเป็นหลักในการที่จะได้อาศัยในการที่จะกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ อย่างเช่นในเรื่องของกฎหมาย ก็จะมีความสอดคล้องเหมาะสมกับความจริง

อ.วิชัย จากที่ได้ฟังในช่วงแรก ที่อาจารย์จริยากล่าวถึงขั้นตอนของการที่จะมีกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งพระวินัย ก็มีขั้นตอน ก็คือเหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุการณ์คือความประพฤติไม่สมควรของพระภิกษุ ก็จะมีการเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ขึ้นมาว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แล้วได้กราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงทราบ แต่ก็ตรัสเรียกภิกษุนั้นมา ที่เป็นผู้ถูกโจทก์ แล้วก็รับสั่งให้มีการประชุมสงฆ์ เรื่องนี้สำคัญ คือต้องมีการประชุมสงฆ์ ทุกครั้งในการที่จะมีการบัญญัติสิกขาบท

ดังนั้น เมื่อมีการประชุมสงฆ์แล้ว พระองค์ตรัสสอบถามว่า เธอกระทำอย่างนั้นจริงหรือ ภิกษุที่ถูกโจทก์นั้น ก็ทูลรับว่าจริง พระองค์จึงตรัสตำหนิติเตียนโดยอเนกปริยาย ว่าสิ่งนั้น ไม่ควรทำ ใช้ไม่ได้ ไม่ใช่กิจของสมณะ การกระทำของเธอนั่น ไม่ได้เป็นเหตุให้บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใสแล้วเลื่อมใส หรือเพื่อความเป็นอย่างอื่นของบุคคลที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่นเป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่ขัดเกลาสะสมกิเลส โดยประการต่างๆ แล้วจึงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ นี้คือแต่ละข้อๆ ก็จะมีพระองค์อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ ประโยชน์ของการบัญญัติพระวินัยคืออะไร

อ.อรรณพ เช่น อาจารย์ยกตัวอย่างบางประการ

อ.วิชัย อย่างเช่นเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ทั้งหมดจะมี ๑๐ ประการด้วยกัน

อ.อรรณพ ความรับว่าดี แม้ในทางกฎหมายก็ต้องให้เป็นที่ยอมรับใช่ไหม อย่างที่อาจารย์จริยาท่านพูดให้ฟัง แต่ยิ่งพระวินัยที่ละเอียด พระองค์ก็เพื่อให้รับว่าดี

อ.วิชัย เพราะว่าเมื่อบัญญัติสิกขาบทแล้ว ภิกษุทุกรูปต้องประพฤติตามสิกขาบททั้งหมดเพราะเป็นการยอมรับกันทั้งหมดของหมู่สงฆ์ในคณะโน้น ภิกษุใดก็ตามที่จะมีการอุปสมบทมาเป็นภิกษุรุ่นหลังๆ ก็ต้องเคารพในมติร่วมกันในครั้งโน้น ที่พระองค์บัญญัติโดยมีภิกษุสงฆ์ ยอมรับทั้งหมดเลย

อ.อรรณพ อันนี้ต้องจำไว้เลยว่า ถ้ามาบวชแล้ว ก็ต้องเคารพ

อ.วิชัย ถูกต้อง

อ.อรรณพ จากการที่พระองค์ท่านทรงบัญญัติ พระวินัยตั้งแต่ปราชิก จนถึงทุกกฎ เพื่อการยอมรับของสงฆ์ แต่ถ้าไม่ยอมรับ อันนี้จะเป็นปัญหา ที่เราจะพูดคุยกันต่อไป อย่างที่เรารู้กันอยู่

อ.วิชัย ประการที่ ๒ ก็คือเพื่อความอยู่สำราญของสงฆ์ ดังนั้นมีภิกษุจำนวนมาก ถ้าภิกษุใดจะปรารถนากระทำสิ่งใดก็ได้ นี้คือความไม่ผาสุกใช่ไหม เพราะภิกษุที่มีศีลท่านก็มีคุณธรรมมีความดี แต่ภิกษุที่ ทุศีลก็มีเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อมีการบัญญัติสิกขาบทขึ้นมา ภิกษุทุกรูป ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย เว้นในสิ่งที่ไม่สมควร ที่จะให้มีการล่วงละเมิดสิกขาบท การอยู่ร่วมกันของภิกษุทั้งหลายก็อยู่ด้วยความผาสุก อันนี้คือประการที่ ๒ คือแต่ละข้อมีประโยชน์ทุกข้อเลย แล้วก็รัดกุมมาก เพราะว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้แสดงเอาไว้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

อ.อรรณพ แล้วพระศาสนาจะมั่นคงต่อไปก็ด้วยพระวินัยที่ศึกษาดีแล้ว เคารพแล้วก็ประพฤติปฏิบัติตาม

อ.วิชัย คือถ้าจะกล่าวแต่ละข้อ แต่ว่าความละเอียดก็จะสามารถศึกษาได้เช่นเดียวกัน อย่างเช่น เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ เพื่อความผาสุกของหมู่สงฆ์ เพื่อข่มภิกษุ ผู้เก้อได้ยาก เห็นไหม ถ้ามีสิขาบทเมื่อไหร่ ภิกษุไหนที่ประพฤติล่วงละเมิดสิกขาบท ก็สามารถที่จะกล่าวว่าสิกขาบทนี้ พระองค์บัญญัติไว้แล้วไม่ใช่หรือ ที่จะให้ภิกษุนั้นบวชในภายหลังใช่ไหม แต่ว่าในครั้งโน้น มีการบัญญัติไว้แล้ว แล้วก็มีการยอมรับกันของหมู่สงฆ์แล้ว ก็สามารถมีสิกขาบทที่จะไปข่มภิกษุที่ทุศีลได้ แล้วข้อต่อไปคือ เพื่อความเป็นอยู่ผาสุกของภิกษุที่มีศีล

ดังนั้น ภิกษุที่มีศีล ก็อยู่อย่างสบายมากเลย เพราะว่าแต่ละท่าน ก็ประพฤติตามสิกขาบททั้งหมด แล้วก็การบัญญัติ เพื่อเป็นเหตุให้ชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส เกิดความเลื่อมใส ถ้าภิกษุทั้งหลายประพฤติในสิกขาบททั้งหลาย คนไม่เลื่อมใส รู้ความประพฤติของภิกษุเช่นนั้น เกิดความเลื่อมใส เพราะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส แล้วก็ยังให้บุคคลที่เลื่อมใสแล้วเกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้น นี่คืออีกประการ

อ.อรรณพ มั่นคงขึ้น

อ.วิชัย ถูกต้อง แล้วก็เป็นการป้องกันความเสื่อมเสีย ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเพราะว่าถ้ามีการล่วงละเมิดสิกขาบท ใช่ไหม การติเตียน การที่จะถูกจองจำ ถูกลงโทษ ประการต่างๆ ในปัจจุบัน ก็มี คือถ้าประพฤติตามสิกขาบท ก็จะป้องกันไว้

อ.อรรณพ เรียกได้ว่าถ้าประพฤติตามพระธรรมวินัยแล้ว ไม่ผิดกฎหมายแน่ๆ

อ.วิชัย ถูกต้อง และก็กำจัดความเสื่อมเสียความเสียหายที่จะบังเกิดในอนาคต ถ้ามีการล่วงละเมิดสิกขาบท ไม่แสดงคืน ไม่กระทำให้ถูกต้อง ตายจากอัตภาพนั้นก็เกิดในอบายภูมิ

และข้อต่อไปก็คือ เพื่อความดำรงมั่นของพระสัจธรรม พระสัจธรรม ธรรมของผู้สงบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีการบัญญัติสิกขาบทก็สามารถที่จะรู้ว่า ถ้าใครล่วงละเมิดสิกขาบทแสดงว่าบุคคลนั้นไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการทำลายพระสัจธรรม

อ.อรรณพ จึงสอดคล้องกับมีพระธรรมวินัย เป็นศาสดาแทนพระองค์ มิฉะนั้นพระองค์ท่านปรินิพพานไป ที่ยังพระชนมายุได้แค่ ๘๐ พรรษา พระศาสนาจะยั่งยืนมาได้อย่างไร ถ้าไม่มีพระวินัย

อ.วิชัย และประการสุดท้าย ก็ถือตามพระวินัย เพราะว่าเป็นเครื่องนำออกจากอกุศลทั้งหมดเลย อย่างที่เรากล่าวในช่วงแรก ว่าพระวินัยทั้งหมดเป็นไปในเรื่องของการขัดเกลากิเลส ดังนั้นที่บัญญัติ ไม่ใช่ประสงค์อย่างอื่นเพื่อประโยชน์แก่ ภิกษุทุกรูป ที่จะประพฤติเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งหมด

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นในประเด็น ที่เราสนทนามา ก็คือพระธรรมวินัย มีประโยชน์อย่างไร ทั้ง ๑๐ ประการ ที่อาจารย์วิชัยกล่าว ที่พระองค์ท่านตรัส หรือว่าประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ในการที่จะร่างกฎหมาย ในการที่จะพิจารณาความถูกต้องของคดีความต่างๆ เป็นต้น และก็เรื่องอื่นในอาชีพอื่นอะไรด้วย ก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น ที่นี้ในมุมกลับบ้าง ว่ากฎหมายบ้านเมืองก็ดีหรือว่าสังคมของผู้ที่ไม่ได้เป็นภิกษุ ก็คือพุทธบริษัท ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา หรือในสมัยก่อน จะใช้คำว่าอาณาจักร ก็คือ “อาณาจักร” กับ “พุทธจักร” พุทธจักรก็คือในเรื่องของคณะสงฆ์

คราวนี้อยากจะเรียนสนทนา ว่า ศาสนจักร (หมายถึงพุทธจักร) กับ อาณาจักร มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกัน คือก่อนที่เราจะได้พิจารณาแนวทางการแก้ความไม่ถูกต้อง การละเมิดพระธรรมวินัย กฎหมายอะไรต่างๆ ก็ต้องไตร่ตรองถึงเรื่องในอดีตซึ่งท่านทำมาโดยความละเอียดถี่ถ้วน ด้วยความชอบธรรมต่างๆ มา ก็อยากจะเรียนสนทนาว่า ในส่วนของความเกี่ยวข้องนี้ อาณาจักรคือทางฝ่ายของคฤหัสถ์ จะมีส่วนเกื้อกูล อุปการะ สนับสนุนทางฝ่ายพุทธจักรคือทางฝ่ายคณะสงฆ์อย่างไร ก็อยากจะขออาจารย์วิชัย สรุปเล่าให้เราฟังพอสังเขป ว่าตั้งแต่อดีตมา ทางฝ่ายอาณาจักรมีส่วนสนับสนุนในการที่จะธำรงรักษา พระธรรมวินัยไว้อย่างไรบ้าง

อ.วิชัย เพราะเหตุว่า ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ ก็ทรงแสดงธรรมเป็นอันมากและเป็นพระศาสดา และภิกษุทุกรูปที่เข้ามาบวช ก็ต้องมีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบัญญัติเช่นไร ก็ประพฤติตามอย่างนั้น ดังนั้นเมื่อถึงกาลสมัย ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็มีท่านพระมหากัสสปะ ก็ได้ทราบว่ามีภิกษุแก่รูปหนึ่ง คือ สุภัททะ กล่าวจ้วงจาบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระสัมมาสัมพุทธพระเจ้าสมณโคดมปรินิพพานก็ดีแล้ว ต่อไปนี้จะไม่มีใครมาว่ากล่าวว่า นี้สมควรแก่เธอทั้งหลาย นี้ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลาย เราประสงค์กระทำสิ่งไหนก็กระทำสิ่งนั้น ไม่กระทำสิ่งใด ก็ไม่กระทำสิ่งนั้น พระมหากัสสปะ ได้ยินอย่างนั้นก็รู้ว่า ในอนาคตกาล ธรรมจะเสื่อมถอย อธรรมจะรุ่งเรือง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะเสื่อมถอย

ดังนั้นก็เลยให้ภิกษุร่วมกันกระทำสังคายนาธรรมวินัยเพื่อความดำรงมั่นของพระสัจธรรม เพื่อให้รู้ว่าพระธรรมคำสอน ที่พระองค์ทรงแสดงธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อความดำรงมั่น ก็ต้องมีการแสดงให้มีความชัดเจน ว่าในส่วนของพระวินัยปิฎกเป็นอย่างไร พระสุตตันตปิฎกเป็นอย่างไรพระอภิธรรมปิฎกเป็นอย่างไร ดังนั้นทางฝ่ายอาณาจักร ผู้มีศรัทธาก็คือในสมัยนั้น ก็จะมีพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระราชา และมีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก ดังนั้นทราบความประสงค์ พระเจ้าอชาตศัตรูก็กราบเรียนพระคุณเจ้าทั้งหลายว่า ประสงค์ให้ข้าพระองค์กระทำอย่างไร พระภิกษุพระเถระในครั้งโน้น ก็กล่าวว่า จะทำสังคายนาธรรมวินัย ก็ให้เตรียมสถานที่ เพื่อจะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ดังนั้นในส่วนของฝ่ายคฤหัสถ์ คือฝ่ายอาณาจักร ก็รู้การอันควรว่าควรที่จะมีการกระทำที่ทางต่างๆ จัดที่ทางต่างๆ หรือแม้ถึงที่สุดก็ในก่อนหน้านั้นก็จะมีการบูรณะอารามต่างๆ ในอาณาจักรของพระองค์นี้ คือ เป็นการช่วยเหลือมีทางฝ่ายศาสนจักรโดยมีฝ่ายอาณาจักรสนับสนุนด้วย ดังนั้นการที่จะรักษาธรรมวินัยก็คือให้มีพระธรรมวินัยนั้นดำรงอยู่ อันนี้คือเป็นส่วนประการหนึ่ง คือในสมัยที่จะมีการกระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ โดยมีพระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน

อ.อรรณพ ก็มีฝ่ายอาณาจักร โดยพระเจ้าอชาตศัตรู ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ในครั้งนั้น แล้วต่อมา อย่างเช่นสมัยที่เราควรจะกล่าวถึงอย่างยิ่งคือ พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ท่านทรงเป็นฝ่ายอาณาจักรที่สนับสนุน ฝ่ายพุทธจักร อย่างไรบ้าง

อ.วิชัย เพราะว่า ตอนแรก ท่านเริ่มมีศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา ก็มีการทํานุบํารุงมากมายอัญญเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็เสื่อมจากลาภสักการะ เพราะพระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนามาก อัญญเดียรถีย์ในครั้งนั้นก็ปลอมบวชเป็นภิกษุจำนวนมาก คือบวชเอง เป็นภิกษุเองเลย แต่บวชแล้ว ไม่กล่าวตามธรรมวินัย กล่าวตามลัทธิของตนเอง ทำให้ภิกษุทั้งหลายรู้ว่า นี้ไม่ใช่ภิกษุ ก็เลยไม่กระทำอุโบสถกรรม ถึง ๗ ปี

อ.อรรณพ แทรกนิดหนึ่ง อันนี้ข้อความที่อาจารย์ (วิชัย) กล่าวตรงนี้ว่า บวชเข้ามาแล้วแต่กล่าวลัทธิตามความเห็นของตน ซึ่งเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนา แล้วก็สอนอย่างนั้น ทั้งๆ ที่มาบวชเป็นภิกษุในพระศาสนานี้ แต่ไม่ได้มีความคิดและความเข้าใจ ที่เป็นพระพุทธศาสนาเลย

อ.วิชัย ดังนั้น การที่จะรู้ แล้วก็เข้าใจว่าใครเป็นภิกษุหรือไม่ใช่ภิกษุ พระเจ้าอโศกมหาราชในครั้งนั้น ก็ได้ศึกษา ได้ฟัง พระธรรมวินัยจาก พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ถามว่า ธรรมวินัยคืออะไร ก็เลยให้ภิกษุที่ว่าคิดเป็นภิกษุรวมเป็นพวกๆ ไว้ กั้นม่านแล้วสอบถามว่ามีวาทะ หรือว่ากล่าวไว้ว่าอย่างไร แต่ละท่านก็กล่าวตามลัทธิของตนเอง

อ.อรรณพ แล้วเป็นอย่างไร

อ.วิชัย พระเจ้าอโศกมหาราชรู้ว่า นี้ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย เพราะว่ากล่าวลัทธิไม่ตรงตามที่ท่านเข้าใจที่ศึกษามาแล้ว ก็เลยประทานผ้าขาวให้สึกออกไปเสีย เพราะว่าไม่ใช่ภิกษุ ดังนั้น พระภิกษุใดที่กล่าว ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นวิภัชวาที คือกล่าวจำแนกแจกแจงธรรม ตามความเป็นจริงๆ นั่นคือเป็นธรรมวินัย พระองค์ก็ทราบว่านั่น คือภิกษุ ดังนั้น ในสมัยนั้น พระองค์ให้บุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุออกจากความเป็นเพศของภิกษุถึง ๖๐,๐๐๐ รูป นี้คือเห็นถึงอาณาจักรนี้มีส่วนช่วยมาก เพราะลำพังของภิกษุทั้งหลายนี่ ก็เหมือนกับศึกษาปฏิบัติตามธรรมวินัยแต่ว่าคนมาปลอมบวชอย่างนี้ ก็เลยจะเป็นประเด็นที่เราจะได้สนทนาต่อเนื่อง

อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นทางฝ่ายอาณาจักรคือบ้านเมือง จะปล่อยไม่ได้เลย แล้วจะผู้บริหารบ้านเมืองในยุคนั้น ถ้ายุคนั้นสมัยนั้นเป็นกษัตริย์ จะจัดการ โดยเฉพาะถ้าท่านเข้าใจธรรม ท่านก็ทรงจัดการของท่าน อำมาตย์ เสนาบดีทั้งหลาย ในยุคนี้สมัยนี้เป็นผู้ปกครอง เป็นรัฐบาลหรือถ้ามีความเข้าใจธรรม จะเป็นประโยชน์มาก เฉกเช่นเดียวกับสมัยครั้งพระพุทธกาล

อ.วิชัย สำคัญคือมีความเข้าใจธรรม จึงจะรู้ว่าใครเป็นภิกษุหรือไม่ใช่ภิกษุ ใครกล่าวตามธรรมวินัยหรือบิดเบือนธรรมวินัย

อ.อรรณพ แล้วก็พระพุทธศาสนาก็สืบต่อจากอินเดีย มาเจริญรุ่งเรืองที่ศรีลังกา ในกาลต่อไป ก็เช่นเดียวกันกับพระมหินทเถระ ซึ่งท่านเป็นพระอรหันต์ และท่านเป็นโอรสของของพระเจ้าอโศกมหาราชท่านก็มาที่ศรีลังกา ท่านก็รอเวลา จนกว่าพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ จะได้ขึ้นครองราชย์และท่านก็ได้รู้ว่า พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นผู้ที่เหมาะควรที่จะยกย่องเชิดชูพระศาสนาในลังกาทวีปให้เป็นไปได้ ท่านก็ยังต้องอาศัย ก็สืบต่อมา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

พิธีกร (ธนากร) จะเห็นได้ว่าถ้ามีโอกาสได้ศึกษาพระวินัยแต่ละข้อ สิกขาบทที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติขึ้น เพื่ออนุเคราะห์ภิกษุทั้งหลายนั้น บริสุทธิ์บริบูรณ์พร้อม ด้วยเหตุและผล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของพุทธบริษัท ทั้งหมด ทั้งภิกษุสงฆ์และพุทธบริษัท ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยว่า สิกขาบทแต่ละข้อนั้น เป็นไปด้วยความเข้าใจธรรม และขัดเกลา ละคลายกิเลส จนถึงความเป็นพระอรหันต์ และนอกจากนี้ ตัวสิกขาบทเอง เมื่อภิกษุสามารถประพฤติ ปฏิบัติตามแล้ว ชื่อว่าเป็นความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหมดที่มีความรู้ความเข้าใจดังกล่าว จึงมีส่วนร่วมในการ ปกป้อง และดูแลรักษาพระธรรมวินัยให้คงอยู่ต่อไป นี่คือเนื้อหาสาระในช่วงแรก พักกันสักครู่ และเดี๋ยวกลับติดตามชมเนื้อหาในช่วงถัดไปครับ

กลับเข้าสู่ช่วงที่ ๒ ของรายการบ้านธัมมะ ก็คงได้ทราบกันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอโศกมหาราช และพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะนั้น ล้วนจะทรงเป็นผู้รอบรู้ทั้งในพระธรรมและพระวินัย จึงทรงมีความสามารถในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน แม้แต่บูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในอดีต ก็ล้วนแต่ทรงมีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังจะเห็นได้จากการสนทนาในช่วงนี้ เพราะฉะนั้นความลึกซึ้งทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ไปติดตามชมได้ในช่วงที่ ๒ ของรายการบ้านธัมมะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

อ.อรรณพ ไม่นานมานี้ ได้ฟังอาจารย์จักรกฤษณ์ ท่านยกตัวอย่างสมัยปลายอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ ในเรื่องของการที่ฝ่ายอาณาจักร จะไม่ทอดทิ้งฝ่ายศาสนจักรเลย แต่จะทำการทำนุบำรุงพระศาสนา ก็ขอเรียนอาจารย์ ได้อธิบาย เพราะว่า จะเป็นประโยชน์ เพราะจะใกล้เรามาหน่อย ก็คือ ในสมัยปลายอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ ก็มีเหตุการณ์ที่น่าจะได้ทราบกันจริงๆ

อ.จักรกฤษณ์ เพราะว่าในส่วนที่อาจารย์วิชัยกล่าว ก็จะเป็นประวัติใน อินเดีย ลังกา พระพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาในสุวรรณภูมิ กษัตริย์ในอดีตท่านก็ทำนุบำรุง ดูแลพระพุทธศาสนาตลอดมา ก็มีการสั่งการสังคายนาครั้งแรก พระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนา ท่านเริ่มที่จะสังคายนาพระไตรปิฎก อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น ในปี พ.ศ. ๒๐๒๐ คือจุดเริ่มต้นที่เราเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา โดยทั้งศาสนจักรและอาณาจักรก็ได้เริ่มที่จะช่วยกัน สืบทอดพระศาสนาต่อมา อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้น

แล้วก็มี อีกหลายครั้ง ตอนนี้อยากจะกล่าวในจุดที่พระมหากษัตริย์ ทางฝ่ายอาณาจักรมีบทบาท ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระศาสนามาก แล้วก็เป็นคุณูปการกับชาวพุทธปัจจุบันเป็นอย่างมากโดยจะเริ่มในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อาจารย์ลองนึกสภาพตอนนั้น บ้านเมืองแตก ย่อยยับ ทุกหัวระแหง แทบจะไม่สภาพเป็นบ้านเมืองเลย โจร ขโมยต่างๆ มากมาย ท่านก็เริ่มกอบกู้ หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยามาแล้ว ท่านก็กอบกู้สภาพบ้านเมือง แต่ท่านก็ไม่ทิ้งพระศาสนา ทำให้เห็นภาระกอบกู้ชาติก็ลำบากมาก ท่านก็ยังไม่ทิ้งพระศาสนา ท่านก็กอบกู้พระศาสนา ก็คือในสมัยนั้น ก็รวบรวมพระไตรปิฎก คำสอนต่างๆ มาเพื่อที่จะให้ภิกษุ และชาวพุทธได้ศึกษา ได้สืบทอดพระศาสนาด้วย ท่านก็มาทำนุบำรุงอย่างดีในสมัยนั้น แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชาวพุทธ พระพุทธศาสนาโดยตรง ก็คือปรากฏว่า มีกบฏ ตอนนั้น ท่านพยายามกอบกู้แล้วรวบรวม ชาติอดีต ก็มีกบฏ เกิดขึ้นในทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งกบฏนี้ ก็เป็นกบฏที่แปลกเหมือนกัน เพราะว่า ผู้ที่ตั้งตัวเป็นกบฏ เป็นพระภิกษุ

ถ้าได้ศึกษาในอดีต จะได้เรียนประวัติศาสตร์กัน ในเรื่องชุมนุมเจ้าพระฝาง ถ้าใครได้เรียนประวัติศาสตร์ก็จะได้เห็นตรงนี้ ว่ามีชุมนุมเจ้าพระฝาง ซึ่งเป็นภิกษุเกือบทั้งหมด ตั้งตัวเป็นใหญ่ในตอนนั้น แล้วก็ทำสิ่งไม่ดีต่างๆ นานา ท่านก็ได้อธิบายว่าชุมนุมเจ้าพระฝาง ได้กล่าวไว้เลยว่าภิกษุที่อยู่ในชุมนุมนี้ ได้กระทำสิ่งชั่วช้า ลามก ผิดพระวินัย แล้วก็ตั้งตัวเป็นใหญ่ ปล้น ทำสิ่งที่ไม่ใช่ตามพระวินัยเลย ท่านก็ได้ทำการยกทัพไปปราบชุมนุมพระเจ้าฝาง เพราะว่าแม่ทัพ นายกองต่างเป็น ภิกษุหมดเลย ไม่เชื่อเลย ว่าเป็นถึงอย่างนั้น แล้วท่านก็มีพระราชดำรัส กล่าวไว้ว่าอย่างไรบ้าง เมื่อท่านปราบกบฏนี้แล้ว ท่านก็บอกว่า พระสงฆ์บรรดาอยู่ฝ่ายเหนือนี้ เป็นพรรคพวกให้เรือนพระฝางทั้งสิ้น ถืออาวุธปืนรบศึก ไม่น่าเป็นไปได้เป็นพระภิกษุ ถืออาวุธถือปืน ปล้นเอาทรัพย์สินสิ่งของชาวบ้านนอกจากนั้นยังกินสุราเมรัย ซ่อง เสพ อนาจาร ด้วยสีกา ทำได้ทุกอย่าง ท่านก็บอกว่าอันนี้ต้อง จตุตถปาราชิก อาบัติต่างๆ ก็คือปาราชิกแล้ว หมดสภาพที่จะเป็นพระภิกษุแล้ว ขาดจากสิกขาบทในพระพุทธศาสนา ล้วนลามกทั้งหมดทั้งก๊ก จะละไว้ให้คงอยู่ในสมณเพศเช่นนี้ไม่ได้ ท่านก็ชี้ให้เห็นเลยว่าไม่ได้แล้วอย่างนี้ ทำให้พระศาสนาเสื่อม ท่านก็มีรับสั่งกับก๊กที่ปราบได้ ว่าให้สึกไป แล้วก็ใครรับสารภาพ จะลดโทษให้ ยังมีพวกคุณงามความดีอยู่ก็ไปรับราชการได้คือยังทรงมีพระเมตตา

ส่วนที่ไม่รับสภาพก็ให้มีการสอบสวน ให้ได้ความว่ากระทำผิดอะไรบ้างและการลงโทษไปตามกฎหมายบ้านเมืองตอนนั้น อันนี้ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นห่วงพระศาสนามาก ขึ้นไปปราบเองเลย อันนั้นเป็นส่วนที่ใช้ความพยายามเพื่อที่จะกอบกู้พระศาสนา ส่วนในการทำนุบำรุงพระศาสนา ที่ให้รุ่งเรืองไป จะใช้คำที่ทรงตรัสไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่านมีความรักพระศาสนาเพียงใด แสดงออกจากพระราชดำรัสออกมาท่านก็บอกว่า “ขอพระคุณเจ้าทั้งปวงจงตั้งสติอารมณ์ ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีล สังวร วินัยบัญญัติให้บริบูรณ์” คืออยากให้พระภิกษุท่านประพฤติปฏิบัติดี อย่าให้พระศาสนาของพระองค์และเศร้าหมองเลย การทำสิ่งใดไม่ดีก็จะเศร้าหมองแก่พระศาสนา แม้นพระผู้เป็นเจ้าจะขัดสนด้วยวัตถุปัจจัยทั้ง ๔ ประการนั้น ในชีวิตความเป็นอยู่ท่านจะขัดสนอุปกรณ์ใช้สอย ปัจจัยต่างๆ ท่านก็กล่าวว่าจะเป็นธุระอุปถัมภ์ให้ ปวารณาว่าจะดูแล ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง มีศีล บริบูรณ์ ในพระศาสนาแล้ว ท่านบอกว่าจะมีศีลในศาสนาสมบูรณ์แล้ว แม้จะปรารถนา มังสะ เนื้อ คือหมายถึงเนื้อ รุจิระ เลือดของพระองค์ พระองค์ก็อาจจะเชือดเนื้อและโลหิตออกบำเพ็ญทานได้ แสดงให้เห็นว่าท่านมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง แม้นเลือด แม้นเนื้อท่านก็บริจาคให้ได้

ถ้าพระภิกษุประพฤติปฏิบัติสมบูรณ์ ในพระธรรมวินัย อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้ลูกหลานได้เห็นว่า ท่านคุณูปการอย่างไรต่อพระศาสนา ไม่ใช่ปล่อยปะละเลย ท่านเหนื่อยยากในตอนนั้น ให้เราคิดย้อนกลับไป บ้านเมืองสมัยนั้นเป็นอย่างไร พระพุทธศาสนาเป็นอย่างไร และก็ช่วยทำนุบำรุงดูแล อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจะนำมาบอกกล่าวให้ชาวพุทธเราปัจจุบัน ให้รับทราบกัน ว่าบูรพกษัตริย์นี้เหนื่อยยาก ดูแลพระศาสนามาอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเชนมาก ในเรื่องของพระมหากษัตริย์ในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในส่วนนี้ อาจารย์อรรณพมีอะไรจะเสริม ก่อนที่จะไปต่อ

ในสมัยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ซึ่ง พระมหากษัตริย์เรา ท่านดูแล คือทำนุบำรุงต่อ คือมิใช่ว่าเปลี่ยนยุคจากสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว บ้านเมืองจะเรียบร้อย ช่วงนั้นก็ยังแตกสาแหลก กันอยู่ มีก๊ก มีเหล่าอะไรต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย แล้วประวัติศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่าช่วงนั้นพระภิกษุก็ยังไม่ได้อยู่ในธรรมวินัยกันเลย ไม่ได้ประพฤติตามสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติมา ทำสิ่งที่ไม่ดีหลายอย่าง ในช่วงสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านทำภารกิจ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งก็ทำนุบำรุงพระศาสนา โดยท่านทำสังคายนาพระไตรปิฎกจากประวัติศาสตร์ ท่านอาจารย์วิชัยอาจจะให้รายละเอียด ท่านพยายามรวบรวมคำสอนต่างๆ ให้ชาวพุทธได้มีโอกาสได้ศึกษาได้เล่าเรียน อีกทางหนึ่งท่านก็เห็นถึง ความไม่ถูกต้องของภิกษุ ซึ่งเป็นผู้นำพุทธบริษัทว่ายังมีทำผิดอะไรหลายๆ เรื่อง ท่านก็เป็นห่วงกังวล ถึงกระทั่งออกกฎหมายมาเลย สมัยก่อนตอนนั้นไม่มีอยู่ในกฎหมาย ที่บังคับ ตอนนั้นท่านเป็นห่วงมาก

ในยุคนั้นก็มีการรวบรวม ในการออกกฎหมายเราเรียกว่ากฎหมายตราสามดวง กฎหมายทั่วไป ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์มาด้วย ท่านเรียกว่ากฎพระสงฆ์ ซึ่งอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ในกฎหมายตราสามดวง เป็นประวัติศาสตร์ที่เราน่าจะศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าสะท้อนให้เห็นความห่วงใยของพระมหากษัตริย์เราแต่ต้นรัชกาลต่อพระศาสนาอย่างไร และท่านก็ได้บรรยาย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นให้เห็นว่า ในกฎหมายว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น และท่านก็กำหนดโทษโดยใช้โทษที่เป็นโทษทางฝ่าย ราชอาณาจักร คือใช้พระราชอำนาจในการที่จะลงโทษผู้ที่กระทำความผิด เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยต้นรัชกาล ที่นี้กฎหมายที่เป็นกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเรียกว่ากฎพระสงฆ์ ท่านออกมา ๑๐ ฉบับ เป็นช่วงเวลาประมาณ ๒๐ ปีเศษ เป็นช่วงๆ ๑๐ ฉบับ ท่านก็จะออกมาแต่ละฉบับ มีเหตุผล มีสาเหตุ มีบทบัญญัติโดยละเอียด ซึ่งตรงนี้เบื้องต้นก็คือ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทาง ฝ่ายราชอาณาจักร ไม่เคยทอดทิ้งพระพุทธศาสนาเลย ท่านไม่เคยทอดทิ้ง ท่านดูแลอุปถัมภ์ค้ำชู ทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้พระพุทธศาสนาของเรา สามารถสืบทอด ต่อไปยังชนรุ่น ลูกรุ่นหลานได้ ซึ่งกฎหมายนี้ถ้าจะลงในเนื้อ ในรายละเอียด ก็จะเป็นประโยชน์ จะได้กล่าวมี ๑๐ ฉบับ แต่สามารถที่จะสรุปย่อๆ แล้วก็ชี้ประเด็นให้เห็น แต่ละประเด็นๆ แล้วเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็น่าจะได้กล่าวถึง ที่นี้จะกล่าวถึงทีละฉบับ

อาจารย์อรรณพมีอะไรที่จะอธิบายปลีกย่อย เราจะได้สนทนากันในรายละเอียด แต่ก่อนอื่นอยากจะกล่าวถึงความสำคัญให้ท่านเห็น เกี่ยวกับพระภิกษุซึ่งเป็นผู้นำพุทธบริษัท ว่าท่านกล่าวไว้อย่างไร มีกฎหนึ่งที่ยกขึ้นมาก่อน ว่าท่านกล่าวเกี่ยวกับพระปาฏิโมกข์ ก็คือพระวินัย ของพระภิกษุ ว่าสำคัญอย่างไร ซึ่งตรงนี้สามารถยกขึ้นมาเพื่อจะชี้ให้เห็นได้ ว่าท่านกล่าวไว้ว่า “พระปาฏิโมกข์สังวรวินัย นี้ชื่อว่าพระศาสนา” คือพระวินัยคือชื่อพระศาสนา “ถ้าพระภิกษุยังทรงพระปาฏิโมกข์บริบูรณ์อยู่ตราบใด ชื่อว่าพระศาสนายังตั้งอยู่ ณ ตราบนั้น” อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ท่านสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ พระวินัยเป็นรากแก้ว ซึ่งน่าจะตรงกับพุทธบัญญัติ ที่ได้จดไว้หน่อยหนึ่งว่า น่าจะยกขึ้นมาชี้ให้เห็นประโยชน์ของพระวินัยของเราชาวพุทธ น่าจะทราบเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก หรือ อรรถกถา (ไม่แน่ใจ) ถ้าอยากจะยกตรงนี้มีคำบาลี และก็คำแปลไว้ด้วย ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ท่านบัญญัติไว้ว่า “วินะโย นามะ พุทธะสาสะนัสสะ อายุ วินายะ ฐิเต พุทธะสาสนัง ฐิตัง โหติ” อันนี้เป็นพระบาลี ที่กล่าวไว้ แปลว่า “ชื่อว่าวินัยเป็นอายุของพระศาสนา เมื่อวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่” อันนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ท่านมีความรอบรู้ในพระธรรมวินัย ท่านถึง ยกตรงนี้มาไว้ในกฎหมาย แล้วก็เขียนไว้ชัดเจนถึงความสำคัญ ของพระวินัย เป็นพระปาฏิโมกข์สำคัญแค่ไหน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ท่านเน้นเลยว่า พระวินัยของพระภิกษุ มีความสำคัญมาก กล่าวไว้ในกฎของพระสงฆ์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 17 ก.พ. 2560

อ.วิชัย ขอเสริมนิดหนึ่ง เพราะว่าตรงนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก กล่าวถึงคำว่า วินัย หรือ พระวินัย ก็คือ เป็นมีอายุของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่าปาฏิโมกข์ ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้บัญญัติ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อมีพระบัญญัติ มีคำสอน มีผู้ปฏิบัติตาม พระบัญญัติซึ่งพระบัญญัติทั้งหมดเป็นไปเพื่อจะนำกิเลสทั้งหลายออกไป ดังนั้นแน่นอนว่าพระธรรม จะต้องค่อยๆ อันตรธานไป แต่ตราบใดที่ยังมีพระวินัยบัญญัติ ที่บัญญัติโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมีคนศึกษาแล้วก็ประพฤติตาม พระธรรมวินัยก็ยังดำรงอยู่ เป็นอายุของพระศาสนา เพราะยังมีคำสอนอยู่ก็คือพระปาฏิโมกข์

อ.อรรณพ อาจารย์วิชัยให้ความรู้ ให้อธิบายพระปาฏิโมกข์ด้วย เพราะยังไม่มีคำอธิบายปาติโมกข์เลย

อ.วิชัย ปา-ฏิ-โมก-ขะ ก็คือพ้นจากการตกไป เพราะว่า ถ้าประพฤติตามปาฏิโมกข์ หรือว่าสิกขาบททั้งหลายที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไม่ดีแล้ว ก็เป็นเหตุให้พ้นจากอบายภูมิ แล้วนำไปซึ่งการพ้นจากวัฏฏะด้วย ดังนั้นจุดประสงค์ไม่ลืม ว่าทรงแสดงธรรม หรือบัญญัติสิกขาบทนี้ เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะกิเลสนั้นเป็นเหตุให้เกิดในอบาย ความไม่ดีงามทั้งหมด เกิดจากกิเลส ดังนั้นถ้าประพฤติตามสิกขาบททั้งหลาย ประพฤติตามพระปาฏิโมกข์ก็เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสและให้เป็นเหตุให้พ้นจากอบายภูมิ

อ.อรรณพ เชิญอาจารย์จักรกฤษณ์ต่อครับ

อ.จักรกฤษณ์ ย้อนกลับมาที่กฏพระสงฆ์ ฉบับที่สำคัญๆ และก็ปรับกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย สมัยนั้นเป็นอย่างไร สมัยนี้เป็นอย่างไร กฎข้อที่ ๑ ตอนนั้นออกเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นฉบับแรก ตอนนั้นท่าน (ร.๑) กล่าวไว้ในกฎหมายว่า “แลทุกวันนี้ อาณาจักร ทั้งปวง บางพวก ให้มีพระมหาเวสสันดรชาดกนี้ มิได้มีความสังเวช เลื่อมใส” ในส่วนนี้น่าจะแปลว่ามีการเทศน์ พระเวสสันดรชาดก โดยเทศน์นี่ไม่ได้มีความสังเวช ความเลื่อมใส ไม่เป็นธรรมคารวะ ฟังเอาแต่ถ้อยคำตลกคะนอง (เทศน์เอาสนุก) “อันหาผลประโยชน์มิได้ พระสงฆ์ผู้แสดงนั้น บางจำพวกมิได้ร่ำเรียนพระไตรปิฎก” อันนี้สำคัญคือบวชแล้วไม่ได้ร่ำเรียน “ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเป็นกาพย์กลอน แล้วก็มาสำแดงเป็นถ้อยคำตลกคะนองหยาบช้า เห็นแต่ลาภสักการะ เลี้ยงชีวิต มิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือน เสื่อมสูญ ชวนกันประมาทในพระธรรมเทศนา” อันนี้ท่านกล่าวไว้เบื้องต้นก่อนที่จะออกข้อบังคับว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นอย่างนี้ ซึ่งอาจารย์อรรณพ จะกล่าวถึงปัจจุบันก็ได้ว่า มีสถานการณ์อะไรที่ใกล้เคียงกันก็คือการแสดงธรรมเทศนา บางแห่ง บางที่ ไม่ได้เป็นไปด้วยความเคารพ ไม่ได้เป็นไปด้วยความเลื่อมใส ไม่ทำให้เกิดความสังเวช ซึ่งอันนี้ท่านอาจารย์วิชัยอาจจะกล่าวในรายละเอียดว่าสังเวชเป็นอย่างไร ก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้น

อ.อรรณพ สังเวชก็คือเตือนให้ระลึกได้ ในทางกุศล ซึ่งจะเป็นปัญญา

อ.วิชัย ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั่นเอง

อ.อรรณพ คือปัญญานั่นเอง สังเวช หรือ สัง-เว-ชะ

อ.จักรกฤษณ์ ซึ่งตรงกับความประสงค์ธรรมคือเทศนา เพื่อที่จะให้เกิดปัญญานั่นเอง

อ.อรรณพ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญาอะไร ตลกคะนอง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย

อ.จักรกฤษณ์ ใช่ อันนี้เป็นโทษมาก ท่านก็กำหนดเป็นกฎหมายขึ้นมาว่า ภิกษุผู้ใดไม่ประพฤติตามที่ท่านกำหนดว่าห้าม การแสดงธรรมเทศนาในลักษณะนี้ แต่แสดงไปด้วยความเคารพ ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธ ถ้าไม่ประพฤติตามก็ให้เอาตัวผู้ที่ละเมิดนั้น มาลงโทษ ตามโทษที่ท่านได้กำหนดไว้ และมิหนำซ้ำ ญาติโยม พระสงฆ์ เณรเถระต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็ช่วยกันรับผิดด้วย คือท่านไม่ได้ปล่อย ไม่ได้เจาะจง ต้องผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งจริงๆ เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ว่าคนทำผิดแล้ว เอาคนนั้นไป คนอื่นก็ไม่สนใจไม่ใส่ใจ แต่คนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมรับผิดกับเขาด้วย ซึ่งตรงนี้ท่านก็ได้ระบุเอาไว้ในกฎข้อแรกเลย อันนี้ในเรื่องการแสดงธรรมเทศนา

ต่อมาเป็นกฎอีกข้อหนึ่ง ที่อยากไปยกขึ้นมาให้ได้รับทราบกันว่า ในพระศาสนาเอง ท่านมีความเป็นห่วงในการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ท่านก็จะกำหนดให้ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบในเบื้องต้น ก็คือพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ จะต้องเป็นคนดูแลรับผิดชอบ เพราะว่าเป็นหน้าที่โดยตรง ว่าจะต้องดูแลให้พระภิกษุที่อยู่ในความปกครอง หรือว่ามาพักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ท่านดูแลรับผิดชอบประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ท่านก็ได้กำหนดเลยว่า ผู้ที่เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์นี้ พอบวชพระภิกษุแล้ว มีลูกศิษย์ลูกหา ต้องดูแลไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ไปทำผิดอะไรต่างๆ ในกฎข้อนี้ท่านก็เลยยกในส่วนนี้ขึ้นมาเป็นกฎหมายด้วย และบอกว่า ภิกษุทุกวันนี้ละเลยพระวินัยเสีย มิได้ระวังตัก เตือน สั่งสอน กำชับ ว่ากล่าว ท่านบวชเข้ามาแล้ว ก็ไม่ได้ให้ศิษย์อยู่ในนิสัยในหมู่คณะสงฆ์ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ไม่ดูแลเที่ยวปล่อยปละละเลย ให้ลูกศิษย์ เที่ยวไปตามอำเภอใจ ทำมารยา รักษาศีลภาวนา ทำกิริยาให้คนเลื่อมใสนับถือ อันนี้ปล่อยไปเลย ไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง สำแดงความรู้ อวดอิทธิฤทธิ์ เป็นอุตริมนุสสธรรม อันเป็นกลโกงโกหก ตั้งตัวว่าเป็นผู้มีบุญ เป็นคนที่ไปพบผู้วิเศษมีวิชามาจากในแดนไกล นี่ท่านกล่าวเอามาจากถ้ำเขาอะไรนั่นนะ เป็นผู้วิเศษมา แล้วท่านก็ได้บอกตรงๆ เลยว่า ทำให้แผ่นดินและพระศาสนาจลาจล เพราะเหตุพระสังฆราชาคณะ อธิการ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย มิได้เอาใจใส่ตักเตือน ว่ากล่าวตามพระธรรมวินัย

พิธีกร (ธนากร) ได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็เห็นถึงพระมหากรุณาคุณของบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกๆ พระองค์ ซึ่งนอกจากจะทรงทำนุบำรุงประเทศชาติบ้านเมืองและประโยชน์ส่วนรวมในทุกๆ ด้านแล้ว ยังทรงมีความห่วงใยในพระพุทธศาสนา ทรงรอบรู้ทั้งในพระธรรมและพระวินัย จึงทรงสามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ให้สามารถดำรงสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวพุทธและชาวไทยที่จะต้องดำรงรักษาความถูกต้องของพระพุทธศาสนา ให้สืบทอดต่อไป

เนื้อหายังไม่จบต้องติดตามชมในสัปดาห์หน้าว่าในประเด็นดังกล่าวนั้น จะมีการอธิบายขยายความอย่างไร อย่าพลาดชม

ท่านใดสนใจศึกษาทั้งพระธรรมและพระวินัยขอเชิญได้ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามที่อยู่ที่ปรากฏบนหน้าจอขณะนี้ หรือทางเว็บไซต์ www.dhammahome.com แล้วตอนนี้มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนาได้จัดตั้งชมรมบ้านธัมมะ มสพ. เพื่อทำดีและศึกษาพระธรรม ท่านใดสนใจสมัครเป็นสมาชิกดังกล่าวขอเชิญติดต่อกลับมาได้ ตามที่อยู่ข้างล่างนี้

แล้วก็มาถึงช่วงสุดท้ายของรายการบ้านธัมมะ ธรรมเตือนใจก่อนจบรายการวันนี้ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ว่า พระธรรมและพระวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว จักเป็นศาสดาแทนพระองค์ เมื่อพระองค์เสด็จดับ ขันธปรินิพพานแล้ว” วันนี้ ผม ธนากร นรวชิรโยธิน พร้อมด้วยทีมงานรายการบ้านธัมมะ ขอลาท่านผู้ชมไปก่อน พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สวัสดีครับ

อนุโมทนา

คุณศุภวัส สติชอบ

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ 3141

ผู้ถอดเทป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.พ. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ