จิตว่าง มีด้วยหรือครับจากคำบรรยายของพระองค์หนึ่ง

 
เพียงดิน
วันที่  21 ก.พ. 2560
หมายเลข  28638
อ่าน  2,489

จริงๆ ไม่อยากถามเลยเพราะมันเกี่ยวโยงบุคคล แต่ถ้าไม่ถามผมคงไม่เข้าใจ จิตว่างมีด้วยหรือครับ ตามที่ผมเข้าใจ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์และเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านพุทธทาส ได้ปุจฉา วิสัชชนา กับ อาจารย์ คึกฤทธิ ไว้ดังนี้

พุทธทาส : อาตมามีระบบปฏิบัติอันหนึ่งซึ่งเตรียมขึ้นสำหรับคนทั่วไปจะเข้าใจได้ ปฏิบัติได้ ... ระบบนี้มีหัวข้อปฏิบัติคือว่า "ให้ทำงานด้วยจิตว่าง"

ที่เรียกว่า "ทำงานด้วยจิตว่าง" นั้นก็คือ เราทำงานตามหน้าที่ของเราทุกอย่างด้วยจิตที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ไม่มีความรู้สึกที่จะยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ว่าเป็น "ตัวเรา" หรือ "ของเรา" เพราะตัวเรานั้นมันไม่ใช่เป็นตัวเราจริงๆ มันเป็นเพียงมายา

แต่ในขณะเดียวกัน จิตว่างนี้ก็เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะและสติปัญญา ... สติสัมปชัญญะทำให้รอบคอบในการกระทำ สติปัญญาทำให้ฉลาดในการกระทำ นี่เป็นตัวสำคัญยิ่งของหลักปฏิบัติ ...

อย่างนี้เรียกว่า "จิตว่าง" แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจอย่างนั้น เขาเข้าใจว่า "จิตว่าง" ก็คือจิตที่ไม่มีอะไร เหมือนอย่างท่อนไม้บ้าง หรือว่าทำไปเหมือนอย่างคนละเมอ อย่างนั้นมันไม่ใช่

เมื่อจิตว่างจากความรู้สึกเห็นแก่ตัวทุกชนิดแล้ว ไม่ว่าจะทำการงานอะไร งานก็จะดี

คึกฤทธิ์ : ที่ใต้เท้าว่า "ทำงานด้วยจิตว่าง" นั้น ฟังเหมือนอย่างว่า ใต้เท้าพยายามเทน้ำในมหาสมุทรลงไปใส่ขันใบเล็กๆ มันใส่ไม่ลง มันล้นไปหมด สัจธรรมที่ใต้เท้าประกาศนั้นมันเป็นเรื่องกว้างขวางใหญ่โตเหลือเกิน คือ มันเป็นสภาพจิตของพระอรหันต์ ชาวบ้านสามัญเขาทำมาหากินกันตามปกติ จะนำธรรมะที่ใหญ่โตนั้นใส่ลงไปในถ้วยแก้วใบเล็กๆ ใส่ไปเท่าไรมันก็ไม่ลง

ที่ใต้เท้ากล่าวมานั้นเป็นกิจกรรมของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า แต่ถ้าจะให้ฆราวาสทำเหมือนกัน กระผมเห็นว่าจะไปไม่ไหว คือ การที่ทำงานด้วยจิตว่างจากความเห็นแก่ตัวนั้น กระผมยังนึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร เพราะถ้าทำงานแล้วไม่ถือว่างานนั้นเป็นงาน ไม่ถือว่าตัวเราเป็นผู้รับประโยชน์ของงาน ไม่ถือว่าผู้อื่นเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของงาน หรือไม่ถือว่าประเทศชาติเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของงานแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะทำไปทำไมเหมือนกัน ... เราควรจะคิดทำลายมันเสียด้วยซ้ำ?

ถ้าจิตว่างจากความเห็นแก่ตัวแล้ว คนก็ไม่ทำงาน ถ้ากระผมทำตัวให้ปราศจากอุปาทานได้จริงแล้วก็จะไปขอบรรพชากับใต้เท้า ไม่มานั่งทำงานให้มันเสียเวลาอยู่หรอกครับ ... การทำงานมันเป็นสภาพของการยึดมั่น ถ้าใครยังละอุปาทานไม่ถึงขนาดก็ยังต้องทำงานกันต่อไป ถ้าจะให้ทำงานด้วยจิตว่าง กระผมก็ยังมองไม่เห็นทาง

นี่ผมอาจจะใจคอคับแคบหรือดวงตายังไม่เห็นธรรม คือยังนึกไม่ออกจริงๆ

ส่วนเรื่องสติสัมปชัญญะหรือสติปัญญาก็ดี กระผมคิดว่า สตินั้นก็หมายเพียงการระลึกได้ว่า ของทุกอย่างไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน จับอะไรขึ้นมาก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ของผมทั้งนั้น ถ้ามีสติอย่างนั้นแล้วก็ทำงานไม่ได้อีก ... นึกจะไปค้าไปขายอะไรก็ไม่อยากไป ... นอนดีกว่า

การพูดของฆราวาสกับพระมันเป็นคนละโลกกันอย่างนั้น กระผมก็อยากขอประทานกราบเรียนถามความรู้ต่อไปว่าจะให้ทำอย่างไรกันแน่?

พุทธทาส : ที่ว่าให้ "ทำงานด้วยจิตว่าง" นั้นหมายความว่า ในขณะที่ทำนั้นต้องมีจิตว่าง ไม่เห็นแก่ตัวจัด วิธีปฏิบัติเฉพาะหน้าก็มีอยู่ว่า ในขณะที่ลงมือทำนั้นอย่าได้มีจิตวุ่น อย่าได้คิดด้วยจิตหมกมุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกเห็นแก่ตัวจัดหรือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา เพราะมันจะมากไปบ้าง น้อยไปบ้าง ผิดความจริงไปหมด ถ้าจะคิดว่า เราจะทำอย่างใด เรามีฐานะอย่างนี้ มีสภาวะอย่างนี้ จะต้องทำอะไรเป็นประจำวัน มีอาชีพอย่างไร หรือมีประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างไร อย่างนี้คิดไปได้ และก็ยังกล่าวได้ว่ามีจิตว่างอยู่เหมือนกัน

ความสำคัญอยู่ที่ว่า ขณะลงมือทำก็ให้เหลือแต่สติปัญญาและสติสัมปชัญญะอย่างที่กล่าว ควบคุมความรู้สึกไว้เสมอ อย่าเผลอตัว มีสติอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนหรือของตน แล้วทำงานด้วยสตินั้น ในขณะนั้นจิตจะเฉลียวฉลาดที่สุด ว่องไวที่สุด

อาตมาจึงว่าน่าจะลองนำไปคิดพิจารณาดูและลองพยายามทำดู ... ให้การพยายามนั้นแหละเป็นเครื่องวัดตัดสินว่าจะทำได้หรือไม่ได้เพียงใด

คำว่า "ความว่าง" (สุญญตา) ของพุทธศาสนานี้ มันมีความหมายเฉพาะ มันมีความหมายพิเศษของมันเอง พอมาผิดยุคผิดสมัยกันก็เข้าใจยาก อาตมาจึงได้พยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ภาษาไทยของยุคปัจจุบันหรือภาษาไทยง่ายๆ ฉะนั้นอย่าได้ยึดถือมั่นในคำนั้นในคำนี้นัก ... หรือว่าอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่าควรจะมีข้อแม้อย่างไรหรือควรอภิปรายอย่างไร...ก็ขอให้กรุณาอีกครั้ง

คึกฤทธิ์ : กระผมเข้าใจตามที่ท่านได้อธิบายมา ... คนที่ "ว่าง" อย่างพระอรหันต์แล้ว ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างกระผม ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคนส่วนมาก อย่างนี้เรียกว่า "ว่าง"

แต่ถ้าจะให้คนอย่างกระผมไปทำงานด้วย "จิตว่าง" กระผมยังมองไม่เห็น เพราะลักษณะของงานมันขัดต่อการมีจิตว่าง ภาวะของผมมันว่างไม่ได้ ถ้าว่างไปแล้วมันก็ไม่เป็นกระผม ถ้าท่านบอกว่าให้กระผมไปบวชแล้วมันจะว่าง...กระผมเชื่อ เพราะกระผมก็ไม่ยึดอะไรทั้งนั้น แต่การทำงานด้วยจิตว่างนั้น กระผมก็อยากจะเรียนถามเหมือนกันว่า ท่านหมายความว่ายังไง?

ถ้าท่านบอกว่า ทำงานด้วยจิตว่างแล้ว งานทางโลกนั้นจะดี กระผมไม่เชื่อ ... อย่างว่าเป็นทหารไปรบกับเขา แล้วรบด้วยจิตว่าง ยิงปืนด้วยจิตว่าง แล้วมันจะเป็นทหารที่ดี ... พูดอย่างไรๆ กระผมก็ไม่เชื่อ

แต่ถ้าใต้เท้าบอกว่า ทำงานอยู่ในโลกก็อยู่ในโลกเถิด ถ้าทำงานด้วยจิตว่าง อย่ายึดมั่นอะไร แล้วงานจะดีหรือไม่ดี หรือถึงจะเกิดผลร้าย เราก็ไม่เป็นทุกข์ ... ถ้าอย่างนั้นกระผมเชื่อ

ที่ท่านพูดมาว่า จิตว่างแล้วงานจะประเสริฐ การงานจะรุ่งเรือง อย่างนั้นกระผมไม่เชื่อ เพราะงานของโลกมันขัดกันกับเรื่องจิตว่างหรือเรื่องการพ้นทุกข์ ความสุขของโลกมันเป็นความทุกข์ในทางธรรม ความสำเร็จของงานมีความหมายในทางโลก ถ้าจิตว่างแล้วจะนำความสำเร็จทางธรรมนั้นก็ถูก แต่จะเอาพร้อมกันทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้ สำเร็จทางธรรมด้วยจิตว่างก็ต้องเสียทางโลก ... ไม่อย่างนั้นคนจะไปบวชกันทำไม

พุทธทาส : หมายความว่า ฆราวาสนี้จะไม่พยายามทำให้ "จิตว่าง" อย่างนั้นรึ?

คึกฤทธิ์ : ทำได้... คือ "ว่างจากกิเลส" ... กระผมเชื่อ

พุทธทาส : ฆราวาสควรจะพยายามหรือไม่?

คึกฤทธิ์ : เรื่องไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น...กระผมเชื่อ คือว่า ฆราวาสควรจะศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้รู้ แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะรู้ด้วยว่า แม้ในขณะที่ทำไป ถ้ามันจำเป็นต้องยึด มันก็ต้องยึด เพราะเรายังเป็นฆราวาส ถ้าปล่อยหมดก็อย่าเป็นฆราวาส

พุทธทาส : อาตมาต้องการให้ฆราวาสทำงานด้วยความมีทุกข์น้อยและมีผลสำเร็จเต็มที่ ... จะมีวิธีอย่างไร ... จะทำด้วย "จิตว่าง" หรือ "จิตวุ่น" ดี?

คึกฤทธิ์ : กระผมเห็นว่า ถ้าจะเอาผลสำเร็จทางโลกแล้ว มันก็ต้องซื้อผลสำเร็จนั้นด้วยความทุกข์ ... จะเอาทั้งสองอย่างไม่ได้หรอก ... จะเอาเนยไปทาขนมปังสองหน้าไม่ได้ ไม่มีใครเขาใส่บาตรอย่างนั้น ... กระผมขอสอนพระสักวันเถิดครับ! ไม่มีทางทำได้!

แต่ถ้าเผื่อว่าจะให้สิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว ให้ว่างจริงโดยไม่มีทุกข์แล้ว ต้องสละความสำเร็จทางโลก ... อย่างนั้นกระผมเชื่อ ... เมื่อเป็นฆราวาส มันก็ต้องสุขบ้างทุกข์บ้าง มันไม่ว่าง

พุทธทาส : แล้วจะมีวิธีทำให้ทุกข์น้อยลงได้อย่างไร?

คึกฤทธิ์ : ก็อย่างที่กระผมพูดอยู่นั่นแหละครับ คือ ทุกอย่างมันไม่ใช่ตัว-ไม่ใช่ตน หรือไม่ใช่ของตัว-ไม่ใช่ของตน แต่ในขณะที่ทำงานนั้นมันต้องนึกถึงงาน มันไม่ "ว่าง" หรอก มันก็คิดว่าจะทำเพื่อตัวตนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันเกิดผิดพลาดเสียหายขึ้นมาแล้ว ตอนนี้แหละ...ธรรมะของใต้เท้าจะนำเข้ามาช่วยได้ ถ้าถือว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร ของเรามันเสียไปแล้ว อย่างนี้มันก็พอนึกได้ มันพอปลอบใจได้เหมือนกัน

พุทธทาส : อาตมาบอกว่า ให้พยายามทุกอย่างให้เข้าใกล้ "ความว่าง" นี้มากขึ้นๆ แม้แต่ในการทำงาน การกินอาหาร การมีลมหายใจอยู่ ก็ให้ใช้อุบายที่ประณีตแยบคายที่ให้เข้าใกล้ความว่างนี้มากขึ้นๆ แม้แต่ในเพศฆราวาส ... ความเห็นของเราแตกต่างกันนิดเดียวเท่านั้น

คึกฤทธิ์ : มันแตกต่างกันเยอะครับ ... คือถ้ายิ่ง "ว่าง" มากขึ้น ความสำเร็จทางโลกมันต้องน้อยลงทุกทีๆ

พุทธทาส : ถ้าอย่างนั้นมันก็ยังไม่ใช่ "ความว่าง" (สุญญตา) ตามความหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนพวกฆราวาสไว้

คึกฤทธิ์ : เป็นมหาเศรษฐีด้วย เป็นสัตบุรุษด้วย อย่างนั้นไม่สำเร็จหรอกครับ ... เป็นมหาเศรษฐีทุกข์มากและ "ว่าง" ไม่ได้

พุทธทาส : เป็นมหาเศรษฐีที่เป็นพระอริยบุคคล...อย่างนี้จะมีได้ไหม?

คึกฤทธิ์ : ถ้าได้รับมรดกมา...เป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ถ้าหาเอาเอง...อย่างนั้นเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ เพราะถ้าเป็นพระอริยบุคคลก็ไม่คิดเป็นเศรษฐีเสียแล้ว

พุทธทาส : เป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่งชั้นใดแล้วจะเป็นเศรษฐีด้วย...อย่างนี้ไม่ได้หรือ?

คึกฤทธิ์ : กระผมไม่เชื่อครับ... ไม่ต้องเป็นพระอริยบุคคลหรอกครับ... คนขนาด "ว่าง" นิดๆ หน่อยๆ อย่างกระผมเห็นว่า สมบัติไม่เที่ยง เงินก็ไม่เที่ยง อะไรมันก็ไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัว-ไม่ใช่ตน กระผมก็ยังไม่เป็นเศรษฐี ทุกวันนี้ผมก็หากินพอใช้ ความจริงแล้ว ผมมีหลักการของผมว่า ผมไม่หาเงินล่วงหน้า ผมอยากได้อะไรไปหาเงินมาซื้อ ซื้อแล้วก็เลิกกัน ผมไม่หาต่อ...ถึง ได้มีเวลาว่างมานั่งคุยกับท่านได้ ถ้าตั้งหน้าตั้งตาจะหาเงินอย่างเดียวเพราะอยากเป็นเศรษฐีแล้ว วันนี้ผมไม่มา... ผมไม่ว่าง

พุทธทาส : คนที่เป็นเศรษฐีแล้ว...รู้สึกว่ามีเพียงพอแล้ว จะไปสนใจธรรมะเรื่องของ "ความว่าง" นั้นได้ไหม?

คึกฤทธิ์ : ถ้าอ้างว่าสนใจละก็ได้ ... แต่ใครลองไปแตะเงินเข้าสิครับ...เกิดไม่ว่างขึ้นเชียว ... กระผมไม่เชื่อหรอกครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เพียงดิน
วันที่ 21 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาสำหรับคำตอบครับครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 ก.พ. 2560

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์

ใจ ก็หมายถึง จิตนั่นเองเป็นความหมายเดียวกัน จิต จึงสามารถใช้ได้หลายคำ ทั้ง มโน มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุ ก็มุ่งหมายถึง จิต ใจ ที่เป็นสภาพรู้ คือ เป็นใหญ่ในการรู้

จิตว่าง จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตเป็นสภาพรู้ ดังนั้นเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่า อารมณ์ ดังนั้น จิตจึงไม่มีว่าง คือ ไม่มีว่างจากอารมณ์ จิตเมื่อใดเกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่าอารมณ์เสมอ เช่น จิตเห็น เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือ สี ดังนั้นจิตจึงไม่ว่างจากอารมณ์เลย แต่ความหมายของ คำว่า ว่างจริงๆ หมายถึง การว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน หรือ สูญจากการมีสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะมีแต่ธรรม ไม่มีเราไม่มีสัตว์ บุคคลเลย ครับ ดังนั้น คำว่าว่าง จึงไม่ใช่จิตว่าง ครับ

จิตมีอารมณ์ ไม่มีว่างจากอารมณ์ แต่สภาพธรรม มี จิต เจตสิก รูป ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ รวมทั้งนิพพาน ว่างจากการมีสัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ

จึงกลับมาที่คำถามที่ว่า

ในใจมีจิต ใจจิตมีความว่าง ประภัสสร ใช่เปล่าครับ

ตามที่กล่าวแล้ว ใจกับจิต ก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกัน คือ เป็นใหญ่ในการรู้ เพียงแต่เรียกชื่อต่างกันเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในใจ ก็ไม่ได้มีจิต ในจิตก็ไม่ได้มีใจ เพราะ ใจก็คือ จิต เพราะ จิตก็คือใจ ครับ

ใจ จิตมีความว่าง

ใจและจิต ไม่ได้เป็นสถานที่ ที่จะมีความว่างดั่งอากาศ แต่ ใจ และ จิต มีความว่าง ที่ไม่ได้หมายถึง ไม่มีอะไรเลย แต่ ใจ กับจิต ก็มีอยู่ แต่ ใจและ จิต มีความว่างในตัวของมันเอง คือ ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล คือ ไม่มีเรา ที่เป็นจิต แต่เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นจิต คือ เป็นเพียงธรรมไม่ใช่เรา ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 22 ก.พ. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นการศึกษาธรรมทีละคำจริงๆ เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คือ อะไร ต้องมีคำตอบด้วยความเข้าใจในคำที่กล่าวถึงด้วย แม้แต่คำว่า จิต ไม่ใช่คำที่กล่าวลอยๆ แต่มีความหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่จิตรู้ คือ รู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีความหลากหลายโดยอารมณ์บ้าง โดยธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง โดยชาติที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา บ้าง โดยภูมิที่เป็นระดับขั้นต่างๆ บ้าง ก็มีลักษณะเพียงอย่างเดียว คือ รู้แจ้งอารมณ์ ดังนั้น เมื่อมีการกล่าวถึง จิตว่าง ก็ต้องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นอย่างไร

จิตไม่ว่างจากอารมณ์แน่ ทุกขณะที่เกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ แต่ว่างจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เพราะเป็นแต่เพียงธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้น และขณะที่กุศลจิต เกิดขึ้นเป็นไป จิตในขณะนั้นก็ว่างจากอกุศล กล่าวคือ อกุศล เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นการพักจากอกุศลชั่วขณะที่กุศลเกิดขึ้นเป็นไป ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น กิเลสใดๆ ที่ดับได้แล้ว กิเลสประเภทนั้นๆ ก็ไม่เกิดขึ้นอีกในสังสารวัฏฏ์ เป็นการว่างจากกิเลสนั้นๆ ได้โดยเด็ดขาด

สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ จิตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมีอยู่ทุกขณะ ไม่เคยขาดจิตเลย แต่ก็ไม่รู้ถ้ายังไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่าเป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จึงมีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอันเป็นคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 22 ก.พ. 2560

จิตเกิดดับทุกขณะไม่ว่าง จิตดวงหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้น ยกเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิดอีกค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Mayura
วันที่ 22 ก.พ. 2560

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 23 ก.พ. 2560

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Tommy9
วันที่ 23 ก.พ. 2560

ศึกษาพระธรรมครับ หากไม่ตรงจะหลงทางได้ง่าย

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Guest
วันที่ 23 ก.พ. 2560

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 23 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kullawat
วันที่ 23 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
kukeart
วันที่ 23 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
เพียงดิน
วันที่ 24 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ อ่านทุกคำเลยครับ กันพลาด

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
doungjai
วันที่ 25 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
jaturong
วันที่ 1 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
สิริพรรณ
วันที่ 7 มี.ค. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณค่ะ

การสนทนากับผู้รู้จริง มีแต่ประโยชน์

การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด มึประโยชน์อย่างยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ม.ค. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ