เกิดความสลดสังเวช

 
นายชโยดม
วันที่  15 มี.ค. 2560
หมายเลข  28679
อ่าน  2,289

มีความรู้สึกว่าเกิดความสลดสังเวชบ่อยๆ ควรทำอย่างไรต่อครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 มี.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเบื่อหน่าย องค์ธรรม คือ ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายที่เป็นโทสะ ไม่ชอบใจในความไม่สบาย ป่วยของร่างกาย แต่เห็นตามความเป็นจริง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ เบื่อหน่ายในขันธ์ เพราะ เห็นถึงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยปัญญา ระดับสูง จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญาและถึงการดับกิเลสด้วยวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ เกิดขึ้น ครับ เพราะฉะนั้น จึงไม่พ้นไปจากเรื่องของปัญญาเป็นสำคัญ หากไม่มีปัญญา ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ก็สำคัญ เบื่อหน่าย ด้วยความเป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมเป็นไป การสะสมปัญญาที่จะถึงความเบื่อหน่ายที่เป็นปัญญาระดับสูง จึงต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ปัญญาที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปตามลำดับ ไม่ข้ามขั้น ไม่มีตัวตนที่จะทำให้เบือ่หน่าย แต่เมื่อปัญญาถึงพร้อม ความเบื่อหน่ายย่อมเกิดขึ้น ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะ หากเบื่อหน่ายตัวเอง เบื่อหน่ายร่างกายที่สำคัญว่ามีร่างกายอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจาก กรง คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่ามีเรา มีร่างกายที่สมมติบัญญัติได้เลย

ส่วน ความสังเวช สลดใจ ต้องเป็นจิตที่เป็นกุศลและประกอบด้วยปัญญา ขณะใดที่เศร้าโศก เสียใจ เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขณะนั้นไม่ใช่ความสังเวช สลดใจ ความสังเวช สลดใจนั้น เกิดจากการเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามความเป็นจริง เช่น เห็นความแก่ เจ็บ ตาย หรือเพราะคำเตือน เป็นต้น เกิดความสังเวช สลดใจแต่ไม่ใช่เห็นแล้วเศร้าโศกเสียใจ แต่เห็นแล้ว รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะนั้น จึงสังเวช สลดใจและปรารภความเพียรที่จะดับกิเลส เป็นต้น หรือ เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะ ว่าสภาพธัมมะทั้งหลายไม่เที่ยงด้วยปัญญา จึงเกิดความสังเวชสลดใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งไม่ใช่ความเศร้าโศกเสียใจ หมายถึง ความสังเวช สลดใจ เพราะขณะที่เศร้าโศก เสียใจ เป็นอกุศลจึงไม่ใช่ สังเวช สลดใจ ดังข้อความในพระไตรปิฎกครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒- หน้าที่ 311

อรรถกถาอธิมัตตัตถนิเทศ

บทว่า สเวโค อุปฺปชฺชติ ความสังเวชย่อมเกิดขึ้นคือ ความสังเวชในเพราะความปรวนแปร ของสังขารย่อมเกิดขึ้นเพราะรู้แจ้งโทษของสังขารด้วยแสงสว่าง คือญาณ.

------------------------------------------------------------

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 411

ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่าความสังเวช. ความสังเวชนั้น

ญาณประกอบด้วยโอตตัปปะ ชื่อว่าความสังเวช. ความสังเวชนั้น

เกิดขึ้นแก่นางเพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น ท่านจึง

กล่าวว่า ตสฺมา เม อหุ สํเวโค ดังนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kiss_99
วันที่ 15 มี.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความสลดสังเวช เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยความเบื่อด้วยอำนาจของโทสะ ไม่ใช่ด้วยความเดือดร้อนกระวนกระวายใจไม่สบายใจ ที่ไม่ชอบ ถ้าเริ่มต้นจากความไม่รู้ แล้วไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ (โดยที่เข้าใจผิดว่ารู้แล้ว ถูกต้องแล้ว) ก็มีแต่จะสะสมความไม่รู้ สะสมความเห็นผิดมากยิ่งขึ้น พอกพูนอกุศลให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อความไม่รู้ ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้นถึงจะเข้าใจไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาเลย ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจ ควรอย่างยิ่งที่จะได้เริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเพราะธรรมมีจริงๆ ในขณะนี้ มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างแท้จริง ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 31 มี.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ