โลภะ กับ เมตตา ทานะ กับ จาคะ แตกต่างกันอย่างไร?

 
JYS
วันที่  20 มี.ค. 2560
หมายเลข  28693
อ่าน  1,159

อยากทราบความละเอียดและความต่างกันครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 มี.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะกับเมตตา

ท่านอาจารย์สุจินต์...ได้ถามคนไทยซึ่งพบที่วัดไทยว่า โลภะกับเมตตา อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล ทุกคนตอบได้เร็ว พร้อมกันด้วยว่า โลภะเป็นอกุศล เมตตาเป็นกุศล แต่ถ้าถามว่าขณะนี้ เป็นโลภะหรือว่าเป็นเมตตา ตอบไม่ได้ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าถามเรื่องราวแล้วตอบได้ โลภะ ต้องเป็นอกุศล และเมตตาก็ต้องเป็นกุศล แต่ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ สามารถรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นโลภมูลจิต หรือขณะนี้เป็นมหากุศลจิตที่ ประกอบด้วยเมตตา แต่เรื่องของชื่อ ตอบได้ เพราะฉะนั้นเรื่องของอนัตตาก็แปลได้ พูด ตามได้ แต่ที่จะเห็นว่าเป็นอนัตตานั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เป็นผู้ที่พิจารณา เป็นผู้ที่ อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนา และรู้ว่า คำสอนใดเป็นคำสอนที่แท้ จริงของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและไม่ผิวเผิน ต้องพิจารณาจริงๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น แล้วสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพ ธรรมตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้นจะปราศจากการศึกษาไม่ได้ จะขาดการพิจารณาไม่ได้ จะขาดการ หาเหตุผลไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระพุทธศาสนาแล้วประกอบด้วยเหตุผล แต่ถ้าไม่ ใช่จะไม่มีเหตุผลทันที ไม่สามารถจะหาเหตุผลได้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ทาน คือ การให้ จาคะ คือ การสละ บางคนการให้ทานเพื่อหวังสิ่งตอบแทนคือผลของการให้ทาน การให้ทานอย่างนี้ไม่ใช่จาคะ เพราะจาคะ คือการสละทั้งวัตถุสิ่งของรวมถึงกิเลส มีความเห็นแก่ตัว เป็นต้น สรุป จาคะมีความหมายกว้างกว่าทาน เพราะสิ่งที่ต้องสละมีทั้งรูปและนามแต่ บางครั้งการอธิบายจาคะ ท่านยกตัวอย่างการให้ทาน เพราะการให้ทานที่ไม่ติดข้องในผลของทาน เป็นจาคะ

ซึ่งขออธิบาย จาคะ โดยละเอียดดังนี้ ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า จาคะ ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งดังนี้ ครับ จาคะ หมายถึง การสละ ซึ่ง จาคะ ก็อาจเคยได้ยินคำว่า บริจาค ก็มีคำว่า จาคะ ต่อท้าย หมายถึงการสละ แต่ถ้าเป็นจาคะ ในทางธรรม ไม่ใช่เพียงการให้สิ่งของ แต่การสละสิ่งที่ไม่ดี คือ สละกิเลส สละความตระหนี่ จึงมีการให้ เป็นต้น จาคะ จึงเป็นการสละสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นกิเลส ออกจากจิตใจ ทั้งสละความไม่รู้ และสละความติดข้อง สละความโกรธ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ก็สละกิเลส สละสิ่งที่ไม่ดี เป็นจาคะในขณะนั้นครับ และขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ แม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจ ขณะนั้นสละกิเลส คือ ความไม่รู้ เป็นจาคะ ในขณะนั้น ประเสริฐกว่า จาคะ การสละวัตถุให้ เช่น ให้สิ่งของกับบุคคลต่างๆ ครับ

จาคะ ยังมีความหมายลึกซึ้งลงไปอีกครับ จาคะ โดยความหมาย คือ การสละ แต่ไม่ใช่เพียงสละวัตถุ สิ่งของให้ผู้อื่น ไม่ใช่เพียงสละกิเลส สิ่งที่ไม่ดี แต่ยังหมายถึงการสละขันธ์ คือ สภาพธรรมที่ประชุมรวมกันที่สมมติว่าเป็นเรา จาคะ ที่สูงสุดและประเสริฐสูงสุดจึงเป็น จาคะ ที่เป็นการสละซึ่งสภาพธรรมทั้งปวง ที่เรียกว่า จาคะ ที่เป็นไปในการสละซึ่งขันธ์ ซึ่ง จาคะ โดยนัยนี้ จะต้องอบรมปัญญาจนถึงการดับกิเลส และเมื่อพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าสิ้นอายุ ก็จะไม่มีการเกิดขึ้นของขันธ์ ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นบุคคลใด เป็น จาคะ ที่สละซึ่งขันธ์ สภาพธรรมทั้งปวง อันเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะไม่ต้องมีทุกข์อีกต่อไป ครับ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากการฟังพระธรรมไม่ว่าจะเป็นส่วนใด ทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วย ทั้งจาคะที่เป็นไปในการให้ทาน จาคะที่สละความตระหนี่ สละวัตถุ ก็มากขึ้น เพราะมีปัญญาที่เห็นคุณของกุศลและการสละเพื่อประโยชน์ผู้อื่น มีจาคะที่สละความโกรธโดยการให้อภัย เพราะมีปัญญาที่เห็นถูกจากการฟัง ศึกษาพระธรรม แม้ศึกษาอภิธรรม ก็เข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ดังนั้น จะโกรธใคร ในเมื่อไม่มีใครให้โกรธ จึงสละความโกรธเป็นจาคะที่เป็นการให้อภัย ครับ

และสำคัญที่สุด สละกิเลสด้วยปัญญา คือ เพราะเห็นถูกตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรม ที่เป็นเรื่องสภาพธรรม แม้ไม่กล่าวเลยว่าศึกษาอภิธรรม แต่เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาอภิธรรมที่จำชื่อ ที่ศึกษาเข้าใจว่าไม่มีเรา มีแต่ธรรม ขณะนั้น ก็ค่อยๆ สละความไม่รู้ สละอวิชชา ที่เป็นจาคะที่ค่อยๆ สละกิเลส จนสละความยึดถือว่ามีเราทีละน้อย จนถึงการสละดับกิเลสได้หมดสิ้น และถึงจาคะสูงสุด คือ สละขันธ์ ที่ไม่มีการเกิดขึ้นของสภาพธรรม ปรินิพพาน ครับ

นี่คือความละเอียดของจาคะ และเมื่อได้ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง จาคะในส่วนต่างๆ นัยต่างๆ ก็เจริญขึ้นด้วยในชีวิตประจำวันตามที่กล่าวมา ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 มี.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-ทาน คือการให้ จะให้ในลักษะใด ก็คือ ให้ ส่วน จาคะ เป็นเรื่องของการสละกิเลส แม้ให้ทานถ้าเป็นไปเพื่อสละกิเลส ก็เป็นจาคะด้วย ดังนั้น คำว่า จาคะ ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีความหมายกว้างขวางมาก ตั้งแต่ ได้แก่การสละสิ่งของสละความตระหนี่ การสละความเห็นแก่ตัว การสละกิเลส สละอกุศลธรรมทั้งหลาย จนถึงสละขันธ์ทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลส เมื่อดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ไม่มีขันธ์เกิดขึ้นอีกเลย นี้คือความบริสุทธิ์ของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อการสละกิเลสทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง ไม่มีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดอกุศล ให้เกิดความติดข้องแม้เพียงเล็กน้อย
-โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะความติดข้องที่เกินประมาณ เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก บางคนทางกาย ทางวาจา ไม่มีอาการของความละโมบ ความอยาก ความต้องการให้ปรากฏ แต่ทางใจมี แม้แต่ความคิดที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการเป็นปัจจัย และบางคนมีการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ซึ่งอาจจะดูน่าเลื่อมใส น่าเชื่อถือ แต่ว่าใจจริงของบุคคลนั้น ใครจะรู้ว่ามีความหวัง มีโลภะ มีความละโมบโลภมาก มีความปรารถนา มีความต้องการอะไรหรือเปล่า? ลักษณะของโลภะนั้นเป็นกุศล หนัก เดือดร้อน ดิ้นรน กระสับกระส่าย ไม่สงบ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นในขณะใด ก็ทำให้จิตกระสับกระส่าย หวั่นไหว เดือดร้อนตามกำลังของโลภะ แต่ถ้าเป็นเมตตา ย่อมเป็นลักษณะของกุศลที่เบาและสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย มีความปรารถนาดี มีความหวังดี มีความเป็นเพื่อนกับผู้อื่นจริง ถ้ารู้ว่าสามารถจะมีเมตตากับบุคคลนี้ได้ ก็ไม่ควรที่จะพอใจเพียงการมีเมตตากับบุคคลนี้ได้เท่านั้น แต่กับบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่น ก็ควรจะมีความรู้สึกเป็นเพื่อนด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเห็นใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติชั้นวรรณะภาษาใด ก็ควรจะมีจิตประกอบด้วยเมตตา เสมอกันหมดกับทุกคน เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า โลภะ กับ เมตตา เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน กล่าวคือ โลภะ เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดำ ที่ควรละ ควรขัดเกลาให้เบาบาง ส่วนเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ควรอย่างยิ่งที่จะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน.ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JYS
วันที่ 20 มี.ค. 2560

ขอบคุณมากครับ ขออนุโมทนาครับ

ทำให้ผมกระจ่างชัดยิ่งขึ้น ^_^

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
p.methanawingmai
วันที่ 22 มี.ค. 2560

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 31 มี.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ