ขณะฟังพระธรรม มีขันติเกิดขึ้นหรือไม่
จากข้อความ "ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น" อยากทราบว่า ขณะฟังพระธรรมและเข้าใจในเรื่องที่ฟัง ขณะนั้นมีขันติเกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่
ขอขอบพระคุณ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมมีหลากหลายนัย อย่างยิ่งในแต่ละพระสูตร บางพระสูตร ก็แสดงว่า ความไม่ประมาท นำมาซึ่งกุศลทุกประการ เป็นต้น บางพระสูตร ก็แสดงธรรมฝ่ายดี อย่างอื่น เช่น วิชชา หรือ ปัญญาเป็นหัวหน้าของกุศลธรรมและนำมาซึ่งกุศลทุกๆ ประการ โดยนัยเดียวกัน ขันติ ก็เป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งขันติก็มีหลายนัย ทั้งสภาพธรรมที่เป็นขันติ ที่เป็นโสภณธรรมที่เป็นอโทสเจตสิก ขณะที่เกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม นำมาซึ่งกุศลทุกประการ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และ ขันติ ยังหมายถึง ปัญญา เช่น ขันติญาณ เป็นต้น ปัญญาก็นำมาซึ่งกุศลทุกๆ ประการ เช่นกัน เพราะฉะนั้น พระธรรมมีหลากหลายนัย มีพระสูตรมากมาย เพราะฉะนั้น ธรรมฝ่ายดี ทั้งหลายก็ประกอบเกื้อกูลกัน นำมาซึ่งกุศลทุกๆ ประการ โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นขันติ เท่านั้น ครับ ซึ่งขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นก็ประกอบด้วยธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ มี อโทสเจตสิก เกิดขึ้น ก็มีขันติในขณะนั้นได้ครับ ขออนุโมทนา
ขอนำความละเอียดเรื่องขันติ ให้อ่านกัน เพื่อประกอบความเข้าใจ โดยแสดงถึง ความเป็นอนัตตา ทำไม่ได้ แม้ ขันติ ครับ
บรรยายโดย ท่านอ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ผู้ถาม ขันติจะเกิดกับปัญญาหรืออย่างไร หรือว่าเป็นอย่างไร ตรงนี้สภาพธรรมเป็นอย่างไร
อ. ขันติก็มีหลายระดับขั้น ขันติ ความอดทน อดกลั้นในวาจาที่ไม่ดีของผู้อื่น ในขณะนั้นก็เป็นขันติ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดเป็นขันติมากๆ เลย เพราะว่าขณะนั้นรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นขันติที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นขันติบารมี แล้วก็เป็นตบะอย่างยิ่ง
สุ. ต้องขอยกตัวอย่างเรื่องของคุณแก้ว กำลังโกรธ ขันติอยู่ตรงไหนมีโอกาสจะเกิดไหม แต่ถ้ามีก็ขณะนั้นรู้ว่าเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน สภาพนั้นกำลังเกิดขึ้นเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นคือแค่นั้นนิดเดียว แต่ขันติยิ่งกว่านั้นขณะที่โกรธเกิดขึ้น อยากจะไม่โกรธหรือรู้ตามความเป็นจริงว่านั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขันติอย่างไหน เพราะฉะนั้นขันติก็คือไม่เป็นไปตามกำลังของโลภะหรือความต้องการที่จะไม่ให้โกรธ พยายามหาวิธีต่างๆ ที่จะไม่โกรธ นั่นเป็นแล้วตามกำลังของโลภะ ไม่ใช่ขันติเลย เพราะเหตุว่าเป็นเราที่ต้องการที่จะไม่โกรธ แต่ขันติจริงๆ อกุศลกำลังปรากฏให้เห็น และมีขันติที่จะอดทนที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นตามความเป็นจริงว่าป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ลักษณะนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย ขันติเป็นตบะอย่างยิ่งที่จะเผาความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่าจริงๆ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เราเป็นไปด้วยตัวตนที่ไม่อยากจะโกรธ อยากจะให้ความโกรธนั้นหมดไป หรือขันติที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถจะเห็นถูก เข้าใจถูก เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นความอดทนจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่ง่ายที่จะเกิดใช่ไหม ต้องเป็นความอดทนที่จะเข้าใจลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ไปไม่อยากจะให้สิ่งนั้นมี อยากจะให้หมดไปเร็วๆ
ผู้ถาม ตรงที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาแยกตรงนี้หมายถึงว่าขณะที่ขันติอยากจะหาหนทางที่จะอดกลั้น อดทนในเรื่องความโกรธ อันนั้นเป็นโลภะ
สุ. คือพอที่จะเข้าใจความจริง คือเราจะไม่วิจัย วิจารณ์สภาพธรรม แต่จะเข้าใจลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่จะได้รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไรอย่างถูกต้อง แทนที่จะมาใคร่ครวญว่านั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าเวลาโกรธเกิดขึ้น ถ้ามีขันติความอดทนเป็นกุศลเกิดขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ขณะที่เห็นถูกว่าลักษณะนั้นเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี นั่นระดับหนึ่ง แต่ระดับที่มีความอดทนที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เวลาที่เราพูดถึงโทสะ เราก็เอ่ยลักษณะหยาบกระด้าง ขุ่นเคืองประทุษร้ายหลายๆ อย่าง นั่นเป็นเรื่องราว แต่เวลาที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏตัวจริง คืออาการหยาบกระด้างดุร้าย ความอดทนที่จะรู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็ต้องเป็นความอดทนที่มากกว่าที่จะหันไปทางให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศล เพราะเหตุว่าแม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่การที่จะดับการเห็นผิดที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราได้
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ถ้าไม่อดทน ก็คงไม่ฟังพระธรรม อาจจะไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น
ธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนว่าจะไปหาว่า ขณะไหน เป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้ว ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (เพราะรูปธรรม อดทนไม่ได้) อย่างเช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทน ในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือ ความอดทนในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย นั่นเอง ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...