ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๔
~ ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยแล้วคนบวชได้อะไร เป็นโทษหรือว่าเป็นบุญ? เพราะเหตุว่ารับสิ่งของที่เขาให้ โดยหวังว่าบุคคลนั้นศึกษาพระธรรม และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยต่างหาก ไม่ใช่ว่าให้แล้วไปทำอะไรก็ได้ ไปร้องเพลงก็ได้ ไปขโมยก็ได้ ไปเสพยาเสพติดก็ได้ไม่ใช่เพื่ออย่างนั้นเพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่ละอายและก็เป็นบาปจึงไม่ใช่บวช แต่เป็นบาป
~ ถ้าไม่เข้าใจธรรมก็จบเรื่องการบวชเลย จะบวชไปทำไม?
~ กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) จะพาไปสู่กิเลสแต่ปัญญาจะพาออกจากกิเลสเพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาแล้วอะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะนำออกจากกิเลสได้ด้วยเหตุนี้ กิเลสจะแก้กิเลสเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แต่ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี โดยเฉพาะ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องขึ้น
~ การบวช ไม่ใช่ง่าย ไม่ใช่ของเล่นไม่ใช่ใครก็ทำได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ เมื่อเห็นเพศนี้เดินมา ต้องรู้ว่าผู้นี้มีอัธยาศัยใหญ่ที่สละอาคารบ้านเรือนทรัพย์สมบัติศึกษาพระธรรมขัดเกลากิเลสเพื่อตนเองและเพื่อดำรงพระศาสนา จึงได้รับการเคารพจากคฤหัสถ์ แต่ถ้าผู้ใดไม่เป็นอย่างนี้จะเคารพไหม? เคารพอะไร? เพราะว่าเคารพ ต้องเคารพในคุณความดี แต่ถ้าไม่มีคุณความดีพอที่จะดำรงเพศบรรพชิต แต่กลับทำลายโดยการที่ไม่รักษาพระวินัย และไม่ศึกษาพระธรรมด้วย แล้วเคารพอะไรเคารพในผู้ที่ทำลายพระศาสนาอย่างนั้นหรือ?
~ สิ่งใดเป็นประโยชน์ที่สุดในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าอยู่มาก็หลายชาติ เดี๋ยวก็เป็นนั่น เดี๋ยวก็เป็นนี่ เดี๋ยวก็เป็นโน่น พอถึงชาตินี้ก็เป็นอย่างนี้แหละ เพียงเท่าที่จะเป็นเฉพาะชาตินี้เท่านั้น ชาติต่อไปก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้แล้วว่า จะไปเป็นอะไรต่อไป แต่ก็ต้องเป็น เพราะเหตุมีที่จะให้เป็นก็ต้องเป็น ไม่เป็นไม่ได้ แต่ว่าการที่จะได้มีโอกาสได้ฟังธรรมเข้าใจ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์
~ เป็นผู้ที่ตรง รู้ตามความเป็นจริงว่า จะขัดเกลากิเลสซึ่งมีมากในฐานะที่สะสมมาแล้ว โดยเพศของคฤหัสถ์ เป็นไปได้แน่นอน เมื่อมีความเข้าใจ แต่ถ้าบวชโดยไม่รู้อะไรเลย ไร้ประโยชน์ เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น
~ คนหมู่มาก ไม่ถูกต้อง แล้วถ้าเรามีความกรุณา (เกื้อกูลให้เข้าใจความจริง ย่อมเป็นประโยชน์) ปัญญาทำให้มีความกรุณาไม่ใช่ทำให้โกรธชังคนที่ไม่มีความรู้ แต่เพราะเขาไม่รู้ (จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง) และอาจจะมีบางคนที่เมื่อได้ฟังคำติ (คำชี้ให้เห็นโทษ) นั้นแล้ว สำนึกรู้ได้ เพราะฉะนั้น การกล่าวติ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะปัญญาทำให้สามารถที่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก กล่าวติสิ่งที่ผิด เพื่อให้คนได้ฟังแล้วรู้ว่านั่นผิด จะแก้ไขไหม? ถ้าไม่มีปัญญา จะกล่าวได้ไหมว่าอะไรถูก อะไรผิด?
~ คำจริงและความจริง ไม่เป็นประโยชน์กับทุกคนหรือ ไม่ว่าใครทั้งนั้น และการพูดคำจริง เป็นการอนุเคราะห์ให้เขาเข้าใจถูกต้องใช่ไหม? เป็นความหวังดีหรือเปล่า? การที่จะทำลายพระพุทธศาสนา หรือการไม่ประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัย เป็นโทษอย่างยิ่ง สำหรับคนนั้นและสำหรับคนอื่นๆ ด้วย เพราะทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปหมดเลย เพราะฉะนั้นกล้าที่จะพูดความจริงให้คนอื่นรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด หรือไม่เพราะอย่างไร ก็ตาย แล้วจะกลัวอะไรในเมื่อคำนั้นเป็นประโยชน์ ยิ่งพูดยิ่งเป็นประโยชน์ใช่ไหมหรือเก็บไว้ไม่กล้าพูด?
~ สภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นอกุศล ไม่ว่าอกุศลของใคร ของท่านเอง ของญาติพี่น้อง ของเพื่อนฝูง ของใครก็ตาม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลที่ท่านรัก หรือว่าคนที่เป็นศัตรูก็ตาม กุศลธรรมของบุคคลนั้นก็เป็นกุศลธรรม เป็นผู้ที่จริง เป็นผู้ที่ตรง ถ้าท่านพูดปด ขณะนั้นเป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจะบารมีหรือเปล่า และบางครั้งเมื่อพูดปดไปแล้ว ก็ยังไม่เป็นผู้ที่มีสัจจะบารมีพอที่จะรับว่า ท่านพูดปด แต่ก็ยังพูดปดต่อไปอีก เพื่อที่จะแก้เรื่องที่พูดปดไว้
~ ถ้าท่านมัวเมา หลงติดปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้มาแล้วก็ยังติด ที่เกิดเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศล วันไหนได้ลาภ ติดไหม? วันไหนได้ยศ ติดไหม วันไหนได้สุข ติดไหม วันไหนได้สรรเสริญ ติดไหม แล้วยังปรารถนาอีกต่อไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ได้สิ่งที่ติดอยู่แล้วอย่างมากๆ ติดต่อไปอีกมากๆ ปรารถนาต่อไปอีกๆ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่บารมีที่จะทำให้ละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล คุ้นเคยกับอกุศล ชินกับอกุศล หลงไปกับอกุศล พอใจไปกับอกุศล ย่อมไม่เห็นความน่ารังเกียจของอกุศล คือ โลภะ เห็นแต่ความไม่แช่มชื่น ของโทสะ ไม่ปรารถนาที่จะไม่ให้มีโทสะเท่านั้น แต่ลืมอกุศลธรรมอีกอย่างหนึ่ง คือ โลภะ
~ อดทนที่จะไม่ให้เกิดโลภะ หรือเกิดโทสะ หรือโมหะในขณะนั้น คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
~ วันหนึ่งๆ นั้นพ่ายแพ้ต่ออกุศลธรรม เพราะอกุศลธรรมมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นมากกว่ากุศลธรรม
~ ถ้าท่านยังเป็นคนที่ย่อหย่อน เกียจคร้านในการกุศล ลำบากจัง เหนื่อยนัก หรือว่าเสียเวลามาก หรือว่าลำบากนิดหน่อยก็แล้วแต่ในความรู้สึกของท่าน ขณะนั้นเป็นอกุศล ถูกครอบงำแล้วด้วยอกุศล กุศลจึงเกิดไม่ได้
~ ถ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่ทำกุศลยาก เพราะเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล ก็จะต้องเป็นผู้ที่ขยันเสียเดี๋ยวนี้ทันที เพราะชีวิตแต่ละขณะไม่ใช่ยืนยาวเลย ชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลขึ้นอยู่แต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะทอดธุระ หรือว่ายังเป็นผู้ที่ยังคงย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้ว ก็จะขาดวิริยบารมีซึ่งจะไม่ทำให้อกุศลเบาบางเลย แต่ทางเดียวที่จะทำให้อกุศลเบาบางได้ คือ เป็นผู้ที่ขยัน ไม่เกียจคร้านในการเจริญกุศลทั้งปวงที่สามารถจะกระทำได้
~ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะกั้นไม่ให้ไปสู่ทางที่ผิด อารักขา (รักษาไม่ให้ไปสู่ทางที่ผิด) เพราะเหตุว่าได้ฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยที่จะมีความเข้าใจที่มั่นคงว่าเดี๋ยวนี้ต่างหากที่ไม่รู้ธรรม (สิ่งที่มีจริง) ที่มี เพราะฉะนั้น จะรู้ ก็คือ ธรรมเดี๋ยวนี้แหละไม่ใช่ธรรมอื่นเลย ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นและเลือกก็ไม่ได้
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะทำอะไร ก็ผิดทั้งนั้น เพราะไม่เข้าใจ, ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องลึกซึ้ง และเป็นเรื่องละ ซึ่งละยาก แต่ให้ทราบว่าไม่ใช่เราที่ละ แต่ปัญญาต่างหาก ละเพราะฉะนั้น ปัญญากำลังละความไม่รู้ในขณะที่กำลังเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย
~ เกิดแล้วก็ตาย ไม่มีใครไม่ตาย แต่ระหว่างเกิดกับตาย มีอะไรเกิดบ้าง ตายบ้าง อยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถที่จะฟังได้ตลอด เพราะเหตุว่าพอฟังแล้วก็เข้าใจขึ้นๆ เข้าใจละเอียดขึ้น แล้วก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่า สามารถที่จะทำให้รู้ความจริงซึ่งถูกปกปิดไว้นานแสนนานถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าเป็นภิกษุทุศีล (ผู้ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ) เราก็ไม่ทะนุบำรุง ไม่ส่งเสริม เพราะให้โทษกับภิกษุนั้นอย่างยิ่ง
~ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะบวชก็บวชได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความมั่นคงที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต
~ สมณะคือผู้สงบจากกิเลส ลืมคำนี้ไม่ได้ และจะสงบได้ด้วยความผาสุกตามพระวินัยบัญญัติเพราะสงบจริงๆ ไม่มีการที่จะให้เกิดกิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นไปเพื่อการสละ เพื่อการละ
~ ก็เหมือนกับผู้ลวงให้คนอื่นเข้าใจ ว่า ตนเองเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพราะได้ครองจีวร แต่ว่าเขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเลย เพราะฉะนั้นก็ย่อมเป็นโทษเหมือนกับผู้ลัก ผู้ขโมยของผู้อื่น, จีวรของใคร? ของผู้ที่มีศีลตามพระธรรมวินัย แต่ถ้าไม่มีศีล ก็เหมือนกับลักหรือขโมยจีวรนั้นมา
~ ฟังพระธรรมโดยไม่ไตร่ตรอง ก็เข้าใจผิดได้
~ ถ้าเป็นคำเท็จ ไม่ว่าจะเป็นคำของใคร ย่อมค้านกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น
~ เพราะไม่รู้ จึงพูดในสิ่งที่ไม่เป็นจริง
~ สงบ ต้องสงบจากอกุศล ถ้าเป็นอกุศล ก็ไม่สงบ
~ ทุกขณะที่เป็นจิตที่ดีงามเกิดขึ้น ขณะนั้นสงบ เช่น ขณะที่มีการให้ทานสละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ขณะนั้นสามารถที่จะสละได้ ละได้ ไม่ติดข้อง ขณะนั้นสงบจากโลภะ (ซึ่งเป็นสภาพที่ติดข้อง
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ก็ค้านกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ให้ใครไปสำนักปฏิบัติ แต่พระองค์ทรงแสดงความจริงเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในขณะนี้
~ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แม้ความไม่ดี ก็มีจริง เป็นธรรม
~ ขณะที่กำลังให้ทานก็ชั่วขณะที่สละให้ ขณะนั้นสงบจากอกุศล ท่ามกลางอกุศล
~ อกุศลทั้งหมด ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้
~ แต่ละคำ มาจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ถ้าตั้งจิตไว้ไม่ชอบ ย่อมไม่ได้สาระจากพระธรรม
~ ฟังให้เข้าใจถูกว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
~ คฤหัสถ์คนใด ที่ไม่เข้าใจธรรม คฤหัสถ์คนนั้น ไม่ใช่พุทธบริษัท
~ ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระองค์
~ ใครจะใหญ่เกินพระธรรม?
~ กล่าวคำจริง เพราะคนที่เข้าใจถูกยังพอมี
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๙๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ถ้าไม่เข้าใจพระธรรมก็จะทำผิดทุกอย่างพระธรรมมีความละอียดลึกซึ่งเมื่อเข้าใจแล้วก็จะละไม่ใช่ความเป็นตัวตนละแต่เป็นปัญญาทำหน้าที่ของปัญญาคือละกราบอนุโมทนาสาธุเป็นอย่างของการให้พระธรรมในครั้งนี้ด้วยครับ