อย่าคิดบวชเป็นภิกษุ!! ถ้าไม่มีความตั้งใจมั่น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  22 เม.ย. 2560
หมายเลข  28787
อ่าน  1,127

อย่าคิดบวชเป็นภิกษุ!! ถ้าไม่มีความตั้งใจมั่น

เดลินิวส์ ฉบับ พฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2560

-------------

หากไม่มีความชัดเจนว่าบวชไปทำไมและไม่มีจุดมุ่งหมายในการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริงเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง ก็ไม่ควรบวชเป็นภิกษุ

ผู้ที่คิดจะบวชเป็นภิกษุนั้นต้องทำความเข้าใจกับตนเองให้ดีเสียก่อนว่า จะบวชไปทำไม?? มีจุดมุ่งหมายในการบวชเพื่ออะไร และควรจะต้องพิจารณาถึงอัธยาศัยของตนอย่างรอบคอบว่า มีความเหมาะสมกับการครองชีวิตในเพศบรรพชิตได้หรือไม่??

หากไม่มีความชัดเจนว่าบวชไปทำไมและไม่มีจุดมุ่งหมายในการบวชเพื่อศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริงเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติตนตามสิกขาบทในพระวินัยเพื่อขัดเกลากิเลสที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ 227 ข้อ ก็ไม่ควรบวชเป็นภิกษุ

การล่วงละเมิดพระธรรมวินัยนอกจากจะเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นบาปแก่ตนอีกด้วย แต่ถ้าหากมีความตั้งใจมั่นที่จะบวชเป็นภิกษุเพื่อศึกษาพระธรรมอย่างแท้จริง และสามารถประพฤติปฏิบัติตนได้ตามสิกขาบทในพระวินัยก็ควรจะบวชโดยไม่ต้องรีรอเมื่อมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การดำเนินชีวิตของภิกษุในเพศบรรพชิตมีความแตกต่างไปจากชีวิตของอุบาสกอย่างสิ้นเชิง ภิกษุจะประพฤติปฏิบัติตนเหมือนกับอุบาสกไม่ได้ เพราะภิกษุในเพศบรรพชิตมีความสะอาด บริสุทธิ์ และสงบ เป็นผู้สละแล้วทางโลกีย์วิสัย ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา วงศาคณาญาติ เพื่อนสนิทมิตรสหาย อาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างๆ จึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้เช่นเดียวกับอุบาสกดังที่เคยเป็นมาก่อน

สิกขาบททั้งหมดที่มีอยู่ในพระวินัยไม่อาจล่วงละเมิดได้เป็นอันขาด ต้องน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะเกิดโทษเป็นอาบัติ ซึ่งเกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทที่เป็นข้อห้ามแห่งภิกษุ มีโทษอยู่ 3 สถาน คือ

โทษสถานหนักต้องขาดจากความเป็นภิกษุ ภิกษุที่ได้รับโทษนี้ไม่อาจคืนกลับสู่ความเป็นภิกษุได้อีก ซึ่งท่านอุปมาไว้ว่าเหมือนกับใบไม้เหลืองที่หล่นจากขั้วไม่สามารถจะกลับมาเขียวสดได้อีก ตาลยอดด้วนที่ไม่สามารถจะกลับมาเจริญงอกงามได้อีก บุคคลอันมีศีรษะขาดไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ หรือศิลาแตกที่ไม่สามารถจะประสานให้สนิทเข้ากันได้

โทษสถานกลาง ภิกษุต้องอยู่ปริวาสกรรมซึ่งเป็นการลงโทษตนเองเพื่อชดใช้กรรมถึงจะพ้นอาบัติ และ โทษสถานเบา ภิกษุต้องปลงอาบัติซึ่งเป็นการปลดเปลื้องความผิดของตนท่ามกลางสงฆ์โดยสำนึกและรับผิด พร้อมกับสละสิ่งของที่ได้มาถึงจะพ้นอาบัติ

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ในพระวินัยทีละสิกขาบท ซึ่งเป็นไปตามกำลังกิเลสของภิกษุที่ได้ประพฤติปฏิบัติไม่ควรแก่เพศบรรพชิต จึงทรงประชุมสงฆ์ให้สงฆ์รับรองว่าความประพฤตินั้นผิดไม่เหมาะไม่ควร เมื่อสงฆ์รับรองแล้วจึงทรงบัญญัติสิกขาบทในพระวินัยเพื่อให้ภิกษุประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทนั้นๆ

ในอรรถกถามีความว่า “ภิกษุ” คือผู้ใกล้ชิดในพระพุทธองค์ มีความประพฤติคล้อยตามพระพุทธองค์ เป็นผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ (การเวียนว่ายตายเกิด) ภิกษุเป็นผู้ขอที่ทรงคุณ มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขอที่ประเสริฐโดยไม่ได้รบกวนใครเลย เป็นการขอด้วยการบิณฑบาตอาหาร แต่ไม่ใช่การรับเงินรับทองซึ่งเป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัย

ภิกษุจะขอในสิ่งที่ไม่สมควรไม่ได้ จะรับในสิ่งของที่ไม่สมควรก็ไม่ได้ อุบาสกและอุบาสิกาจะเป็นผู้ให้อาหาร ยารักษาโรคและที่อยู่ เพื่อให้ภิกษุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะควร ทั้งนี้เป็นเพราะเห็นในคุณความดีของภิกษุ ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญและเป็นผู้ทำหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนาให้มีการสืบทอดต่อไปเพื่อเป็นที่พึ่งของอุบาสกและอุบาสิกา

การมีภิกษุเป็นจำนวนมากและมีผู้บวชเป็นภิกษุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใช่จะหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาก็หาไม่!!

เพราะตราบใดที่ผู้บวชเป็นภิกษุ...ไม่ศึกษาพระธรรมด้วยความตั้งใจมั่น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ประพฤติปฏิบัติตนล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัย พระธรรมซึ่งเป็นคำสอนของ พระพุทธองค์ ก็จะอันตรธานไปในที่สุด.

….................................

คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ

โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๒๒๕๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ประสาน
วันที่ 23 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thilda
วันที่ 23 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 พ.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ