ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๑๔ เมษายน ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  24 เม.ย. 2560
หมายเลข  28792
อ่าน  2,558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพักย่านถนนประดิพัทธิ์ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.

วันนี้ คุณจักรกฤษณ์และคุณแอ๋ว ได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ และท่านวิทยากรของมูลนิธิฯ มีอาจารย์อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ และอาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวณิช เดินทางมาร่วมสนทนาธรรมด้วย สำหรับวิทยากรท่านอื่นๆ มี อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ และอาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ไม่สามารถมาร่วมสนทนาได้ เนื่องจากเดินทางกลับไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่ต่างจังหวัด เนื่องในเทศกาลสงกรานต์

การสนทนาธรรมในวันนี้ จึงขาดผู้ร่วมสนทนาไปหลายท่าน จากที่ท่านเจ้าภาพได้เรียนเชิญไว้ เนื่องด้วยภารกิจต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับข้าพเจ้าเอง ไม่ได้เดินทางไปไหนๆ ในช่วงเทศกาลนี้มานานหลายปีดีดักแล้ว ร่วมยี่สิบปีก็ว่าได้ ปกติแล้วในวันสงกรานต์ของทุกปี ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าเริ่มชีวิตการทำงานหลังการเรียนจบ จะไม่ไปไหนเลยในช่วงนี้ นอกจากเดินทางกลับไปทำบุญอุทิศกุศลแก่บรรพบุรุษตามประเพณี และเยี่ยมป้าซึ่งเป็นพี่สาวคนเดียวของพ่อที่เคยอยู่จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นบ้านเกิดของข้าพเจ้าเอง

ภายหลังที่ป้าของข้าพเจ้าไม่สามารถเดินเหินไปไหนต่อไหนได้ เอาแต่คลานอยู่บนเรือนคนเดียว และยอมที่จะย้ายมาอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้าที่กรุงเทพฯ (ที่จริงก็เรียนท่านว่ามาเที่ยวกรุงเทพฯ) ซึ่งท่านก็มาอยู่ให้ข้าพเจ้าและครอบครัว ญาติพี่น้องลูกๆ หลานๆ ได้เจริญกุศล เลี้ยงดูจนวาระสุดท้าย ซึ่งท่านเสียชีวิตลงด้วยอาการสงบที่บ้านของข้าพเจ้าเองในวันสงกรานต์เมื่อหลายปีก่อน เล่าความประทับใจให้ทุกท่านฟังอีกอย่างหนึ่งว่า ในขณะที่เคลื่อนย้ายร่างของคุณป้าลงจากตึกมาหน้าบ้านซึ่งอยู่ริมถนนใหญ่ ทุกคนกำลังเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานที่หน้าบ้าน ไม่มีใครทราบว่า บ้านหลังนี้ มีผู้จากไปและกำลังขึ้นรถไปวัด

ขออภัยที่เล่าเรื่องของตัวเองในคราวนี้ เหตุเพราะ หนึ่ง ถ่ายภาพไว้มาก หากลงภาพเฉยๆ ก็ดูจะมากไป ถ้ามีเรื่องให้ท่านติดตามด้วย ดูจะดีกว่า พอดีว่าเกี่ยวเนื่องกับเรื่องสงกรานต์ที่ท่านเจ้าภาพสนทนาด้วย คงจะพอเข้ากันได้ และสอง วันนี้ ไม่มีเรื่องอื่นๆ ของท่านเจ้าภาพที่จะเล่าให้ฟังครับ นอกจากจะกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาท่านเจ้าบ้านทั้งสอง ที่ให้ได้มีโอกาสฟังและสะสมความเข้าใจพระธรรมจากการที่ท่านอาจารย์สนทนา ซึ่งในวันนี้ คุณจักรกฤษณ์ได้กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ถึงเรื่องฤกษ์ดี เวลาดี โอกาสที่จะทำความดี อันมีเหตุที่ยกมาจากการเดินทางกลับบ้านตามประเพณีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของคนไทยที่มีมาแต่เดิมจนปัจจุบัน และความในพระสูตรที่คุณจักรกฤษณ์เชิญมาประกอบการสนทนา มีความไพเราะน่าฟังมากครับ

คุณจักรกฤษณ์ กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างยิ่งครับ กระผมและสมาชิกทุกท่านต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่เมตตาสละเวลาอันมีค่ามาให้ความรู้และได้มีการสนทนาธรรมกันอีกครั้ง นะครับ วันนี้ก็เป็นวันสำคัญของคนไทย เป็นวันสงกรานต์ ซึ่งจากการที่ตรวจสอบหาความรู้จากคำว่า "สงกรานต์" ก็พบว่ามาจากประเทศอินเดีย แปลว่า "เคลื่อนไป" เคลื่อนไปจากราศีเก่าเป็นราศีใหม่ คนไทยก็ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ และมีประเพณีต่างๆ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็บอกว่าวันนี้เป็นวันมงคล ก็จะทำสิ่งต่างๆ ตามประเพณี

ทีนี้ คนไทยจะต่างกับชาวพุทธตรงที่ว่า ถ้าเป็น "ชาวพุทธ" ก็จะศึกษาและเข้าใจพระธรรม มีพระสูตรหนึ่งที่อยากจะยกขึ้นมาสนทนาในวันนี้ ท่านกล่าวถึง วันดี ขณะดี ขออนุญาตอ่านพระสูตรตรงนี้แล้วก็จะได้สนทนากันนะครับ ท่านอาจารย์ครับ พระสูตรนี้ชื่อว่า สุปุพพัณหสูตร ท่านกล่าวว่า "...สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นชื่อว่าเป็นฤกษ์ดี หมู่คนดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และบูชาในพรหมจริยบุคคลทั้งหลาย..." และมีอีกตอนหนึ่งท่านกล่าวไว้ว่า "...เมื่อใดประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ เวลาเช้า ก็เป็นเช้าดี เวลากลางวัน ก็เป็นกลางวันที่ดี เวลาเย็น ก็เป็นเย็นที่ดี..."

ซึ่งในพระสูตรนี้ท่านกล่าวถึงความเป็นมงคลของ ไม่ว่าจะเป็นขณะหรือเวลา เป็นวัน ซึ่งท่านก็ได้กล่าวไว้ว่าขณะนั้นถ้าเป็นขณะที่ดี ทุกอย่างดีหมด ก็จะเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ว่า การที่เราคนไทยจะถือโอกาสต่างๆ อย่างเช่นวันนี้เป็นวันสงกรานต์ ก็ว่าเป็นวันดี แล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆ กับพระสูตรที่ท่านแสดง มีความละเอียดต่างกันที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไร ที่ควรเข้าใจเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกครับ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ควรฟัง ยิ่งกว่าคำของใคร!! ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร มากมายสักเท่าไหร่ก็ตาม อดีต นานแสนนานมาแล้ว จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ คำของคนอื่นทุกคำ กับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปรียบกันไม่ได้เลย!!!

เพราะฉะนั้น สำหรับ คำทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้รู้ความจริงว่า อะไรดี ไม่ใช่วันเวลา!! แต่ต้องเป็นคุณความดี นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดที่ว่า วันเวลาก็เหมือนทุกวัน เช้า เดี๋ยวก็สาย เดี๋ยวก็บ่าย เดี๋ยวก็ค่ำ ก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน ดีตอนไหน? ดีตรงไหน? แต่ว่า การที่ได้มีการเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้เอง และถูกปกปิดไว้นานมาก จะเปิดเผยต่อเมื่อมีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ต้องรู้ว่า ไม่มีคำของใครสักคน ที่จะถูกต้อง ยิ่งกว่าคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า!!! ผู้ที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วไตร่ตรอง เข้าใจถูกต้อง เท่านั้น ที่จะกล่าวคำจริงได้ ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้แล้ว (เชิญคลิก...อุปมาเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่) ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะพิจารณา ก็จริง จะเวลาเช้าดี หรือเวลาบ่ายดี หรือเวลาไหนดี? ก็ต้องเป็นเวลาที่ มีความเข้าใจถูกต้อง รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมี เพราะว่าเดี๋ยวนี้ ทุกอย่างที่มี จริง!! แต่รู้ว่าอย่างไร? รู้หรือเปล่า? รู้จริงหรือเปล่า? หรือคิดเอา? ว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้!!

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังมี แล้วไม่เคยเข้าใจมาก่อน นั่นแหละ เวลาดี วันดี เมื่อไหร่ก็ได้!!! วันหนึ่งก็มีตั้งแต่ตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนค่ำ เอาตอนไหนดี? เห็นไหม? จะเอาเวลา แต่...ไม่เลือกเลยว่าเวลาไหน ค่ำก็ได้ ดึกก็ได้ เช้าก็ได้ บ่ายก็ได้ ที่ได้มีความเข้าใจ "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" นั่นเป็น เวลาดี!!!

คุณจักรกฤษณ์ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ เป็นความละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะท่านกล่าวถึงความดีจริงๆ แต่ว่าในความเข้าใจของคนไทยทั่วไป เราก็จะกำหนดว่าวันนี้เป็นวันดี วันนี้เป็นวันมงคล มีกิจกรรมต่างๆ

ท่านอาจารย์ วันนี้มีคนตายไหม? มีอุบัติเหตุไหม? มีทุกอย่างไหม? ดีไหมวันนี้?
คุณจักรกฤษณ์ ครับ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ครับท่านอาจารย์ครับ เพราะว่าคำจริงแล้ว ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ แต่ถ้ามีความเข้าใจผิด ก็เห็นชัดเจน ดังตัวอย่างที่ท่านอาจารย์ยกมา ว่าไม่ใช่วันดีสำหรับคนที่ประสบสิ่งที่ไม่ดี หรือว่าทำไม่ดีด้วย

ท่านอาจารย์ครับ มีอยู่ประเด็นหนึ่ง ที่น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าชาวไทยส่วนใหญ่ เราก็จะหาช่วงเวลาที่เหมาะที่ควร ทำในสิ่งที่ดีๆ อย่างเช่นในช่วงวันสงกรานต์ ลูกหลานก็จะกลับไปหาคุณพ่อคุณแม่ เพื่อที่จะกราบขอพรในวันนั้น แต่ว่าอันนั้นเป็นประเพณีของชาวไทย แต่ถ้าเป็นตามพระพุทธพจน์ท่านตรัสไว้ก็คือ ดีทุกเวลา ดีทุกขณะ ซึ่งตรงนี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ เราก็จะไม่เลือกวันที่จะต้องเป็นวันสงกรานต์ ที่จะต้องทำความดี จะต้องกลับไป ตรงนี้จะทำให้คนเกิดความเข้าใจผิดไหมครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเข้าใจถูกต้อง ไม่ผิด เช่น ทุกวันนี้เราก็มีเรื่องธุรกิจ มีเรื่องราวของแต่ละคนมากมาย เด็กก็ไปเรียนหนังสือ ไปทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่ก็ทำหลายเรื่อง ทุกวันเป็นอย่างนี้ แต่วันปีใหม่ เราใช้คำนี้ เพื่อเตือนให้ระลึกว่า เรามีชีวิตอย่างนี้มานาน ตลอดทั้งปี แล้วก็จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่จะเตือนเรา ให้ได้ทำความดี แม้ว่าวันธรรมดา เราก็ทำความดีได้!! แต่ว่าถ้าเราจะนับว่า เรามีชีวิตอยู่นับตามพระจันทร์ ดวงอาทิตย์หรือปฏิทิน ล่วงมาถึงหนึ่งปีแล้ว ได้ทำความดีอะไรบ้าง? สามารถที่จะย้อนถอยหลังไปได้ว่า ในปีนี้ที่ผ่านมา เราทำความดีอะไรบ้าง? ทุกอย่างที่จะทำให้เกิดกุศลจิต ความเข้าใจ ที่ทำให้เข้าใจถูกต้องว่า ความดีเป็นสิ่งที่ควรทำ และ เวลาที่จะทำความดี เราก็ไม่สามารถที่จะเลือกได้ว่าวันไหน ทำได้ทุกวัน ดีได้ทุกวัน

แต่ว่าปีหนึ่งผ่านไปแล้ว ก็อาจจะเป็นเครื่องเตือนว่าเราทำความดีบ้างหรือยัง? เช่น เราไม่ได้เข้าใจธรรมะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะ ๔๕ พรรษา อย่างละเอียดยิ่ง แล้วเราเข้าใจถูกหรือเปล่า? และ เข้าใจถูกกี่คำ? ในเมื่อ ๔๕ พรรษา ทรงแสดงไว้มาก

เพราะฉะนั้น แต่ละคน ก็สะสมมาที่จะทำความดี เท่าที่จะทำได้ อย่างคนที่ไม่เข้าใจธรรมะเลย ความดีของเขาก็คิดถึงว่า จะไปกราบพ่อแม่ ก็เป็นที่เตือนให้เขาระลึกได้ว่า ทั้งปีเขาทำความดีกับพ่อแม่มากเท่าไหร่? ไม่ใช่ว่าพอถึงวันนี้ทำความดี แต่ในปีที่ผ่านมาแล้ว ทำดีหรือทำไม่ดีกับพ่อแม่?

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญา ความเห็นที่ถูกต้อง!!! ปัญญาไม่เข้าใจผิดอะไรเลยทั้งสิ้น!! เพราะเหตุว่า ธรรมะจริงๆ ถ้าไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้น-ดับไป จะบอกไม่ได้เลยว่า วันใด เดือนใด ที่เรากำหนดเป็นวัน เดือน ปี ก็โดยที่ มีธรรมะเกิดขึ้นและดับไป มากหรือน้อย อย่างตอนเช้า เกิดมาและเกิดต่อๆ มา จนถึงเดี๋ยวนี้ก็พอที่จะดูพระอาทิตย์ได้ คล้อยไป ถึงเวลาเท่าไหร่แล้ว เที่ยงหรือยัง? บ่ายหรือยัง? ค่ำหรือยัง? ก็เป็นเครื่องกำหนดให้รู้ว่า วันเวลาผ่านไป แต่ความจริงก็คือว่า ทุกขณะ...ผ่านไป...ไม่ใช่เพียงแค่เราจะเรียกว่า วันเวลาผ่านไป แต่วันเวลา หมายความถึงว่า มีแต่ละสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง!!

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของ "ความคิด" ซึ่งแต่ละคน "คิดตามการสะสม" หลากหลายมาก!! แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลย คือ ความดีเมื่อไหร่ ก็เป็นเวลาดีเมื่อนั้น และพอกลับจากสงกรานต์มาแล้ว ก่อนจะถึงปีหน้าทำดีอะไรบ้างหรือเปล่า?

คนที่คิดก็คิดได้ตลอด ที่จะให้ความดีเพิ่มขึ้น เข้าใจถูกต้องขึ้น ที่ถูกก็คือว่า ไม่ต้องคิดถึงเมื่อไหร่เลย เฉพาะหน้าที่สามารถที่จะดีได้ เช่น ขณะนี้ เฉพาะหน้าที่สามารถที่จะสนทนา คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ถูกต้องขึ้น!! อันนี้ต้องดีทุกขณะเลย ผ่านวันนี้ไป พรุ่งนี้ก็ดีอีกได้ เมื่อมีการฟังเข้าใจอีก ตลอดทุกวัน ดีทั้งนั้น!!!

คุณจักรกฤษณ์ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่ชี้ให้เห็นจริงๆ ว่า ในวันนี้ ถ้ามีความเข้าใจยิ่งขึ้น ก็จะดีต่อไปอีกในวันข้างหน้า ซึ่งต่างกับดีของผู้ที่ไม่เข้าใจพระธรรม เช่นที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า วันนี้กลับไปกราบพ่อแม่ ก็จะเป็นการทำชั่วขณะ และไม่ได้ทำให้เกิดความรู้ที่จะมีการทำให้เกิดความดีต่อไปข้างหน้าอีก ยกเว้นการที่เราจะได้สนทนาและเข้าใจพระธรรมมากขึ้น อย่างนี้ใช่ไหมครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ทุกขณะเป็นสิ่งที่ดีได้ ไม่ต้องเลือกเลย ถ้าคอย ไม่รู้ว่าจะถึงวันนั้นหรือเปล่า ก็เป็นได้!! หรือว่า จะมีวันนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้!!

คุณจักรกฤษณ์ อย่างที่ชาวไทยส่วนใหญ่เข้าใจ ก็จะมีวันแต่ละวันที่จะไปทำความดี แต่ก็คอยที่จะถึงวันนั้น แล้วถึงจะไปทำความดีที่เขาเข้าใจอย่างนั้น ซึ่งไม่ถูกต้องใช่ไหมครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ทำก่อนก็ได้ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ทำทุกวันยิ่งดี ดีที่สุด คือ เข้าใจธรรมะ!! เพราะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้ ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งยากมาก เพราะเหตุว่า พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีเมื่อครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ นานมาก กว่าจะรู้ความจริง แล้วก็ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้!!

ซึ่งคิดว่า ไม่เห็นมีอะไรจะต้องรู้ เกิดมาก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน แต่ควรรู้ไหม? หรือว่าปล่อยให้ผ่านไป ผ่านไป โดยไม่เข้าใจความจริงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อะไร ในขณะนี้? ถึงสิ่งที่กำลังมีจริงๆ !! ดีไหม? เข้าใจสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เพราะว่า ถ้าไม่เข้าใจ สิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ก็หมดแล้ว โดยเราก็ไม่รู้ว่าหมดแล้ว!! หมดไปทุกขณะ

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นเดี๋ยวนี้!! ซึ่งพอพูดอย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ก็หมดอีก!! ไม่มีเหลือเลยสักอย่างเดียว!!! นี่คือ ให้เริ่มเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แน่นอน ไม่เที่ยง ไม่ได้เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่า มีปัจจัยเกิดขึ้น ให้รู้ว่ามี แล้วก็ดับไป เร็วแค่ไหน? ยากแค่ไหน? กว่าจะรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้!! ซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ยั่งยืน ทุกสิ่งทุกอย่างเกิด รวมกันเป็นสิ่งสิ่งใด แต่ความจริงทุกอย่างดับ เกิดแล้วดับ!!!

มีอะไรที่ "จริง" ยิ่งกว่า "เดี๋ยวนี้" ไหม?

คะ? มีอะไรที่จริง ยิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ไหม?

แต่ "เดี๋ยวนี้" ก็ดับแล้ว!!

เพราะฉะนั้น "เห็น" เดี๋ยวนี้ มีจริงๆ "ขณะที่เห็น" จริง!! อย่างอื่นไม่มีจริง ต้อง "เห็น" มีจริง "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" มีจริง แล้วเห็นก็ดับ สิ่งที่มีจริงก็ดับ ไม่ยั่งยืน แต่การที่จะรู้อย่างนี้ได้ ต้องค่อยๆ สะสมการฟัง แล้วเข้าใจ ว่าจริงหรือเปล่า? ไม่ใช่ให้เชื่อทันที แล้ว "ปัญญา" ก็จะละคลาย "ความไม่รู้" จนทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ประจักษ์แจ้งเป็นความจริง คือ สิ่งนี้เกิด ถ้าไม่เกิด ไม่มี เกิดแล้วก็ดับไป

อีกนานไหม? กว่าจะรู้อย่างนี้!!!

ไม่ใช่ใครพยายามไปทำได้

แต่ "ความเข้าใจ" ค่อยๆ ตรงขึ้น!!!

พระสัมมสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ซ้ำไหม? ใน ๔๕ พรรษา ซ้ำเรื่องอะไร เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องได้กลิ่น เรื่องลิ้มรส เรื่องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทุกวัน รวมทั้งสุข ทุกข์ รัก ชัง ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดที่มีจริง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มี แต่ว่าไม่ปรากฏ!! ทั้งๆ ที่มี ก็ไม่รู้!! แล้วก็ดับไปหมดเลย ไม่รู้เยอะไหม? เพราะ "ไม่รู้ทุกอย่าง" ไม่ใช่ "รู้ทุกอย่าง" แต่ว่า ไม่รู้ทุกอย่าง จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม!!!

ถึงฟังพระธรรมแล้ว ความรู้ก็ต้องมีสามระดับ ระดับขั้นฟัง พิจารณาไตร่ตรอง จริงไหม? ถูกต้องไหม? ระดับหนึ่ง เมื่อจริงและถูกต้อง "หนทาง" ที่จะ "รู้ความจริง" นี้ ต้องมี!! เพราะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว และสอนให้คนอื่น ได้อบรมปัญญา รู้ตามด้วย!!!

[เล่มที่ 34]

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๕๙๑

สุปุพพัณหสูตร

(ว่าด้วยเวลาที่เป็นฤกษ์ดี)

[๕๙๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้น ก็เป็นเวลาดี ของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใด ประพฤติสุจริต ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริต ด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้น ก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น.

(นิคมคาถา)

กายกรรม เป็นความเจริญ วาจากรรม เป็นความเจริญ มโนกรรม เป็นความเจริญ ความตั้งใจมั่นของท่าน เป็นความเจริญ เป็นฤกษ์ดี มงคลดี แจ้งดี รุ่งดี ขณะดี ครู่ดี และเป็นการบูชาอย่างดี ในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย คนทำกรรม อันเป็นความเจริญแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อันเป็นความเจริญ ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้มีประโยชน์อันได้แล้ว ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกายใจ พร้อมด้วยญาติทั้งปวงเทอญ.

จบสุปุพพัณหสูตรที่ ๑๐.

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

.........

ขอเชิญคลิกชมคลิปการสนทนาธรรมตอนดังกล่าวที่นี่...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อดุลย์
วันที่ 24 เม.ย. 2560

ถ้ากายสุจริต วาจาสุจริต มโนสุจริต เวลาไหนขณะก็เป็นฤกษ์ดีเวลาดีมงคลดีฯทุกอย่างดีทุกอย่างในขณะกาย วาจาและใจสุจริตกราบอนุโมทนาสาธุท่านอาจารย์และผู้เผยแพร่พระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Tathata
วันที่ 25 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ ที่ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ ฟังในคลิปวิดิโอ ไม่ค่อยชัดเจนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
p.methanawingmai
วันที่ 26 เม.ย. 2560

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 27 เม.ย. 2560

กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 29 เม.ย. 2560

..."พระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลย คือ

ความดีเมื่อไหร่ ก็เป็นเวลาดีเมื่อนั้น"...

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 1 พ.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 6 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ