เป็นการยากที่จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  20 ก.พ. 2550
หมายเลข  2882
อ่าน  2,836

เป็นการยากที่จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพลัดพรากจากของที่รัก ที่ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมจึงมีความเศร้าโศกเสียใจคำตอบก็คือเพราะมีความติดข้องผูกพันในสิ่งอันเป็นที่รัก ถ้าเราไม่มีความติดข้องผูกพัน ก็จะไม่มีความเสียใจในการพลัดพรากจากสิ่งนั้น คำถามต่อไปก็คือ จะละคลายหรือดับความติดข้องได้อย่างไร คำตอบก็คือต้องมีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งที่เราติดข้องพอใจนั้น แท้จริงก็เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องด้วยปัญญาที่เป็นขั้นภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นคิดนึกเท่านั้น จึงจะคลายความติดข้องไปได้บ้างแต่ถ้าจะปราศจากความเศร้าโศกเสียใจจริงๆ เลย จะต้องเจริญปัญญาจนถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี เพราะแม้จะมีปัญญาถึงขั้นพระโสดาบันหรือพระสกทาคามี ก็ยังมีความเศร้าโศกเสียใจ เพราะยังมีความติดข้องใน รูปเสียง กลิ่น รส โผฐฐัพพะ อยู่ ดังนั้น ควรเห็นประโยชน์ของการอบรมเจริญปัญญา ที่เริ่มจากการฟังธรรม ศึกษาธรรม ที่จะค่อยๆ สะสมความรู้ความเข้าใจไปที่ละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่จะหวังเกินวิสัยที่จะไม่เศร้าโศกในสิ่งที่ติดข้องผูกพัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิสระ
วันที่ 21 ก.พ. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornchai.s
วันที่ 21 ก.พ. 2550

จุดมุ่งหมายในการอบรมเจริญวิปัสสนา ขั้นต้น ไม่ใช่ ให้ดับความติดข้องใน รูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย หรือ ไม่ใช่ ให้ ดับ โทสะ (ความโกรธ) แต่เพื่อ ดับอกุศลที่ประกอบด้วยความเห็นผิด คือ โลภะที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.พ. 2550

บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น ความเศร้าโศก เสียใจ กระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร้าร้อนทั้งปวงของเขา ก็ย่อมระงับไป ฉันนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
TSP
วันที่ 21 ก.พ. 2550

การที่เราจะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจเลยนั้น ไม่ใช่เป็นของง่าย แต่เป็นการทุเลาเบาบางลงได้บ้างตามความรู้ความเข้าใจพระธรรม ซึ่งเกิดจากการสะสมการฟังพระธรรมโดยถูกต้อง ด้วยความละเอียด รอบคอบ แยบคาย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สุขก็ไม่เที่ยง (เกิด ดับ) ยกเว้นพระนิพพานเที่ยง (ไม่เกิด ไม่ดับ) เป็นสุข เป็นอนัตตา การอบรมเจริญปัญญานั้น เริ่มต้นจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจโดยถูกต้อง พิจารณาลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อย ตามการได้ยิน ได้ฟัง ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังนั้นเพราะปัญญาไม่ได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะสภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้น สติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏหรือไม่ เพราะว่าสติก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัชชา ไม่มีตัวตนที่จะไประลึก หรือ ที่จะไปทำสติ แต่ถ้าหากสติเกิด สติก็จะทำหน้าที่ระลึก ลักษณะ นามธรรมหรือ รูปธรรมก็ได้ ตามการสะสมจนกว่าปัญญาจะคมกล้าขึ้นเรื่อยๆ ละคลายอวิชชาตามลำดับขั้น จนกว่าจะรู้ แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยะบุคคลขั้นต่างๆ หรือถึงความเป็นพระอนาคามี ไม่มีโทสะเกิดขึ้นอีกเลยก็ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ