ศีล 8 กับการทำงาน

 
Krishrong
วันที่  22 พ.ค. 2560
หมายเลข  28866
อ่าน  5,327

อยากขอเรียนถามว่า ถือ ศีล 8 เรียน อ่านหนังสือได้ไหมครับ ที่ไม่ใช่ความบันเทิง หรือการละเล่น แต่หากมีความติดข้อง โลภะ ยินดีในวิชาที่เรียน ก็ไม่ค่อยเหมาะสมใช่ไหมครับ

ที่เหมาะสมคือ ควรจะเว้นจากการงานทั้งปวง แล้วรักษาศีล 8 เพื่อ ความขัดเกลากิเลส, มีเวลาสำหรับเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดมากขึ้น, มีเวลามาศึกษาพระธรรม เป็นโอกาสให้คฤหัสถ์ได้ลองดำเนินชีวิตอย่างพระอรหันต์ ใช่ไหมครับ

ปล. เคยได้ยินว่า ในสมัยพุทธกาล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านทำกิจการงานอาชีพ แต่ก็รักษาศีล 8 โดยปกติทุกวันหรือเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 พ.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การรักษาศีลอุโบสถ จุดประสงค์เพื่อขัดเกลากิเลสมากขึ้น ซึ่งที่ถูกต้อง แล้ว รักษาศีล 8 ก็ต้องเป็นวันที่สะดวก ไม่ใช่ มีภารกิจการงาน วุ่นวาย ก็ไม่เหมาะสม และ ต้องรู้จักอุปนิสัยของตน และจุดประสงค์ว่ารักษาเพื่ออะไร ถ้ารักษาเพื่อจะได้บุญมากหรือเพื่ออานิสงส์อื่น รวมทั้ง จะได้เกิดในภพที่ดี เป็นเทวดาเป็นต้น ตรงนี้ไม่ใช่จุดประสงค์ที่ถูกต้อง แต่ที่ถูกคือ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเพิ่มขึ้นจากศีล 5 และเป็นไปเพื่อการละและดับกิเลสส่วนเดียวเท่านั้นครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกเรื่อง จุดประสงค์ที่ถูกและผิดในการรักษาศีลอุโบสถครับ

ข้อความบางตอนจาก

ทุติยราชสูตร

[๔๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทวดา เมื่อจะปลุกใจเหล่าเทวดาดาวดึงส์ จึงภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า

แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นดังข้าพเจ้า ผู้นั้นก็พึงถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และถืออุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลคาถานั้นนั่น ท้าวสักกะจอมเทวดาขับไม่เข้าที ไม่เป็นการขับดีแล้ว กล่าวไม่เหมาะ ไม่เป็นสุภาษิต นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะท้าวสักกะจอมเทวดายังไม่ปราศจากราคะ ...โทสะ ...โมหะ ส่วนภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว สำเร็จแล้ว ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระแล้ว เสร็จประโยชน์ตนแล้ว สิ้นเครื่องร้อยรัดไว้ในภพแล้ว หลุดพ้นด้วยความรู้ชอบแล้ว จึงควรกล่าวคาถานั่นว่า

แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นดังข้าพเจ้า ผู้นั้นก็พึงถืออุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และถืออุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด

นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะภิกษุนั้น ปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว


ดังนั้น ยิ่งอยากได้บุญ ก็ยิ่งไม่ใช่บุญ เพราะ ความอยากเป็นบาป เป็นโลภะ หากไม่สะดวกในการรักษา ผู้มีปัญญาก็เจริญบุญประการอื่นๆ เพราะ บุญ คือ สภาพจิตที่ดี ไม่ใช่ มีแค่การรักษาอุโบสถ การให้ทาน การฟังธรรม โดยเฉพาะ บุญ คือ ปัญญา ประเสริฐสุด อันเกิดจากการฟัง ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาในกุศล ที่มีอัธยาศัยในการออกจากกิเลส จะเห็นได้ว่าพระอริยสาวกผู้เป็นคฤหัสถ์ ใคร่จะมีชีวิตอยู่อย่างพระอรหันต์วันหนึ่งคืนหนึ่ง จึงสมาทานอุโบสถศีล ซึ่งในวันดังกล่าวนั้น ท่านละเว้นจากการงานที่เคยทำประจำ มามีชีวิตอยู่อย่างผู้ประเสริฐ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส ดังนั้น ผู้ที่มีศรัทธาจะรักษาอุโบสถศีล ควรกระทำตามแบบอย่างพระอริยสาวกในสมัยครั้งพุทธกาล คือ งดเว้นกิจการงานธุระกิจทั้งหลายในวันนั้น และแม้ไม่ได้สมาทานรักษาอุโบสถศีล ก็ควรรักษาศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์ เพราะถ้าหากสมาทานอุโบสถศีลแล้ว แต่ขณะจิตเต็มไปด้วยอกุศล หรือมีความกังวล ย่อมมีแต่ความเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kullawat
วันที่ 25 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 27 พ.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 28 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ