การละความใคร่ มีวิธีการอย่างไรบ้างครับ

 
2542naruto
วันที่  27 มิ.ย. 2560
หมายเลข  28944
อ่าน  4,136

สวัสดีทุกท่านครับ ผมเป็นสมาชิกใหม่นะครับอายุ18ปีสนใจในธรรมะรบกวนด้วยนะครับ กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกนะครับผมเป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีความใคร่ความต้องการทางเพศ ไม่เคยสมสู่กับใครและไม่ต้องการจะทำแต่ยังระบายความใคร่อยู่เนืองๆ ผมเบื่อกับอารมณ์นี้มากรู้สึกละอายใจในบาปและความครุ่นคิด ต้องการเลิกอยู่บ่อยครั้งแต่ซักพักก็ทำอีก เขาว่ากันว่าผู้ที่จะตัดกามราคะได้นั้นต้องเป็นพระอนาคามีเหรอครับ แล้วผมต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะเลิกและตัดราคะได้ อย่างน้อยก็ไม่ต้องการระบายความใคร่อีกต่อไป ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 มิ.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ส่วนคำว่า กาม ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่ากาม ก่อนครับว่าคืออะไร กาม ชื่อว่า “กาม” เพราะอรรถว่า อันสัตว์ใคร่ กามมี ๒ อย่างคือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑

กิเลสกาม ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจติดข้องในอารมณ์ วัตถุกาม คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา ฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม

ซึ่งโทษของกาม ก็มีจริง เพราะ กาม ที่เป็นวัตถุกาม ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เหล่านี้ ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์โลกเมื่อยึดถือใน รูป เสียง เป็นต้นที่น่ายินดี สำคัญว่าสุข แต่สิ่งเหล่านั้นก็แปรปรวนไป ทำให้เกิดทุกข์มากมาย ทั้งทุกข์กาย และ ทุกข์ใจ อันเกิดจากการพลัดพรากจาก วัตถุกามนั้น และต้องทำบาป เพราะ อาศัยการมีการเกิดขึ้นของ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือ โทษของวัตถุกาม และ ที่สำคัญที่สุด ที่เป็นกาม คือ กิเลสกาม ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี คือ กิเลส ที่เป็นโลภะ ความติดข้อง ย่อมนำมาซึ่ง ความทุกข์ทางกาย และ ทางใจ เพราะ อาศัยกิเลสที่มีจริง ที่ติดข้องในสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำบาปเพราะ การติดข้องโดยการพยายามให้ได้มา โดยการทำบาป เมื่อทำบาปย่อมได้รับทุกข์เพราะ กรรมนั้น และ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เพราะ อาศัยกิเลสที่ติดข้อง ที่เป็น กิเลสกาม ก็ทำให้เดือดร้อนใจ ทุกข์ใจมากมาย มีการเศร้าโศก ต่อ บุตร ภรรยา ญาติ เพราะ อาศัยกิเลสกาม ครับ และ เมื่อทำบาป เพราะอาศัยกิเลสกาม ก็ทำให้ได้รับทุกข์ในการเกิดในนรก และ ทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการติดข้องและ อาศัย กิเลสกามที่มีอยู่ ก็ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ครับ

ส่วน โทษในปัจจุบันที่เห็นๆ กันอยู่ เพราะ อาศัยกาม ความติดข้อง ก็ทำให้ สัตว์โลกดิ้นรน ประกอบอาชีพ เพื่อตน เพื่อคนอื่น อย่างยากลำบาก เพราะเหตุด้วยความรัก ความติดข้องเป็นต้น ครับ

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 583

ว่าด้วยโทษของกาม

[๒๙๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า ภัย นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า ทุกข์ นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า โรค นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า ฝี นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า เครื่องขัดข้อง นี้ เป็นชื่อของกาม คำว่า เปือกตม นี้ เป็นชื่อของกาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่า ภัย นี้ จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตวโลกผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกาม ถูกความกำหนัด เพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากภัยแม้ที่มีในปัจจุบัน ไม่พ้นจากภัยแม้ในสัมปรายภพ ฉะนั้น คำว่าภัยนี้ จึงเป็นชื่อของกาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เหตุไร คำว่า ทุกข์. . .โรค. . .ฝี. . .เครื่องขัดข้อง. . . เปือกตมนี้จึงเป็นชื่อของกาม เพราะสัตวโลกผู้ยินดีด้วยความกำหนัดในกามนี้ ถูกความกำหนัดเพราะความชอบพอเกี่ยวพันไว้ จึงไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในปัจจุบัน ไม่พ้นจากเปือกตมแม้ในสัมปรายภพ ฉะนั้น คำว่า เปือกตมนี้ จึงเป็นชื่อของกาม.

----------------------------------------------------------------

[เล่มที่ 54] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔- หน้าที่ ๔๒๖ ข้อความบางตอนจากอรรถกถาสุภากัมมารธิดาเถรีคาถา

กามทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นอมิตร เพราะไม่มีไมตรี เหตุนำมาแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

เกื้อกูล, ชื่อว่าผู้ฆ่า เพราะเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงื้อดาบ เหตุเป็นต้นเหตุแห่ง

ความตาย, ชื่อว่าเป็นศัตรู เพราะเป็นเสมือนศัตรูผู้ผูกเวร เหตุติดตามนำมาแต่ความ

พินาศ, ชื่อว่าเป็นดังลูกศรเสียบไว้ เพราะลูกศรทั้งหลายมีราคะเป็นต้นเสียบติดไว้.

กามทั้งหลาย กระทำให้เป็นบ้า เพราะความเศร้าโศกโดยความพลัดพรากกันเพราะกาม มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา หรือ นำความมัวเมายิ่งขึ้นโดยเพิ่มทวี.

------------------------------------------------------------------------

ซึ่ง ความอิ่มด้วยกาม ไม่มีเลย เพราะ ไม่เคยพอ ทำให้ ต้องการมากขึ้นเสมอ และทำให้ทุกข์มากขึ้น แต่ การอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด เพราะ ทำให้ละกิเลสได้ ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป ครับ

กามชาดก

[๑๖๔๒] เมื่อยังระลึกถึงกามอยู่ตราบใด ก็ไม่ได้

ความอิ่มด้วยใจตราบนั้น ชนเหล่าใดบริบูรณ์ด้วย

ปัญญา มีกายและใจหลีกเว้นจากกามทั้งหลาย เห็น

โทษด้วยญาณ ชนเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นผู้อิ่ม.

[๑๖๔๓] บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วย

ปัญญาประเสริฐ เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่

เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย คนผู้อิ่มด้วยปัญญา ตัณหา

ย่อมกระทำให้อยู่ในอำนาจไม่ได้.

--------------------------------------------------------

ซึ่งหนทางการละกาม ปัญญาขั้นต้น ไม่ใช่การละกาม ความยินดี ติดข้องก่อน แต่เป็นการละ ความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคลก่อน ครับ โดยเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

โทษของกาม - เห็นโทษของสักกายทิฏฐิก่อน - บ้านธัมมะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 27 มิ.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ได้อย่างเด็ดขาด บรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร จะเห็นได้ว่าปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศล เกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และ เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

ไม่ว่าจะมีกิเลสมากมายเพียงใดก็ตาม พระธรรมก็ย่อมเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดี เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม นั่นเอง ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
2542naruto
วันที่ 27 มิ.ย. 2560

ขอบคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
p.methanawingmai
วันที่ 28 มิ.ย. 2560

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wirat.k
วันที่ 28 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 29 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
worrasak
วันที่ 29 มิ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
2542naruto
วันที่ 29 มิ.ย. 2560

ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมอนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Mayura
วันที่ 2 ก.ค. 2560

สาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ค. 2560

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปหนทางเดียวที่จะละกิเลสคือการฟังพระธรรมจนกว่าจะเข้าใจทุกอย่างเป็นธรรมไม่ใช่เราจริงๆ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ