การตอบแทนพระคุณที่เหมาะสม

 
hetingsong
วันที่  16 ก.ค. 2560
หมายเลข  28994
อ่าน  26,496

พระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระคุณของครูบาอาจารย์

พระคุณของบิดา มารดา

เหมือน หรือ ต่างกัน อย่างไร?

การตอบแทนพระคุณที่สมควร ควรเป็นอย่างไร?

ขออาจารย์วิทยากรและท่านผู้รู้ในห้องสนทนา ช่วยให้ความรู้ด้วยครับ

ขอบพระคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มารดาบิดา เป็นบุพการี คือ ผู้ที่กระทำอุปการะแก่บุตรมาก่อน เป็นผู้ประเสริฐของบุตร เป็นผู้ที่เอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรให้เจริญเติบโตอย่างปลอดภัย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้พร่ำสอนให้บุตรออกจากความชั่ว แล้วให้ตั้งอยู่ในความดีสอนให้รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้ศึกษาศิลปวิทยา วิชาชีพต่างๆ เพื่อให้บุตรมีความรู้ติดตัวอันจะเป็นบ่อเกิดแห่งการงานประการต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตของบุตรดำเนินไปด้วยความไม่เดือดร้อนในภายภาคหน้า เป็นต้นนี้คือ พระคุณของท่านซึ่งนำมากล่าวเป็นบางส่วน เพราะแท้ที่จริงแล้ว พระคุณของท่านทั้งสองมีมาก ไม่สามารถพรรณนาให้หมดสิ้นได้ และในคำสอนทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงแสดงถึงพระคุณที่มารดาบิดามีต่อบุตรไว้มากมาย และเป็นบุคคลที่บุตรจะตอบแทนพระคุณท่านอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะท่านทั้งสองมีพระคุณต่อบุตรเป็นอย่างมาก

ดูก่อนบุตรคหบดี มารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า บุตรควรทะนุบำรุง ด้วยสถาน ๕ คือ

๑. ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราจักเลี้ยงดูท่านเหล่านั้น

๒. เราจักทำกิจของท่าน

๓. เราจักดำรงวงศ์ตระกูลไว้

๔. เราจักปฏิบัติตนเป็นผู้รับมรดก

๕. เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว เราจักเพิ่มทักษิณาทานให้

ท่านเลี้ยงเรามา เราจักเลี้ยงท่านตอบ บิดามารดา มีพระคุณกับผู้เป็นบุตรหาประมาณมิได้ ท่านเลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็กลำบากมากมาย ผู้เป็นบุตร จึงควรตอบแทนพระคุณท่าน เพราะความเป็นผู้รู้คุณ เริ่มจากเดี๋ยวนี้ คือ ดูแลท่าน ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร การช่วยเหลืองานบ้านต่างๆ แทนที่ท่านจะทำ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระ ตามความสามารถของตนที่จะมีในเรื่องนั้นครับ

จักรับทำกิจของท่าน สิ่งใดที่เป็นงานของท่าน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน คือ การงานของท่าน หากเราพอมีความสามารถ แม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นผู้ยินดี อาสาที่จะช่วยท่าน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เป็นบิดามารดา ที่มีภาระมาก และได้เลี้ยงดูเรามาครับ ไม่ใช่ว่าจะทำกิจของตน คือ เรียนหนังสือ หรือ ทำงานของตนเท่านั้น ครับ

จักดำรงวงศ์ตระกูล การดำรงวงศ์ตระกูลของบุตร คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีรักษาวงศ์ตระกูล เมื่อเป็นคนดี รู้จักสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ย่อมรักษาทรัพย์สินเงินทองของบิดามารดา ไม่ทำให้ทรัพย์สินเงินทองของท่านให้พินาศ ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพราะนั่นเป็นทรัพย์สมบัติของท่านที่หามาได้ด้วยแรงกายแรงใจของท่าน การไม่ตั้งใจเรียน เกเร ก็ย่อมชื่อว่าไม่รักษาวงศ์ตระกูล เมื่อรักษาทรัพย์ได้ รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสม ตั้งใจเรียน ไม่เกเร ก็ชื่อว่ารักษาวงศ์ตระกูลได้ ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสียหาย ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินครับ แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตนไม่ดี ก็ทำลายวงศ์ตระกุล ทั้งชื่อเสียง คำว่าร้ายจากคนอื่น ที่มีต่อ บิดามารดา และวงศ์ตระกูลเรา การรักษาวงศ์ตระกูลที่ประเสริฐสูงสุด คือ ให้บิดา มารดา ออกจากวงศ์ คือ อธรรม คือ ความไม่ดี ออกจากอกุศล มีความเห็นผิด ให้ตั้งอยู่ในวงศ์คือ วงศ์ของธรรม วงศ์ของความดี ที่ถูกด้วยการให้ความเข้าใจพระธรรม ชื่อว่า เป็นบุตรที่ดำรงศ์วงศ์ตระกูลไว้ได้อย่างสูงสุดครับ

จักปฏิบัติตน ให้เป็นผู้สมควรรับทรัพย์มรดก บุตรที่ทำตัวไม่ดี หรือ ไม่กตัญญูบิดามารดา ก็ไม่ชื่อว่าสมควรรับมรดกจาก บิดามารดา แต่การทำตนเป็นคนดี ตั้งใจเรียน ไม่เกเร รู้จักใช้จ่าย เป็นต้น ชื่อว่าเป็นผู้สมควรรับมรดกจากมารดา บิดา ครับ

เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน ผู้เป็นบุตรที่ดี คือ ต้องมีความกตัญญู รู้คุณของท่าน ไม่ว่าท่านจะมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว เพราะเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็คือ การทำบุญและอุทิศส่วนกุศลไปให้เพราะสัตว์ที่จากโลกนี้ไปแล้ว หากอยู่ในฐานะที่เป็นเปรต อาหารของสัตว์เหล่านั้น คือ การอุทิศส่วนกุศลของเหล่าญาติ ครับ


ครู เป็นบุคคลผู้มีพระคุณต่อศิษย์มากมาย เป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดีให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมอันดีงาม เป็นผู้มีความจริงใจที่จะพร่ำสอนศิลปวิทยาให้แก่ศิษย์โดยประการทั้งปวง ถ้าจะกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว ครู เป็นบุคคลผู้ที่ควรเคารพเป็นบุคคลผู้ควรแก่การบูชา ควรอย่างยิ่งที่ศิษย์จะแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีตามความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะกระทำได้ ครู มีหลายประเภท เมื่อประมวลเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาพิจารณาร่วมกัน สามารถสรุปได้ ๔ ประเภท ดังนี้คือ

๑. ครูคนแรก หมายถึง บิดามารดา เป็นผู้ที่แนะนำในสิ่งที่ควรแนะนำ กล่าวคือ สอนให้ลูกเรียกคนนี้ว่า แม่ สอนให้เรียกคนนี้ว่าพ่อ สอนให้เรียกคนนี้ว่า พี่ ป้า น้า อาเป็นต้น พร้อมทั้งแนะนำให้ลูกตั้งอยู่ในคุณความดีประการต่างๆ ด้วย

๒. ครูคนที่สอง หมายถึง ครูอาจารย์ในโรงเรียน หรือ ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่พร่ำสอนศิลปวิทยาแขนงต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่การประกอบอาชีพที่จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตดำรงอยู่อย่างไม่เดือดร้อน พร้อมทั้งศิลปวิทยาที่เรียนมานั้นยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมได้อีกด้วย

๓. ครูผู้สอนธรรม หมายถึง บุคคลผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้วมีเมตตาประสงค์จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจตามด้วยจึงมีการกล่าวธรรม มีการแสดงธรรม เพื่อประโยชน์ คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา (มีน้อยคนที่จะเป็นครูประเภทนี้ได้ เพราะต้องมีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้องและต้องมีเมตตาด้วย)

๔. ครูผู้ยิ่งกว่าครูทั้งหลายในโลก ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นศาสดา (เป็นครู เป็นผู้สอน) ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งตรงกับพระพุทธคุณบทหนึ่งคือสัตถา เทวมนุสสานัง) พระองค์เสด็จอุบัติขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้เป็นผู้หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อย่างที่พระองค์ได้หลุดพ้นแล้ว การเกื้อกูลสัตว์โลกนั้น ก็ด้วยการทรงแสดงพระธรรม ตามสมควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟัง ช่วงเวลาแห่งการแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนาของพระองค์นั้น นานถึง ๔๕ พรรษา จากพระมหากรุณาที่ทรงแสดงพระธรรมนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมมีเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนทั้งเทวดา พรหม และมนุษย์ทั้งหลาย จึงไม่มีครูคนใดยิ่งไปกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อความในสิงคาลกสูตร ดูก่อนคฤหบดีบุตรอาจารย์ผู้เป็นทิศเบื้องขวาอันศิษย์บำรุงด้วยสถาน ๕ คือด้วยลุกขึ้นยืนรับ ๑ ด้วยเข้าไปยืนคอยต้อนรับ ๑ ด้วยการเชื่อฟัง ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ ด้วยการเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การที่จะตอบแทนคุณของผู้มีพระคุณ คือ การเป็นคนดี น้อมประพฤติในสิ่งที่ดี ที่สำคัญที่สุดที่จะเกื้อกูลได้เป็นอย่างดี คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะความดีงามทัั้งหมด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยประการทั้งปวง ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความเข้าใจพระธรรมก็จะกล่อมเกลาจิตใจ ให้ได้น้อมประพฤติในสิ่่งที่ถูกที่ควร มีความกตัญญูกตเวทีต่อมารดาบิดา ครูอาจารย์ เป็นต้น เพราะการได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะควร ก็จะไม่เป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่ไม่ได้ทำ ย่อมเดือดร้อนเสียใจ ในภายหลังอย่างแน่นอนเพราะละเลยสิ่งที่สำคัญที่ควรกระทำไป เพราะฉะนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีทุกเมือที่บุตรธิดาจะได้กระทำสิ่งที่ดีต่อท่าน เพราะความกตัญญูกตเวที บัณฑิตทั้งหลายได้ประพฤติกันมาแล้ว และไม่ใช่จำกัดเฉพาะมารดาบิดาเท่านั้น เมื่อได้รับความอุปการะจากใครก็ควรจได้ระลึกถึงคุณและตอบแทนบุญคุณของผู้นั้น ด้วยการกระทำในสิ่งที่ดีที่ถูก ตอบแทน ดังข้อความจากชาดกที่ได้ยกมาในตอนท้าย นี้ ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านชาดกดังกล่าวได้ที่นี่ครับ

บูชาผู้มีคุณ [ขุททกนิกาย ชาดก ติรีตีวัจฉชาดก]

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
hetingsong
วันที่ 19 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ขอบพระคุณในความเกื้อกูล พระธรรมเพื่อ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจถูก จากท่านวิทยากรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
p.methanawingmai
วันที่ 19 ก.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tommy9
วันที่ 21 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 23 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ