ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา อาสาฬหบูชา 8 กรกฎาคม ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  20 ก.ค. 2560
หมายเลข  29014
อ่าน  1,902

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และ คณะวิทยากร ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา ที่อาคารมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซอยเจริญนคร ๗๘ ถนนเจริญนคร แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้าที่ 44
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนา

[๑๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคดีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ. การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑. การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้นนั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลายที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วย ปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน? ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยงชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณได้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

และเช่นกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เมื่อทางมูลนิธิฯจัดให้มีการสนทนาธรรมเนื่องในโอกาสวันสำคัญๆ ในทางพระพุทธศาสนา ก็จะมีท่านที่มีกุศลศรัทธาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการเจริญกุศลร่วมกับทางมูลนิธิฯในด้านต่างๆ เช่น การจัดดอกไม้เป็นพุทธบูชาหน้าที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตลอดจนการนำอาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม ไอศครีม จากร้านชื่อดังต่างๆ มาออกร้านให้บริการทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวันแก่ทุกๆ ท่านที่เดินทางมาร่วมฟังการสนทนาธรรม

ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอนมาบันทึกไว้ เพื่อทุกๆ ท่านได้รับประโยชน์จากการได้อ่านและพิจารณา เช่นเคย ดังนี้ครับ

อ.วิชัย ความสำคัญของพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และ สังฆรัตนะ ซึ่งพระสงฆ์ สาวกของพระผู้มีพระภาคฯ ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล จนถึงหลังพุทธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคฯ ผู้เป็นเถระ มีวาทะที่จะดำรงพระศาสนา ดังนั้น ความสำคัญของพระรัตนตรัยคืออย่างไรครับ ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ความสำคัญก็คือว่า จากโลกที่มืดสนิทเพราะความไม่รู้มานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ก็ปรากฏแสงสว่าง ซึ่งจะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ทางตา ทางหู หรือว่าจะมีการรู้ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปรากฏว่ามีอยู่ตลอดเวลา นานแสนนานไม่เคยขาดเลย แต่ไม่มีใครรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ!!

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี กำลังเผชิญหน้า แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสิ่งนั้นได้เลย ก็หลงยึดถือสิ่งที่ไม่มี แต่เข้าใจว่ามี คำพูดนี้ ก็เป็นแสงสว่างแล้ว!! ซึ่งจากที่มืดสนิท คิดว่ามีสิ่งที่มีอยู่ตลอดเวลา เป็น เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงว่า มีเพียง "เมื่อปรากฏ" ทุกคำเป็นคำจริง สามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏว่ามี "มีเมื่อปรากฏ" เท่านั้นเอง!! แต่ที่ไม่เคยคิด ไม่เคยเข้าใจมาก่อน ว่า เท่านั้น ... แล้วก็หายไป ... ไม่กลับมาอีกเลย ... ไม่มีอีกเลย!!

"แต่ละคำ" เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินนี้ ยากที่จะเห็นด้วย หรือว่าเห็นตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า แม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ยังคงปรากฏอยู่ แต่ ... ด้วยความไม่รู้ความจริง ของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ "เริ่มไตร่ตรองแต่ละคำ" ว่าที่ได้ฟังนี้ ถูกต้องไหม? สามารถที่จะเข้าใจได้ไหม? ว่าขณะนี้ แม้ "เห็น" ก็ไม่ใช่ "ได้ยิน" ไม่ใช่ "คิดนึก" แต่ละหนึ่งก็เป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่ามีเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ปรากฏ แล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

ถ้ามีความเข้าใจคำนี้มั่นคง ก็จะรู้ว่า ตั้งแต่เกิดมาในสังสารวัฏฏ์ นานแสนนานมาแล้ว ก็ไม่ได้เข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว หลงยึดถือสิ่งที่มี เหมือนสิ่งนั้นยังมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง เป็นผู้ที่เมื่อรู้ความจริงแล้วก็ปรากฏว่า โลกว่างเปล่า จากไม่มี ก็ปรากฏว่ามี แล้วก็หายไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก!!

"ไม่กลับมาอีก" หมายความว่าต้องว่างเปล่าแน่นอน!! เพราะเหตุว่า เพียงแค่ปรากฏ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น แม้แต่ แต่ละคำ ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ความจริง เมื่อเป็นความจริงซึ่งได้ยินได้ฟังแล้วต้องไตร่ตรองว่า สามารถที่จะ "รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ว่า พระองค์ได้ทรงประจักษ์แจ้งความจริงนี้ จึงได้ทรงแสดงความจริงนี้ ให้คนอื่นได้ "เริ่มเข้าใจ" มีแสงสว่างเกิดขึ้น ท่ามกลางความมืด ว่าขณะนี้เป็นอย่างนี้!!

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ พระมหากรุณาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์รู้แจ้งธรรมะโดยประการทั้งปวง แล้วก็ประกาศพระธรรม แสดงธรรมให้บุคคลได้รู้ตาม ได้เข้าใจตาม ดังนั้น ความที่เป็นรัตนะ โดยเฉพาะ สังฆรัตนะ ซึ่งก็เป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการที่จะดำรงพระศาสนา ซึ่งจากที่เราได้ศึกษาในพระไตรปิฎก ก็จะเห็นคุณของพระเถระต่างๆ ที่ดำรงพระศาสนาไว้ครับ ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ "แต่ละคำ" เป็นรัตนะหรือเปล่า? เห็นไหม? ถ้าไม่รู้ว่ามีค่าอย่างยิ่ง ก็เหมือนกับไก่ได้พลอย ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า แต่ละคำ เป็นรัตนะที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ ในชีวิต!! ถ้าได้ยินบ่อยๆ ทุกชาติ หมายความว่า มีความเข้าใจที่มั่นคงว่า เป็นคำจริง ซึ่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ด้วยพระมหากรุณา ก็ทรงแสดงพระธรรมความจริง ให้คนที่เริ่มเข้าใจ จนกระทั่ง ผู้ที่ได้สะสมความเข้าใจมาแล้วมากในครั้งก่อน ไม่เหมือนกับผู้เริ่มต้นได้ฟัง ผู้ที่ได้สะสมความเข้าใจมามาก ก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้จริง ตามคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสังฆรัตนะ

บุคคลนั้น จากการที่ไม่รู้ความจริงเลย มืด แต่จาก มืด มาสู่ ความสว่าง เพราะฉะนั้น ธาตุที่สามารถที่จะดับความเห็นผิด ซึ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ปรากฏตามความเป็นจริง แล้วก็สามารถที่จะมีปัญญาที่เห็นแจ้งความจริงอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ธาตุนั้นหรือบุคคลนั้น ก็เป็น "สังฆรัตนะ" เพราะเหตุว่า ไม่ถึงความเป็น "พุทธรัตนะ"

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ข้อความในรัตนสูตร มีข้อความบางส่วนว่า " พระอริยบุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระพุทธโคดม ประกอบดีแล้ว มีใจมั่นคง ปราศจากความอาลัย พระอริยบุคคลเหล่านั้น ถึงพระอรหันต์ที่ควรถึง หยั่งเข้าสู่พระนิพพาน ได้ความดับกิเลส เสวยผลอยู่ " ข้อความที่กล่าวถึง ความเป็นผู้ที่เป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคฯ แล้วเป็นผู้ที่มีใจที่มั่นคง คืออย่างไรครับท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ต้องทีละคำ จะได้ความซาบซึ้งมากกว่า จบไปแล้วเมื่อกี้นี้พูดว่าอะไร? จำได้ไหม? ตั้งแต่ต้น? แต่ถ้าได้เข้าใจจริงๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปจำคำ เพราะว่าความเข้าใจนั้นสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งสามารถที่จะทำให้เข้าใจในกาลอื่นได้ด้วย "ทีละคำ"

อ.วิชัย "พระอริยบุคคลเหล่าใดในศาสนาของพระพุทธโคดม ประกอบดีแล้ว" ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ เห็นไหม? "ประกอบดีแล้ว" แต่ละคำ เป็นคำที่จะต้องรู้ว่า มีความหมายที่ควรที่จะได้เข้าใจ ขอยกข้อความอื่น เช่นว่า พระภิกษุ-ผู้ขอ ไม่ใช่ขอธรรมดา แต่ว่า เป็นผู้ที่ "ทำความดี ในเพราะการขอ" แค่นี้ค่ะ รู้จักภิกษุไหม? "ทำความดี ในเพราะการขอ" ต้องรู้จนกระทั่งว่า "ความดีอะไร?" ไม่ใช่หยุดเพียงแค่ฟัง!!

ผู้ที่เป็นภิกษุคือผู้ที่กระทำความดี ในเพราะการขอ "ความดีอะไร?" เหมือนทุกคำที่เราได้ยิน ต้องลึกซึ้ง ความดีอย่างชาวบ้านหรือ? ความดีในการที่ช่วยเหลือคนอื่น ให้ทาน สร้างสิ่งสาธารณะเพื่อประโยชน์ เหมือนอย่างชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ? นั่น ... ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย!!

"ผู้ที่กระทำความดี ในเพราะการขอ" คือ ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมะ!!! มีความเข้าใจธรรมะ!!! อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลส ในเพศบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง ได้ยินคำนี้ ... "เป็นเพศที่สูงยิ่ง" ... ไม่ใช่อย่างชาวบ้าน!! อีกต่อไป!! เพราะว่า อุทิศชีวิตทั้งหมด เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ต้องมีการฟังพระธรรม ต้องมีความเข้าใจพระธรรม เพราะเหตุว่า ปัญญาต่างหาก!!! ที่นำไปสู่คุณความดีทั้งหลาย ซึ่งเป็นบารมี!!!

ทุกคนอยากดี ใช่ไหม? แล้วอย่างไรถึงจะดีได้? เห็นไหม? ไม่สามารถที่จะดีได้อย่างที่อยาก ถ้าไม่มีปัญญา แต่ถ้ามีปัญญาความเห็นถูกต้อง สิ่งใดเป็นโทษ "ปัญญาละ" สิ่งใดเป็นประโยชน์ "ปัญญาก็อบรมเจริญ" กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

เพราะฉะนั้น จากอกุศลซึ่งมีมาก ค่อยๆ ลดน้อยลง ตามกำลังของความเข้าใจที่ถูกต้อง!! กุศลทั้งหลายเพิ่มขึ้น อกุศลน้อยลง ก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมะ ซึ่งกำลังปรากฏได้!! เพราะว่าได้ขัดเกลากิเลสจากการที่เคยเกิดมากๆ ในขั้นไม่ได้เคยฟังเลย จนกระทั่งสามารถที่จะ ขณะใดที่ดีขึ้นอีก "กระทำความดี ในเพราะการขอ" เพราะเหตุว่า ไม่ใช่เฉพาะพระภิกษุเท่านั้น ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญา แต่ว่า แม้แต่คฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ฟังพระธรรม ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต แม้ไม่ขอ แต่ก็กระทำความดีได้!!!

เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นภิกษุ ยิ่งต้องกระทำความดี เพราะเป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่าคฤหัสถ์ จะทำความดีอย่างคฤหัสถ์ ไม่พอ!! นั่นคือความดีระดับขั้นของคฤหัสถ์ ถ้าเป็นความดีในขั้นของผู้ที่สละชีวิตคฤหัสถ์ ต้องทำความดี ซึ่งเหนือกว่าความดีของคฤหัสถ์ ต้องมีชีวิตซึ่งเป็นไปด้วยการศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด เป็นสิ่งซึ่งใครไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ หรือไปทำให้เกิดขึ้นได้ จะไปนั่งทำ ๑๕ วันที่นั่น ที่นี่ ไม่สามารถที่จะทำให้ปัญญาสามารถรู้ความจริงได้!!

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นภิกษุ-ทำความดีในเพราะการขอ ชาวบ้านเห็นภิกษุ เคารพในเพศที่สูงยิ่งพราะฉะนั้น จากการที่ได้รับความอุปถัมภ์ อนุเคราะห์ จากชาวบ้าน ให้ชีวิตดำเนินอยู่ เพราะเห็นความประเสริฐยิ่งของชีวิตพระภิกษุ ภิกษุนั้นต้องศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพ ไม่ใช่ด้วยความประมาท ไม่ใช่โดยการกล่าวพระธรรมตามธรรมดา ไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นความดีซึ่งสามารถที่จะเข้าถึงความลึกซึ้งของธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและบุคคลอื่นด้วย!!!

ด้วยเหตุนี้ แม้แต่คำธรรมดา "ทำความดี ในเพราะการขอ" ภิกษุต้องทำความดี ซึ่งเหนือความดีของคฤหัสถ์ มีการศึกษาพระธรรม มีการขัดเกลากิเลส มีการประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยการแสดงธรรมะที่ได้เข้าใจแล้ว กับบุคคลอื่นด้วย!!!

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ดังนั้น ความเป็นภิกษุต้องประพฤติคล้อยตามความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระองค์มีความประพฤติเช่นไร สาวกของพระผู้มีพระภาคฯก็มีความประพฤติเป็นไป ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ถ้าประพฤติตามพระธรรมวินัย ไม่มีใครรู้เลย ว่าใครเป็นพระอรหันต์ นั่นคือ สมณะเชื้อสายศากยบุตร ถ้าใครจะบวช ต้องเป็นอย่างนั้น!! ไม่ใช่ว่า บวชโดยไม่รู้อะไรเลย เพราะอยากบวชกันเป็นจำนวนมาก นี่ผิดแล้ว!! ไม่ตรงตามความประสงค์ ไม่ได้เคารพในพระธรรมวินัยว่า บวชทำไม ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจพระธรรม และไม่มีการขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็เป็นโทษ เป็นบาป!! ไม่ใช่เป็นบุญ!!!

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ แม้ข้อความสั้นๆ ว่า เป็นผู้ประกอบดีแล้ว ก็คือ เป็นผู้ที่ประพฤติเป็นไปที่ดีแล้ว และ "ความประพฤติที่เป็นไปที่ดีแล้วของความเป็นภิกษุ" เป็นอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญา ที่จะเข้าใจคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะศึกษาด้วยความเคารพ เข้าใจ รอบรู้ ในแต่ละคำ ที่ได้ฟัง ไม่ประมาทเลย ว่าคำนี้ไม่รู้ก็ได้ เหมือนเราสนทนาธรรม ก็อ่านไปเผินๆ แต่ถ้าเป็นพระภิกษุ จะเผินอย่างนี้ไม่ได้ ต้องรู้ที่ลึกซึ้ง ละเอียดกว่านี้ด้วย เพราะเหตุว่า ต้องเข้าใจว่า ธรรมะคือเดี๋ยวนี้!! ทุกอย่างเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น คำตอบสุดท้ายก็คือว่า การฟังธรรมะ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมะคือทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ไม่ใช่เรา!! ไม่ใช่ของเรา!! ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น!! จึงสามารถที่จะเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งของคำว่า "อนัตตา"

เพราะเหตุว่า ไม่เคยมีแสงสว่าง ที่จะทำให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา!! ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นของใครเลยทั้งสิ้น!! แต่ละหนึ่งที่ปรากฏ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชาหรือว่าปรุงแต่งให้เกิดขึ้นได้

อ.วิชัย ครับ ดังนั้น ความประพฤติที่เป็นไปที่ดี ก็คือ ต้องเป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นไปในการที่จะขัดเกลาความประพฤติที่ไม่ดี เนื่องจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
ท่านอาจารย์ คนดี ที่ไม่มีปัญญา ที่ไม่มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ก็ดีเพียงแค่ "เราดี" แต่ว่าดีที่สุดตามความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่เราเลย แต่ว่าเป็นธรรมะ!! เพราะฉะนั้น คำนี้เป็นคำที่ควรจะต้องเข้าใจว่า ฟังธรรมะเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรมะ จนกว่าจะรู้จักธรรมะ จนกว่าจะรู้แจ้งว่า ทั้งหมดเป็นธรรมะ!! ซึ่งเป็นอนัตตา!!

อ.วิชัย ข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง เป็นผู้ประพฤติความดีในเพราะการขอ ความดีตั้งแต่ แม้เบื้องต้นในความประพฤติเป็นไปในสิกขาบทต่างๆ จนถึงปัญญาที่จะดับอกุศลได้ครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ มีชีวิตดุจสังข์ขัด หอยสังข์ขาวไหม? แล้วยังขัดด้วย!! ให้พ้นจากกิเลส มลทินทั้งหลาย แม้แต่ฝุ่นละออง

อ.วิชัย แสดงว่าใจของภิกษุในธรรมวินัย ไม่มีความเยื่อใยในความเป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะว่าเป็นผู้ที่ประพฤติขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งครับท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ แล้วต้องมั่นคง "เถระ" เถระคือความมั่นคง มั่นคงในอะไร? ในความจริงซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่ศึกษาได้ไหม? ไม่รู้ธรรมะแล้วจะมั่นคงได้อย่างไร?

อ.วิชัย ท่านอาจารย์ครับ ดังนั้น แม้ข้อความในรัตนสูตร ที่กล่าวว่า อริยสาวกของพระผู้มีพระภาคฯเป็นผู้ที่มีใจมั่นคง คือ ความจริงที่มีในขณะนี้
ท่านอาจารย์ ต้องมั่นคงในความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คิดเอง!! ไม่ใช่เอาประโยคหนึ่ง ข้อความหนึ่ง แล้วก็พูดด้วยความเข้าใจของตัวเอง ทั้งต่อ ทั้งแต่ง ทั้งเติม ด้วยความคิดเห็นของตัวเอง แต่ว่าไม่ได้เข้าใจในความลึกซึ้งของธรรมะ ว่า ทุกคำเป็นปรมัตถธรรม เป็นความจริงซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเป็นอภิธรรมะด้วย เพราะเหตุว่า ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ใครสามารถจะประมาณได้ เช่น เดี๋ยวนี้ เหมือนไม่มีอะไรหายไปเลยสักอย่าง แต่ว่าความจริง แม้ "หนึ่งที่เกิด" มีปัจจัยแล้วดับทันที นี่คือความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ว่า สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา จนถึงความเป็น สังฆรัตนะ เป็นสาวก ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่มีความเคารพในพระรัตนตรัย

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ ถ้ากล่าวถึงความมั่นคง ถ้าเป็นภาษาบาลี ก็จะกล่าวถึงความเป็น "เถระ" เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า "เถรวาท" (เถ-ระ-วา-ทะ) วาทะ คือ คำกล่าวที่มั่นคงที่เป็นเถระ เป็นอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอย่างมั่นคง จะพูดผิดไหม?
อ.วิชัย ก็ไม่ผิดแน่นอนครับ
ท่านอาจารย์ จะพูดคำที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงไหม?
อ.วิชัย เป็นไปไม่ได้เลยครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่เป็นเถระ ก็คือ ผู้ที่มีความมั่นคงที่จะเข้าใจถูกต้อง อบรมเจริญปัญญา ตามพระธรรมวินัย
อ.วิชัย ดังนั้น คำพูดทั้งหมดของท่าน ก็เป็นสิ่งที่ท่านได้ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เป็นความเข้าใจ เป็นผู้ตรงต่อความจริง

ท่านอาจารย์ เป็นภิกษุ ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจธรรมะ ได้ไหม?
อ.วิชัย ไม่ได้เลยครับ
ท่านอาจารย์ เป็นเถระได้ไหม?
อ.วิชัย ก็ไม่ได้ เช่นเดียวกันครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นภิกษุ ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เป็นเถระได้ไหม?
อ.วิชัย ก็ไม่ได้เช่นเดียวกันครับ
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้!! เพราะฉะนั้น ความมั่นคง คือ เป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะเป็นภิกษุ ในเพศบรรพชิต ต้องศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลส โดยประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วย!!

[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 322

พระปัจฉิมวาจา

[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไป เป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
apiwit
วันที่ 21 ก.ค. 2560

สาธุ สาธุ สาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 21 ก.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม ที่ได้ถ่ายทอดความงามของพระธรรม

พร้อมภาพที่สวยงามค่ะ และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 22 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wirat.k
วันที่ 23 ก.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chvj
วันที่ 10 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ