ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  1 ส.ค. 2560
หมายเลข  29050
อ่าน  2,391

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา เพื่อไปสนทนาธรรมที่บ้านพักย่านถนนประดิพัทธิ์ สะพานควาย กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

ผู้ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะ ย่อมเป็นผู้ตรง กล่าวคือ ตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเข้าใจถูกต้องว่า ทุกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นธรรมะที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย และมีลักษณะเฉพาะของตน ของตน เช่น เห็น ไม่ใช่ ได้ยิน, คิด ไม่ใช่ เห็น จะเปลี่ยนคิดให้เป็นเห็น ไม่ได้ จะเปลี่ยน เห็นให้เป็นได้ยินก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนความชอบให้เป็นความชัง ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ทุกขณะเป็นธรรมะที่เกิดขึ้นแล้ว ตามเหตุตามปัจจัยแและดับไปแล้วอย่างรวดเร็วสุดที่จะประมาณ ทั้งยังเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ต้องการได้

นี้เป็นหัวใจสำคัญของการที่จะเข้าใจธรรมะได้ เพราะธรรมะเกิดขึ้นอย่างไร เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนโกรธที่เกิดขึ้นให้เป็นความรักได้ฉันใด ก็ไม่มีใครสามารถจะไปทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นได้ฉันนั้น คำกล่าวว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมะ ที่จะเข้าใจธรรมะได้ต้องเป็นผู้ตรง ก็ด้วยเหตุนี้ เพราะแม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม แต่มิได้ทรงสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมใดๆ ได้เลย เพราะทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา (ทั้งหมด ทั้งปวง ไม่เว้นเลย) และเพราะเหตุนี้เช่นกัน ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไว้ชัดเจนว่า "สำนักปฏิบัติ ทำลายพระพุทธศาสนา" เพราะถ้าเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมะและเป็นอนัตตา ย่อมไม่มีใครไปทำปฏิบัติใดๆ ได้เลย แต่เพราะอวิชชา ความไม่รู้ มีความเห็นผิด ไม่เข้าใจธรรมที่ทรงแสดง ว่ามีความละเอียดลึกซึ้งอย่างไร ก็พากันไปทำปฏิบัติกันอย่างมากมายในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ "หนทาง" เลยแน่นอน เมื่อเข้าใจผิด ย่อมคิดผิด ทำผิด ปฏิบัติผิด แล้วจะไปสู่ความออกจากทุกข์ สิ้นทุกข์ ตามที่ทรงแสดง ย่อมเป็นไปไม่ได้!!

บันทึก ณ กาลครั้งหนึ่งในครั้งนี้ จึงจะขออนุญาตนำความการสนทนาช่วงที่ท่านอาจารย์เมตตาให้ความละเอียดของคำว่า "เถรวาท" ซึ่งเป็นคำที่เราเคยได้ยินมานานแล้ว เช่น พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท หรือ แม้คำเปรียบเปรยว่า "เถรตรง" ซึ่งในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า "เถรตรง ความหมาย คือ ซื่อตรงจนเกินไป, ไม่มีไหวพริบ, ไม่รู้จักผ่อนสั้นยาว, ไม่รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา แต่ เถร หรือ เถ-ระ และ วาท หรือ วา-ทะ จะมีความหมายที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนาอย่างไร มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างไร เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง และจะเกี่ยวเนื่องด้วยกับคำที่ว่า ผู้ศึกษาธรรมะ ที่จะเข้าใจธรรมะได้ ต้องเป็น "ผู้ตรง" ด้วยหรือไม่? อย่างไร? ขอเชิญอ่านและพิจารณาได้ ตามที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไว้ดังนี้ครับ

คุณจักรกฤษณ์ ก่อนที่จะสนทนา ผมขอเริ่มที่ท่านอาจารย์ทิ้งท้ายไว้เมื่อตอนเช้าว่า "เถรวาท" (อ่านตามบาลีว่า เถ-ระ-วา-ทะ) "เถรวาท" สำคัญอย่างไรครับท่านอาจารย์ครับ คำนี้ สำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้างครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลึกซึ้ง ละเอียดอย่างยิ่ง ยากที่จะเข้าใจ และส่วนใหญ่ ความไม่รู้ ความเห็นผิด ทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น ก็ไม่เข้าใจคำสอนโดยลึกซึ้ง จึงทำให้ "มีความเห็นต่างจากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว"

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นเถระ ผู้ที่มั่นคง ก็จะศึกษาธรรมะด้วยความละเอียด แล้วก็ตรงต่อพระธรรมวินัย และผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ก็แสดงถึงความเป็นเถระของท่าน ว่าท่านมีความมั่นคงต่อคำที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง โดยที่ว่าไม่เปลี่ยนแปลง จึงสามารถที่จะทำให้เข้าใจธรรมะตรงตามที่เป็นธรรมะในขณะนั้น ถึงความเป็นพระอริยบุคคล

แต่ถ้า บุคคลใดก็ตาม ไม่ศึกษาธรรมะโดยละเอียด ไม่เข้าใจธรรมะจริงๆ "แต่ละหนึ่งคำ" มีทางที่จะเข้าใจผิดได้!! เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจคำนี้ พอฟังหลายๆ คำเข้า ความไม่เข้าใจก็เพิ่มขึ้น!! แต่ถ้ามีความเข้าใจอย่างมั่นคง มั่นคง ทีละคำ ก็คือ "รอบรู้ในคำนั้น" ก็จะทำให้สามารถมั่นคงยิ่งขึ้น จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ส่วนที่ไม่มั่นคง ก็มี "คำของตนเอง" ใช้คำว่า "อาจาริยวาท"

เพราะฉะนั้น ก็มีคำพูดของคนที่ไม่มั่นคง แตกต่างกันไป หลายนิกาย หลายหมวด หลายหมู่ ที่ทำให้มีผู้ที่ไม่ใช่เถรวาท ก็แตกแยกกันไปตามความคิดเห็นมากมาย

คุณจักรกฤษณ์ ท่านอาจารย์ครับ คำนี้ ก็มีในพระไตรปิฎก ต้องเป็นคำที่สำคัญมากๆ เพราะมิฉะนั้นก็คงจะไม่มีคำนี้เกิดขึ้น

ท่านอาจารย์ ค่ะ นพระไตรปิฎกก็มี ท่านพระอานนท์เถระ ท่านพระมหากัสสปะเถระ ก็แสดงถึงความเป็น "เถระ" ซึ่งโดย "คุณธรรม" ไม่ใช่โดย "การแต่งตั้ง" และในครั้งพุทธกาลก็ไม่มีเถรสมาคม เพราะว่าต่างคนก็มีความมั่นคงในคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็กล่าววาทะนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องมีการตั้งบุคคลขึ้นเป็นเถระ แล้วก็เป็นสมาคม เพื่อจุดประสงค์อะไร? เพราะว่าในครั้งนั้น ศึกษาธรรมะเพื่อเข้าใจธรรมะ ขัดเกลากิเลส และเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหนอย่างไร ก็มีพระธรรมวินัยเป็นที่เคารพเสมอกัน ไม่จำเป็นต้องมีหมู่คณะใดมาพิจารณาเหตุนั้นเหตุนี้ต่างหาก

แต่ว่า เนื่องด้วยพระธรรมลึกซึ้งมาก ก็จะมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษกว่าบุคคลอื่น จึงมีพระวินัยธร ผู้ทรงความรู้ในทางวินัย แม้วินัยก็ยังละเอียดมาก เพราะเหตุว่า พระวินัยทุกข้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเป็นผู้ที่ทรงบัญญัติขึ้น เพราะเหตุว่า ความลึกซึ้งของธรรมะแต่ละข้อ ทรงเห็นภัยของการที่จะไม่ทำตามพระวินัย เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นโทษที่จะนำมาซึ่งความเป็นภิกษุ

คุณจักรกฤษณ์ ครับท่านทราบว่าในอนาคตจะต้องมีสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ มีความประพฤติที่เป็นสาเหตุให้เห็นว่า ความประพฤตินั้นไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาให้เห็นพร้อมกันว่าเป็นโทษ ซึ่งจะประพฤติอย่างนั้นไม่ได้!! โดยการที่สงฆ์ทั้งหลาย เมื่อได้ฟังแล้ว ก็มีการพิจารณารู้ว่า สมควรที่จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น พระบัญญัติทุกข้อ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของสงฆ์ ของคณะภิกษุในครั้งนั้น ที่จะให้เป็นข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุในธรรมวินัย ที่จะอยู่กันอย่างผาสุข เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ทำตามพระวินัย ไม่ผาสุขแน่!! แต่ว่า ถ้าภิกษุทุกรูป ประพฤติตามพระวินัย ผาสุขค่ะ

คุณจักรกฤษณ์ กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ จากที่ทางท่านอาจารย์และทางมูลนิธิ ได้มีการเผยแพร่ในเรื่องคำว่า "เถรวาท" และเรื่อง "สำนักปฏิบัติ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา" ก็มีคนที่เขาเอาไปประกาศต่อๆ กัน ตอนนี้ก็รู้สึกว่าจะเป็นที่สนใจมากในแวดวงทางอินเตอร์เนทหรือทางเฟซบุ๊คครับท่านอาจารย์ครับ ก็จะมีคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นว่า เราในฐานะฆราวาส แล้วมาสนทนากันเกี่ยวกับภิกษุและเรื่องพระวินัย ในนั้นเขาบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องของภิกษุที่จะต้องดูแลในหมู่สงฆ์ ส่วนฆราวาสเรา ก็ศึกษาธรรมไปในส่วนของฆราวาส เราไม่ต้องไปติเตียน โพนทะนา หรือทำอะไรที่ไม่ดีเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ ตรงนี้ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์ นั่นเป็นความเห็นส่วนตัว!! เพราะไม่เข้าใจความหมายของพุทธบริษัท-หมู่ของผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ หมายความว่า ทั้งภิกษุและคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ จึงศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพ แล้วก็รู้ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรแก่พระภิกษุ!! ไม่ใช่ว่าพระภิกษุไม่ให้ศึกษา เพราะเหตุว่า วินัยก็เป็นธรรมะ ธรรมะก็เป็นวินัย แยกไม่ได้เลย

เพราะเหตุว่า ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง ทรงแสดงทั้งธรรมะฝ่ายดี ฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น วินัยก็กล่าวว่า ข้อใดควรและไม่ควรสำหรับพระภิกษุ เพราะเหตุใด และถ้าไม่มีความเข้าใจพระธรรม ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้!! เพราะเหตุว่า พระวินัยทุกข้อ เป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง ที่จะถึงความเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ได้ แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของเพศคฤหัสถ์กับบรรพชิต!!

พราะฉะนั้น ถ้าคฤหัสถ์ไม่รู้จักบรรพชิต ไม่รู้จักภิกษุ จะรู้ไหมว่าใครเดินมา? แต่งตัวอย่างนั้น เขาอยู่อย่างไร? แล้วเราสมควรที่จะอนุเคราะห์ให้เขามีชีวิตที่ประเสริฐต่อไป โดยการที่เขาไม่ต้องหุงหาอาหาร ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น สละชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหมด ไม่มีเงินและทอง และไม่ยินดีในเงินและทองด้วย!!! เพราะเหตุว่า สละแล้ว!! ถ้ายังคิดว่ามีประโยชน์ก็ไม่สละ ก็ไม่ต้องเป็นภิกษุ!! ก็สามารถจะศึกษาพระธรรมวินัยได้!!

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าคฤหัสถ์ไม่รู้จักภิกษุ พุทธบริษัททั้งหมด แม้แต่ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ที่เป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ จึงสละอาคารบ้านเรือน บวชเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้น เพศภิกษุ เป็นเพศเฉพาะของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่า คฤหัสถ์ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ไม่ต้องบวช!! ต่ว่า เมื่อบวชแล้ว การประพฤติปฏิบัติตามทั้งหมด แสดงถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างยิ่ง และเพื่อจุดประสงค์ของการที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ เพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จะรู้เลยว่า นั่นใครเดินมา!! ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักภิกษุ ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้ว่าเครื่องแต่งกายของคนอินเดียในครั้งโน้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เห็นใครเดินอยู่กลางทุ่งนา ไม่รู้เลยว่าหญิงหรือชาย เป็นภิกษุหรือเปล่า? แล้วใส่สีเหลืองด้วย บางคนก็อาจจะเข้าใจว่านั่นภิกษุรูปหนึ่งที่กลางทุ่งนาไกลๆ แต่ความจริงก็คือว่า เป็นเครื่องแต่งกาย ซึ่งคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เพศบรรพชิตก็มีเสื้อผ้า ที่เราใช้คำว่า จีวร จำกัดกว่าคฤหัสถ์ เครื่องประดับต่างๆ ก็ไม่มีเลย ถ้าคฤหัสถ์ใดไม่รู้จักธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะ จะรู้ไหมว่า นั่นภิกษุ? แต่ว่า เพราะรู้เลย มีบาตร คฤหัสถ์ไม่มี สำหรับทำอะไร? สำหรับให้ผู้ที่มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของการเป็นบรรพชิต ได้มีโอกาสอนุเคราะห์ ซึ่งการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ สิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์สักแค่ไหน!! ยิ่งกว่าใครคนอื่นใดทั้งสิ้น!!

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นบุคคลนั้น ก็มีศรัทธาที่จะถวาย สิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น อาหาร คิดดู!! ชาวบ้านเห็นคุณของภิกษุอย่างนี้!! แม้อาหารที่ถวายแก่ภิกษุ ก็เลิศ ดีกว่าที่ตนเองบริโภค ไม่ว่าใครทั้งนั้น!! เพราะเห็นคุณอย่างนี้ จึงสละให้ได้ แต่ถ้าภิกษุผู้รับ ไม่ได้ศึกษาธรรมะเลย ก่อนบวชก็ไม่รู้จัก ไม่ได้ฟังธรรมะ ไม่เข้าใจธรรมะ รู้ไหม? ว่าบวชเพราะอะไร? บวชเพราะไม่รู้!! ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ก็เป็นกิเลส!! และบวชแล้วก็ไม่ศึกษาธรรมะด้วย!! ไม่ประพฤติตามพระวินัยด้วย นั่นหรือคือภิกษุ? พระผู้มีพระภาคฯตรัสเรียกว่า มหาโจร!!

เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนธรรมดา ปล้นเขา ชิงเขา เอาของเขามา ใครๆ ก็เห็นพฤติกรรมอันนั้น ว่าเป็นโจร แต่นี่เป็นผู้ที่รับสิ่งของ ซึ่งเขาให้แก่ผู้ที่สมควร คือผู้ที่มีชีวิตที่ศึกษาพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลส แต่ไม่มีความประพฤติอย่างนั้น ก็เหมือนกับลักขโมยเอาของที่เขาให้คนอื่นคือผู้ที่มีคุณอย่างนั้น มาเป็นของตน ซึ่งไม่มีคุณอย่างนั้นเลย!!

ด้วยเหตุนี้ ในครั้งพุทธกาล คฤหัสถ์เห็นภิกษุใดไม่ประพฤติตามธรรมวินัย คฤหัสถ์เพ่งโทษ คนไม่รู้เพ่งได้ไหม? ที่จะกล่าวว่าคฤหัสถ์ไม่เกี่ยว คฤหัสถ์ก็อยู่ไป ไม่ต้องมาพูดเรื่องบรรพชิต นั่นผิด!! เพราะว่า พุทธบริษัททั้ง ๔ ต้องอาศัยกัน ถ้าภิกษุไม่มีคฤหัสถ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา จะได้อาหารจากใคร? ก็ได้ในฐานะขอทานจากคนอื่น!! ซึ่งไม่มีคุณความดี!!

แต่นี่ ภิกษุนั้นเอง เมื่อบวชแล้ว บิณฑบาตเป็นวัตร คิดดู!! ไม่ใช่เพียงเพื่ออาหารอย่างเดียว แต่เพื่ออนุเคราะห์คฤหัสถ์ เพื่อที่จะให้เขาได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต คือการสละสิ่งที่เป็นอาหารที่จะต้องเลี้ยงชีพแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าภิกษุไม่ทำตามพระวินัย ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า คฤหัสถ์เพ่งโทษ ติเตียน แสดงว่าต้องมีความรู้ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจ จะติเตียนได้ไหม? ว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง!! ทำไม่ได้!! ไม่เหมาะกับเพศบรรพชิต แล้วยังโพนทะนา คือ กระจายข่าวให้รู้ทั่วกัน ว่าการกระกระทำใด ไม่สมควรแก่บรรพชิต และภิกษุรูปใดทำอย่างนั้น ทำสิ่งที่ไม่สมควร!!

เพราะฉะนั้น พุทธบริษัททั้ง ๔ มีหน้าที่จะอนุเคราะห์กัน คฤหัสถ์รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เป็นผู้ตรง ว่าไม่สามารถจะมีชีวิต ขัดเกลากิเลสอย่างชีวิตของบรรพชิต ซึ่งสะอาดดุจสังข์ขัด สังข์ก็ขาวอยู่แล้ว แต่ว่ายังมีฝุ่นละอองได้ แปดเปื้อนได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตแต่ละวัน ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ ต้องขัดเกลากิเลส ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

คฤหัสถ์บริโภคอาหาร ธรรมดา บรรพชิต ก่อนบริโภค ต้องพิจารณาว่า บริโภคเพื่ออะไร? เห็นไหม? ชีวิตทุกขณะ ไม่ว่าจะลืมตา ไม่ว่าจะเดินไป ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งหมด ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ตนเองเป็นภิกษุ ต้องสำนึกเลยว่าตนเป็นภิกษุตลอด เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลส โดยการฟังพระธรรม ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ ไม่เห็นคุณของพระธรรม จะบวชหรือ? เพราะเห็นคุณของพระธรรม มิใช่หรือ? จึงสามารถสละชีวิตของคฤหัสถ์ แล้วก็บวชเป็นบรรพชิตได้ เมื่อบวชแล้วต้องฟังธรรมะ ใช่ไหม? เพื่อเข้าใจ แต่ถ้าบวชแล้วไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ศึกษาธรรมะ การบวชนั้น เพื่ออะไร?

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๑๒ " ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ทำให้เป็นเถระ ๔ ประการเหล่านี้ คือ พระเถระในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีศีล เป็นพหูสูต ได้ฌาน ๔ สิ้นอาสวะทั้งหลาย” [เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๖๕

บุคคล ไม่ชื่อว่าเป็นเถระ เพราะมีผมหงอกบนศีรษะ ผู้มีวัยแก่รอบแล้วนั้น เราเรียกว่า แก่เปล่า

(ส่วน) ผู้ใด มีสัจจะ (แทงตลอดสัจจะ) ธรรมะ อหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) สัญญมะ (ศีล) และทมะ (สำรวมอินทรีย์) ผู้นั้นแล ผู้มีมลทินอันคายแล้ว ผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า เป็นเถระ.

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๖๗

บทว่า เถร ได้แก่ ผู้ถึงภาวะความมั่นคง คือประกอบด้วยคุณ เครื่องกระทำความเป็นเถระ
ภิกษุเหล่าใดย่อมนำสงฆ์ คือ เป็นหัวหน้าให้ภิกษุทั้งหลายประพฤติในสิกขา ๓ เพราะเหตุนั้น พระเถระเหล่านั้น ชื่อว่า สังฆปริณายก (ผู้นำสงฆ์) .

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๒๘

“คนเป็นอันมาก อันผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม คนลามกเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงนรก เพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย, ก้อนเหล็กร้อน เปรียบด้วยเปลวไฟ อันผู้ทุศีลบริโภคแล้ว ยังประเสริฐกว่า, ผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณจักรกฤษณ์ คุณชฎาพร เจนเจษฎา
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
phawinee
วันที่ 2 ส.ค. 2560

ขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
napachant
วันที่ 2 ส.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 2 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
worrasak
วันที่ 6 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เมตตา
วันที่ 6 ส.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 6 ส.ค. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chvj
วันที่ 10 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ