การทำสมาธิ

 
samatong
วันที่  15 ส.ค. 2560
หมายเลข  29075
อ่าน  1,581

พอดีผมได้ปฏิบัติสมาธิมาสองเดือนกว่าได้ จนจิตดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ค่อยฟุ้งซ่าน หากอยู่ในชีวิตประจำวันก็จะกำหนดรู้ธรรมไป เพื่อฝึกสติ พอดีวันนี้เอนตัวลงนอนกะว่าจะทำสมาธิในท่านอน จิตจำสภาวะได้ว่าขณะเราหลับตาลงในท่านอนนั่น มันรู้สึกว่างโล่งเพราะยังไม่คิดเรื่องอะไร พอจำสภาวะนั้นได้จึงกำหนดว่าจะทำสมาธิแบบโล่งๆ แบบนี้เลยทำไปเรื่อยๆ จิตก็นิ่งดีมากจนรู้สึกว่าได้ยินเสียงหายใจตัวเองแรงขึ้นคล้ายจะโกน ตอนนั้นรู้สึกเหมือนร่างกายหลับอยู่เพราะเสียงหายใจเหมือนจะโกนเล็กๆ ก็รู้เลยว่าร่างกายคงจะหลับ แต่ทำไมผมยังมีสติรู้อยู่ จึงสงสัยนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 ส.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า สมาธิ ว่าสมาธิ คือ อะไร? สมาธิเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมหนึ่งที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้น ดังนั้น ทุกขณะมีสมาธิเกิดแน่นอน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นความถูกต้อง ในขณะที่เป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ

และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการ อยากจะสงบ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความสงบ เป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญา ความสงบจึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติโดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูกและอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วย ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นพ่อค้า และ เป็นอริยสาวก และ อบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะ ความสงบ คือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวันเพราะจิตที่ดีสงบ ไม่ได้เลือก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสมาธิ ในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มี สองอย่าง คือ สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึง จะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิ แต่เป็นความตั้งมั่น ขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็น สมาธิที่ควรเจริญ

ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่ง ไม่ทำให้เกิดปัญญาความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดกับอกุศลจิต มี โลภะ และโมหะ เป็นต้น คือ มีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมิจฉาสมาธิว่าไม่ควรเจริญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 ส.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าตั้งต้นที่การไปทำอะไร นั่น ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง แต่ควรตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ แม้กระทั่ง สมาธิ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ต้องทำก็มีอยู่ทุกขณะจิต เพราะเหตุว่าเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งคือ เอกัคคตาเจตสิก ที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่มีเว้น ถ้ามีการไปนั่งสมาธิ ด้วยความเห็นว่า จะเป็นทางให้บรรลุธรรม ขณะนั้นเป็นไปกับความหวังความต้องการ เป็นอกุศล เมื่อเป็นอกุศลแล้วจะบรรลุธรรมได้อย่างไร และเป็นมิจฉาสมาธิ ด้วย มีแต่จะพอกพูนอกุศลให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากพระธรรม เป็นเรื่องละ ไม่ใช่ความติดข้องต้องการ

เพราะนั้นแล้ว หนทางที่ควรดำเนิน คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อความเข้าใจเจริญขึ้น ก็เป็นเครื่องปรุงแต่งให้มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งขณะนั้น สมาธิ ก็มีด้วย แต่เป็นสมาธิที่เป็นไปพร้อมกับสติปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง เป็นสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นโดยชอบ ไม่ใช่ด้วยการทำ ไม่ใช่ด้วยการจดจ้องต้องการ แต่เป็นความเจริญขึ้นของความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นแล้ว ประเด็นที่ควรพิจารณา คือ แทนที่จะไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ก็ควรที่จะได้มาสู่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง คือ การฟังพระธรรม ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
p.methanawingmai
วันที่ 16 ส.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
samatong
วันที่ 16 ส.ค. 2560

อ้อ ขอบคุณมากครับผม

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 17 ส.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 20 ส.ค. 2560

การศึกษาธรรมทำให้มีหลักคิดที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอนว่าถูกต้อง เพราะเป็นปัญญาตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ความจริง ไม่ใช่ความคิดของเราเองหรือของคนอื่นที่บอกเรา ซึ่งเราและเขายังไม่ได้ตรัสรู้ความจริง และเมื่อศึกษาไปตามลำดับจะพบว่ามีความเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม ก็จะมีแต่ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือถ้ามีคนอื่นบอกแล้วสอดคล้องกับพื้นฐานความคิดของเรา เราก็จะคล้อยตามได้ง่าย, ดิฉันคิดว่าสำหรับผู้ที่เป็นสาวก นั้นต้องมีการศึกษาพระธรรมและค่อยๆ รู้ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องอาศัยกาลเวลานานมาก บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่สะสมความรู้ไปเรื่อยๆ และมีการขัดเกลาละคลายกิเลสไปเองเรื่อยๆ คล้อยตามความรู้ความเข้าใจถูกที่มากขึ้น แต่การทำแบบไม่รู้จะเป็นการสะสมความไม่รู้ไปเรื่อยๆ และมีแต่ความติดข้องต้องการ เพราะถ้าทำในสิ่งที่ผิดตลอดชีวิต ก็สะสมความเห็นผิด ความติดข้อง และความไม่รู้ไปตลอดชีวิตซึ่งอันตรายมาก ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
tuijin
วันที่ 20 ส.ค. 2560

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
tuijin
วันที่ 20 ส.ค. 2560

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Mayura
วันที่ 31 ส.ค. 2560

อนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ประสาน
วันที่ 3 ก.ย. 2560

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ย. 2560

ส่วนมากคนที่ทำสมาธิเพราะต้องการให้จิตสงบ และไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไรทำด้วยความไม่รู้ ก็ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ มีแต่สะสมความเห็นผิดมากขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 20 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ