ต้องอาบัติสังฆาทิเสส

 
Kittipot
วันที่  10 ก.ย. 2560
หมายเลข  29160
อ่าน  1,045

อยากทราบว่าการปลงอาบัตินี่เป็นการ เป็นการแสดงอาบัติสังฆาทิเสสไหมครับ หรือว่าเราต้องบอกกับพระภิษุท่านอื่นว่าเราต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้ออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 20 ก.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อาบัติสังฆาทิเสส แม้จะเป็นอาบัติหนัก แต่ก็เป็นอาบัติที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย ซึ่งการประพฤติที่จะทำให้พ้นจากอาบัติดังกล่าวได้เรียกตามพระวินัยว่า "ประพฤติวุฏฐานวิธี" หรือ การอยู่กรรม ซึ่งจะต้องอาศัยสงฆ์เป็นหลัก (อาบัติสังฆาทิเสส ไม่สามารถพ้นได้ด้วยการแสดงอาบัติ แต่ต้องประพฤติวุฏฐานวิธีเท่านั้น) เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ไม่ควรปกปิดไว้ ต้องบอกแก่พระภิกษุด้วยกันว่า ตนเองต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะถ้าปกปิดไว้กี่วัน หรือเป็นเดือน เป็นปี ก็ต้องอยู่ปริวาสตามวันที่ตนเองได้ปกปิดอาบัติไว้

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุเมื่อต้องอาบัติแล้ว ก็จะต้องกระทำคืนแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย เห็นโทษ พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะไม่ล่วงละเมิดอีก เพื่อให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้นๆ เพราะถ้าไม่แก้ไข ยังเป็นผู้มีอาบัติอยู่ย่อมเป็นเครื่องกั้นสวรรค์ กั้นการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ถ้ามรณภาพลงในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า [แต่ถ้าได้ลาสิกขา (คือ สึกไป) เป็นคฤหัสถ์ โดยที่ยังไม่ได้อยู่ปริวาสกรรม ก็ไม่มีอาบัติติดตัวอีกต่อไป เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว] ก็ขอให้พระคุณเจ้าได้สอบถามกับพระอุปัชฌาย์อาจารย์ว่า มีการอยู่ปริวาสกรรมที่ไหนบ้างเพื่อจะได้ไปอยู่ปริวาสกรรม ซึ่งจะทำให้พ้นจากอาบัติดังกล่าวได้ ครับ

เมื่อบวชแล้วการมีโอกาสได้ศึกษาในส่วนของพระวินัยบัญญัติพร้อมทั้งมีการสอบถามข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ได้เข้าใจถึง สิ่งที่ถูก กับสิ่งที่ผิด ซึ่งจะทำให้เราได้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องและงดเว้นไม่กระทำในสิ่งที่ผิด และที่สำคัญจะต้องรู้ถึงจุดประสงค์ของการบวชด้วยว่า เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 2 พ.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ