ประวัติสูรอัมพัฏฐอุบาสก
พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๗๕
อรรถกถาสูตรที่ ๘
๘. ประวัติสูรอัมพัฏฐอุบาสก
ในสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้. ด้วยบทว่า อเวจฺจปฺสนฺนานํ ท่านแสดงว่า ปุรพันธเศรษฐี อุบาสก [บาลีว่า สูรอัมพัฏฐะ] เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกอริยสาวกผู้ เลื่อมใสไม่หวั่นไหว.
ดังได้สดับมา อุบาสกผู้นี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี ฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็น พระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสกผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่า พวกอุบาสกผู้เลื่อมใสไม่หวั่นไหว ทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนา ตำแหน่งนั้น. เขาเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในพุทธุปบาทกาลนี้บังเกิดในสกุลเศรษฐี. พวกญาติได้ขนานนามว่า ปุรพันธะ. ต่อ มาเขาเจริญวัย ดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย เป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์.
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นเหตุแห่ง โสดาปัตติมรรคของเขา จึงเสด็จไปถึงประตูนิเวศน์ในเวลาเที่ยวแสวงหา อาหาร. เขาเห็นพระทศพล จึงคิดว่า พระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุล ใหญ่และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก ด้วยเหตุนั้น การไม่ไป สำนักของพระสมณโคดมนั้น ไม่สมควร. เขาจึงไปสู่สำนักพระศาสดา กราบที่พระยุคลบาท รับบาตรแล้วอาราธนาให้เสด็จเข้าไปเรือน ให้ ประทับนั่งบนบัลลังก์มีค่ามากถวายภิกษา เมื่อเสร็จภัตกิจ จึงนั่ง ณ ที่ สมควรส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาทรงแสดงธรรมตามอำนาจจริยาของเขา. จบเทศนาเขาก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. แม้พระศาสดาทรงฝึกเขาแล้ว ก็เสด็จไปพระเชตวันวิหาร.
ลำดับนั้น มารคิดว่า ชื่อว่าปุรพันธะนี้เป็น สมบัติของเรา แต่พระศาสดาเสด็จไปเรือนเขาวันนี้ ได้ทรงทำให้มรรคปรากฏ เพราะฟังธรรมของพระศาสดาหรือหนอ เพียงที่เราจะรู้ว่า เขา พ้นจากวิสัยของเราหรือยังไม่พ้น จึงเนรมิตรูปละม้ายพระทศพล ทั้งทรง จีวร ทั้งทรงบาตร เสด็จดำเนินโดยอากัปกิริยาของพระพุทธเจ้าทีเดียว ทรงพระลักษณะ ๓๒ ประการ ได้ประทับยืนใกล้ประตูเรือนของปุรพันธอุบาสก. แม้ปุรพันธอุบาสก ฟังว่า พระทศพลเสด็จมาอีกแล้ว ก็คิด ว่า ธรรมดาการเสด็จไปชนิดไม่แน่นอนของพระพุทธะทั้งหลายไม่มีเลย เหตุไรหนอจึงเสด็จมา ดังนี้ แล้วจึงรีบเข้าไปสู่สำนักพระพุทธองค์ด้วย สำคัญว่าพระทศพล กราบแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วในเรือนของข้าพระองค์ ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงเสด็จมาอีก. มารกล่าวว่า ดูก่อนปุรพันธะ เราเมื่อกล่าวธรรมไม่ทันพิจารณาแล้วกล่าวคำไปข้อหนึ่ง มีอยู่ แท้จริง เรากล่าวไปว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่ทั้งหมดเห็นปานนั้น ด้วยว่า ขันธ์ บางจำพวก ที่เทียง มั่นคง ยั่งยืน มีอยู่.
ทีนั้น ปุรพันธอุบาสกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนัก อย่างยิ่ง ด้วยธรรมดาว่า พระพุทธะทั้งหลาย ตรัสเป็นคำสองไม่มี. จึง คิดใคร่ครวญว่า ขึ้นชื่อว่ามารเป็นข้าศึกของพระทศพล ผู้นี้ต้องเป็นมาร แน่ จึงกล่าวว่า ท่านเป็นมารหรือ. ถ้อยคำที่พระอริยสาวกกล่าวได้เป็น หนึ่งเอาขวานฟันมารนั้น. เพราะเหตุนั้น มารจะดำรงอยู่โดยภาวะของตน ไม่ได้ จึงกล่าวว่า ใช่ละ ปุรพันธะ เราเป็นมาร. ปุรพันธอุบาสกจึง ชี้นิ้วกล่าวว่า มารตั้ง ๑๐๐ ตั้ง ๑,๐๐๐ ก็มาทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหว ไม่ได้ดอก. พระทศพลมหาโคดม เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ก็ทรง แสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง.
ท่านอย่ายืนใกล้ประตู เรือนของเรานะ มารฟังคำของปุรพันธอุบาสกนั้นแล้ว ก็ถอยกรูดไม่อาจ พูดจา อันตรธานไปในที่นั้นนั่งเอง. แม้ปุรพันธอุบาสก เวลาเย็นก็เข้า ไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลกิริยาที่มารทำแล้วทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มารพยายามทำศรัทธาของข้าพระองค์ให้หวั่นไหว. พระศาสดาทรงทำเหตุนั้นนั่นแลให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาปุรพันธอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้เลื่อมใส ไม่ หวั่นไหว แล
จบอรรถกถาสูตรที่ ๘