ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ร้านอาหารบ้านไม้ขาว ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  2 ต.ค. 2560
หมายเลข  29219
อ่าน  3,394

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคาร ที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะวิทยากรของมูลนิธิฯ อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ ได้รับเชิญจากคุณวรจินต์ เอมแย้ม คุณสุวรรณา ศิวะโกเศศ คุณชยุดา คุณสมศักดิ์ ศุภทรัพย์ และคุณมาลี ตัณฑวนิช เพื่อไปสนทนาธรรมที่ ร้านอาหารบ้านไม้ขาว ปากซอยรามคำแหง ๑๘๗ ถนนรามคำแหง กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น.

การสนทนาธรรมที่ร้านอาหารบ้านไม้ขาวในวันนี้ เดิมทีท่านเจ้าภาพได้กำหนดจำนวนผู้ที่จะเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการสนทนาไว้ที่ประมาณ ๑๐๐ ท่าน แต่ในที่สุดจำนวนผู้ที่ได้รับเชิญเพื่อเข้าร่วมฟังการสนทนามีจำนวนทั้งสิ้นถึงราว ๑๓๐ ท่าน ซึ่งทางร้านบ้านไม้ขาวได้ขึ้นป้ายแจ้งแก่ลูกค้าของทางร้านว่า ปิดการบริการในช่วงเช้าถึงบ่ายสี่โมงเย็น เพื่อการสนทนาธรรม ซึ่งทางท่านเจ้าภาพมีการเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้ที่เข้าร่วมฟังการสนทนาด้วย

บรรยากาศของร้านมีความโปร่งโล่ง มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เขียวขจี ตัดกับสีขาวของตัวร้าน ภายในมีการตบแต่งที่เรียบง่าย ดูสดชื่น สบายตา น่านั่ง ไม่อึดอัดเลย สังเกตุจำนวนโต๊ะอาหาร และจำนวนพนักงาน เดาได้ว่าเป็นร้านที่ขึ้นชื่อของบริเวณนี้แน่นอน อาหารของทางร้านที่เน้นไปทางสเต๊กและสปาเก็ตตี้ มีขาหมูเยอรมัน ไส้กรอก และอื่นๆ รวมถึงอาหารไทย จีน ก็มีให้บริการ เสียดายที่ข้าพเจ้าต้องรีบเดินทางไปมูลนิธิฯในตอนบ่าย เพื่อไปรอบันทึกภาพและเข้าร่วมฟังการเดินทางมาของ เจ้าหน้าที่จากสถานีวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 11 เข้าเยี่ยมชมและร่วมหารือกับทาง มศพ. ๑๒ ก.ย. ๒๕๖๐ เพื่อการปรับปรุงรายการบ้านธัมมะ ตามข่าวซึ่งได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ได้รับประทานอาหารไม่ครบรายการที่ท่านเจ้าภาพกรุณาสั่งมาให้ทุกๆ ท่านรับประทานในมื้อกลางวัน

แต่เพียงแค่ไม่กี่จานที่ได้รับประทาน ก็รู้ว่าอาหารร้านนี้มีรสชาติอร่อยใช้ได้เลยครับ โดยเฉพาะขาหมูเยอรมัน ที่ไม่ได้รับประทานมานาน อร่อย ชุ่มคอ ชื่นใจดีมาก (555) กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาป้าแต๋ว พี่ตุ้ม และท่านเจ้าภาพทุกท่านครับ คราวหน้าถ้ามีการจัดสนทนาธรรมที่นี่อีก หวังว่าจะได้รับประทานแบบเต็มๆ ตามรายการ บวกกับกาแฟสดที่ทางร้านมีบริการสักแก้วหนึ่ง เพื่อความสดชื่นระหว่างการฟังการสนทนาในภาคบ่าย ตามสูตรมาตรฐานของสหายธรรมชาว มศพ. นะครับ

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาในช่วงเช้า ซึ่งเป็นช่วงของการสนทนาระหว่างคุณชยุดา กับท่านอาจารย์ และวิทยากร ในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น เรื่องของความหมายของบุญ และบาป ว่าคืออย่างไร น่าสนใจมากครับ เพราะเหตุว่า ทุกท่านพูดถึงคำว่าบุญ คำว่าบาป มาตั้งแต่เกิด แต่จริงๆ แล้ว บุญและบาป คืออะไร? มีความหมายและความละเอียดลึกซึ้งอย่างไรแน่ ทุกท่านสามารถติดตามได้ดังต่อไปนี้ครับ

คุณชยุดา กราบเท้าท่านอาจารย์และท่านวิทยากรทั้งสองท่านค่ะ ขอกราบเรียนถามว่า ชาวพุทธทำบุญโดยการใส่บาตร แล้วก็ถวายสิ่งของกับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมที่ทราบๆ กันของชาวพุทธว่านี่คือการทำบุญ แต่เท่าที่ทราบหลังจากที่ฟังธรรม การทำบุญโดยการฟังธรรมก็เป็นบุญ จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การฟังธรรมได้บุญอย่างไร? และชาวพุทธควรที่จะศึกษาธรรมเพราะอะไร?

ท่านอาจารย์ คงไม่ลืมว่า ถ้าจะเข้าใจธรรมะ ต้องเข้าใจ "ทีละคำ" พอเข้าใจแล้ว ปัญญาที่เข้าใจก็จะตอบปัญหาได้ เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่า คำแรกคืออะไร? ต้องทีละคำ "ชาวพุทธ" ก่อน ดีไหม?
คุณชยุดา ชาวพุทธคือผู้ที่นับถือพุทธศาสนา
ท่านอาจารย์ ค่ะ "นับถือ" หมายความว่าอะไร?
คุณชยุดา ความเข้าใจของคนทั่วไปก็คือมีทะเบียน (บ้าน) ขึ้นทะเบียนเป็นชาวพุทธโดยกำเนิด

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ จะเป็นชาวพุทธไหม?
คุณชยุดา คนทั่วไปไม่ทราบข้อนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ คนทั่วไปไม่ทราบ จึงต้องมีการศึกษาธรรมะ เพื่อที่จะให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่อย่างนั้นคำถามเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องอะไรสารพัดเรื่อง ใช่ไหม แต่ยังไม่ "รู้แต่ละคำ" เพราะฉะนั้น การที่จะพูดว่าเป็นชาวพุทธ ก็ต้องรู้ว่า "ชาวพุทธ" คือ ใคร? ถ้าไม่ศึกษา ไม่เข้าใจพระธรรมเลย จะเป็นชาวพุทธได้ไหม?
คุณชยุดา ไม่ได้ค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ตัดคำนี้ออกไปได้เลย ชาวพุทธจะเป็นชาวพุทธ ต่อเมื่อได้เข้าใจธรรมะ ได้ศึกษาธรรมะ จึงจะเป็นชาวพุทธได้ ถ้าไม่เข้าใจธรรมะแล้วจะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร? ก็เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ เหมือนเรียกตัวเองว่าคนไทย ชาวไทย ชาวพุทธ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ ไม่มีทางที่จะเป็นชาวพุทธได้เลย!! เพราะเหตุว่า ต้องเข้าใจก่อน จึงจะรู้ว่านับถือพระพุทธศาสนา จึงเป็นชาวพุทธ นับถือไม่ใช่บอกว่านับถือ!! แต่ต้องเข้าใจคำสอนที่ถูกต้องด้วย!!

เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะตอบปัญหาความคิดของคน ซึ่งไม่ได้เข้าใจธรรมะเลย แม้ว่าเขาเป็นชาวพุทธหรือเปล่า แต่เขาต้องการเพียง "คำตอบ" เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ชาวพุทธถ้าไม่ได้เข้าใจธรรมะ ตอนนี้รู้จักชาวพุทธแล้วนะคะ

คุณชยุดา ต่อไปอยากเข้าใจคำว่า "บุญ" ค่ะ "บุญ" เป็นอย่างไรคะ?
อ.ธีรพันธ์ "บุญ" เป็นสภาพธรรมะที่ชำระจิต ชำระสันดาน การเกิดดับสืบต่อที่เป็นไปกับอกุศล ชำระให้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ เพราะขณะใดที่บุญเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่ดีงาม คือ ชำระสิ่งที่เป็นอกุศล ไม่มีความติดข้อง ไม่มีความโกรธในขณะนั้น หรือ แม้กระทั่งว่าไม่มีแม้ความไม่รู้ในขณะนั้น และบุญก็มีหลายประการ บุญที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี แต่ทั้งหมดเป็นสภาพธรรมะที่ดีงามทั้งหมด ถ้าไม่รู้จักคำว่าบุญก็จะเป็นชาวพุทธไม่ได้เลย

อ.กุลวิไล "บุญ" เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ทุกคนคงเคยได้ยิน "กุศลธรรม" ก็ไม่พ้นสภาพธรรมะที่ดีงามนั่นเอง และเหตุที่ดีก็ต้องให้ผลที่ดี สภาพธรรมะที่ดีที่ชำระจิตจากอกุศลธรรม ขณะใดที่จิตเป็นบุญขณะนั้นไม่ติดข้อง ไม่ขุ่นเคืองใจ และถ้ามีปัญญาที่เห็นถูกในธรรมะตามความเป็นจริง บุญจึงเป็นสภาพธรรมะที่ดีงามนั่นเอง และที่สำคัญ ให้ผลที่ดีด้วย เพราะฉะนั้น บุญมีอยู่แล้ว แต่ข้อสำคัญคือ รู้จักบุญหรือเปล่า? เมื่อไม่รู้ จะเข้าใจบาปเป็นบุญค่ะ

ท่านอาจารย์ ทีละคำอีกเหมือนกัน คำว่า "บุญ" มาจากภาษาบาลีว่า "ปุญญ" หมายความถึง "สภาพที่ชำระจิต" แสดงว่าจิตเป็นอย่างไร? จึงต้อง "ชำระ" แสดงว่าต้องไม่สะอาด ถ้าสะอาดแล้ว ก็ไม่ต้องชำระ ใช่ไหม? เพราะฉะนั้น ไม่สะอาดเพราะอะไร? อยู่ดีๆ จะบอกว่าจิตไม่สะอาด "เพราะไม่รู้" นำมาซึ่งสภาพธรรมะที่ไม่ดีงามทั้งหมดซึ่งเป็น "บาป", "ปาป" อ่านตามบาลีว่า ปา-ปะ, บาป เป็นสภาพธรรมะที่ตรงกันข้ามกับบุญ

การศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ไปรู้ที่อื่น แต่รู้ที่ "สิ่งที่มี" เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ความจริง จึงได้มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะไม่เข้าใจอะไรเลย!!

ด้วยเหตุนี้ มีคำว่า "บุญ" กับ "บาป" ถ้าปุญญหรือบุญเป็นสภาพธรรมะที่ชำระจิต ก็หมายความว่าจิตเป็นอกุศลด้วยความไม่รู้ นำมาซึ่งบาป (อกุศล) ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เช้ามานี้ เป็นบุญหรือเป็นบาป? เห็นไหม? ไม่ใช่ให้เราไปเรียน "เรื่องราว" แต่ให้เข้าใจสิ่งที่เคยยึดถือว่า "เป็นเรา" มานานแสนนาน ให้เข้าใจถูกต้องว่า แม้บุญไม่ใช่เรา แม้บาปก็ไม่ใช่เรา แต่บุญก็มี บาปก็มี เป็นธรรมะที่ตรงกันข้ามกัน "เป็นธรรมะ" หมายความว่า เป็นสิ่งที่มี เกิดขึ้น ไม่ใช่เรา ก่อนอื่นต่องรู้ว่า ทุกคำที่ใช้คำว่า "ธรรมะ" ไม่ใช่เรา!! แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

เพราะฉะนั้น บุญอยู่ไหน? ก็อยู่ที่จิต บาปอยู่ที่ไหน? ก็อยู่ที่จิต เมื่อเช้านี้มีจิตไหม? มี บุญหรือบาป? เรียนธรรมะต้องเป็นคนที่ตรง จึงจะได้สาระ ตั้งแต่เช้ามา บุญหรือบาป? ถ้าขณะใดไม่เป็นสภาพธรรมะที่ดีงาม ขณะนั้นก็บาป ตื่นขึ้นมา บุญหรือบาป? แค่ตื่น ไม่รู้แล้ว ใช่ไหม? ก็บาปแล้ว!! ชำระล้างร่างกาย แต่งตัว รับประทานอาหาร สนทนา รื่นเริง บุญหรือบาป?

คุณชยุดา บาปทั้งนั้นค่ะ
ท่านอาจารย์ บาปอีกแล้ว!! เยอะมากเลย บุญขณะที่เข้าใจธรรมะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ฟังธรรมะ เข้าใจธรรมะ ขณะนั้นกำลังชำระบาปคือความไม่รู้ความไม่เข้าใจ!!

เพราะฉะนั้น ก็มีธรรมะสองอย่าง บุญกับบาป และ ผู้ที่ศึกษาธรรมะ ไม่ใช่ไปรู้คนอื่น!! แต่ว่า จิตขณะนี้ยากที่จะรู้ได้ แต่ถ้าไม่รู้จิตขณะนี้ ก็ได้แต่พูดเรื่องบุญและบาป โดยไม่รู้จัก "ตัวบุญ" และ "ตัวบาป" ที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น การฟังธรรมะเพื่อประโยชน์ที่จะได้เข้าใจให้ถูกต้องว่า บุญบาปอยู่ที่จิต แต่ละหนึ่งจิต แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะมีสภาพธรรมะที่ดีงามเกิดร่วมด้วย หรือว่า มีสภาพธรรมะที่ไม่ดีงามเกิดร่วมด้วย แต่ทั้งหมดเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา!!!

การฟังธรรมะ เพื่อให้ถึงความเป็นจริงว่า "ธรรมะเป็นธรรมะไม่ใช่เรา" บุญก็เป็นธรรมะ บาปก็เป็นธรรมะ และจิตที่มีบุญเกิดมาก กับจิตที่มีบุญเกิดน้อย กับจิตที่มีบาปเกิดมาก กับจิตที่มีบาปเกิดน้อย ก็ต้องต่างกัน จะเป็นประเภทไหน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้ว่า อะไรถูกอะไรควร พอจะรู้ได้ใช่ไหม? รู้จักบุญบาปแล้ว

คุณชยุดา ได้ค่ะ แต่คนทั่วไปก็มักจะคิดว่าบุญกับบาป บุญก็คือละเว้น ถือศีล ๕ อะไรอย่างนี้ ได้บุญ จะรู้เพียงแค่นี้ว่า ถือศีล ๕ ได้บุญ ก็คือละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการลักทรัพย์ ละเว้นการผิดลูกผิดเมีย หรือว่าละเว้นการพูดปด และละเว้นการดื่มสุรา ก็ถือว่าละเว้นพวกนี้ก็ได้บุญแล้วค่ะ

ท่านอาจารย์ ก็มีคำว่า "ได้บุญ" แต่ไม่รู้ว่า "เป็นบุญ" แต่คิดว่า "ได้บุญ" เพราะฉะนั้น การเว้นการฆ่าสัตว์ต่างๆ ที่กล่าวถึง ๕ ข้อ มีทั่วไปในโลกหรือเปล่า?
คุณชยุดา มีค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ชาวพุทธใช่ไหม? ถ้ายังคิดว่า "เป็นเรา" แต่ถ้าตราบใดที่เข้าใจถูกต้องว่า "ไม่ใช่เราแต่เป็นธรรมะที่มีจริง" นั่นเริ่มเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้น ชาวพุทธไม่ใช่จะเป็นง่ายๆ โดยการเรียกชื่อ หรือโดยเพียงแค่เข้าใจว่า ใครรักษาศีล คนนั้นเป็นชาวพุทธหรือ? ก็ไม่ใช่!! เพราะว่า ศีลทั้งหลายที่เป็นการงดเว้นการฆ่าสัตว์ก็มีทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทั่ว ไม่ว่าคนไทยหรือไม่ใช่คนไทย นับถือศาสนาอะไรก็ตามแต่ ธรรมะเป็นธรรมะ

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นเรา ขณะนั้นก็ยังไม่ได้เข้าใจ ยังไม่ได้รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าแท้ที่จริงแล้ว ทรงแสดงธรรมะคือสิ่งที่มีจริงว่า ไม่ใช่ใคร แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า "ชาวพุทธ" อย่าใช้พร่ำเพื่อ แต่ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ชาวพุทธคือผู้ที่เข้าใจธรรมะ ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ จะเป็นชาวพุทธได้อย่างไร? เพราะแค่มีศีล คนอื่นก็มีศีลได้ ไม่ใช่ว่าคนมีศีลทุกคนเป็นชาวพุทธ!!

คุณชยุดา ดังนั้นแสดงว่า คนที่อ้างตัวว่าเป็นชาวพุทธนี้ ยังไม่รู้จักธรรมะ แล้วธรรมะคืออะไรคะ?
ท่านอาจารย์ ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง ถ้าไม่มี จะรู้อะไร? ก็ไม่มีอะไรจะรู้ แต่ทั้งๆ ที่มี ก็ไม่รู้ใช่ไหม? เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ก็ไม่รู้!! เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้!!

คุณชยุดา พวกเราก็อาจจะรู้บ้าง แต่ว่าบางคนที่ยังไม่เคยฟัง ก็จะไม่รู้จักคำว่า "ธรรมะ" ไม่รู้จักคำว่า "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ไม่รู้ว่าท่านเทศนาสั่งสอนอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องฟัง ถึงจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเข้าใจถูกต้องว่า ทุกคำที่ได้ฟัง มาจากการที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงว่า เดี๋ยวนี้!! มีสิ่งที่มีจริง ซึ่งใครก็ไม่รู้!! เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจผิด ยึดถือสิ่งที่มีจริงว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ยั่งยืน

เพราะฉะนั้น คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่ทรงตรัสรู้ คือ แต่ละสิ่งที่ปรากฏ ต้องเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่สามารถที่จะกลับมาอีกได้เลยในสังสารวัฏฏ์ จึงไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ธรรมะที่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ดับไป!!

การฟังธรรมะต้องละเอียด และเป็นประโยชน์ ที่รู้ว่า อีกไกลไหม? จะรู้จักธรรมะที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริง!! ไม่ใช่รีบร้อน!! แต่ละคำ แต่ละเรื่อง อยากจะรู้ แต่ไม่เข้าใจว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรมะ!!

เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรมะเป็นบุญไหม? เป็นเราหรือเปล่า? บุญนั้นเป็นเราหรือเปล่า? หรือเป็นธรรมะ? ทุกอย่างเป็นธรรมะ!! ถ้าศึกษาธรรมะ ต้องเข้าใจคำนี้ก่อน!! ทุกอย่างที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของตน ของตน ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า "ธรรมะ"

ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ จะศึกษาธรรมะแล้วเข้าใจไหม? ก็เข้าใจ "ตัวตน" คิดว่า "เป็นเราเข้าใจ" อย่างนั้น อย่างนี้ แต่ยิ่งศึกษาธรรมะ ก็ยิ่งรู้ว่า "เป็นธรรมะทั้งหมด ไม่ใช่เรา" นั่นคือศึกษาธรรมะ!!!

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 288

[๒๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งทิฏฐิ ๖ ประการเหล่านั้น ๖ ประการเป็นไฉน ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยะทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั้นโลก นั้นอัตตาในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาจักตั้งอยู่ เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยาสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ

ย่อมพิจารณาเห็นรูปว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นสัญญาว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่นนั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่า นั่นไม่ใช่ของเราเราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่น รส โผฐัพพะที่ทราบแล้ว อารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
ย่อมพิจารณาเห็นเหตุแห่งทิฏฐิว่า นั่นโลก นั่นตน ในปรโลก เรานั้นจักเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน คงที่ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่เสมอด้วยความเที่ยงอย่างนั้นว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา
พระอริยสาวกนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่สะดุ้ง ในเพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่.

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณวรจินต์ เอมแย้ม คุณสุวรรณา ศิวะโกเศศ คุณชยุดา คุณสมศักดิ์ ศุภทรัพย์ และคุณมาลี ตัณฑวนิช
และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wirat.k
วันที่ 3 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 7 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
p.methanawingmai
วันที่ 9 ต.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chvj
วันที่ 17 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ