ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๐

 
khampan.a
วันที่  8 ต.ค. 2560
หมายเลข  29234
อ่าน  2,244

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๐

~ ใครก็ตามเมื่อกระทำบาปไปแล้ว เพราะไม่รู้ และคงยังไม่รู้ต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำบาปนั้นต่อไป ซึ่งย่อมนำทุกข์มาให้ การที่ทุกข์จะเกิดขึ้นก็ต้องมาจากสิ่งที่ไม่ดี คือ บาป ตราบใดที่ยังไม่รู้จักบาป ก็ยังจะต้องมีบาปเพิ่มขึ้น

~ ถ้ารู้ว่า ไม่ใช่เราจริงๆ จะมีความติดข้องไหม เมื่อความติดข้องในความเป็นเราน้อยลง การแสวงหาขวนขวายเพื่อความเป็นเราในทางทุจริตก็น้อยลง ก็มีความสุจริตเพิ่มขึ้นตามลำดับ

~ มีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดบ่อยมาก ถ้ากุศลไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า มีหนทางหนึ่งที่จะให้อกุศลไม่เกิด คือ ขณะนั้นเป็นกุศล

~ ต้องขัดเกลาตนเอง กล่อมเกลาตนเอง จึงมีสิ่งที่สามารถจะให้คนอื่นได้ คือ (ให้) ความถูกต้อง ถ้ายังคงมีความไม่รู้แล้วจะให้คนอื่นเขารู้ได้อย่างไร

~ ผู้ใหญ่อยากให้เด็กเข้าใจธรรม คิดดู จะสำเร็จไหม แล้วตัวเองล่ะ แล้วจะให้เด็กเข้าใจธรรมจากใคร จากเด็กด้วยกันหรือ หรือว่าจากใคร เด็กจะเข้าใจได้จากไหน เพราะฉะนั้น กลับกันหมดเลย ที่ถูกควรจะเป็นผู้ใหญ่นั่นแหละที่ควรจะได้เข้าใจธรรม เพราะสามารถที่จะทำให้เด็กและผู้ใหญ่อื่นๆ เข้าใจได้

~ ไม่ประมาทที่จะสะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะใครจะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรประมาทเลยตราบใดที่เกิดเป็นผู้ที่สามารถที่จะกระทำกุศลได้

~ ธรรมไม่ใช่ไปคอยเมื่อไหร่ แต่ฟังเดี๋ยวนี้ เข้าใจเดี๋ยวนี้ ความเข้าใจนั้น กำลังเริ่มที่จะขัดเกลาความไม่รู้และความเป็นตัวตน แต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่รู้ในสังสารวัฏฏ์

~ ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้ ก็ยังมีเหตุปัจจัยให้มีบาปต่อไป

~ รักตัว จึงทำบาปทุกอย่าง เพราะหวังว่า จะเป็นสุขจากการที่ทำบาปนั้นๆ ทำบาปโดยการที่ว่าจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาโดยทางทุจริตทางกาย ทางวาจา โดยที่ไม่รู้ว่านั่นเป็นเหตุที่จะนำทุกข์มาให้, ไม่สามารถที่จะบริสุทธิ์ ได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องมีกิเลสเกิดขึ้นจนกว่าจะชำระจิตให้บริสุทธิ์

~ ถ้าสะสมความดี ความดีก็มีกำลัง ขณะที่จะกระทำทุจริต ความดีก็ยังสามารถที่จะเกิดได้ ตามกำลังของการสะสม แต่ถ้าความดีน้อย ก็ต้องเป็นไปตามอกุศล เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อย

~ ฟังพระธรรม จนกว่าปัญญาจะนำไปในกุศลทั้งปวง

~ ความเจริญจริงๆ นั้น ไม่ใช่ความเจริญทางด้านวัตถุ ถ้าคนที่มีความเจริญทางด้านวัตถุมาก แต่มีกิเลสมาก จะไม่ใช้คำว่าอารยะ หรือ อริยะ (ผู้ประเสริฐ) เพราะฉะนั้นผู้ประเสริฐจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละคลายอกุศล แล้วก็มีความเจริญทางด้านจิตใจ จนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล คือ ผู้เจริญในธรรมจริงๆ

~ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ถ้าไม่รีบร้อน แล้วก็รู้ว่า กิเลสมีเยอะ แล้วก็จะต้องอาศัยศรัทธาการที่จะต้องฟังธรรมต่อไป แล้วก็เป็นผู้ที่จะขัดเกลา คือเริ่มมีความเห็นถูก แล้วก็ตั้งตนไว้ถูกในจุดประสงค์ของการฟังว่า เพื่อขัดเกลากิเลส ก็จะมีความใกล้ชิดต่อพระศาสนา เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่แท้จริง

~ ผู้ที่จะเห็นพระคุณของพระธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่เริ่มศึกษาพระธรรม

~ ผู้ที่ไม่โกรธ คือ พระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าท่านดับอนุสัยกิเลส คือ ปฏิฆานุสัย (กิเลสที่ละเอียด นอนเนื่องอยู่ในจิต คือ โทสะ) ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นแม้พระอริยบุคคล เรื่องโกรธเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ว่าอย่าผูกโกรธ เรื่องไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบการกระทำหรือคำพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียด เพราะเหตุว่านั่นเป็นความลึกของกิเลสซึ่งสะสมมากทีเดียวที่แสดงออก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้ลักษณะอาการของอกุศลขั้นต่างๆ นั้นปรากฏ ก็ย่อมจะไม่รู้จักตัวเองว่า มีอกุศลมากมายหนาแน่นแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่ายาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมจะอภัย และยังพอใจที่ยังโกรธอยู่ เป็นผู้ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก

~ โกรธ แล้วก็ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้นเมื่อคิดผูกโกรธอีก ก็แสดงให้เห็นว่ายังเป็นคนว่ายากที่ยังไม่เห็นโทษของความโกรธ

~ ตราบใดที่ยังมีอกุศลธรรมอยู่ ก็จะต้องเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะละอกุศลธรรมนั้น

~ ผู้ที่ฉลาดย่อมเป็นผู้หากุศลของคนอื่นเพื่อที่จะอนุโมทนา และหาโทษของตนเองเพื่อที่จะได้ขัดเกลา แต่ถ้าตรงกันข้าม หากุศลของตนเองและหาโทษของคนอื่น ขณะที่หาโทษของคนอื่น อกุศลจิตก็เกิด และขณะที่หากุศลของตนเอง ก็อาจจะเกิดความทะนงตนหรือความสำคัญตนก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าโดยนัยกลับกัน เป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ หาโทษของตนเองว่ามีโทษอะไรบ้าง ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ แต่ตนเองเท่านั้นที่อาจจะรู้ดี และในขณะเดียวกัน ถ้ามีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นก็หากุศลของคนอื่นที่จะอนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ เพราะเหตุว่าอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น และเห็นโทษของตนเองว่าเป็นโทษ และก็จะได้ขัดเกลาละคลายโทษนั้นยิ่งขึ้น

~ การที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่เข้าใจพระธรรมหรือไม่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา แต่แม้กระนั้น ในขณะที่ฟังพระธรรมจะดำรงพระสัทธรรมไว้ได้อย่างไร ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมที่ได้ฟัง


~ ขณะใดที่เป็นกุศลเกิดขึ้น ไม่โกรธ หรือว่าไม่มีความคิดในทางที่ไม่ดีต่างๆ ขณะนั้นก็ให้ทราบว่า เป็นโยนิโสมนสิการ (ใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย) เคยไหม? ที่กำลังจะโกรธ แล้วก็นึกขึ้นได้ นึกถึงพระธรรม นึกถึงความไม่มีประโยชน์ของความโกรธ ขณะนั้นให้ทราบว่า ที่ไม่โกรธนั้นเป็นกุศลจิตและเป็นโยนิโสมนสิการ แต่ว่าขณะใดที่กำลังจะโกรธ แล้วก็ยังโกรธ ระลึกเท่าไรก็ยังโกรธ ก็ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ (ไม่ใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย) ไม่มีใครจะไปบังคับ หรือไปทำโยนิโสมนสิการได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าความโกรธไม่ดี แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดโกรธขึ้น ความโกรธที่เกิดนั้นก็เพราะอโยนิโสมนสิการ

~ เวลาที่กล่าวว่าใครดีใครชั่ว เพราะอะไร? เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะเหตุว่า กายก็ดี วาจาก็ดี ตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม? ไม่ได้

~ ถ้าใครกล้าพูดว่าสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นสิ่งที่เล็กน้อย คนฟังรู้สึกอย่างไร ถ้ามีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คิดว่าคำที่พระองค์ตรัส เล็กน้อยได้อย่างไร เพราะเป็นคำของพระองค์แล้วตรัสด้วยพระปัญญาที่ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นโทษของสิ่งนั้น (ซึ่งเป็นสิ่งผิด) และมีพระมหากรุณาที่จะให้บุคคลที่เป็นพระภิกษุได้รู้จักด้วยว่าการเป็นพระภิกษุเป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสซึ่งต้องด้วยความเข้าใจพระธรรม

~ พระพุทธศาสนา ทำไมไม่ห่วง คำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะได้ตรัสรู้ ต้องบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) นานเท่าไหร่ เพื่อเรา แล้วทำไมถึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยหรือกล้าที่จะบอกว่าไม่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

~ ก็ต้องช่วยกันให้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยความเป็นมิตรหรือความอดทนด้วยความเพียรด้วยความเมตตาทุกอย่างที่เป็นกุศล เพราะหวังดีใช่ไหมทุกคำที่เป็นคำจริงจริงพูดให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นโทษอย่างยิ่งเพราะถ้าบวชโดยไม่เข้าใจพระธรรมวินัย โดยเฉพาะบวชแบบโจรหาที่กำบังที่จะทำทุจริต

~ คำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าใครเปลี่ยน หรือคิดจะแก้ไข ผู้นั้นเป็นผู้ไม่เคารพในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความบริสุทธิ์อย่างไร? เพราะนำไปสู่การดับกิเลส, หนทางเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การดับกิเลส คืออย่างไร? ฟังพระธรรมให้เข้าใจ

~ ชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละคนก็รู้ได้เลยว่า แสวงหาไปหมด ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็แสวงหาสิ่งที่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อมีโอกาสได้สะสมศรัทธาสภาพที่ผ่องใสจากอกุศลที่จะรู้ความจริง เข้าใจความจริง ก็มีการได้ยินได้ฟังพระธรรม การแสวงหาความเข้าใจพระธรรม ก็เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ในชีวิตของแต่ละคนตามความเป็นจริงก็เป็นปัญญาที่สามารถรู้ถูกว่า ขณะไหนแสวงหาสิ่งไม่เป็นสาระเลย กับขณะไหนที่แสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่สามารถชำระจิตได้ เพราะคนอื่นชำระจิตใครก็ไม่ได้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เหมือนยารักษาโรค เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องชำระจิตใจได้

~ ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นใดทั้งสิ้น จะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ สิ่งที่สะสมอยู่ในจิต คือ ความเข้าใจ ก็จะติดตามไปด้วย

~ ใครๆ ก็ทำลายพระพุทธศาสนาไม่ได้ นอกจากคนที่อ้างตนเองว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๑๙

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
j.jim
วันที่ 8 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 8 ต.ค. 2560

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มกร
วันที่ 8 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
สิริพรรณ
วันที่ 8 ต.ค. 2560

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณด้วยความเคารพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 8 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
siraya
วันที่ 9 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 9 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 9 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
p.methanawingmai
วันที่ 9 ต.ค. 2560

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 10 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
มังกรทอง
วันที่ 3 พ.ย. 2564

ไม่ประมาทที่จะสะสมกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะใครจะรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น กุศลแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรประมาทเลยตราบใดที่เกิดเป็นผู้ที่สามารถที่จะกระทำกุศลได้

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ