ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๒
~ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจความจริง เนื่องจากมีความจริง แต่เมื่อยังไม่เคยฟังพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ธรรมนั้น คืออะไร คิดไม่ออก จึงต้องเริ่มที่การฟังในขณะนี้
~ ถ้าไม่เริ่มเป็นผู้ว่าง่าย ขัดเกลากิเลสเสียตั้งแต่ในขณะนี้ นับวันก็จะว่ายาก ดังนั้น ถ้าเริ่มอ่อนโยน เป็นผู้ที่ว่าง่าย น้อมที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยง่าย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ง่ายต่อการที่จะเจริญกุศล
~ ความสงบที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นความสงบที่เกิดจากสงบจากกิเลส สงบจากอวิชชาที่ไม่รู้ สงบจากความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะใดที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ขณะนั้นสงบ
~ สาวกที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมไม่ขาดธรรม ทั้งในขณะที่ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือแม้ธรรมปฏิสันถาร (ต้อนรับด้วยธรรม) ข้อสำคัญก็คือว่า ควรจะเป็นธรรมจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงพร้อมทั้งเหตุผลในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เป็นการคิดหรือคาดคะเนเอาเอง
~ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทำให้คนโง่ ไม่ได้เพิ่มอวิชชา แต่ทำให้สิ่งที่ไม่รู้ ค่อยๆ ละคลายด้วยความเข้าใจ จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริง และสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสแล้ว ทุกคำ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ รู้ได้ มิฉะนั้น ไม่ทรงแสดง
~ การคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นก็สำคัญ โดยมากจะคิดถึงประโยชน์ของตัวเองแต่ถ้าเพื่อเขา ทำได้ไหม ถ้าทำได้เพิ่มขึ้น ขณะนั้นก็รู้ถึงการที่ว่าเป็นบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) เพราะว่าได้มีความเข้าใจว่า ถ้ายังคงเป็นคนไม่ดีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ และก็ยังพอใจในความไม่ดีนั้นเสียด้วย ก็ยังคงมีความไม่ดีนั้นต่อไป
~ ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะก่อให้เกิดอกุศลเพิ่มขึ้นลุกลามมากมาย ก็หยุดเสีย เขาหยุดไม่ได้ เราหยุดได้ไหม? เห็นไหม บารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) หรือเปล่า จากสิ่งที่เคยทำไม่ได้ เป็นทำได้ทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มขึ้น
~ การเป็นภิกษุ เปลี่ยนเพศจากคฤหัสถ์สู่อีกเพศหนึ่ง ซึ่งประกาศตน เป็นผู้ที่มั่นคงที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ จะเป็นภิกษุทำไม ใครก็ตามที่เป็นภิกษุ ก็คือ ต้องเห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่า จะขัดเกลากิเลสไม่ได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีความเข้าใจ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จึงประสงค์ที่จะดำเนินชีวิตจากเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต
~ ใจสงบเท่าไหร่ กาย วาจา ก็สงบเท่านั้น มีความเข้าใจธรรมเท่าไหร่ ใจก็สงบเท่านั้น เมื่อใจสงบ กาย วาจาซึ่งเกิดจากใจที่สงบ ก็สงบ
~ การกระทำ ดี เมื่อไหร่ เป็นเวลาดีเมื่อนั้น
~ เพราะพระธรรม จึงทำให้เห็นโทษของอกุศล เมื่อเห็นโทษแล้ว ปัญญาหรือเราเห็นโทษ (ก็ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษ) เมื่อปัญญารู้ว่าอะไรไม่ดีแล้ว ปัญญาจะทำสิ่งนั้นไหม?
~ ต้องกุศลเท่านั้นที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศลด้วยปัญญาที่รู้ความจริงขึ้น เห็นโทษของอกุศล อกุศลไม่ใช่ให้โทษแก่คนอื่น แต่ให้โทษกับตนเอง ตัวใครก็ตัวใคร จิตใครก็จิตใคร อกุศลของใครก็อกุศลของคนนั้น กุศลของใครก็กุศลของคนนั้น เพราะฉะนั้น กำลังเป็นอกุศลให้โทษกับใคร? ให้โทษกับบุคคลนั้น แล้วดีไหมมีโทษเพิ่มขึ้น? ไม่ดี ถ้าปัญญาไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีทางขัดเกลาอกุศลได้เลย
~ เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ที่จะละคลายกิเลสเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปจริงๆ แม้แต่ในขั้นของความเข้าใจ ถ้าจะตามฟังพระธรรมอยู่เรื่อยๆ พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากตอนต้นนี้มาก แต่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย โดยที่ไม่มีกำหนดรู้ได้ว่า เพิ่มขึ้นมากในตอนไหน แต่จะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปเรื่อยๆ
~ อนุโมทนาอย่างยิ่งที่ท่านสามารถจะทิ้งความเห็นผิดความเข้าใจผิดแต่ก่อนนี้ได้ ไม่หลงผิดด้วยอำนาจความยินดี ความปรารถนา หรือความต้องการ เพราะเหตุว่าถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น ย่อมเห็นว่าสิ่งใดเหมาะ และสิ่งใดควร และข้อปฏิบัติใดจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ยาว แต่เริ่มต้นหรือตั้งต้นและดำเนินไปเรื่อยๆ ในหนทางที่ถูก ก็ดีกว่าไปติดอยู่ในหนทางที่ผิด ซึ่งไม่มีโอกาสจะทิ้งและหันมาสู่หนทางที่ถูกได้
~ บวชเพื่ออะไร? เพื่อเรียนโหราศาสตร์ ดูหมอ ลงเลขยันต์หรือ? เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พระภิกษุทำไม่ได้
~ พระภิกษุที่ประพฤติตามพระธรรมวินัย ก็เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย
~ พระภิกษุต้องไม่ลืมว่าตนเองเป็นพระภิกษุ ตั้งแต่ตื่น จำไว้เลย ไม่ใช่คฤหัสถ์อีกต่อไป จำไว้ว่าเป็นพระภิกษุ เพราะฉะนั้น ทุกขณะ พระภิกษุต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส การประพฤติปฏิบัติตามเป็นการนอบน้อมเคารพในพระบรมศาสดาอย่างยิ่ง ตรงตามที่บวช เพราะว่าต้องการที่จะได้มีความเข้าใจถูกต้อง ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต
~ พระภิกษุคือใคร ไม่ใช่เพียงนุ่งห่มต่างจากคฤหัสถ์ แต่ทั้งหมดของความประพฤติต้องเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส ด้วยการศึกษาพระธรรม
~ ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีทางที่จะเป็นพระภิกษุได้เลย เพราะเหตุว่าพระภิกษุเป็นผู้เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์
~ ใครเป็นผู้ทรงบัญญัติพระวินัย? พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระมหากรุณาให้เข้าใจถูกต้องว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วจะไม่ตำหนิในสิ่งที่ผิดหรือ?
~ ถ้าสามารถทำให้เขาเข้าใจถูก และเป็นคนดีขึ้น อย่างนี้จะเป็นการว่าร้ายหรือเปล่า? ไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้น ประโยชน์ ก็คือ ให้ทุกคนได้เข้าใจถูก เพราะความเข้าใจถูกเท่านั้นที่จะทำให้กิเลสค่อยๆ ลดน้อยลง
~ เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ไม่ว่าใครที่ไหน ก็ไม่มีใครชอบความหลอกลวง
~ ฟังธรรมฟังบ่อยๆ เพื่อเข้าใจเท่านั้นเอง สาระที่ได้ฟัง ไม่ว่าจะจากพระสูตรใด ในข้อความใดในพระไตรปิฎกทั้งหมด ในแต่ละครั้ง แม้จะเล็กน้อยแต่ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อเข้าใจ
~ บวชนานแต่ไม่ดีเลย ก็มีได้ เช่นหลอกลวง เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่า ยิ่งเป็นเถระแล้ว แล้วหลอกลวงแสดงว่า หลอกลวงมานานเท่าไหร่
~ ตัวเองรู้ไหมว่า ถูกลวง ถ้ามีความเคารพเลื่อมใสในผู้ที่ไม่ควรเคารพเลื่อมใสเลย
~ ฟังเรื่องของพระภิกษุแล้ว เบื่อเหลือเกิน พูดมากนักเรื่องภิกษุทำไม่ดี หรือว่า เป็นประโยชน์จริงๆ ที่ทำให้คนอื่นสามารถที่จะเข้าใจถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวที่มีความเข้าใจแล้วไม่คิดถึงคนอื่นเลยว่าเขาจะเข้าใจผิดถูกอย่างไรก็ปล่อยเขาไป ทั้งที่เขาไม่รู้ ก็ไม่ทำไม่ทำให้รู้ขึ้นแล้วประเทศชาติจะเป็นอย่างไร เต็มไปด้วยความไม่รู้และการกระทำที่ผิดทั้งหมด เพราะฉะนั้นการพูดสิ่งที่ถูกต้อง บ่อยๆ จะควรเบื่อไหม เพราะเป็นประโยชน์ให้คนที่ไม่รู้ทั้งหมดเลยที่เกี่ยวกับพระภิกษุได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นความเป็นมิตรหวังดีอย่างยิ่ง ซึ่งทำสิ่งที่คนอื่นเข้าใจยาก ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้มาก่อนเลยได้มีความเห็นถูกเข้าใจถูก เพื่อชีวิตของเขาต่อไปก็จะได้ไม่หลงผิด หลงเชื่อหรือว่าศรัทธาในบุคคลซึ่งไม่ควรอย่างยิ่งที่จะศรัทธา
~ คุณความดีแม้เล็กน้อยนิดเดียว ใครๆ ก็ชื่นชม
~ ฟังคำไหน เข้าใจคำนั้น เพราะประโยชน์สูงสุด คือ ก่อนฟัง ไม่สามารถที่จะพูดคำที่รู้จักได้ แต่ว่าพอได้ฟังบ่อยๆ ก็เข้าใจขึ้น เราก็รู้ว่าคำไหนเป็นคำที่ผิด คำไหนที่พูดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
~ ถ้าคนนั้นบวชนานแต่ประพฤติไม่ดี แล้วไปเคารพกราบไหว้ บอกว่า พระภิกษุรูปนี้ ดีมาก พูดอย่างนี้เป็นคนตรงหรือเปล่า ก็ไม่ตรง เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องและเป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่เป็นตรง ก็ไม่รู้จักคุณความดี
~ เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย จึงมีสิ่งที่ผิดอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้น หนทางหนึ่ง (ที่สำคัญ) ก็คือให้เห็นประโยชน์ เห็นคุณของพระธรรม และให้ศึกษาทั้งพระธรรมและพระวินัยด้วย
~ คงจะไม่ท้อถอยทั้งผู้ฟังและผู้พูดธรรมด้วย เพราะเหตุที่ว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และประโยชน์นี้ก็คงจะเพิ่มยิ่งขึ้น เพราะมีผู้ที่เข้าใจตั้งแต่ต้น
~ ความไม่รู้ทำให้ต้องการมีภิกษุที่ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัยเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา
~ ทุกชาติ ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐเท่ากับการได้เข้าใจความจริง
~ ต้องเป็นผู้ตรงเสมอ จึงจะสามารถละกิเลสได้.
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...