การอาราธนาศีล

 
ora_5523
วันที่  23 ต.ค. 2560
หมายเลข  29261
อ่าน  16,997

ข้าพเจ้าเคยเห็นในหนังสือสวดมนต์ อาราธนาศีล ๕ ที่มีหมายเหตุว่า ถ้าสวดคนเดียวให้เปลี่ยนคำว่า มะยัง ภันเต เป็น อะหัง ภันเต และคำว่า ยาจามะ เป็น ยาจามิ ข้าพเจ้าจึงไม่เข้าใจ อยากให้ท่านช่วยชี้แนะด้วยว่าเราควรสวดแบบไหน ให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน ทั้งคนเดียวและหลายคน

ขอบคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ต.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ามีคำว่า ศีลต่อด้วย คือ อาราธนาศีล ก็คือ กล่าวเชื้อเชิญให้พระภิกษุให้ศีล ส่วนคำว่า สมาทาน นั้น เป็นการถือเอาด้วยดี เป็นข้อปฏิบัติ แม้จะไม่ได้กล่าวเป็นคำพูดอะไรๆ ออกมา ก็สามารถน้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกที่ควรได้ เพราะเป็นผู้ที่เห็นโทษของการล่วงศีล และเห็นคุณประโยชน์ของศีล จึงถือเอาด้วยการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ด้วยความเป็นผู้มีเจตนาที่จะงดเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ครับ

ดังนั้น เป็นแต่เพียงพิธีกรรมที่จะต้องอาราธนาศีล ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นในการที่จะรักษาศีล เลย เพราะ ศีล คือ เจตนางดเว้น จากการกระทำที่ไม่ดีที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องมาอาราธนาศีลก่อน จึงจะรักษาศีลได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ต.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเบื้องต้น คือ พระพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด ไม่ใช่เรื่องของพิธีกรรมที่ทำสืบๆ ต่อกันมาด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องการกล่าวคำที่ไม่รู้จักตามๆ กัน, ผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีการฟัง มีการศึกษาสนทนาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ประโยชน์ย่อมเกิดขึ้น คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม อื่นๆ ด้วย รวมถึง ศีล (ที่เป็นกุศลศีล) ด้วย ก็คล้อยตามปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก สิ่งสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก

พุทธศาสนิกชน คือ ผู้ที่นับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ไม่ว่าจะได้ฟังได้ศึกษาในส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล และ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน

สำหรับศีลที่เป็นกุศล ๕ ข้อ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น นั้น ก็จะพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละเว้นจริงๆ ได้แก่

๑. ละเว้นการฆ่าสัตว์ เพราะสัตว์ทุกชีวิต ล้วนรักสุข เกลียดทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่า และที่น่าพิจารณา คือ จะต้องไม่มีการเบียดเบียนด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพียงการฆ่าอย่างเดียว

๒. ละเว้นการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้มาเป็นของตน แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แม้เพียงความคิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนชอบของของคนอื่น แต่ลองคิดดู สิ่งที่ท่านชอบ เจ้าของเขาต้องชอบด้วยเช่นกัน ในเมื่อท่านยังชอบของของเขา เขาก็ต้องชอบของของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้ความคิดก็ไม่ควรที่จะคิดต้องการถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของคนอื่นมาเป็นของตน

๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม ไม่ประพฤติผิดในบุตรธิดา ภรรยา สามี ของผู้อื่น ถ้าเว้นได้ ก็เป็นการให้ความปลอดภัยแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างแท้จริง

๔. ละเว้นจากการพูดมุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เพราะเหตุว่าคำพูดที่ไม่จริง ไม่มีใครชอบเลย แม้แต่ธรรมที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง ไม่มีเหตุผล ก็เป็นมุสาวาท เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความจริง พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ แล้วก็มีวิริยะที่จะงดเว้น ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่ว่าการเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่า ไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็ยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ พอกพูนอกุศลเป็นเรื่อยๆ จนหนาแน่นขึ้น เป็นผู้ไม่ตรงต่อความจริง

๕. ละเว้นการดื่มสุรา หรือว่าของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติ ย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ เป็นต้น นั่นต้องเป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มึนเมาและไม่มีความรู้สึกตัว เพราะโดยปกติชีวิตปุถุชนหนาแน่น มากไปด้วยกิเลสอยู่แล้ว ยิ่งเติมเชื้อที่จะเป็นเหตุให้เกิดความมัวเมาขึ้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้กระทำในสิ่งที่ผิด ได้ง่าย

นี้คือชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นผู้รักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะคิดว่า เมื่อเป็นข้อห้ามก็จะไม่ทำ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่าง เพื่อจะให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้พิจารณาจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ แล้วอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น ขัดเกลากิเลสของตน เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล และเข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ คือ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เอง จะอุปการะเกื้อกูลให้ชีวิตดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร เว้นในสิ่งที่เป็นโทษ และน้อมประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะปัญญา ไม่นำพาไปในทางที่ผิด ไม่นำพาไปสู่ความเสื่อม มีแต่จะนำพาไปสู่ความดีทั้งปวงเท่านั้น

แม้ไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก แต่ถ้าเห็นโทษของทุจริต เห็นโทษของการล่วงศีล ก็สามารถเว้นได้ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นวิรัติงดเว้นจากทุจริตหรืองดเง้นจากการล่วงศีลข้อนั้นๆ การสมาทานศีล ไม่ใช่ไปขอ หรือ อาราธนา (เชื้อเชิญ) ให้ใครมาให้ แต่เป็นการตั้งใจที่จะถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติด้วยดี ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ora_5523
วันที่ 24 ต.ค. 2560

อนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 25 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 26 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุณี
วันที่ 27 ต.ค. 2560
ขอบพระคุณ ในความเริ่มเข้าใจถูก และอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ