ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๔
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๔
~ เมื่อไม่มีการศึกษาพระธรรม จะเข้าใจพระภิกษุว่าเป็นใครได้อย่างไร คฤหัสถ์ที่ไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้ว่า ภิกษุคือใคร และพระภิกษุยุคนี้ ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ก็ไม่รู้จักพระภิกษุในพระธรรมวินัย
~ ผู้ที่เข้าใจพระธรรมวินัย ก็เผยแพร่ให้คนเข้าใจว่า เป็นโทษอย่างหนัก แม้พระอุปัชฌาย์ (ผู้ที่บวชให้กุลบุตร) ก็เป็นโทษ ที่ให้เขาบวชโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้พระธรรมวินัย
~ การฟังพระธรรมก็ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องรีบๆ จบ แต่ว่าพระธรรม ศึกษาเท่าไรก็ไม่จบ ตลอดชีวิต ทุกชาติๆ
~ บางท่านแม้มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ก็ยังอยากจะมีต่อไป บางท่านแม้รู้ตัวเองว่ายังมี แต่ก็ต้องการที่จะดับ ถึงยังดับไม่ได้ แต่ก็ศึกษาและปฏิบัติเพื่อให้ถึงการดับได้ ท่านเหล่านี้จะศึกษาธรรมอย่างเป็นประโยชน์จริงๆ เพราะว่าจะเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมที่ตน และก็เห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็มีความเพียรที่จะขัดเกลาให้เบาบางด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
~ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมมากขึ้น การพูดก็จะพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์มากขึ้น และพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ น้อยลง
~ แต่ละคนก็สะสมมาที่จะมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ความเห็นผิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรม (สิ่งที่มีจริงไม่เปลี่ยนลักษณะ) เป็นอกุศลเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดกับจิต ที่ไม่ดี) เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะเกิด ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดด้วยประการต่างๆ แต่ว่าคนที่สะสมมาที่จะเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด ก็ย่อมจะต้องเข้าใจผิด เห็นผิด และปฏิบัติผิด ตามการสะสมของบุคคลนั้นๆ
~ ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เป็นผู้ที่อบรมข้อประพฤติปฏิบัติที่จะเป็นผู้สงบ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตาม พระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็เป็นโมฆบุรุษ (ผู้ว่างเปล่าจากคุณความดี) แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ
~ เมื่อเกิดมาด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ ก็เกิดอีกด้วยความไม่รู้ และก็ตายไปด้วยความไม่รู้ จะหมดความไม่รู้ได้ก็ต่อเมื่อความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น เวลาที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่พอฟังแล้วก็เริ่มรู้ ขณะใดที่รู้ ขณะนั้นก็ละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้เรื่องของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจะเพิ่มขึ้น
~ กิจของปัญญา คือ ละความไม่รู้ สำหรับกิจของอวิชชา (ความไม่รู้) คือ ทั้งๆ ที่เห็น ตั้งแต่เกิดจนตายก็ไม่รู้ความจริงของเห็น เป็นเราเห็น และสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสัตว์บุคคลที่ไม่ใช่อนัตตาเลยสักอย่างเดียว
~ ในขณะที่กำลังรู้จักอกุศลของคนอื่น ต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาจิตด้วยว่า ขณะนั้นเกิดเมตตา หรือว่าเกิดอกุศล ในขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น ถ้าจะเป็นผู้ที่ขาดทุนก็คือว่า เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้วตนเองเกิดอกุศล แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ก็คือ เมื่อเห็นอกุศลของคนอื่นแล้ว เกิดเมตตา เพราะเหตุว่าแม้ตนเองก็มีอกุศลอย่างนั้นเหมือนกัน
~ สภาพธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คำใดที่ตรัสแล้วไม่เปลี่ยน ได้ยินต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เห็นต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คิดนึกต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สติต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สุขต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกข์ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเกิดตามความพอใจได้ แต่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ
~ เราสามารถที่จะมีเมตตาทุกครั้งที่เห็นใครก็ตามที่ทำผิด อดทนที่จะเข้าใจ และพยายามเกื้อกูลเท่าที่จะกระทำได้
~ ถ้าไม่มีใครที่จะพูดถึงพระธรรมวินัยเลย ถูกปกปิดไว้หมด ก็ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้พระธรรมเปิดเผย และกิเลสจะมากขึ้นอีกสักเท่าไหร่ทั่วประเทศและทั่วโลกด้วย ที่กล่าวว่าเขานับถือพระพุทธศาสนา แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจการที่จะขัดเกลากิเลส ด้วยการเข้าใจธรรมและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
~ กุศลแม้หนึ่งขณะ ก็ไม่ควรประมาท
~ ไม่ประมาทในการฟังพระธรรม ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ไม่ประมาทในการคิดว่า"กุศลนี้น้อยเหลือเกินไม่ทำก็ไม่เป็นไร" แต่ความจริงแม้เพียงขณะหนึ่ง ก็แสดงว่าขณะนั้นชนะอกุศล สามารถที่จะไม่ให้อกุศลเกิดได้
~ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นที่เขาสามารถที่จะเข้าใจความถูกต้องในความจริงในพระธรรมวินัย เพื่อธำรงรักษาไว้ เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่นข้างหน้าต่อไป
~ อกุศลมากมายเหลือเกิน เก็บเอาไว้เยอะแยะเลยทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนาน จะเอาออกได้อย่างไร ถ้าติดแน่นหนาแน่นเหนียวแน่นอยู่ในใจ หนทางเดียว ก็คือว่า เห็นประโยชน์ของกุศล รู้ว่าแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะค่อยๆ สะสมไป
~ แม้เพียงเกรงใจคนอื่น ไม่รบกวนเขาให้ลำบาก แค่นี้ขณะนั้น ก็ไม่รู้เลยว่า เป็นกุศล เพราะขณะนั้น ละความสำคัญตนหรือความเห็นแก่ตัว เพราะฉะนั้น กิริยาอาการใดๆ ก็ตาม การกระทำใดๆ ก็ตาม เพื่อ (ประโยชน์) คนอื่นทั้งหมด ก็เป็นการขัดเกลากิเลสที่ติดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ทีละเล็กทีละน้อย
~ น่าเสียดาย ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของกุศล และไม่สะสมว่า ถ้าพลาดขณะนั้นไปแล้วทีละเล็กทีละน้อยที่จะสะสมกุศลให้มากขึ้น จะมาแต่ไหน ถ้าประมาทกุศลแม้เพียงเล็กน้อย
~ ถ้าพูดถึงเรื่องความไม่รู้ พูดเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบ ถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคำ พูดคำที่ไม่รู้จัก
~ กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ก็ควรที่จะเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ
~ ปัญญาเริ่มจากการฟังแล้วก็ไตร่ตรอง จึงสามารถที่จะรู้จักความจริงซึ่งไม่มีใคร
สามารถค้นพบได้เลย ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้และไม่ทรงแสดง
~ หนทางนี้ (หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา) คือ หนทางละ ไม่คิดว่าเร็ว ไม่คิดว่าง่าย แล้วรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง ทุกคำที่ได้ฟัง เป็นความจริง เป็นสัจจธรรม
~ การที่ความไม่รู้มานานแสนนาน จะค่อยๆ หมดไปในทุกอย่างที่มีในชีวิต จะยากสักแค่ไหน
~ หนทางนี้ หนทางเดียว เป็นหนทางละโดยตลอด ละไปเรื่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ
~ คำว่า "ไม่ใช่เรา" ไม่ใช่ว่ามารวมๆ กันแล้วเข้าใจว่าไม่ใช่เรา แต่แยกออกไปแล้วเป็นแต่ละหนึ่ง หนึ่งแต่ละหนึ่งนั้น ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น นอกจากเป็นสภาพธรรมนั้นสภาพนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย ต้องเป็นอย่างนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
~ มีชีวิตปกติ นี้คือความมั่นคงของปัญญา เพราะไม่ได้ทำอะไรให้อะไรเกิดสักอย่างเดียว ทุกอย่างเกิดเพราะหตุปัจจัย ไม่ว่าจะทำอะไร เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะคิดอะไร จะสนุกสนาน จะรื่นเริง จะร้องเพง จะเล่นดนตรี เล่นกีฬาต่างๆ ก็เป็นปกติ เพราะนั่นเป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มีความเข้าใจถูกต้องหรือยังว่า ธรรมเป็นธรรม ตั้งแต่ในขั้นฟัง
~ ไม่รู้แล้ว ไม่รู้อีก ไม่รู้แล้ว ไม่รู้อีก เพราะฉะนั้น ก็ต้องละความไม่รู้ ด้วยความเข้าใจแล้วเข้าใจอีก มีกำลังที่จะรู้ว่าสภาพธรรมเป็นธรรมที่ปรากฏ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๒๓
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...