มีแนวทางอย่างไรในเรื่องการพิจารณา มรณานุสติ
บางท่านบอกให้พิจารณามรณานุสติอยู่เป็นนิจ แต่โดยมากก็มักนึกถึงเป็นครั้งคราว ขณะที่ได้ยินเรื่องความตายของผู้อื่น แต่ไม่ค่อยจะนึกถึงความตายของตนเอง คิดว่าคงยังไม่ตาย เพราะความไม่อยากตาย คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้ ไม่ทราบว่ามีแนวทางอย่างไรในเรื่องการพิจารณา โดยมากจะเป็นการคิดมากกว่า
ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ ชีวิตมีอยู่แต่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ถ้าลมหายใจเข้า แล้วไม่ออกก็ตาย ความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเวลาเช้า หรือเวลาเย็น วันนี้แข็งแรงดีพรุ่งนี้อาจจะป่วยตายด้วยโรคลมก็ได้ หรือหัวใจวายตาย ไม่มีใครรู้ว่าจะตายอย่างไร พิจารณาถึงพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องปรินิพพานเลย ท่านผู้มีฤทธิ์ เช่น พระโมคคัลลาน ก็ปรินิพพานเหมือนกัน พิจารณาถึงสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เช่น พระเจ้าอโศก เวลาท่านใกล้จะตายก็เหลือแค่ผลมะขามป้อมครี่งผลที่เป็นสมบัติ นอกนั้นก็เป็นของคนอื่น ที่ท่านว่าสมบัติผลัดกันชมไม่มีใครเป็นเจ้าของ การพิจารณาถึงความตายบ่อยๆ ทำให้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลและฟังธรรมทุกๆ วัน
เรียน คุณwannee.s รบกวนกรุณาเล่าเรื่องพระเจ้าอโศก ทำไมถึงเหลือแค่มะขามป้อมครึ่งผลก่อนตาย คะ สนใจทราบเป็นความรู้ ค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
พระเจ้าอโศกท่านเป็นพระราชามีอำนาจมาก มีชื่อเสียง รบชนะยึดเมืองได้หลายเมือง ครองชมพูทวีป ภายหลังในเวลาใกล้ตาย ได้ครองความเป็นใหญ่ แค่มะขามป้อมครึ่งผล ท่านเอามะขามป้อมครึ่งผลทำน้ำถวายสงฆ์ (เพราะถูกพวกอำมาตย์ยึดอำนาจ) ท่านมีลูกชาย ๑ คน ลูกสาว ๑ คน ออกบวชหมด เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๒ คน
ตัวเราเป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้น แต่ที่มันมากเรื่องมากราวเพราะการยึดมั่น แท้จริงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและก็จะดับไปตามธรรมชาติเท่านั้น เราเหมือนมาอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราววันหนึ่งก็จะจากไป ที่นี่ไม่ใช่บ้านของเรา เรากำลังเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านอยู่ทุกขณะ คือ เตรียมที่จะจากไปอยู่เสมอเพื่อการไม่หลงเพลิดเพลินอยู่นั่นเอง
ตราบใดที่ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุทเฉท ก็ยังคงต้องวนเวียนอยู่ในภพภูมิต่างๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค นิพเพธิกปัญญาสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีปัญญาเป็นเครื่องชำแรกกิเลส ธรรม ๔ ประการ เป็นไฉน คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑